×

‘เงินหมื่นเฟส 2’ แจกผู้สูงอายุราว 4 ล้านคน ใช้งบประมาณเกือบ 4 หมื่นล้านบาท คาดกระตุ้น GDP ได้ 0.07-0.1% ต่อปี

24.12.2024
  • LOADING...

วันนี้ (24 ธันวาคม) พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ‘โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้สูงอายุ’ หรือที่หลายคนเรียกว่า ‘เงินหมื่นเฟส 2’

 

“การดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นการขยายผลกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติมจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพให้แก่กลุ่มเปราะบางให้ครอบคลุมกว้างขวางมากยิ่งขึ้น” แถลงการณ์ระบุ

 

สำหรับกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ที่ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 สำเร็จ ที่มีสัญชาติไทย และมีอายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ 15 กันยายน 2567 (เกิดก่อนหรือในวันที่ 16 กันยายน 2507) และมีคุณสมบัติเพิ่มเติม ดังนี้

 

  • ไม่เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทสำหรับปีภาษี 2566

 

  • ไม่เป็นผู้ที่มีเงินฝากรวมกันเกิน 500,000 บาท ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567

 

  • ไม่เป็นผู้อยู่ในสถานสงเคราะห์ในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567

 

  • ไม่เป็นผู้ต้องขัง 4 ประเภท ได้แก่ นักโทษเด็ดขาด, ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณา, ผู้ต้องกักขัง และผู้ต้องกักกัน ตามฐานข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567

 

  • ไม่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับเงินตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ

 

ทั้งนี้ ประมาณการจำนวนกลุ่มเป้าหมายไม่เกิน 4 ล้านคน
สำหรับการดำเนินการโครงการฯ กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง จะเริ่มทยอยจ่ายเงินจำนวน 10,000 บาทต่อคน โดยจะเร่งจ่ายเงินครั้งแรกภายในเดือนมกราคม 2568 ผ่านบัญชี PromptPay ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชนของกลุ่มเป้าหมาย



 

ทั้งนี้ ในกรณีที่จ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมายไม่สำเร็จในครั้งแรก จะมีการดำเนินการจ่ายเงินซ้ำ (Retry) ให้แก่กลุ่มเป้าหมายดังกล่าวจำนวน 3 ครั้ง โดยเมื่อพ้นกำหนดการ Retry ครั้งที่ 3 แล้ว รัฐจะยุติการจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมาย และถือว่ากลุ่มเป้าหมายไม่ประสงค์รับเงินภายใต้โครงการฯ


 

เงินหมื่นเฟส 2 คาดกระตุ้น GDP อีก 0.07-0.1% ต่อปี

 

พิชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้สูงอายุตามกลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ เป็นกลุ่มที่ผ่านการคัดกรองแล้วว่ามีสถานภาพด้านรายได้และเงินฝากค่อนข้างจำกัด จึงถือเป็นผู้ที่ค่อนข้างมีความเปราะบางที่มีความโน้มเอียงหน่วยสุดท้ายในการบริโภค (Marginal Propensity to Consume: MPC) สูงกว่ากลุ่มประชากรที่มีรายได้สูง ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่จะใช้จ่ายเงินหมดทั้งจำนวน ทั้งนี้ คาดว่าการดำเนินโครงการฯ จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 0.07-0.1% ต่อปีเมื่อเทียบกับกรณีไม่มีโครงการฯ



 

ย้ำประชาชนเร่งผูก PromptPay

 

พิชัยกล่าวเน้นย้ำให้กลุ่มเป้าหมายเร่งดำเนินการตรวจสอบบัญชีธนาคารที่ผูก PromptPay กับเลขประจำตัวประชาชน ว่ายังสามารถใช้งานได้หรือไม่ หรือหากยังไม่ได้ผูก PromptPay ก็ขอให้ดำเนินการผูก PromptPay ด้วยเลขประจำตัวประชาชน เพื่อรับสิทธิตามโครงการฯ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising