×

สะพายกล้องตามรอย ‘5 Best Spot in Bangkok’ โลเคชันที่ช่างภาพเขารู้กัน เราจึงอยากให้คนรักการถ่ายภาพทุกคนได้รู้จัก [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
18.01.2023
  • LOADING...
5 Best Spot in Bangkok

HIGHLIGHTS

  • ชวนสำรวจมุมมองใหม่ของกรุงเทพฯ ผ่าน 5 โลเคชันที่ถูกใจเหล่าช่างภาพ เพราะนอกจากจะมีเหลี่ยมมุมและแง่งามที่ตอบโจทย์การถ่ายภาพทุกแนว บางสถานที่อาจทำให้คุณเห็นภูมิทัศน์ของพื้นที่กรุงเทพฯ ในมุมที่แปลกตา ความเป็นเมืองแบบที่ไม่คุ้นชิน ไปจนถึงวิถีชีวิตของผู้คนในสถานที่นั้นๆ จะทำให้คุณตีความนิยามความสุขเปลี่ยนไปก็เป็นได้ 
  • เพื่อไม่ให้การออกไปค้นหามุมมองใหม่ของกรุงเทพฯ ทั้ง 5 โลเคชันเสียเที่ยว ถือโอกาสนี้ส่งภาพถ่ายเข้าร่วมประกวดในโครงการ ‘ASSETWISE PHOTO CONTEST 2022’ ชิงเงินรางวัลมูลค่ากว่า 300,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัลเกียรติยศ 
  • สมัครและส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 มกราคม 2566 http://www.rpst.or.th/assetwise-photo-contest-2022/

‘กรุงเทพฯ’ น่าอยู่หรือไม่? ขึ้นอยู่กับว่าถามใครและตอบจากมุมมองไหน 

 

หากถามชาวต่างชาติ มีผลสำรวจแบบไม่เป็นทางการจาก InterNations ชุมชนออนไลน์สำหรับชาวต่างชาติที่มีสมาชิกทั่วโลกกว่า 4.5 ล้านคน ได้ทำการสำรวจความพึงพอใจของคนทำงานเกือบ 12,000 คน จาก 50 เมือง ในปี 2022 โหวตให้ ‘กรุงเทพฯ’ เป็นเมืองน่าอยู่และน่าทำงานที่สุดในโลกลำดับที่ 6 

 

ดูย้อนแย้งกับผลสำรวจของ Kisi บริษัทเทคโนโลยีให้คำปรึกษาด้านการทำงาน ได้จัดอันดับเมืองที่สร้างสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานดีสุดจนถึงแย่สุดในโลก หรือ Work-Life Balance Index 2022 ปรากฏว่า ‘กรุงเทพฯ’ รั้งท้ายอยู่อันดับที่ 96 จากการสำรวจ 100 เมืองทั่วโลก 

 

แต่ถ้าถามคนกรุงเทพฯ คำตอบที่ได้อาจเป็นได้ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพราะกรุงเทพฯ สำหรับบางคนอาจเต็มไปด้วยความเร่งรีบจนไม่ทันสังเกตเห็นมุมเล็กๆ ไว้ชุบชูพลังใจ 

 

THE STANDARD POP อยากชวนสำรวจมุมมองใหม่ของกรุงเทพฯ ผ่าน 5 โลเคชันลับ (ที่ไม่ลับในหมู่ช่างภาพ) นอกจากจะเป็นสถานที่ที่มีเหลี่ยมมุมตอบโจทย์การถ่ายภาพ เผื่อใครที่กำลังมองหาโลเคชันใหม่ไว้ถ่ายภาพ หรือเอาไว้แนะนำเพื่อนต่างชาติที่อยากได้โลเคชันใหม่ๆ โพสต์ลง IG แล้ว บางสถานที่อาจทำให้คุณเห็นภูมิทัศน์ของพื้นที่กรุงเทพฯ ในมุมที่แปลกตา ความเป็นเมืองแบบที่ไม่คุ้นชิน ไปจนถึงวิถีชีวิตของผู้คนในสถานที่นั้นๆ จะทำให้คุณตีความนิยามความสุขเปลี่ยนไปก็เป็นได้

  

5 Best Spot in Bangkok

 

การสำรวจกรุงเทพฯ ครั้งนี้ ยังได้ ต่อ-สุรศักดิ์ เมืองแก้ว MISTER INTERNATIONAL THAILAND 2022 มาร่วมค้นหามุมมองใหม่ๆ ด้วยกัน 

 

หลายคนอาจไม่รู้ว่า นอกจาก IG ส่วนตัว ต่อ สุรศักดิ์ ยังมี IG ทีเขาตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อลงภาพถ่ายโดยเฉพาะ (Follow ได้ที่ @srs_film35) ต่อบอกว่าจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาชอบการถ่ายรูปเกิดขึ้นหลังจากลงเรียนวิชาถ่ายภาพของคณะ “เพิ่งรู้ว่าการถ่ายรูปสนุก เพราะมีเทคนิคหลายอย่างที่น่าสนใจ พอถ่ายไปเรื่อยๆ ก็เริ่มสังเกตว่าภาพส่วนใหญ่ที่ชอบถ่ายเป็นภาพไลฟ์สไตล์แนว Street Photo บางทีก็เดินตามตลาดสด ถ่ายรูปพ่อค้า แม่ค้ากำลังจัดแผงขายของ”

 

เขายังบอกด้วยว่า Vivian Maier คือช่างภาพหญิงแนวสตรีทที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเขา ผลงานของเธอทำให้ต่อพบว่าชีวิตประจำวันของผู้คนน่าสนใจเกินกว่าที่จะมองผ่าน และยังเป็นหลักฐานที่สะท้อนวิถีชีวิตของคนในช่วงเวลานั้นๆ ได้อย่างดี 

 

“เมื่อไรที่ผมถือกล้องผมจะกลายเป็นคนช่างสังเกตทันที ผมมักจะมองหาความเป็นธรรมชาติ ปฏิสัมพันธ์ของคน โมเมนต์ที่ไม่ปรุงแต่ง มันยิ่งมีเสน่ห์เมื่อถูกถ่ายผ่านกล้องฟิล์ม โทนสีของฟิล์มมีเสน่ห์อยู่แล้ว ซึ่ง 5 โลเคชันที่ไปวันนี้ ทุกที่มีเสน่ห์ต่างกัน แม้จะเป็นสถานที่ที่รีโนเวตใหม่ แต่มันยังหลงเหลือร่องรอยของอดีต ทำให้ผมเห็นกรุงเทพฯ ในมุมใหม่ เชื่อว่าแต่ละคนจะเห็นสิ่งที่ต่างกันแม้จะไปในสถานที่เดียวกัน” 

 

 

 

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) 

อาคารสีขาวสไตล์โมเดิร์น โดดเด่นด้วยฟาซาดสีขาวจากแผ่นอะลูมิเนียมคอมโพสิตพับไปมาเป็นเส้นหยักที่หยอกล้อกับแสงเงาของพระอาทิตย์ เดิมเคยเป็นอาคารเก่าแก่ที่เปิดเป็นศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) มาตั้งแต่ พ.ศ. 2542 ก่อนจะรีโนเวตใหม่เพื่อให้เข้ายุคสมัย แต่ยังหลงเหลืออัตลักษณ์ของอาคารเดิมอย่างหลังคาทรงจั่วไว้ 

 

ด้านหน้าอาคารออกแบบให้เป็นสวนที่รายล้อมไปด้วยพรรณไม้ไทยและสมุนไพร จัดวางลดหลั่นไปตามสเต็ปของพื้นที่ลานวงรี จึงเป็นได้ทั้งพื้นที่หย่อนใจ และเรียนรู้การอยู่รวมกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติได้อีกทาง ภายในใช้เป็นสถานที่รวบรวมข้อมูลด้านมานุษยวิทยาและศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความรู้ใหม่ทางด้านมานุษยวิทยา โบราณคดี ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ความรู้ท้องถิ่นของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดพื้นที่ให้ทุกคนเข้ามาเติมความรู้ผ่านนิทรรศการบริเวณโถงทางเดินและนิทรรศการหมุนเวียน บางทีคุณอาจค้นพบความสุขง่ายๆ ที่หลงลืมซ่อนเร้นในภาพถ่ายของผู้คนในอดีต แม้กระทั่งเรื่องราวในประวัติศาสตร์ ก็อาจทำให้คุณมองเห็นเสน่ห์ของสิ่งรอบตัวก็เป็นได้ 

