×

4 ความเข้าใจผิดของรถยนต์ไฟฟ้า (EV)

24.04.2021
  • LOADING...
4 ความเข้าใจผิดของรถยนต์ไฟฟ้า (EV)

ในอนาคตที่รถ EV กำลังเข้ามาทดแทนรถยนต์ปกติ แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่หลายคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับรถ EV ซึ่งวันนี้เราจะมาอธิบายให้หายสงสัยกัน

 

1. รถ EV มีผลเสียมากกว่ามีผลดีต่อสิ่งแวดล้อม

หลังการออกมาให้ข่าวของผู้บริหารใหญ่ Toyota ว่าการใช้ไฟฟ้าเป็นการใช้น้ำมันอ้อมๆ ก็มีด้านลบอื่นๆ ปะปนอยู่อีกสำหรับบางคน เช่น รถ EV ต้องใช้แร่ธาตุเพื่อนำมาใช้ในการผลิตรถ เช่น ลิเทียม นิกเกิล หรือโคบอลต์ โดยเหมืองต้องมีการใช้แรงงานเด็กและทำงานในสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ แต่คนเหล่านั้นอาจจะลืมไปว่ามีกี่ครั้งแล้วที่มีเรือขนส่งน้ำมันเกิดล่ม ทำให้น้ำมันเกิดการรั่วไหลปนเปื้อนในท้องทะเล สร้างหายนะมาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

 

แร่ธาตุที่สำคัญอันดับหนึ่งในการผลิตรถ EV ก็คือ ลิเทียม แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือ ตัวเหมืองที่สำคัญที่สุดในการทำลิเทียมไม่ได้อยู่บนผืนแผ่นดิน แต่อยู่ในทะเลสาบน้ำเค็ม! จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า แร่ลิเทียมที่คุ้มค่าต้นทุนในการผลิต 87% จะมีต้นทางมาจากส่วนที่อยู่ในทะเลสาบน้ำเค็ม ส่วนอีก 13% จะมาจากการทำเหมืองหินแบบปกติ

 

เมื่อมีความต้องการลิเทียมสูงมากขึ้นมหาศาล ผู้ผลิตลิเทียมก็เริ่มมุ่งที่จะไปหาแหล่งลิเทียมจากน้ำทะเล โดยมีกระบวนการผลิตหลักด้วยการระเหยน้ำออก เพื่อเก็บเกี่ยวลิเทียมที่อยู่ในน้ำเกลือเหล่านี้ ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับการใช้งานเด็ก และการทำงานในพื้นที่เสี่ยงอันตรายใดๆ ทั้งสิ้น

 

ส่วนอีกหนึ่งแร่ธาตุสำคัญที่ใช้ในรถ EV คือ โคบอลต์ ซึ่งแหล่งสำคัญในการผลิตโคบอลต์อยู่ในคองโก ประเทศซึ่งมีชื่อเสียงไม่ดีในการทำเหมืองโดยใช้แรงงานเด็ก อีกทั้งยังมีน้อย ราคาแพง จน อีลอน มัสก์ ต้องบอกว่าจะเลิกใช้โคบอลต์ และจะหาวิธีการอื่นมาทดแทน

 

แร่โคบอลต์ก็อยู่ในคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือที่เราใช้กันทุกวันนี้เช่นกัน ส่วนอุตสาหกรรมรถ EV ก็พยายามเลี่ยงการใช้โคบอลต์กันหลายค่ายมากขึ้น เพราะมันมีไม่พอ และภาพลักษณ์รักษ์โลกจะดูไม่ดีนัก ปัจจุบันหลายๆ บริษัทก็เริ่มหันมาจริงจังกับการปรับปรุงให้มีการใช้โคบอลต์น้อยลง หรือไม่ใช้เลย แต่ด้วยเหตุผลหลักมาจากโคบอลต์มีต้นทุนสูง ส่วนเรื่องจริยธรรมอาจจะเป็นเรื่องรองลงมา (ก็เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยระบบทุนนิยมนี่นะ)

 

