*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์*
NOT ME…เขาไม่ใช่ผม คือซีรีส์วายจากค่าย GMM TV ด้วยฝีมือการกำกับของ นุชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ ที่ปัจจุบันออกอากาศมาถึงเอพิโสดที่ 11 เป็นที่เรียบร้อย และยังคงเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยตลอดทุกเอพิโสดที่ผ่านมาซีรีส์ได้ทำหน้าที่ในการสื่อสารประเด็นต่างๆ ในสังคม ทั้งเรื่องกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม การเอื้อประโยชน์ของกลุ่มผู้มีอำนาจ รวมถึงเรียกร้องสมรสเท่าเทียมให้กับคนทุกเพศในสังคม
นับได้ว่าเป็นซีรีส์เรื่องแรกๆ ที่หยิบยกประเด็นเหล่านี้มาบอกเล่าอย่างตรงไปตรงมา ในแบบที่เราไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นในซีรีส์ไทย แต่นอกเหนือจากประเด็นที่เลือกมานำเสนอ จุดเด่นที่น่าชื่นชมของ NOT ME…เขาไม่ใช่ผม คือการหยิบยกศิลปะเข้ามาเป็นเครื่องมือในการเล่าเรื่องได้อย่างทรงพลังและน่าติดตาม
‘UNAR’ คือนามสมมติที่ตำรวจหนุ่มอย่าง แดน (ฟลุ๊ค กวิน-แคสกี้) เลือกใช้ปิดบังตัวตนมาตลอด ภายใต้ชื่อ UNAR เขาคือศิลปินใต้ดินที่โด่งดังจากการใช้งานศิลปะของตัวเองในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อต่อต้านอำนาจมืดและความอยุติธรรมในสังคม
‘Happy Forest’ เป็นศิลปะกราฟฟิตี้รูปแรกที่เราได้เห็นในซีรีส์เรื่องนี้ โดยแดนได้บุกเข้าไปยังบ้านของทวีในพื้นที่รุกป่าสงวน และใช้งานศิลปะชิ้นนี้เป็นตัวแทนในการแสดงออกเพื่อต่อต้าน ทวี (เป้-ทวีฤทธิ์ จุลละทรัพย์) ที่ทำตัวอยู่เหนือกฎหมายอย่างไม่เกรงกลัว
ภาพวาดบ้านรุกป่าของทวีประกอบไปด้วยภาพของข้าราชการ ตำรวจ อัยการ ซึ่งเป็นสถาบันเสาหลักที่มีอำนาจในสังคม กับนักธุรกิจนอนเรียงทับกันอยู่บนต้นไม้ใหญ่ โดยมีทหารชั้นผู้น้อยกำลังเลื่อยต้นไม้ให้ทั้งสี่คนอยู่ตรงมุมล่างของภาพ สะท้อนให้เห็นถึงกลุ่มอำนาจที่เอื้อผลประโยชน์ให้กันอย่างไม่ชอบธรรม
สุดท้ายกฎหมายที่อ่อนไปและการบังคับใช้ที่ไม่เป็นธรรม ก็เป็นช่องโหว่ให้สถาบันหลักของประเทศที่มีหน้าที่ตรวจตราและตัดสินความผิด สามารถตีความเข้าข้างและเอื้อผลประโยชน์ให้กันเองได้ เพราะในขณะที่ชาวบ้านจำนวนมากต้องโดนไล่ที่ แต่ทวีกลับใช้อำนาจและเงินที่มี สร้างบ้านหลังใหญ่บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนโดยไม่มีความผิด
เรื่องน่าเศร้าคือบ้านรุกป่าของทวีเคยเกิดขึ้นมาแล้วในสังคมไทย และเรื่องราวการเอื้อผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่มีอำนาจก็ดำเนินไปไม่ต่างจากในซีรีส์เลยแม้แต่น้อย
ศิลปะชิ้นต่อมาของ UNAR ถูกสื่อสารด้วยภาพของทหาร ตำรวจ ข้าราชการ กำลังจับมือเต้นรำกันอย่างเริงร่า ในขณะที่เหยียบย่ำอยู่บนตัวของบรรดาประชาชนด้วยสีหน้าไม่ทุกข์ร้อน เมื่อรวมกับชื่อภาพ ‘Dance of Privilage’ ศิลปะชิ้นนี้จึงกำลังสะท้อนถึงกลุ่มคนผู้มีอภิสิทธิ์ในสังคม พวกเขาล้วนได้รับรัฐสวัสดิการ บำเหน็จ บำนาญ ที่มาจากเงินภาษีของประชาชน ในขณะที่ผู้เสียภาษีแทบไม่ได้รับสวัสดิการที่ควรได้รับอย่างเท่าเทียม
