มติบอร์ด EV ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) พร้อมดึงยักษ์ใหญ่ระดับโลกปักหมุดขยายลงทุนในไทย เผย 4 เงื่อนไข อัดฉีดด้านภาษี และเงินอุดหนุนจากกองทุน
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) ว่า ที่ประชุมพิจารณามาตรการส่งเสริมการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) เพื่อดึงดูดให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ ซึ่งเป็นการผลิตต้นน้ำที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
โดยผู้ลงทุนจะสามารถขอรับสิทธิประโยชน์และเงินสนับสนุนจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศภายใต้บีโอไอ โดยมีเงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับผู้ลงทุน ดังนี้
– เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำที่มีการใช้งานโดยผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ปัจจุบันจีนมีหลายรายไม่ว่าจะเป็น BYD CATL Energy Co.,Ltd. (EVE), Panasonic, Sumsung และ LG เป็นต้น ซึ่งนักลงทุนรายใหญ่เหล่านี้คือเป้าหมายที่บีโอไอจะขยายการลงทุนเข้ามา เพื่อตั้งฐานการผลิตแบตเตอรี่ EV ระดับเซลล์
- มีแผนการผลิตเซลล์แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า โดยสามารถผลิตเซลล์แบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ได้
- สามารถผลิตเซลล์แบตเตอรี่ที่มีค่าพลังงานจำเพาะไม่น้อยกว่า 150 Wh/Kg
- มีจำนวนรอบการอัดประจุ (Life Cycle) ไม่น้อยกว่า 1,000 รอบ โดยกำหนดเวลายื่นข้อเสนอโครงการลงทุนภายในปี 2570 ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศฯ จะพิจารณากำหนดรายละเอียดของหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติต่อไป
“แบตเตอรี่ถือเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรม EV ปัจจุบันมีผู้ผลิตแบตเตอรี่ในระดับโมดูลและแพ็กในประเทศหลายราย แต่เรายังขาดต้นน้ำที่สำคัญคือ การผลิตแบตเตอรี่ในระดับเซลล์ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและใช้เงินลงทุนสูง การออกมาตรการส่งเสริมในครั้งนี้ เพื่อดึงบริษัทชั้นนำของโลกเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย ซึ่งไม่เพียงจะช่วยเติมเต็มห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรม EV ไทย แต่ยังช่วยต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใช้ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางโลกที่มุ่งให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดในการดำเนินธุรกิจ”
เว้นสูงสุดถึง 15 ปี หากมีเงื่อนไขที่ดีที่สุด
สำหรับการมาตรการส่งเสริมแบตเตอรี่ EV ที่ผ่านมา ให้การส่งเสริมระดับโมดูลจะได้รับการยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคล 8 ปี (แคปวงเงิน) และระดับแพ็กยกเว้นภาษีฯ 5 ปี (แคปวงเงิน) ซึ่งทั้งสองระดับนี้ไม่มีอุดหนุนจากกองทุนฯ ส่วนระดับเซลล์ยกเว้นภาษีฯ 8 ปี (ไม่แคปวงเงิน) มีเงินอุดหนุนจากกองทุนฯ
ทั้งนี้ การยกเว้นภาษีฯ อยู่ที่การเจรจา ซึ่งสามารถได้ยกเว้นสูงสุดถึง 15 ปีหากมีเงื่อนไขที่ดีที่สุดให้กับประเทศไทย
ส่วนการใช้เงินกองทุนฯ เพื่อการอุดหนุนนั้นจะพิจารณาว่ารายนั้นๆ มีกำลังการผลิตใหญ่ขนาดไหน ใหญ่มากและป้อนให้กับ EV ก็ได้เงินอุดหนุนมาก กำลังการผลิตน้อย ป้อนให้แค่ระบบกักเก็บพลังงานอย่างเดียว ก็ได้น้อยลงมา นี่เป็นครั้งแรกที่จะดึงเงินกองทุนมาใช้ในมาตรการ EV แต่ก่อนหน้านี้เงินกองทุนฯ ได้นำไปใช้เพื่ออุดหนุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ทั้งนั้น เช่น อิเล็กทรอนิกส์ กิจการเซมิคอนดักเตอร์ การแพทย์ ไบโอ และดิจิทัล
ล่าสุดบีโอไอยังได้ขอเพิ่มวงเงินกองทุนฯ เพิ่มจากเดิมมีอยู่ที่ 10,000 ล้านบาท ด้วยต้องการใช้เป็นเครื่องมือดึงการลงทุนเพิ่มที่ใช้ทั้งใน S-Curve และ EV
รายงานข่าวระบุว่า แม้ปัจจุบันจะมีการส่งเสริมการลงทุนการผลิตแบตเตอรี่หลายโครงการ แต่ปัจจุบันการเข้ามาลงทุนในไทยยังเป็นเทคโนโลยีที่เป็นการประกอบแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์ EV ในลักษณะที่เป็น Cell to Pack และ Cell to Modul มากกว่า ดังนั้นเป้าหมายระยะต่อไปคือ การต่อยอดและส่งเสริมให้มีการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ที่เป็นเทคโนโลยีจากต้นน้ำ ด้วยการส่งเสริมให้มีการลงทุนในโรงงานที่ผลิตแบตเตอรี่ในระดับเซลล์แบตเตอรี่ควบคู่กันไป
ที่ผ่านมาบริษัทที่ผลิตแบตเตอรี่ EV ปักหมุดลงทุนในไทยแล้วมากกว่า 17 บริษัท ไม่ว่าจะเป็น
- โรงงาน HASCO-CP BATTERY SHOP บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ MG
- บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA
- บริษัท บีวายดี ออโต้ (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยเทคโนโลยีเบลดแบตเตอรี่
- บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด และบริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด (SVOLT)
- บริษัท เอ็นวี โกชั่น จำกัด และบริษัท นูออโว พลัส จำกัด (เครือ ปตท.)
- บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด
- Contemporary Amperex Technology Co., Ltd หรือ CATL ผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำของโลกจากจีน และบริษัท อรุณ พลัส จำกัด (เครือ ปตท.)
- โตโยต้า มอเตอร์
- นิสสัน พาวเวอร์เทรน (ประเทศไทย)
- อีซูซุมอเตอร์ (ประเทศไทย)
ภาพ: Teera Konakan / Getty Images