 

ที่ตั้ง ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร 20 ถนนบรมราชชนนี แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 

 

 

อาคารพัสดุยศเส (ตึกแดง) 

อาคารพัสดุยศเสอายุเฉียดร้อยปีแห่งนี้ พนักงานการรถไฟฯ รู้จักกันดีในชื่อ ‘ตึกแดง’ สร้างขึ้นเพื่อใช้เก็บพัสดุจากการสร้างอุโมงค์ขุนตาน และการก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ ออกแบบโดยหลวงสุขวัฒน์ ในสมัยที่พระยาสารศาสตร์ ศิริลักษณ์ เป็นผู้บัญชาการกรมรถไฟ ตัวอาคาร 3 ชั้นลักษณะครึ่งอิฐครึ่งไม้ วางผังในลักษณะตัวยู ปีกกลางของตึกแดงเป็นโครงสร้างไม้และคานเหล็ก นอกจากความโดดเด่นของอิฐแดง เสน่ห์ของอาคารแห่งนี้ยังอยู่ที่ลายฉลุไม้ ระแนง และบันไดไม้สักโบราณกึ่งเวียนขึ้นไปชั้น 2 และชั้น 3 และระเบียงทางเดินตลอดแนวอาคารทั้งด้านหน้าและด้านหลัง 

 

พ.ศ. 2549 อาคารแห่งนี้ได้รับคัดเลือกจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็นอาคารรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทอาคารสถาบันและอาคารสาธารณะ ซึ่งปัจจุบันยังทำหน้าที่เป็นที่ทำการหลักของการรถไฟฯ หากใครอยากจะแวะเวียนไปเก็บภาพความขลังของประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ ถ้าไปในเวลาทำการอาจเดินชมได้แค่ภายนอกเท่านั้น 

 

ที่ตั้ง เลขที่ 1 การรถไฟแห่งประเทศไทย แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 

 

 

สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสนามไชย 

หนึ่งในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่ถูกขนานนามว่าสวยที่สุดในไทย ฝีมือการออกแบบโดย รศ. ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ ปรมาจารย์ผู้ชำนาญเรื่องสถาปัตยกรรมไทย ภายในสถานีถ่ายทอดความวิจิตรของท้องพระโรงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดดเด่นด้วยเสาสดุมภ์บริเวณทางเดิน ลงลายกระเบื้องเป็นดอกพิกุล ปลายเสาประดับด้วยบัวจงกลปิดทองคำเปลว พื้นและผนังจำลองมาจากกำแพงเมือง ประดับด้วยเสาเสมาของพระบรมมหาราชวัง เพดานเป็นลายฉลุแบบดาวล้อมเดือน ปิดทองคำเปลว และด้วยโลเคชันที่ตั้งอยู่ใจกลางพื้นที่อนุรักษ์เกาะรัตนโกสินทร์ (ชั้นใน) ซึ่งเป็นย่านเมืองเก่าของกรุงเทพฯ จึงเชื่อมต่อกับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เช่น พระบรมมหาราชวัง, มิวเซียมสยาม, วัดโพธิ์, วัดพระแก้ว, บ้านหม้อ และปากคลองตลาด 

 

ที่สำคัญบริเวณทางออก 1 ถูกเนรมิตให้กลายเป็น Site Museum พิพิธภัณฑ์ใต้ดินแห่งแรกของประเทศไทย เก็บรวบรวมโบราณวัตถุ ไม่ว่าจะเป็นเศษกระเบื้อง, เครื่องปั้นดินเผา, เครื่องเคลือบ, เครื่องแก้ว, เกือกม้า, โครงกระดูกวัว ไปจนถึงฐานรากของท้องพระโรง (วังกรมหลวงอดิศรอุดมเดช) ที่ค้นพบระหว่างก่อสร้างมิวเซียมสยามใน พ.ศ. 2549 

 

ที่ตั้ง สถานีอยู่บริเวณสี่แยก ถนนสนามไชย ถนนมหาราช ถนนจักรเพชร และซอยราชินี แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ  

 

 

สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา 

สวนลอยฟ้าแห่งแรกของประเทศไทย และสวนลอยฟ้าข้ามแม่น้ำแห่งแรกของโลก พื้นที่สาธารณะที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้ซึมซับภูมิทัศน์ของกรุงเทพฯ มุมสูงได้แบบ 360 องศา และน่าจะเป็นจุดเดียวที่คุณจะได้เห็นเสน่ห์ของเมืองเก่าและเมืองใหม่ในเวลาเดียวกัน เพราะเมื่อมองไปยังฝั่งเกาะรัตนโกสินทร์ ภาพของสะพานพุทธและวัดอรุณเป็นตัวแทนความรุ่งเรืองในอดีต แต่แค่เพียงหันหลังกลับ ตึกสูงระฟ้าที่อยู่ในย่านสีลม สาทร เจริญกรุง คือสัญลักษณ์ความรุ่งเรืองของกรุงเทพฯ บทใหม่ 

 

สะพานแห่งนี้ยังทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนคร โดยการปรับปรุงโครงสร้างเดิมของรางรถไฟฟ้าลาวาลินที่ถูกทิ้งร้างกว่า 36 ปี ให้กลายเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้า พร้อมมุมพักผ่อน ทางเดิน และทางจักรยาน ความยาว 280 เมตร ความกว้าง 8.50 เมตร ท่ามกลางความร่มรื่นของพันธุ์พืชที่เหมาะกับสภาพอากาศของกรุงเทพฯ เช่น ต้นมะกอกน้ำ, ชาข่อย, ใบต่างเหรียญ, รัก, หญ้าหนวดแมว, ยี่โถ, ชงโค, ต้อยติ่ง, เอื้องหมายนา ฯลฯ ที่ไม่เพียงเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง แต่ยังช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศโดยรวมอีกด้วย

 

ที่ตั้ง: ถนนพระปกเกล้า แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ

 

 

สวนป่าเบญจกิติ 

สวนสาธารณะที่ตั้งใจปั้นให้เป็น ‘โมเดลป่ากลางเมือง’ เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศของเมืองให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง เริ่มจากการปรับพื้นที่นับพันของอดีตโรงงานยาสูบแปลงนี้ให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว ออกแบบให้เป็นสวนแบบวนเกษตรที่ประกอบด้วยพรรณไม้พื้นบ้านและพรรณไม้ชายน้ำ กลายเป็นพื้นที่การเรียนรู้เรื่องพรรณไม้ในระบบนิเวศ ทั้งพรรณไม้ป่าชายเลน พรรณไม้บึงน้ำจืด พรรณไม้ป่าดิบลุ่มต่ำ และพรรณไม้ป่าดิบแล้ง เพื่อสร้างระบบนิเวศเลียนแบบธรรมชาติที่สมบูรณ์ ขุดบึงน้ำ 4 บึง รองรับน้ำได้ถึง 128,000 ลูกบาศก์เมตร เก็บรักษาต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่เดิมไว้ 1,733 ต้น และเพิ่มพรรณไม้ที่เป็นพืชท้องถิ่นเดิมในบริเวณกรุงเทพมหานครกว่า 300 ชนิด จำนวน 7,155 ต้น  ที่สำคัญสวนขนาดใหญ่นี้จะทำหน้าที่เป็นฟองน้ำที่รับเอาน้ำที่ระบายไม่ทันและกำลังท่วมขังมากักเก็บ และช่วยบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีธรรมชาติ กลายเป็นพื้นที่หน่วงน้ำในกรณีที่มีน้ำมากเกินความจำเป็น และเป็นสาเหตุของปัญหาน้ำท่วมขังในกรุงเทพมหานคร 

 

ไฮไลต์ของที่นี่คือ สกายวอล์ก ระยะทาง 1.6 กิโลเมตรที่สามารถเดินเชื่อมไปถึงสวนลุมพินี เชื่อมต่อไปสะพานเขียว และเชื่อมไปยังพื้นที่สวนน้ำที่อยู่ส่วนหน้าของสวนเบญจกิติ รวมไปถึงโครงสร้างภายในสวนมีการออกแบบให้เป็นทางเดินลัดเลาะชมธรรมชาติ 5.8 กิโลเมตร เส้นทางวิ่ง 2.8 กิโลเมตร และเส้นทางจักรยาน 3.4 กิโลเมตร เอาเป็นว่าใครที่อยากเห็นสารพัดวิธีสร้างความสุขง่ายๆ ของคนเมือง คุณจะได้เห็นภาพเหล่านั้นในพื้นที่สีเขียวแห่งนี้  

 

ที่ตั้ง ระหว่างถนนรัชดาภิเษกและถนนดำรงค์พิทักษ์

 

 

เพื่อไม่ให้การออกไปค้นหามุมมองใหม่ของกรุงเทพฯ ทั้ง 5 โลเคชันได้มาแค่พอร์ตใหม่สำหรับช่างภาพ หรือโปรไฟล์ใหม่สำหรับคนชอบถ่ายรูป ถือโอกาสนี้ส่งภาพถ่ายเข้าร่วมประกวดในโครงการ ‘ASSETWISE PHOTO CONTEST 2022’ โครงการที่ ‘แอสเซทไวส์’ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นผู้นำด้านไลฟ์สไตล์ ภายใต้แนวคิด ‘ความสุขที่ออกแบบมาเพื่อคุณ’ หรือ ‘We Build Happiness’ ร่วมกับ สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ Colorful Bangkok 2022 จัดขึ้นเพื่อให้บุคคลทั่วไป และคนที่รักการถ่ายภาพนำเสนอมุมมองแห่งความสุข และความเป็นเมืองของกรุงเทพฯ ผ่านภาพถ่ายของผู้คน เมือง วัฒนธรรม และสถานที่ท่องเที่ยว ผ่าน 2 หัวข้อ ได้แก่  

 

  • Happiness Has No Conditions: ภาพถ่ายเกี่ยวกับ ‘ผู้คนและการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์’ โดยเป็นภาพที่สะท้อนมุมมองความสุขของการใช้ชีวิตในรูปแบบต่างๆ ของผู้คน  
  • Unseen Happiness: ภาพถ่ายเกี่ยวกับ ‘Creative Bangkok Cityscape’ โดยเป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงภูมิทัศน์ของพื้นที่กรุงเทพมหานคร ไม่จำกัดว่าเป็นมุมสูง หรือมุมบนพื้น ผ่านมุมมองที่สร้างสรรค์

 

โดยภาพที่ส่งเข้าประกวดจะต้องเป็นภาพถ่ายที่ถ่ายตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 จนถึงวันหมดเขตรับสมัคร ใช้กล้องดิจิทัลได้ทุกรูปแบบรวมถึงสมาร์ทโฟน สามารถส่งภาพเข้าประกวดได้ไม่เกิน 10 ภาพ ต่อ 1 หัวข้อ และสามารถเปลี่ยนภาพถ่ายที่ส่งประกวดได้ตลอดเวลาจนถึงวันปิดรับการส่งภาพถ่าย  

 

ผู้ชนะเลิศในแต่ละหัวข้อ จะได้รับเงินรางวัลผลงานละ 100,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัลเกียรติยศ และยังมีรางวัลภาพถ่ายยอดเยี่ยมให้ในแต่ละหัวข้อ จำนวน 10 รางวัล เงินรางวัลผลงานละ 5,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร รวมมูลค่าเงินรางวัลทั้งสิ้น 300,000 บาท 

 

ประกาศผลภาพถ่ายที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย รวมถึงประกาศผลการตัดสินภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ผ่านทาง www.rpst.or.th 

 

สมัครและส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 มกราคม 2566 http://www.rpst.or.th/assetwise-photo-contest-2022/   

 

ประกาศผลภาพถ่ายที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย รวมถึงประกาศผลการตัดสินภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ทาง www.rpst.or.th สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 09 7250 0058 หรือ [email protected] 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X