นอกจากนี้ในอีกแง่หนึ่ง Dance of Privilgae กำลังสะท้อนถึงระบบเส้นสายที่ฝังรากลึกลงในสังคมไทย ผ่านเรื่องราวของไวท์ที่เกิดขึ้นในเอพิโสดเดียวกัน เมื่อเขาสามารถสอบผ่านการคัดเลือกเป็นนักการทูต ด้วยนามสกุลของผู้เป็นพ่อที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในครั้งนั้นปิดกั้นโอกาสของหลายชีวิต จนไม่มีแม้แต่โอกาสจะแสดงความสามารถที่มีอย่างเท่าเทียม
สุดท้ายในประเทศนี้ความสามารถหรือความขยันอาจไม่สามารถทำให้คนๆ หนึ่งประสบความสำเร็จได้เท่ากับการมีอภิสิทธิ์หรือเส้นสายใหญ่โต เราในฐานะประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ไร้ซึ่งรัฐสวัสดิการ จึงต้องก้มหน้าก้มตาทำงานเพื่อหาเลี้ยงตัวเองต่อไป ด้วยความหวังที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นในสักวัน
ในเอพิโสดที่ 9 ซีรีส์ได้นำเราไปทำความรู้จักกับตัวละครแดนมากขึ้น ผ่านภาพศิลปะชิ้นแรกของเขาในฐานะ UNAR ซึ่งเกิดขึ้นมาจากเหตุการณ์ฝังใจที่ทำให้เขาตัดสินใจเริ่มสร้างงานศิลปะอย่างลับๆ และปกปิดตัวตนด้วยนามสมมติมาจนถึงทุกวันนี้
เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นในตอนที่แดนเพิ่งเป็นตำรวจได้ไม่นาน แดนจำเป็นจะต้องจับกุมผู้ร้ายขนยาเสพติดสองคน แต่สุดท้ายเมื่อมีการปะทะกัน แดนพลาดยิงไปโดนผู้ร้ายที่ไม่มีอาวุธและไม่ได้คิดจะต่อสู้กับตำรวจ
สุดท้ายเหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรมในครั้งนั้นจึงเป็นการทำ ‘เกินกว่าเหตุ’ ซึ่งอาจทำให้แดนโดนสอบสวน แต่ตำรวจรุ่นพี่ก็ยังปลอบเขาว่ามันเป็นเรื่องปกติในอาชีพตำรวจ และจะจัดการเรื่องนี้ให้เอง ด้วยการเขียนสำนวนของคดีให้เป็นการยิงปะทะกันของสองฝ่าย
ภาพที่แดนวาดจึงปรากฏให้เห็นภาพผู้คนมากมายซึ่งถูกวาดออกมาคล้ายกับลูกโป่งสวรรค์กำลังลอยไปมาบนท้องฟ้า โดยมีตำรวจถือปลายกระบอกปืนเล็งตรงไปยังพวกเขา สะท้อนถึงชีวิตของประชาชนที่ถูกปลิดทิ้งอย่างง่ายดายราวกับลูกโป่งลูกหนึ่งเท่านั้น
เมื่อตำรวจมีปืนอยู่ในมือ เขามีสิทธิ์เลือกว่าจะดำรงตนเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ หรือจะคร่าชีวิตประชาชนด้วยมือของตัวเอง
กลับน่าเศร้าที่ข่าวในช่วงหนึ่งถึงสองปีที่ผ่านมา เรากลับพบเห็นข่าวที่ตำรวจเลือกจะหันหลังให้ประชาชน และเล็งปลายกระบอกปืนมายังคนบริสุทธิ์ เพียงเพราะคำสั่งจากคนที่เรียกว่า ‘นาย’ โดยลืมไปว่าเจ้านายที่แท้จริงคือประชาชนบริสุทธิ์ที่พวกเขาต้องดูแล
หยก (เฟิร์ส-คณพันธ์ ปุ้ยตระกูล) เป็นหนึ่งในสมาชิกแก๊งของแบล็ค เขาเป็นนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ ที่ชื่นชอบการวาดภาพเป็นพิเศษ ในโปรเจกต์จบของตนเอง หยกจึงเลือกใช้งานศิลปะในการสื่อสารถึงชนชั้นที่โดนกดขี่ในสังคม โดยใช้ชื่องานศิลปะชิ้นนั้นว่า ‘เปิดเปลือยกรรมมาชีพ’ ด้วยการใช้ภาพเปลือยเผยให้เห็นร่างกายและร่องรอยบาดแผลของชนชั้นกรรมมาชีพ ซึ่งถูกกดขี่จากชนชั้นและความอยุติธรรมในสังคม
ภาพแรกที่หยกเลือกวาดจึงเป็นภาพของแดน ในฐานะตำรวจที่ถูกกรอบของการเป็นตำรวจบีบคั้นและทำร้ายมาอย่างยาวนาน ในขณะที่กำลังสเกตช์ภาพ แดนได้บอกกับหยกว่า การเป็นตำรวจเป็นความฝันของเขามาตั้งแต่เด็ก หยกจึงถามกลับด้วยคำถามที่เรียบง่าย แต่ทำให้แดนต้องนิ่งคิดกับตัวเองครู่ใหญ่
“แล้วตอนเด็กกับตอนนี้มันยังสวยเหมือนเดิมไหม”
