4 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ เตรียมความพร้อมสำรองเงินสด เพื่อรองรับการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้รวมกันกว่า 1 แสนล้านบาท
ธนาคารกรุงเทพเปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์และวันหยุดชดเชยวันสงกรานต์ระหว่างวันที่ 13-17 เมษายน 2566 ธนาคารได้สำรองเงินสดไว้ให้บริการแก่ลูกค้าเพิ่มเติมจากภาวะปกติโดยรวมทั้งสิ้นประมาณ 40,000 ล้านบาทผ่านสาขาธนาคารและช่องทางบริการ ATM ที่มีเกือบ 10,000 จุดทั่วประเทศ เพื่อรองรับปริมาณความต้องการเงินสดของประชาชนสำหรับการจับจ่ายซื้อสินค้า ของฝาก อาหาร และเครื่องดื่ม เพื่อเฉลิมฉลองความสุขในช่วงเทศกาลสงกรานต์และการเดินทางท่องเที่ยว ที่หลายจังหวัดได้กลับมาจัดกิจกรรมและงานรื่นเริงอีกครั้ง
นอกจากนี้ลูกค้ายังสามารถใช้บริการทางการเงินของธนาคารกรุงเทพได้ที่สาขาไมโครภายในห้างสรรพสินค้าและจุดชุมชนกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงบริการตัวแทนธนาคารที่รองรับธุรกรรมในการฝาก-ถอนเงินสดที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสในร้าน 7-Eleven, Lotus’s, บริการ Bank@Post ของไปรษณีย์ไทย และบริการผ่านตู้บุญเติม (ฝากเงินสด) ซึ่งมีจุดให้บริการรวมกันกว่า 140,000 แห่งทั่วประเทศ ควบคู่ไปกับบริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร ที่พร้อมอำนวยความสะดวกและสามารถทำรายการธุรกรรมต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง เช่น เครื่องบัวหลวงเอทีเอ็ม (ATM), เครื่องบัวหลวงรับฝากเงินสดอัตโนมัติ (CDM), บริการบัวหลวงไอแบงกิ้ง (Bualuang iBanking) และบริการโมบายล์แบงกิ้ง
ทั้งนี้ ธนาคารยังได้เตรียมความพร้อมสำหรับดำเนินการดูแลและเพิ่มความถี่ในการจัดเตรียมเงินสดในตู้ ATM ที่ตั้งอยู่ในชุมชนและจุดท่องเที่ยวทั่วประเทศ เป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้ลูกค้าของธนาคารสามารถเบิก-ถอนเงินสดสำหรับใช้จ่ายในช่วงวันหยุดเทศกาลดังกล่าวได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอ ตลอดจนดูแลธุรกรรมให้ดำเนินการได้อย่างราบรื่น
ด้านธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่า ธนาคารได้เตรียมสำรองเงินสด เพื่อรองรับการใช้จ่ายของลูกค้าและประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2566 ระหว่างวันที่ 12-16 เมษายน 2566 ทั้งการใช้บริการที่สาขาและเครื่อง ATM จำนวน 21,710 ล้านบาท แบ่งเป็นการสำรองในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 3,060 ล้านบาท และเขตภูมิภาคจำนวน 18,650 ล้านบาท โดยสำรองสำหรับสาขาและจุดบริการทั่วประเทศจำนวน 2,330 ล้านบาท และสำรองสำหรับเครื่อง ATM จำนวน 19,380 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เพื่อลดการสัมผัสเงินสดและลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด ลูกค้าและประชาชนสามารถทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT และแอปพลิเคชันเป๋าตัง ที่มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย โดยสามารถทำธุรกรรมได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ สาขาที่เปิดให้บริการในห้างสรรพสินค้าจะปิดทำการในวันที่ 14 เมษายน 2566
ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ระบุว่า ได้เตรียมความพร้อมสำรองธนบัตรเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ระหว่างวันที่ 12-17 เมษายน 2566 รองรับความต้องการใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 37,500 ล้านบาท แบ่งเป็นในเขตกรุงเทพมหานคร 10,675 ล้านบาท และในเขตต่างจังหวัด 26,825 ล้านบาท โดยเป็นการสำรองเงินผ่านเครื่อง ATM 31,000 ล้านบาท และสาขา 6,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นการสำรองเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 10% เพื่อรองรับการใช้จ่ายของประชาชนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ และการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบันธนาคารมีสาขาทั้งสิ้น 765 สาขา และมีเครื่อง ATM รวม 10,928 เครื่อง (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566)
ส่วนธนาคารกสิกรไทยเปิดเผยว่า ได้เตรียมสำรองเงินสดสำหรับให้บริการในสาขาและเครื่อง ATM เพื่อรองรับการใช้จ่ายช่วงเทศกาลสงกรานต์ระหว่างวันที่ 12-16 เมษายน 2566 รวมทั้งสิ้น 29,600 ล้านบาท ในจำนวนนี้แบ่งเป็นการสำรองเงินสดผ่านช่องทางสาขาจำนวน 8,800 ล้านบาท โดยเป็นเงินสำรองสำหรับสาขาในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 3,700 ล้านบาท และสาขาในเขตภูมิภาคจำนวน 5,100 ล้านบาท ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมี 822 สาขาทั่วประเทศ
สำหรับการสำรองเงินสดเพื่อเครื่องเอทีเอ็ม (K-ATM) ที่มีอยู่จำนวนกว่า 9,000 เครื่องทั่วประเทศ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 20,800 ล้านบาท แบ่งเป็นการสำรองเพื่อบรรจุเครื่อง ATM ในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 8,600 ล้านบาท และ ATM ในเขตภูมิภาคจำนวน 12,200 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน สมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์เดือนเมษายน 2566 ความต้องการใช้ธนบัตรของประชาชนอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าปกติ ธปท. จึงได้เตรียมสำรองธนบัตรชนิดราคาต่างๆ เพื่อรองรับความต้องการไว้อย่างเพียงพอ พิจารณาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ สถานการณ์โควิด รวมถึงมาตรการภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยประมาณการว่า ธนาคารพาณิชย์จะมีการเบิกจ่ายธนบัตรจาก ธปท. ในช่วงหนึ่งสัปดาห์ก่อนเทศกาลสงกรานต์เป็นมูลค่าสุทธิประมาณ 25,000 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการในปี 2565 อยู่ที่ 67% เนื่องจากในปีนี้มีช่วงวันหยุดยาวตามประกาศของภาครัฐและเอกชนต่อเนื่องกับวันหยุดสุดสัปดาห์ อีกทั้งยังมีกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เริ่มกลับมาท่องเที่ยวประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง