×

เปิด ‘4 ปัจจัย’ หนุนหุ้นเล็กพุ่งแรง นักวิเคราะห์เตือนระวังเกณฑ์คุมหุ้นร้อนใหม่เสี่ยงฉุดราคา

28.03.2022
  • LOADING...
หุ้น

นักวิเคราะห์คาดหุ้นเล็กใน mai มีลุ้นปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าหุ้นขนาดกลางและใหญ่ เนื่องจากยังมีสภาพคล่องในระบบมารองรับการเก็งกำไร ขณะที่นักลงทุนชะลอการลงทุนในหุ้นขนาดกลางและใหญ่เพื่อรอความชัดเจนทางเศรษฐกิจหลายปัจจัย ด้านเอเซีย พลัส แนะลงทุนอย่างระมัดระวัง หลังจากตลาดเพิ่มความเข้มข้นเกณฑ์คุมหุ้นร้อน มีผล 4 เมษายนนี้

 

ดัชนี mai ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (28 มีนาคม) ปรับเพิ่มขึ้น ​​8.05% โดยล่าสุดอยู่ที่ 638 จุด คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) 57.03 เท่า 

 

ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในไตรมาส 2/56 แนวโน้มหุ้นขนาดเล็ก หรือหุ้นใน mai จะปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าหุ้นขนาดกลางและใหญ่ หรือหุ้นใน SET โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากปริมาณสภาพคล่องในระบบที่ยังรองรับการเก็งกำไรหุ้นขนาดเล็กได้ดี และได้อานิสงส์จากเม็ดเงินในประเทศที่จะเข้าลงทุนในหุ้นเล็ก ในจังหวะที่หุ้นขนาดใหญ่มีความผันผวนจากการที่นักลงทุนสถาบันปรับพอร์ต เพื่อให้สอดรับกับนโยบายการเงินสหรัฐฯ ที่กำลังเปลี่ยนทิศทาง 

 

โดยอ้างอิงจากข้อมูล mai Index ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.05%YTD ซึ่งดีกว่า SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.16%YTD (ณ 25 มีนาคม 2565) จึงประเมินว่าแนวโน้มในช่วงไตรมาส 2/65 mai Index ยังมีโอกาส Outperform หุ้นขนาดใหญ่ จากปัจจัยดังนี้ 

 

  1. สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจยังรองรับแรงเก็งกําไรในหุ้นขนาดเล็กได้ดี โดย Market Cap ของ SET Index อยู่ที่ 82% ของปริมาณเงิน M2 และ Market Cap ของ mai Index อยู่ที่เพียง 2% ของปริมาณเงิน M2 

 

ทั้งนี้อิงสถิติในอดีตจะพบว่า mai Index จะพลิกมา Underperform เมื่อ Market Cap ของ SET Index ขึ้นไปอยู่ในกรอบ 90-100% ของปริมาณเงิน M2 (หุ้นเล็กมักถูกขายลดความเสี่ยงก่อนหุ้นใหญ่ในช่วงที่สภาพคล่องตึงตัว) 

 

  1. หุ้นใหญ่จะผันผวนจากการปรับสมดุลให้รับกับการดําเนินนโยบายการเงินของ Fed และ ECB จึงทำให้หุ้นขนาดเล็กซึ่งพึ่งพาสภาพคล่องในประเทศเป็นหลักมีโอกาสกลับมา Outperform 

 

  1. Index Ratio ระหว่าง mai ต่อ SET อยู่ที่ 0.37 เท่า ยังมีช่องว่างให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับกรอบในอดีตที่ 0.40-0.45 เท่า 

 

  1. Spread ROE ระหว่าง mai ต่อ SET ยังทรงตัวในระดับสูงที่ -3.7% เทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ -5.7% สะท้อนความสามารถในการบริหารสินทรัพย์และการสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นของ mai Index ที่ทำได้ดีกว่า SET Index อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา 

 

อย่างไรก็ตาม ในการเลือกลงทุนต้องมีเหตุผลรองรับมากยิ่งขึ้น โดยฝ่ายวิจัยแนะนำลงทุนหุ้น BROOK, BC, PJW, SPA, TACC โดยพิจารณาจากคุณสมบัติดังนี้ 

 

  1. Valuation ยังไม่แพง โดยอิงจาก Current PER หรือ PBV ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต 

 

  1. แนวโน้มผลประกอบการฟื้นตัวในไตรมาส 1/65 หรืออย่างช้าในไตรมาส 2/65 และผลประกอบการทั้งปี 2565 ต้อง Turnaround 

 

  1. ถูกกระทบจากราคาพลังงานและต้นทุนวัตถุดิบจำกัด หรือมีความยืดหยุ่นในการปรับราคาขายสินค้าหรือค่าบริการตามต้นทุนได้ 

 

  1. มีธีมการลงทุนที่ชัดเจน เช่น EV Car, Digital Asset หรือ Reopening 

 

  1. กราฟทางเทคนิคไม่อยู่ในโซนซื้อมากเกินไป หรือ Overbought 

 

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัย บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์หุ้น mai เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 โดยแนะนำลงทุน BROOK (+21%), INSET (- 8%), BBIK (+34%), STI (+25%) ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 18% ในรอบ 3 เดือน

 

เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า แนวโน้มการเก็งกำไรในหุ้นขนาดเล็กน่าจะมีต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 2/65 แต่เชื่อว่านักลงทุนจะมีความระมัดระวังการลงทุนและเน้นการเลือกลงทุนหุ้นรายตัวมากขึ้น เนื่องจากในวันที่ 4 เมษายนนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะเริ่มใช้มาตรการกำกับการซื้อขายแบบใหม่ เพื่อลดความร้อนแรงของราคาหุ้นที่มีการเก็งกำไรสูง ซึ่งหุ้นใน mai หลายบริษัทจะเข้าข่ายมาตรการกำกับระดับ 3 

 

เขากล่าวว่า ปี 2564 มีนักลงทุนเพิ่มขึ้น 1.7 ล้านบัญชี (เพิ่มขึ้น 48%) หนุนปริมาณการซื้อขายสูงกว่าปกติ โดยเฉพาะหุ้นขนาดเล็กได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ อย่างตลาด mai มีการซื้อขายบ่อยขึ้นจน Turnover ทั้งปีสูงถึง 3.68 เท่า (เพิ่มขึ้น 168%) ผลักดันดัชนี mai ปรับตัวขึ้นมาถึง 73.1% และมี P/E สูงถึง 58 เท่า

 

นอกจากนี้มีหุ้นหลายบริษัทที่มีการปรับตัวขึ้นมาเร็ว มีมูลค่าซื้อขายสูงผิดปกติ โดยที่พื้นฐานไม่ได้รองรับ สะท้อนได้จากหุ้นที่ติด Cash Balance ณ ปัจจุบัน 16 บริษัท แบ่งเป็นรายละเอียดดังนี้  

 

  1. ปริมาณซื้อขายสูงผิดปกติ สะท้อนได้จากหุ้นดังกล่าวมี Turnover (YTD) สูงผิดปกติเฉลี่ยอยู่ที่ 137.9% ขณะที่ Turnover (YTD) ของ SET เพียง 25.5%

 

  1. ราคาปรับตัวขึ้นมาเร็ว สะท้อนได้จากหุ้นดังกล่าวมีผลตอบแทนเฉลี่ย YTD 28.2% ขณะที่ผลตอบแทนเฉลี่ย YTD ของ SET 1.2%

 

  1. ไม่สอดคล้องกับพื้นฐาน สะท้อนได้จากหุ้นดังกล่าวมีค่า P/E เฉลี่ย 65 เท่า และขาดทุนถึง 7 บริษัท ขณะที่ P/E ของ SET 19.4 เท่า

 

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่าการปรับมาตการครั้งนี้มุ่งเน้นช่วยลดความร้อนแรงของหุ้นที่มีความเคลื่อนไหวผิดปกติลง และเป็นการสกัดกั้นการทำราคา ถือเป็นการลดความเสี่ยงให้กับนักลงทุน พร้อมกับหนุนให้นักลงทุนหันมาโฟกัสที่ Valuation มากขึ้น ดังนั้นหุ้นที่ติด Cash Balance ณ ปัจจุบัน ถือเป็น Sentiment ลบเพิ่มเติม และน่าจะถูกผลักดันราคาได้ยากขึ้น โดยเฉพาะนับตั้งแต่วันที่ 4 เมษายนเป็นต้นไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising