×

ก.ล.ต. แนะแนวนักลงทุนอ่าน 4 ความเสี่ยงก่อนซื้อหุ้นกู้ชั่วนิรันดร

18.06.2020
  • LOADING...

สถานการณ์ดอกเบี้ยต่ำที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้นักลงทุนแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น บางส่วนจึงสนใจการลงทุนในหุ้นกู้ซึ่งให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอซึ่งมีความเสี่ยงที่หลากหลาย


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุว่า ระยะนี้มีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) หลายแห่งทยอยออกหุ้นกู้ให้ดอกเบี้ยดึงดูดนักลงทุน แต่ในด้านนักลงทุนควรพิจารณาความเสี่ยงด้านอื่นๆ ก่อนลงทุน อาทิ ความเสี่ยงด้านดอกเบี้ย ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง และความเสี่ยงด้านเครดิตที่สะท้อนในเครดิตเรตติ้ง เช่น หากเป็นหุ้นกู้ที่ไม่มีเรตติ้ง (Unrated) หรือเรตติ้งต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้ (Non-investment Grade) ความเสี่ยงยิ่งสูงมักจะให้ดอกเบี้ยสูงเพื่อจูงใจ

 

ขณะที่ ‘หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน’ (Perpetual Subordinated Bond) ซึ่งบางครั้งจะถูกเรียกว่า หุ้นกู้ชั่วนิรันดรบ้าง หุ้นกู้ตลอดชีพ มีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาดังนี้ 

 

  1. หุ้นกู้ด้อยสิทธิ ก็คือ หุ้นกู้ที่ผู้ลงทุนมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ แต่จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ ‘หลัง’ จากเจ้าหนี้รายอื่นๆ ซึ่งผู้ลงทุนอาจได้รับคืนทั้งหมด หรือบางส่วน หรือไม่ได้เงินคืนเลยก็ได้ แต่ยังมีสิทธิ์จะได้รับเงิน ‘ก่อน’ ผู้ถือหุ้นสามัญ

 

  1. คำว่า ‘มีลักษณะคล้ายทุน’ ก็คือ สิทธิ์ได้รับชำระหนี้ต่อเมื่อบริษัทเลิกกิจการ หรือเมื่อผู้ออกหุ้นกู้ใช้สิทธิ์ไถ่ถอนหุ้นกู้ นั่นคือผู้ลงทุนต้องถือหุ้นกู้ตัวนี้ไปเรื่อยๆ ไม่มีกำหนด และอาจไม่ได้รับคืนเงินต้นตลอดช่วงเวลาที่ถือหุ้นกู้อยู่นั้น โดยผู้ถือหุ้นกู้ไม่มีสิทธิ์บังคับให้ผู้ออกต้องไถ่ถอนหุ้นกู้ในช่วงใดๆ ก็ตาม ดังนั้นเป็นหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง เพราะผู้ถือหุ้นกู้หากไม่ต้องการถือหุ้นกู้นี้ต่อไป สามารถขายออกไปเท่านั้น (แต่ราคาอาจมีความผันผวน) ถือเป็นความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง

 

  1. ผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิ์เลื่อนการชำระดอกเบี้ยพร้อมกับสะสมดอกเบี้ยจ่ายไปชำระในวันใดก็ได้ ไม่จำกัดระยะเวลาและไม่จำกัดจำนวนครั้ง นอกจากนี้ผู้ออกหุ้นกู้อาจไม่จ่ายดอกเบี้ยสำหรับส่วนที่ค้างชำระก็ได้ ดังนั้นผู้ถือหุ้นกู้ตัวนี้จึงมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับดอกเบี้ยหรือได้รับดอกเบี้ยล่าช้า นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยเป็นแบบลอยตัว ซึ่งจะระบุดอกเบี้ยชัดเจนในช่วง 5 ปีแรก ส่วนในปีต่อๆ ไปจะเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด

 

  1. หุ้นกู้นี้ไม่มีเงื่อนไขการผิดนัดไขว้ (Cross-default) คือ หากผู้ออกหุ้นกู้มีการผิดนัดชำระหนี้ ในหุ้นกู้อื่น หรือสัญญาทางการเงินอื่น หรือเจ้าหนี้อื่นของผู้ออกหุ้นกู้ จะไม่ทำให้ผู้ออกหุ้นกู้เป็นผู้ผิดนัดชำระภายใต้หุ้นกู้นี้ด้วย และเมื่อไม่ผิดนัดชำระ ผู้ถือหุ้นกู้นี้จึงไม่มีสิทธิ์เรียกร้องให้ผู้ออกหุ้นกู้ต้องชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย นอกจากนี้หากผู้ออกหุ้นกู้ชำระหนี้คืนให้เจ้าหนี้อื่นจนทำให้ขาดสภาพคล่อง ผู้ถือหุ้นกู้นี้จะมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับดอกเบี้ยตามกำหนด

 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X