×

3 ปีไรด์แชริ่ง ไร้กฎหมายรองรับจากรัฐไทย Uber เปิดข้อเรียกร้องชวนประชาชนยื่นเรื่องปรับ พ.ร.บ. รถยนต์

28.09.2017
  • LOADING...

     เป็นระยะเวลากว่า 3 ปีแล้ว ที่ธุรกิจ Sharing Economy และบริการไรด์แชริ่ง (Ride Sharing) ‘อูเบอร์’ (Uber) เข้ามาบุกตลาดให้บริการในประเทศไทย โดยเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2557

     แต่ในขณะเดียวกัน ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ไทยกลับไม่มีกฎหมายข้อใดที่รับรองและเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจบริการร่วมเดินทางประเภทนี้เลย ซ้ำร้ายยังถูกต่อต้านจากผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะอย่างแท็กซี่ โดยให้เหตุผลว่า ‘แท็กซี่ป้ายดำ’ เหล่านี้เข้ามาแย่งงานของพวกเขาและสวมรอยให้บริการผิดกฎหมาย ซึ่งถือเป็นการบ่อนทำลายอุตสาหกรรมแท็กซี่ในประเทศ จนบานปลายเกิดกรณีความขัดแย้งบนท้องถนนระหว่างผู้ให้บริการเดิมอยู่บ่อยๆ

 

 

     เมื่อไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยอย่างที่ควรจะเป็น วันนี้ (28 ก.ย.) เอมี่ กุลโรจน์ปัญญา ผู้อำนวยการสื่อสารองค์กรและนโยบายของบริษัท อูเบอร์ เอเชียแปซิฟิก จึงออกมาแถลงความเคลื่อนไหวและท่าทีขององค์กรในการเชิญชวนคนไทยออกมาร่วมลงชื่อปรับเปลี่ยน พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 จำนวน 3 มาตรา เพื่อให้รองรับและผลักดันให้บริการไรด์แชริ่งสามารถดำเนินการได้ถูกกฎหมาย และได้รับการยอมรับในประเทศไทย โดยมีรายละเอียดดังนี้

     1. มาตรา 4 – เพิ่มคำนิยามของคำว่า ‘รถบริการร่วมเดินทาง (ไรด์แชริ่ง)’ ให้เป็นหนึ่งในประเภทรถยนต์ ซึ่งเมื่อปรับเปลี่ยนแล้ว มาตรา 4 เวอร์ชันใหม่จะมีใจความตามนี้

     ‘รถบริการร่วมเดินทาง ซึ่งได้แก่ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล รถยนต์สาธารณะ รถจักรยานยนต์สาธารณะ หรือรถประเภทอื่นที่ให้บริการผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น’

     2. มาตรา 21 – ยกเลิกมาตรา 21 อนุมาตรา 1 เดิม เรื่องการใช้รถตามประเภทต่างๆ และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน

‘การใช้รถยนต์บริการธุรกิจ รถยนต์บริการทัศนาจร รถบริการร่วมเดินทาง หรือรถจักรยานยนต์สาธารณะในกิจการส่วนตัว’

     3. มาตรา 43 – ยกเลิกมาตรา 43 วรรค 2 เดิม กับข้อกำหนดที่ผู้ให้บริการรถยนต์ต้องมีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์สาธารณะ โดยให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน

  • ใบอนุญาตขับรถตามอนุมาตรา 1 ใช้สำหรับรถยนต์บริการให้เช่า เฉพาะในกรณีที่ผู้ขับรถเป็นผู้เช่าได้ด้วยและสำหรับขับรถบริการร่วมเดินทางได้ด้วย
  • ใบอนุญาตขับรถตามอนุมาตรา 2 ใช้สำหรับรถยนต์บริการให้เช่า และสำหรับขับรถบริการร่วมเดินทางได้ด้วย
  • ใบอนุญาตขับรถตามอนุมาตรา 4 ใช้สำหรับขับรถยนต์บริการและใช้แทนใบอนุญาตขับรถตามอนุมาตรา 2 ได้ด้วย
  • ใบอนุญาตขับรถตามอนุมาตรา 5 ใช้แทนใบอนุญาตขับรถตามอนุมาตรา 3 ได้ด้วย
  • ใบอนุญาตขับรถตามอนุมาตรา 6 ใช้สำหรับขับรถยนต์บริการให้เช่าและสำหรับขับรถบริการร่วมเดินทางได้ด้วย
  • ใบอนุญาตขับรถตามอนุมาตรา 6/1 ใช้แทนใบอนุญาตขับรถตามอนุมาตรา 6 ได้ด้วย นอกนั้นใช้แทนกันไม่ได้

 

 

     อูเบอร์มองว่าการแก้ไขกฎหมาย 3 มาตรานี้ จะช่วยให้รัฐบาลไทยสามารถเพิ่มรถยนต์อีกหนึ่งประเภทที่มีการให้บริการผ่านแอปพลิเคชันสมาร์ทโฟน ซึ่งจะช่วยให้รัฐสามารถออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อควบคุมดูแลผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการได้อย่างเหมาะสมและถูกต้องตามกฎหมายเพื่อความปลอดภัยของตัวผู้บริโภค และขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจและสังคม 4.0 ที่พัฒนาบนนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล

     การเสนอให้การออกมาร่วมลงชื่อในครั้งนี้อาศัยช่องทางการเสนอกฎหมายโดยประชาชนตามสิทธิรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในการลงรายชื่อให้ครบ 10,000 รายชื่อ เพื่อผลักดันให้ไรด์แชริ่งได้รับการยอมรับในประเทศไทย โดยผู้ที่สนใจยื่นคำร้องสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ตามลิงก์นี้

 

ความล่าช้าของกระบวนการศึกษารูปแบบบริการไรด์แชริ่งที่ทำให้ผู้ให้บริการต้องออกมาเคลื่อนไหว

     ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบกเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า การใช้แอปพลิเคชันช่วยเรียกแท็กซี่ไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่ประเด็นปัญหาเกิดขึ้นจากการที่แอปพลิเคชันเหล่านี้ถูกนำไปใช้เรียกบริการรถยนต์ส่วนบุคคลที่ไม่ได้ใช้เพื่อการรับจ้างผู้โดยสาร ซึ่งผิดต่อข้อกฎหมายการใช้รถยนต์ผิดประเภทของ พ.ร.บ. รถยนต์ ฉบับ พ.ศ. 2522 ไม่มีการใช้มาตรค่าโดยสารตามที่ราชการเป็นผู้กำหนด, ผู้ขับไม่มีใบอนุญาตขับรถสาธารณะและไม่ถูกตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ซึ่งจะเป็นผลเสียสำหรับประชาชนผู้ใช้บริการ เนื่องจากไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายกรณีเกิดอุบัติเหตุ

     ด้านนายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวหลังเป็นประธานการประชุมแก้ปัญหารถยนต์บริการร่วมเดินทางอูเบอร์เมื่อวันที่ 20 มีนาคมว่า ที่ประชุมมีมติให้ศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการใช้ระบบบริการร่วมเดินทางของแอปพลิเคชันอูเบอร์ในไทย เนื่องจากไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับระบบดังกล่าว เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลาทำการศึกษาประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี จึงจะสามารถสรุปผลได้

     “ยังตอบไม่ได้ว่าผลการศึกษามีแนวโน้มจะเป็นอย่างไร เพราะไรด์เเชริ่งเป็นบริการใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในไทย แต่ถ้าผลการศึกษาสรุปว่าเหมาะสม ก็อาจจัดให้เป็นบริการรูปแบบใหม่ ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายและออกมาตรการกำกับเพื่อให้ประโยชน์ตกอยู่กับประเทศ ระหว่างที่อยู่ในขั้นตอนการศึกษาก็ได้ขอให้อูเบอร์หยุดการบริการ เพราะถ้าหากยังให้บริการต่อไปจะทำให้การแก้ไขปัญหายุ่งยากมากขึ้น ซึ่งอูเบอร์ได้รับปากในหลักการ”

     ในเวลานั้นดูเหมือนข้อตกลงระหว่างภาครัฐและผู้ให้บริการอูเบอร์จะเสียงแตก ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าฝ่ายใดพูดความจริง เพราะต่างฝ่ายต่างก็ให้ข้อมูลไม่ตรงกัน นายสมศักดิ์บอกว่า อูเบอร์รับปากที่จะยุติให้บริการในช่วงศึกษารูปแบบบริการไรด์แชริ่ง ซึ่งจะกินระยะเวลานานกว่า 6 เดือน ถึง 1 ปีนี้ไปก่อน ขณะที่ฝั่งเอมี่บอกว่า อูเบอร์ไม่ได้ตกปากรับคำที่จะยุติการให้บริการแต่อย่างใด เพราะบริการของพวกเขาไม่ได้ผิดกฎหมาย เพียงแต่ยังไม่ได้มีกฎหมายรับรอง

     จนแล้วจนรอดเมื่อผ่านมากว่า 7 เดือน กระบวนการศึกษารูปแบบบริการไรด์แชริ่งในไทยก็ยังไม่มีความคืบหน้า อูเบอร์จึงเลือกใช้รูปแบบการเคลื่อนไหวล่าสุดนี้ โดยใช้เสียงของประชาชนที่สนับสนุนบริการร่วมเดินทางเพื่อกดดันรัฐบาลทางอ้อมในการแก้ไขปัญหานี้