สุดท้ายแดนจึงสารภาพออกมาทั้งน้ำตาว่า ทุกอย่างกลับตาลปัตรไปจากที่เขาเคยคิดไว้ จากความฝันที่อยากจะเป็นตำรวจเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น สุดท้ายกลายเป็นเขาที่ใช้กระบอกปืนฆ่าคนตายโดยไม่ตั้งใจ
น้ำตาและคำสารภาพบาปเหล่านั้นถูกถ่ายทอดลงบนภาพสเกตช์ที่ปรากฏเป็นภาพเปลือยของแดนกำลังนั่งขดตัวจมอยู่ในความคิดของตัวเอง สายตาเต็มไปด้วยความผิดหวังและคำสารภาพบาปที่ต้องเก็บไว้มานาน ร่างกายแสดงให้เห็นถึงร่องรอยของการโดนกดขี่จากกรอบทางสังคมที่ไม่สามารถหลุดพ้นไปได้เสียที
“ตำรวจต้องรับใช้ประชาชน คำนี้มันคงจะเกินจริงไปหน่อย”
คำพูดของหยกและคำสารภาพผิดของแดนกำลังสื่อสารถึงความเจ็บปวดที่แดนต้องเผชิญมาตลอด เมื่ออาชีพในฝันและความตั้งใจในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น กลับสวนทางกันอย่างน่าเจ็บปวด
“ฉันมีเสียงแต่ฉันไม่มีสิทธิ์ ฉันมีเสียงแต่กลับโดนตีกรอบ”
ท่ามกลางการเล่าถึงเรื่องของอภิสิทธิ์ชนที่มีอำนาจอยู่เหนือกฎหมาย และการพยายามลุกขึ้นมาต่อสู้ของคนตัวเล็กๆ อย่างแก๊งของแบล็ค ซีรีส์เลือกที่จะเสริมพลังให้กับประเด็นที่ต้องการสื่อสารด้วยศิลปะการเต้นของ ยูจีน (ฟิล์ม-รชานันท์ มหาวรรณ์) แฟนเก่าของแบล็คที่เรียนอยู่ในคณะศิลปกรรมศาสตร์ การพบเจอกันครั้งแรกของไวท์ (กัน-อรรถพันธ์ พูลสวัสดิ์) และยูจีนเป็นวันที่เธอกำลังซ้อมเต้นอยู่ในห้องซ้อมกับเพื่อนๆ
‘Contemporary Dance’ จึงถูกหยิบยกมาเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดความรู้สึกของตัวละครและแก่นหลักของซีรีส์ที่ต้องการสื่อสารไปยังผู้ชม ซึ่งโดยปกติแล้วการเต้นชนิดนี้มักใช้การเต้นไปตามแรงเหวี่ยงและใช้การหดคลายของกล้ามเนื้อเพื่อสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกภายในของผู้แสดงออกมา
ฉากการเต้นของยูจีนในเอพิโสดนั้นเริ่มต้นด้วยเสียงร้องแรปที่หลายคนคุ้นหูของ Liberate P แรปเปอร์หนุ่มผู้มีส่วนร่วมในโปรเจกต์ RAD (Rap Against Dictatorship) เจ้าของผลงานเพลงแรป ประเทศกูมี ยิ่งส่งให้ฉากนี้ทรงพลังมากขึ้นหลายเท่าตัว
ตัดภาพมายังยูจีน เธอสวมชุดรัดรูปสีครีม เช่นเดียวกับเพื่อนผู้ชายที่ยืนอยู่ใกล้กัน ทั้งสองคนกำลังเคลื่อนไหวร่างกายไปตามเสียงร้อง พร้อมกับใช้ฝ่ามือทุบตีไปตามร่างกาย สะท้อนภาพของคนตัวเล็กๆ ในสังคมที่โดนอำนาจกดขี่และถูกชนชั้นทางสังคมตีกรอบมาตลอดชีวิต
“แม้จะกดหัวให้ลงต่ำ จะเหยียบย่ำ
แต่เพราะว่าฉันโกรธ ฉันจึงลุกขึ้นมาตั้งคำถาม
เพราะฉันโดนกด ฉันเลยลุกขึ้นมาตั้งคำถาม
เพราะฉันโดนเหยียบ ฉันเลยลุกขึ้นมาตั้งคำถาม”
เสียงร้องแรปจบลงพร้อมกับที่ยูจีนลุกขึ้นยืนจนสุดขา เพื่อย้ำเตือนว่าแม้คนตัวเล็กๆ ในสังคมจะโดนกดขี่หรือเหยียบย่ำสักเท่าไร แต่เราจะไม่ยอมอดทนให้กับความอยุติธรรมอีกต่อไป เช่นเดียวกันกับที่กลุ่มของแบล็คเชื่อและยืนหยัดในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมเสมอมา
ติดตามเรื่องราวการทวงคืนความยุติธรรมของแบล็คและกลุ่มเพื่อนที่กำลังเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ได้ในซีรีส์ NOT ME…เขาไม่ใช่ผม ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 20.30 น. ทางช่อง GMM25 และ AIS PLAY