×

เปิด 5 สิทธิประโยชน์หลักบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ คลังปรับวงเงินซื้อสินค้าเป็น 300 บาททุกคนต่อเดือน เริ่มใช้สิทธิวันแรก 1 เม.ย. นี้

28.02.2023
  • LOADING...
บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

เปิด 5 สิทธิประโยชน์หลักโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2566 หลังกระทรวงการคลังเผยจำนวนผู้ผ่านการตรวจสอบทั้งหมดเฉียด 14.6 ล้านคน โดยผู้ที่ผ่านการตรวจสอบสามารถเริ่มยืนยันตัวตนได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมนี้เป็นต้นไป และเริ่มใช้สิทธิวันแรก 1 เมษายนนี้ 

โดยสวัสดิการหลักมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

  1. ปรับวงเงินซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม จากร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น (ร้านธงฟ้า) และร้านอื่นๆ ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด เป็น 300 บาทต่อคนต่อเดือน จากเดิมคนละ 200-300 บาทต่อเดือน
  1. ปรับวงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าที่กระทรวงพลังงานกำหนด 80 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน จากเดิม 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน
  1. ปรับวงเงินค่าเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะ ได้แก่ รถ ขสมก., รถไฟฟ้า BTS, MRT และ ARL, รถ บขส., รถไฟ, รถเอกชนร่วม ขสมก., รถเอกชน, รถส่วนข้าราชการ กทม., รถเอกชนร่วม บขส., รถสองแถวรับจ้าง และเรือโดยสารสาธารณะ 750 บาทต่อคนต่อเดือน

จากเดิมที่วงเงินค่าโดยสารรถ บขส. 500 บาทต่อเดือน และค่าโดยสารรถไฟ 500 บาทต่อเดือน และสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่อาศัยอยู่ในเขต กทม. และปริมณฑล ค่าโดยสารรถ ขสมก. และรถไฟฟ้า (MRT / BTS / ARL) 500 บาทต่อเดือน

  1. เงินช่วยเหลือค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา 

– โดยกรณีค่าไฟฟ้าวงเงินอยู่ที่ 315 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน สำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือนติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 เดือน ให้ใช้สิทธิค่าไฟฟ้าฟรีตามมาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่หากใช้ไฟฟ้าเกิน 50 หน่วยต่อเดือนให้ผู้มีบัตรฯ ได้รับวงเงินสำหรับชำระค่าไฟฟ้า

– ส่วนกรณีค่าน้ำประปาวงเงิน 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน สำหรับผู้ที่ใช้น้ำประปาเกิน 100 บาท แต่ไม่เกิน 315 บาท โดยผู้มีบัตรฯ ยังคงได้รับการสนับสนุนในวงเงิน 100 บาท และจะต้องชำระส่วนที่เกิน 100 บาทด้วยตัวเอง (กรณีผู้ใช้บัตรฯ ใช้ค่าน้ำประปาเกิน 315 บาท ผู้มีบัตรฯ จะเป็นผู้รับภาระค่าน้ำประปาทั้งหมด)

  1. เบี้ยผู้พิการ 200 บาทต่อเดือน (สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีบัตรประจำตัวคนพิการและได้รับเงินเบี้ยความพิการ)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising