ข่าวดังที่กำลังเป็นประเด็นร้อนเรื่องการปลอมแปลงสัญลักษณ์อาหารและยาของบริษัท เมจิก สกิน จำกัด นับว่าสร้างแรงกระเพื่อมมหึมาและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง
ทั้งต่อธุรกิจผลิตภัณฑ์ เครื่องสำอาง และอาหารเสริมในเครือเมจิกสกิน รวมถึงศิลปินดาราและผู้มีชื่อเสียงในโลกโซเชียลที่รับจ้างรีวิวผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ต่ำกว่า 16 คน ทว่าคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือกลุ่มผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งจากการปลอมแปลง ‘อย.’ โดยตรง
THE STANDARD พาไปรู้จักกับโทษและอันตรายของสารอันตรายที่ห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เพื่อให้รู้เท่าทันและปกป้องตัวเองให้รอดพ้นจาก 4 สารที่เป็นอันตรายต่อผิว
4 สารอันตรายจากครีมหน้าขาว
ผลิตภัณฑ์ประเภทครีมหน้าขาวที่เป็นอันตรายต่อผิวหนัง เคยมีการเปิดเผยโดยฝ่ายเภสัชกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เอาไว้ว่า ผลิตภัณฑ์ประเภทครีมหน้าขาว หรือ Whitening Products นั้นมักมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อผิวหนัง แม้ตอนแรกที่ใช้ผลิตภัณฑ์จะเห็นผลลัพธ์ได้รวดเร็วทันใจ ผิวดูใสขึ้นจริง แต่ก็ให้ผลเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป อาจเกิดผลข้างเคียงที่ตามมาคือรอยไหม้ดำที่แผ่เป็นวงกว้าง รอยแดง ผื่นแพ้ หน้าบาง และทำให้ผิวติดเชื้อได้ง่าย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลกระทบข้างเคียงจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพ ด้วยเหตุนี้องค์การอาหารและยาจึงเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบ และหากมีผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนจากการใช้ผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐานมาร้องเรียน ก็จะทำการตรวจสอบหาสาเหตุ และ อย. ยังได้ประกาศรายชื่อสารต้องห้ามที่ห้ามใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางจำนวน 4 ชนิด ดังนี้
สารปรอท (Mercury)
สารปรอทถูกกำหนดเป็นสารห้ามใช้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องกำหนดวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางลำดับที่ 221 ตามที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนพิเศษ 80 ง ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2551 โดยกำหนดสารห้ามใช้คือ ปรอทและสารประกอบของปรอท ซึ่งกลไกของสารปรอทนั้นหากสรุปง่ายๆ คือทำงานโดยเข้าไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ชื่อไทโรซิเนส (Tyrosinase) ทำให้การสร้างเม็ดสีเมลานิน (Melanin) ลดลง สีผิวจึงขาวขึ้น และสารปรอทยังมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิด Staphylococcus จึงพบสารปรอทได้เยอะในผลิตภัณฑ์ป้องกันสิวด้วย
อันตรายจากผลข้างเคียงของสารปรอท
ทำให้ผิวหนังเกิดการแพ้ ผื่นแดง ผิวหน้าดำ บางคนกลายเป็นฝ้าถาวร และผิวบางลงด้วย ยิ่งใช้นาน สารปรอทยิ่งสะสมพิษในผิวหนังมากขึ้น และเป็นสารที่ดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดโรคโลหิตจาง ตับอักเสบ ไตอักเสบ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ
ส่วนในสตรีมีครรภ์นั้น สารปรอทจะดูดซึมเข้าร่างกายและไปสู่ทารก ส่งผลให้เด็กมีสมองพิการและปัญญาอ่อนได้
สารไฮโดรควิโนน (Hydroquinone)
อีกหนึ่งสารห้ามใช้ในเครื่องสำอางคือ ไฮโดรควิโนน นี่คือสารที่ออกฤทธิ์โดยไปยับยั้งกระบวนการทางเคมีของเซลล์สร้างเม็ดสีเหมือนกับวิธีของสารปรอท ส่งผลให้ปริมาณเม็ดสีลดลง ผิวจึงขาวขึ้น สารนี้พบบ่อยในครีมประเภทยารักษาปัญหาฝ้า กระ จุดด่างดำ โดยทั่วไปไฮโดรควิโนนจัดเป็นยาทาภายนอกใช้เพื่อการรักษาเท่านั้น
ถูกห้ามใส่ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่วางจำหน่ายทั่วไป (อย. กำหนดให้ผสมสารไฮโดรควิโนนในการรักษาฝ้าได้ไม่เกิน 2%)
อันตรายจากผลข้างเคียงของสารไฮโดรควิโนน
ส่งผลให้เกิดอาการแสบร้อน เป็นตุ่มแดง หากใช้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้เป็นฝ้าถาวร แถมยังเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังได้ ผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดยาจะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและไปกระตุ้นให้ร่างกายมีอาการสั่น หรือเกิดลมชัก หรือแพ้ยาได้
สเตียรอยด์ (Steroid)
สารสเตียรอยด์ น่าจะเป็นสารที่คนได้ยินบ่อยที่สุด เพราะเป็นสารที่ออกฤทธิ์ทำให้ผิวหน้าขาว ที่เป็นสารต้องห้ามในเครื่องสำอาง เพราะมักใช้เป็นสูตรผสมกับยาตัวอื่น เช่น เอาไปผสมกับไฮโดรควิโนนหรือเรตินอยด์ ใช้รักษาฝ้า กระ จุดด่างดำ
อันตรายจากผลข้างเคียงของสเตียรอยด์
หากใช้ในปริมาณมากเกินมาตรฐาน หรือนำไปใช้ผิดวิธี และใช้เป็นระยะเวลานานต่อเนื่อง สเตียรอยด์จะส่งผลข้างเคียงทั้งภายนอกและภายในร่างกาย เช่น ผิวหนังเสพติดจนเกิดอาการแดงเป็นผดผื่น ผิวหน้าบาง มลพิษต่างๆ จากภายนอกจะเข้าสู่ชั้นผิวหนังแท้ได้ง่ายขึ้น คนที่แพ้หรือผิวบางมากๆ จะเห็นเส้นเลือดแดงตามใบหน้าได้อย่างชัดเจน
กรดเรทิโนอิก (Retinoic Acid)
กลไกการออกฤทธิ์คือกระตุ้นการแบ่งเซลล์และเร่งการผลัดเซลล์ผิวในชั้นอิพิทีเรียล (Epitherial) ลดการเคลื่อนย้ายเม็ดสีมาที่เซลล์ผิวหนัง และยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสที่ใช้สร้างเม็ดสี มีคุณสมบัติป้องกันการสร้างสิวอุดตัน
อันตรายจากผลข้างเคียงจากกรดเรทิโนอิก
ผลข้างเคียงทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง ผิวหน้าลอก อักเสบ แพ้แสงแดดง่ายกว่าปกติ เกิดภาวะผิวด่างขาวหรือผิวคล้ำได้ชั่วคราว และอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
รู้ถึงโทษอันตรายของ 4 สารอันตรายแล้ว ก่อนจะซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ควรพิจารณาเลือกซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่น่าเชื่อถือ แม้ตอนนี้การสังเกตแค่ฉลากบนบรรจุภัณฑ์อาจทำได้ยากกว่าเดิม เพราะยังมีการปลอมแปลงฉลากอาหารและยาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้แค่เห็นฉลาก ก็ไม่อาจมั่นใจได้ว่าเป็นของจริงหรือไม่ เราจึงแนะนำให้ตรวจสอบชื่อและชนิดของผลิตภัณฑ์ รวมถึงเลขที่ใบรับแจ้ง ซึ่งจะเป็นเลข 10 หลัก โดยเช็กได้ทางเว็บไซต์ของ อย. ได้ที่ porta.fda.moph.go.th หรือหากมีเรื่องร้องเรียน สามารถส่งอีเมลไปที่ [email protected] หรือส่งจดหมายไปที่ ตู้ ปณ.1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบรี 11004
อ้างอิง:
- med.mahidol.ac.th/ramapharmacy/th/knowledge/general/04072016-2055-th
- Indian J Dermatol. TOPICAL TREATMENT OF MELASMA. 2009 Oct-Dec; 54(4): 303–309.
- www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2807702
- นางสาวอัจฉราพรรณ ตันติปัญจพร และ รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี. สารปรอทปริมาณสูงในครีมหน้าขาวและการทดสอบเบื้องต้น. 2014 June. www.sc.mahidol.ac.th/usr/?p=320
- อภัย ราษฎรวิจิตร. ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone). 2015 Febuary. haamor.com/th/%E0%B9%84%E0%B8%AE%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A3%E0%B8…–
- กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. อย. เตือน อย่าซื้อ อย่าใช้ เครื่องสำอางอันตราย 34 รายการ เสี่ยง! หน้าพัง . 2010 July. www.fda.moph.go.th/www_fda/data_center/ifm_mod/nw/%E0%B8%82%E0%B9…
- กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. รายชื่อชุดทดสอบกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และสถานที่ติดต่อสั่งซื้อ / ตัวแทนจำหน่ายของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. 2013 Sep [เข้าถึงเมื่อ 2016 มีนาคม 20] dmsc2.dmsc.moph.go.th/testkit/index.php?option=com_content&view=a…