     เอมี่กล่าวในระหว่างแถลงการณ์วันนี้ว่า “อูเบอร์ให้บริการในไทยมานานกว่า 3 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีกฎหมายรองรับในประเทศเลย ซึ่งการตอบสนองของทางกระทรวงคมนาคมก็ถือว่าเรายังมีโอกาสอยู่ (โอกาสในการทำให้ไรด์แชริ่งถูกกฎหมาย) แต่การขับเคลื่อนด้วยเสียงของประชาชนน่าจะเป็นการกระตุ้นให้รัฐบาลเห็นถึงความสำคัญของบริการรูปแบบนี้มากขึ้น”

 

3 ปีที่ผ่านมารัฐไทยไม่เอื้อประโยชน์บริการไรด์แชริ่ง ส่วนรัฐบาลประเทศอื่นๆ ในอาเซียนจับมือหนุนหลังเดินหน้าเต็มกำลัง

     ปัจจุบันอูเบอร์เปิดให้บริการในกว่า 600 เมืองใน 77 ประเทศทั่วโลก และจากการอัพเดตสถานการณ์ล่าสุดของบริการไรด์แชริ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยอูเบอร์ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยดูจะเป็นประเทศเดียวที่รัฐบาลไม่ได้ให้การสนับสนุนรูปแบบธุรกิจและบริการประเภทนี้อย่างเต็มที่

     สิงคโปร์เป็นประเทศแรกในกลุ่มอาเซียนที่อูเบอร์เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2556 หรือก่อนประเทศไทย 1 ปี และเริ่มร่างกฎหมายสำหรับไรด์แชริ่งตั้งแต่ช่วงแรกของการเปิดให้บริการ ด้านมาเลเซียเริ่มร่างกฎหมายเมื่อปีที่แล้ว หลังอูเบอร์เปิดให้บริการในปี 2557

     ในปี 2557 อูเบอร์เปิดตัวที่ฟิลิปปินส์เป็นครั้งแรก และพวกเขาก็เริ่มร่างกฎหมายทันทีหลังจากที่ผ่านไปแค่ 1 ปี 3 เดือนเท่านั้น ตามมาด้วยเวียดนามและอินโดนีเซีย ส่วนประเทศที่อูเบอร์เพิ่งเปิดให้บริการไปในปีนี้ทั้งกัมพูชาและเมียนมา ก็อยู่ในกระบวนการร่างกฎหมายแล้วเช่นกัน ซึ่งเอมี่บอกว่า รัฐบาลเมียนมาจริงจังและเห็นถึงความสำคัญของธุรกิจไรด์แชริ่งมากๆ ถึงขนาดที่เป็นตัวตั้งตัวตีสำคัญในการผลักดันให้ตัวบทกฎหมายเอื้อรูปแบบบริการประเภทนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

     “การที่บริการของเราเข้าไปยังประเทศเมียนมา รัฐบาลของพวกเขามองว่าเป็นการยกระดับมาตรฐานบริการขนส่งสาธารณะภายในประเทศ เนื่องจากเรามีการกำหนดมาตรฐานของรถยนต์ที่จะเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของอูเบอร์ว่าจะต้องมอบความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคได้ ซึ่งก่อนหน้านี้รถยนต์สาธารณะหลายคันในเมียนมาก็มีปัญหาเรื่องเข็มขัดนิรภัย” เอมี่กล่าว

     ขณะที่หากย้อนกลับไปดูข่าวเมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา องค์การคมนาคมขนส่งลอนดอน (Transport for London – TfL) เพิ่งประกาศว่าจะไม่ต่ออายุใบอนุญาตประกอบการให้บริการของ Uber ในลอนดอนที่กำลังจะหมดอายุในวันที่ 30 กันยายนนี้ โดยให้เหตุผลว่า บริษัทไม่มีความรับผิดชอบในหลายประเด็น เช่น หลักฐานรับรองทางการแพทย์ของคนขับ, การตรวจสอบระบบรักษาความปลอดภัย, การใช้เทคโนโลยี Greyball ปล่อยรถปลอมหลอกตำรวจที่ล่อซื้อ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและสวัสดิภาพของประชาชน จึง ‘ไม่เหมาะสม’ และ ‘ไม่สมควร’ ที่จะได้รับอนุญาตให้บริการรถโดยสารส่วนบุคลคล

 

 

ผลสำรวจเผย ประชาชนอยากใช้บริการไรด์เเชริ่งต่อ

     เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญได้เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ หรือ AU Poll กรณีการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะของคนกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 1-12 กันยายนที่ผ่านมา โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างคนทำงานช่วงอายุ 20-55 ปี จำนวน 1,210 คนที่อาศัยในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการรถแท็กซี่ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมาและพบว่า กลุ่มตัวอย่างจำนวน 93.58% เห็นด้วยที่จะให้ประเทศไทยมีรถโดยสารสาธารณะแบบร่วมเดินทางต่อไป

     กลุ่มตัวอย่างจำนวน 79.59% อยากให้ภาครัฐสนับสนุนให้มีกฎหมายรองรับบริการไรด์แชริ่งให้ถูกกฎหมาย ส่วน 12.00% มองว่ารัฐบาลไม่ควรทำอะไรทั้งนั้น และอีก 8.41% บอกว่า ไม่สนับสนุนให้มีบริการร่วมเดินทางรูปแบบนี้ต่อไป

     ในหัวข้อการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะของคนกรุงเทพฯ พบว่า 70.31% ของกลุ่มตัวอย่างเห็นด้วยกับการนำรถยนต์ส่วนตัวมาเป็นรถยนต์ให้บริการสาธารณะเพื่อลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนน โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า ปัญหาบริการรถโดยสารสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในเวลานี้คือเรื่องของความปลอดภัย (55.8%) ส่วนปัญหารองลงมาคือเรื่องสภาพรถ (49.4%) ปริมาณรถที่ไม่พอต่อความต้องการ (36.9%) พื้นที่ให้บริการที่ไม่ครอบคลุม (35.8%) และความสามารถในการขับขี่ของพนักงานขับ (24.5%)

     เอมี่เผยข้อมูลล่าสุดว่า ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีจำนวนรถยนต์ส่วนบุคคลมากถึง 5.5 ล้านคัน ขณะที่รถโดยสารสาธารณะมีจำนวนเพียงแค่ 1 แสนคันเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค และหากสามารถเปลี่ยนรถยนต์ส่วนบุคคลมาเป็นรถยนต์ในโครงการบริการร่วมเดินทางได้ ก็จะสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้แน่นอน ซึ่งทุกวันนี้อูเบอร์สามารถขยายพื้นที่ให้บริการไปมากกว่า 6 จังหวัดในประเทศไทยแล้ว ได้แก่ กรุงเทพฯ, เชียงใหม่, เชียงราย, ขอนแก่น, พัทยา และชลบุรี

     “ด้วยเทคโนโลยีที่เรามี เรารู้สึกว่าอูเบอร์น่าจะช่วยแก้ปัญหาที่ผู้บริโภคเผชิญจากบริการรถโดยสารสาธารณะได้ นอกจากนี้ทีมงานอูเบอร์ในกรุงเทพฯ ยังได้รับการเรียกร้องให้ขยายไปเปิดบริการที่ต่างจังหวัดอยู่ทุกวันอีกด้วย

     “เราคาดหวังว่าภาครัฐจะร่วมผลักดันการแก้กฎหมายเพื่อพัฒนากฎระเบียบและแนวทางการรองรับบริการร่วมเดินทางให้ประชาชนไทยได้ใช้สิทธิและเสรีภาพในการเดินทางของตัวเองอย่างเต็มที่”

     ปัจจุบันปัญหาที่บริการไรด์แชริ่งในไทยไม่ว่าจะ Uber หรือ Grab ต้องเผชิญร่วมกันคือ การถูกต่อต้านจากผู้ประกอบการเดิมในตลาดและกฎระเบียบข้อบังคับในประเทศ รวมถึงการไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควรจากทางรัฐบาล ซึ่งฝั่งผู้ประกอบการในธุรกิจนี้เชื่อว่า หากบริการของพวกเขาได้รับการปลดล็อกให้ดำเนินการได้ถูกต้องตามกฎหมาย ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ประชาชนจะได้รับผลประโยชน์จากความสะดวกสบายเท่านั้น แต่ยังถือเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยในการมอบบริการที่เพียบพร้อมให้กับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศอีกด้วย

     อีกนัยหนึ่งเราอาจมองได้ว่า การที่รัฐบาลไทยจำเป็นจะต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษารูปแบบบริการไรด์แชริ่งยาวนานเช่นนี้ เพราะต้องการทำให้มั่นใจที่สุดว่าบริการนี้จะดำเนินได้โดยไม่สร้างผลกระทบความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ขณะเดียวกันก็ต้องหาช่องโหว่รูรั่วของบริการร่วมเดินทางประเภทนี้เพื่อกำหนดเงื่อนไขและมาตรการทางกฎหมายออกมาช่วยควบคุมและรักษาผลประโยชน์ที่ผู้บริโภคพึงจะได้รับให้มากที่สุด

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X