2. รถ EV มีความเสี่ยงที่จะไหม้ติดไฟสูงกว่ารถยนต์

ในบางกรณีที่รถ EV มีการเรียกคืน เนื่องจากปัญหาแบตเตอรี่ อย่างกรณีล่าสุดก็มี Ford ที่ต้องหยุดส่งมอบและเรียกรถคืน เพราะแบตเตอรี่ที่ส่งมาจากผู้ผลิตเกิดการปนเปื้อนในกระบวนการผลิต ทำให้ระหว่างการใช้งานตัวแบตเตอรี่มีความร้อนสูงมากเกินกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้มีโอกาสติดไฟได้ง่ายขึ้นด้วย

 

ซึ่งตรงนี้จริงอยู่ว่าลิเทียมแบตเตอรี่มีโอกาสติดไฟได้เหมือนเชื้อเพลิงทั่วไป แถมเมื่อติดไฟแล้วยังทำให้เกิดแก๊สพิษด้วย แต่แบตเตอรี่มีข้อดีคือ ก่อนจะติดไฟจริง มันจะใช้เวลาค่อนข้างนาน ทำให้คนขับและผู้โดยสารมีโอกาสที่จะหนีออกจากรถก่อนที่ไฟจะโหมขึ้นมาแรงๆ ต่างกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันหรือแก๊สธรรมชาติที่เมื่อติดไฟแล้วจะลามได้ไว และโอกาสหนีออกจากรถโดยไม่โดนไฟไหม้เลยแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

 

ถ้าจะอ้างกันจากสถิติโดยตรง รถ EV ในจีนที่ส่งมอบไปในปี 2018 มีจำนวนประมาณ 1.2 ล้านคัน และมีบันทึกไว้ว่า 40 คันเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ คิดเป็นตัวเลขที่มีรถ EV เกิดไฟไหม้ 1 ต่อ 30,000 คัน เมื่อเทียบกับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปทั่วไป ที่ในอเมริกามีการบันทึกตัวเลขไว้ระหว่างปี 2014-2016 รถยนต์เกิดไฟไหม้กว่า 171,500 คัน ซึ่งมีจำนวนรถยนต์ทั้งหมดในประเทศที่ 269 ล้านคัน คิดเป็นตัวเลขออกมาจะได้รถยนต์ที่เกิดไฟไหม้ 1 ต่อ 1,569 คัน เทียบกับรถ EV แล้ว กรณีเกิดไฟไหม้ของรถยนต์ทั่วไปมีโอกาสเกิดได้มากกว่าเกือบ 30 เท่าตัวเลยทีเดียว

 

3. แบตเตอรี่รถ EV ใช้ได้แค่ไม่กี่ปี เดี๋ยวก็เสื่อม

คนทั่วไปรวมถึงผู้เขียนด้วยก็น่าจะมีความคิดฝังหัวว่า แบตเตอรี่รถ EV น่าจะใช้ได้ไม่เกิน 3-5 ปีเดี๋ยวก็เสื่อม และเริ่มชาร์จประจุได้น้อยลง เหมือนแบตเตอรี่ที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือของพวกเราที่ใช้กันทุกวันนี้

 

แต่ความจริงแล้วแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถ EV เสื่อมช้ากว่าที่เราคิดมาก โดยจากรายงานที่ออกมาจากผู้ใช้งานรถ Tesla เมื่อผ่านการใช้งานไปมากกว่า 257,500 กิโลเมตร ตัวแบตเตอรี่ของรถเพิ่งจะเสื่อมสภาพไปแค่ 10% เท่านั้นเอง ซึ่งถือว่าน้อยมากๆ เนื่องจากตัวแบตเตอรี่ของรถ EV มีการชาร์จประจุที่แตกต่างกับแบตเตอรี่ในโทรศัพท์มือถือ โดยตัวรถ EV จะมีการชาร์จประจุให้เฉพาะตัวเซลล์แบตเตอรี่ที่หมดประจุเท่านั้น แถมตัวเซลล์แบตเตอรี่ก็ยังมีก้อนย่อยอีกเป็นหลายพันก้อน ก่อนจะเอามามัดรวมกันเป็นแบตเตอรี่แพ็ก

 

จากความทนทานนี้ทำให้ผู้ผลิตรถ EV หลายบริษัทมีการสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคเพิ่มด้วยการให้ระยะเวลาประกันแบตเตอรี่มากกว่า 8 ปี หรือถ้าใช้รถมากก็ประกันให้ที่ระยะทาง 160,000 กิโลเมตร สำหรับแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพลงต่ำกว่า 70% เท่านั้นนะ (ถ้าชาร์จประจุเข้าเต็มที่ได้น้อยกว่า 70% ผู้ผลิตจะเปลี่ยนแบตเตอรี่ให้ฟรีๆ ไปเลย) เรียกว่าผู้ผลิตรถ EV ต้องมั่นใจระดับหนึ่งเลยว่าของเขาดีจริง ไม่อย่างนั้นบริษัทคงไม่กล้ารับประกันได้ยาวนานขนาดนี้ โดยทั่วไปแบตเตอรี่รถ EV ควรจะมีการใช้งานได้แบบปกติมากกว่า 10 ปีขึ้นไปอย่างแน่นอน

 

4. รถ EV มีราคาแพง!

จริงๆ ประโยคนี้อาจจะจริงสำหรับบ้านป่าเมืองไทย แต่สำหรับประเทศอื่นๆ อีกหลายๆ ประเทศ คำพูดนี้เริ่มจะไม่แน่เสมอไปแล้ว หากนำหลายๆ มิติตัวเลขเข้ามาดูประกอบ

 

แน่นอนว่าตัวรถ EV จะมีราคาสูงกว่ารถยนต์ทั่วไป สาเหตุหลักเนื่องจากลิเทียมแบตเตอรี่ที่อยู่ในรถก็คิดเป็นต้นทุนมากกว่า 30% ของต้นทุนรวมทั้งหมดแล้ว เมื่อหักตัวแบตเตอรี่ออกไป ราคาตัวชิ้นส่วนที่เหลืออยู่ในรถ EV จะมีมูลค่าเหลืออยู่ 58.5% เมื่อรถ EV มีอายุการใช้งานไปแล้ว 3 ปี หากเทียบกับค่าเฉลี่ยรถยนต์ทั่วไปที่อุปกรณ์ที่เหลือจะคงมูลค่าได้เพียง 41.2% ที่อายุการใช้งานเท่ากัน

 

แต่บางคนก็จะแย้งได้อยู่ว่านั่นมันราคาขายต่อ ไม่ใช่ราคาซื้อ! รถ EV ในปัจจุบันกำลังมีราคาถูกลงอย่างมาก อย่างที่ แคธี วูด บอกบ่อยๆ เรื่อง Wright’s Law คือเมื่อสินค้าผลิตออกมาเยอะๆ จะทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยถูกลงอย่างมาก ซึ่งราคาที่ลดลงไม่ได้ลดลงแบบกราฟเส้นตรง แต่เป็นกราฟ Exponential แบบกลับเสียด้วย ซึ่งทำให้ในอนาคตรถ EV อาจจะมีต้นทุนผลิตที่ใกล้เคียงกับรถยนต์แบบดั้งเดิมก็เป็นได้

 

แต่นั่นก็ยังเป็นเรื่องของอนาคตอีก ที่จริงแล้วการจะให้ตัวรถ EV คุ้มค่าเมื่อเทียบกับรถยนต์ปกติอาจจะต้องนำค่าบำรุงรักษาและค่าซ่อมชิ้นส่วนหนักๆ มาเป็นตัวแปรในการคำนวณด้วยในปัจจุบัน เพราะรถ EV แทบไม่ต้องมีการบำรุงรักษาตามระยะในเรื่องของของเหลว เช่น น้ำมันเครื่อง หรือน้ำมันหล่อลื่นเลย หรือชิ้นส่วนเคลื่อนไหวต่างๆ ที่มีน้อยลง เช่น เกียร์ คลัช ฯลฯ ซึ่งถ้าเสียแต่ละทีก็มีหน้าซีดกันได้เลย

 

อ่านแล้วใครเคยเข้าใจผิดเรื่องไหนกันบ้าง มาแชร์กันได้ เบิกเนตรแล้วก็ฝากกดไลก์ กดแชร์ และไปหารถ EV มาใช้กันดีกว่าครับ ใครมีรถ EV ใช้แล้ว มาแชร์ประสบการณ์กับขายของให้ผู้เขียนฟังด้วย เพราะตอนนี้อยากได้มากๆ แต่ภาษี Tesla รุนแรงเหลือเกิน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X