วานนี้ (14 มิถุนายน) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฐปณีย์ เอียดศรีไชย เปิดเผยผ่านรายการ ข่าว 3 มิติ ถึงข้อพิรุธงบการเงินไตรมาส 1/66 ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) (ITV) ที่ระบุเป็นผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา ตรวจสอบสถานะการดำเนินกิจการสื่อ รวมถึงมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการทำบัญชีได้ลาออกไปเมื่อไม่กี่วันมานี้ แต่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
จากเอกสารแบบนำส่งงบการเงินของบริษัท ไอทีวี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 เป็นงบการเงินบัญชีรอบปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 และเอกสารรายงานความเห็นการสอบบัญชีวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 ระบุว่า บริษัท ไอทีวี มีประเภทธุรกิจเป็นสื่อโทรทัศน์ สินค้า สื่อโฆษณา และผลตอบแทนจากการลงทุน
ประกอบกับงบแสดงฐานะการเงินวันที่ 31 มีนาคม 2566 ของบริษัท ไอทีวี และบริษัทย่อยที่ระบุว่า ยังไม่ได้ตรวจสอบและเป็นร่างสำหรับใช้งานภายใน มีรายได้เป็นผลตอบแทนจากเงินลงทุน และดอกเบี้ยรับกว่า 6 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายในการบริการกว่า 2 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายตอบแทนในการบริการ 1.5 แสนบาท และมีกำไรจากกิจกรรมดำเนินงาน 3.8 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ภายหลังรอบระยะเวลารายงานระบุว่า วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 บริษัทมีการลงสื่อให้กิจการที่เกี่ยวข้อง และวันที่ 28 เมษายน 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 2/2566 มีมติรับทราบรูปแบบการดำเนินการธุรกิจของบริษัท โดยเป็นผู้ให้บริการสื่อโฆษณา จากการที่บริษัทมีการให้บริการกลุ่มบริษัทข้างต้น บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 2/66
จากเอกสารมีการตั้งข้อสังเกตจากผู้เชี่ยวชาญการเงินว่า งบการเงินไตรมาส 1/66 แตกต่างจากงบการเงินปี 2565 ที่ไม่มีการระบุว่าเป็นสื่อโฆษณา มีเพียงระบุรายได้ที่มาจากการลงทุน ซึ่งตรงกับงบการเงินของบริษัท ไอทีวี นับจากถูกยกเลิกสัมปทานปี 2550-2565 เวลา 15 ปี ก็ไม่มีรายได้จากสื่อโฆษณา ซึ่งสอดคล้องกับคำชี้แจงของผู้ถือหุ้นวันที่ 26 เมษายน 2566 ที่ผู้บริหารบริษัท ไอทีวี ระบุว่า “ยังไม่ดำเนินการใดๆ”
แต่ในวันที่ 28 เมษายน 2566 เพียง 2 วันหลังการประชุมกลับมีรายงานในงบการเงินว่าให้บริการลงสื่อโฆษณา และวันนำส่งบัญชีก็ตรงกับวันนำยื่นคำร้องคดีของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ด้วย
ขณะเดียวกัน ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ อดีต ส.ส. พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กกรณีเดียวกัน ระบุว่าแบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ที่บริษัท ไอทีวี ส่งให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นการรายงานที่เป็นเท็จ โดยได้ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมข้อมูลถึงขัดแย้งกัน ทั้งๆ ที่เป็นงบการเงินปี 2565 เหมือนกัน รหัสผู้ตรวจสอบบัญชีคนเดียวกัน การส่งข้อมูลงบการเงินให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเกิดขึ้นในวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ซึ่งอยู่ในช่วงกระบวนการพยายามฟื้นคืนชีพ ITV ให้เป็นสื่อ
บริษัท ไอทีวี มีการส่ง ส.บช.3 ปี 2565 ให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยมีข้อความเกี่ยวกับสถานะการดำเนินกิจการและประเภทธุรกิจ ขัดแย้ง ตรงกันข้ามกับงบการเงินปี 2565 ที่อนุมัติในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ในเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. พร้อมแนบเอกสารประกอบในโพสต์
อ้างอิง: