4 มกราคม 2025 เป็นวันที่โลกโคจรอยู่ใกล้ ดวงอาทิตย์ ที่สุดในรอบปี ด้วยระยะห่างประมาณ 147,103,686 กิโลเมตร ณ จุดเพอริฮีเลียน (Perihelion) เวลา 20.28 น. ตามเวลาประเทศไทย
เนื่องจากโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี เช่นเดียวกับทุกวัตถุในระบบสุริยะ จึงทำให้มีช่วงเวลาที่โลกเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดของปีในช่วงต้นเดือนมกราคม และอยู่ในตำแหน่งไกลสุดจากดวงอาทิตย์ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมของทุกปี
ในปี 2025 โลกจะโคจรเข้าสู่สุดอะฟีเลียน (Aphelion) หรืออยู่ไกลดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 4 กรกฎาคม เวลา 02.54 น. ที่ระยะห่างประมาณ 152,087,738 กิโลเมตร และจะค่อยๆ ลดระยะห่างจากดาวฤกษ์หนึ่งเดียวในระบบสุริยะลง ก่อนไปถึงจุด Perihelion อีกครั้งในวันที่ 4 มกราคม 2026
แม้จะเป็นวันที่โลกเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด แต่ระยะห่างจากดาวฤกษ์ของโลกไม่ได้มีผลต่อการเกิดฤดูกาลบนโลก เนื่องจากโลกของเราอยู่ในจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดประมาณ 2 สัปดาห์หลังจากวันเหมายัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศในแถบซีกโลกเหนือเข้าสู่ฤดูหนาว และโคจรถึงจุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุดของปีเพียง 2 สัปดาห์หลังจากวันครีษมายัน ช่วงเวลาที่ซีกโลกเหนือเข้าสู่ฤดูร้อน
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดฤดูกาลต่างๆ บนโลก มาจากแกนโลกที่เอียงทำมุม 23.5 องศา ส่งผลให้พื้นที่บนโลกได้รับแสงอาทิตย์ในแต่ละช่วงเวลาไม่เท่ากัน กลายเป็นฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงของรอบปี
ภาพ: NASA
อ้างอิง: