×

4 ยอดกุมาร จากนิทานพื้นบ้านสู่ตำนานจักรๆ วงศ์ๆ

15.07.2020
  • LOADING...

ในวันที่ละครโทรทัศน์แนวจักรๆ วงศ์ๆ เริ่มเสื่อมหายไปจากกระแส แต่ถ้าถอยหลังประวัติศาสตร์วงการโทรทัศน์ไทยกลับไปในช่วงปี 2424-2535 บอกได้เลยว่ามันเป็นยุคทองของ ‘จักรๆ วงศ์ๆ’ อย่างแท้จริง 

 

ภาพยนตร์โทรทัศน์ หรือต่อมาได้กลายเป็นละครแนวจักรๆ วงศ์ๆ ที่อยู่ในความทรงจำของผู้ชมนั้นมีอยู่มากมาย แต่เรื่องที่สร้างกระแสนิยม กระทั่งต่อมากลายเป็นแนวทางตัวละครและมี ‘กลุ่มแฟน’ ติดตามอย่างเหนียวแน่น ต้องยกให้กับตำนานภาพยนตร์โทรทัศน์ 4 ยอดกุมาร เวอร์ชันแรกที่ออกอากาศในปี 2526 

อุ่นเครื่องทำความรู้จักกันอีกสักหน่อย ภาพยนตร์โทรทัศน์หรือละครโทรทัศน์แนวจักรๆ วงศ์ๆ มักนำโครงเรื่องมาจากนิทานพื้นบ้าน หรือเรื่องราวพื้นบ้านที่เล่าสืบต่อกันมาตามแต่ท้องถิ่น ทั้งนิทานพื้นบ้านภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ เช่น พระสุธน-มโนราห์ มีพื้นฐานพื้นถิ่นภาคใต้ ส่วน 4 ยอดกุมาร นั้นนำโครงเรื่องดั้งเดิมมาจากชาดกที่เขียนจารึกไว้ในใบลานว่าเป็นนิทานพื้นบ้านของภาคอีส

 

 

เนื้อหากล่าวถึงเรื่องราวของเด็ก 4 คนที่มีอาวุธประจำตัวคือ ตรี คทา จักร สังข์ ติดตัวมาตั้งแต่เกิด (คาดว่าวลีที่เรามักจะพูดล้อเล่นกันในกลุ่มเพื่อนประเภทเก่งมาตั้งแต่เกิด หรือใครเก่งด้านใดมากๆ เหมือนเกิดมาพร้อมอุปกรณ์ต่างๆ มาตั้งแต่ท้องแม่ น่าจะมีจุดเริ่มต้นมาจากละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องนี้ -ผู้เขียน) 

 

4 ยอดกุมาร ในเวอร์ชันแรก ปี 2526 ผลิตโดย ดาราวิดีโอ กำกับโดย มานพ สัมมาบัติ ออกอากาศทางช่อง 7 ในช่วงเวลาหลังข่าวของคืนวันจันทร์-อังคาร นำแสดงโดย ยมนา ชาตรี, ศิรินภา สว่างล้ำ และยอดกุมารทั้งสี่คือ ด.ช.นรา กุยเนตร (เทวัน ถืออาวุธ ตรี), ด.ช.จักรกฤษณ์ คชรัตน์ (เทวา ถืออาวุธ คทา), ด.ช.วิชา ระตะจารุ (เทวิณ ถืออาวุธ จักร) และ ด.ช.บอย เนติลักษณ์ ซูเปอร์สตาร์เด็กที่โด่งดังมากของยุคในบท เทวฤทธิ์ ถืออาวุธ สังข์   

 

ปัจจัยที่ทำให้ 4 ยอดกุมาร ปี 2526 โด่งดังและเป็นที่จดจำ เพราะมันเต็มไปด้วยองค์ประกอบของงานสร้างที่สดใหม่และแตกต่าง 

 

 

เริ่มต้นจากบท 

4 ยอดกุมาร เขียนบทโดย วาณิช จรุงกิจอนันต์ นักประพันธ์เจ้าของรางวัลซีไรต์ประจำปี 2527 จากเรื่อง ซอยเดียวกัน นอกจากนั้นวาณิชยังสร้างผลงานนวนิยายโด่งดังเป็นที่รู้จักในยุคเดียวกันไว้มากมาย เช่น แม่เบี้ย, เคหาสน์ดาว, บัลลังก์เมฆ ฯลฯ แต่การตัดสินใจพาตัวเองสู่งานเขียนบทภาพยนตร์โทรทัศน์ หรือต่อมาเปลี่ยนเป็นละครโทรทัศน์แนวจักรๆ วงศ์ๆ นั้นก็อยู่เหนือความคาดคิดของคนในยุคนั้น และใช่ว่าจะเขียนเพียงเรื่องเดียว แต่วาณิชยังเขียนบทไว้ถึง 3 เรื่องต่อกันคือ 4 ยอดกุมาร, สิงหไกรภพ, ขวานฟ้าหน้าดำ ซึ่งทุกเรื่องล้วนแล้วแต่โด่งดังเป็นที่จดจำจนถึงทุกวันนี้ 

 

นอกจากนั้น 4 ยอดกุมาร เวอร์ชัน 2526 ยังถือเป็นภาพยนตร์โทรทัศน์แนวจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องแรกที่เปลี่ยนระบบการถ่ายทำด้วยกล้องฟิล์ม 16 มม. มาเป็นกล้องวิดีโอ โดยบริษัทดาราวิดีโอได้อัปเกรดเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อพัฒนางานด้านเทคนิคพิเศษ (ซีจี) อย่างทันสมัย 

 

ข้อดีของการเปลี่ยนระบบการบันทึกภาพเป็นวิดีโอนั้นเอื้อต่อการทำงานซีจี เช่น การซ้อนภาพด้วยกรีนสกรีนและบลูสกรีน และนั่นทำให้ภาพเคลื่อนไหวใน 4 ยอดกุมาร นั้นเต็มไปด้วยเทคนิคพิเศษที่ตื่นตาตื่นใจสำหรับโปรดักชันระดับเมืองไทย เช่น ตัวละครเดินบนน้ำ เหาะกลางอากาศ ตัวละครยักษ์อยู่รวมในเฟรมเดียวกันกับมนุษย์ หรือยักษ์จับมนุษย์มาไว้บนมือ อาวุธต่างๆ สามารถปล่อยแสงได้ 

 

หลังจาก 4 ยอดกุมาร ออกอากาศทางช่อง 7 ในปี 2526 ภาพยนตร์โทรทัศน์แนวจักรๆ วงศ์ๆ ได้ฟื้นกลับมาโด่งดังขึ้นอีกครั้ง หลังจากผลงานก่อนหน้านั้นไม่เป็นที่นิยมของผู้ชม ไพรัช สังวริบุตร แห่งดาราวิดีโอ เคยกล่าวถึงช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อในครั้งนั้นว่า “ตอนแรกหลังจากจบ สังข์ทอง (2524) ก็ว่าจะไม่ทำหนังทีวีแนวจักรๆ วงศ์ๆ ต่อ เพราะค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าหนังทีวีแนวอื่นๆ แต่ก็มีคนให้กำลังใจว่าทำต่อเถอะ พอมาทำ 4 ยอดกุมาร (2526) แล้วดังมากเลยมีกำลังใจ ทำให้เลิกไม่ได้เลย”

 

4 ยอดกุมาร ประสบความสำเร็จอย่างสูง ยุคทองของจักรๆ วงศ์ๆ ก็ได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งอย่างแข็งแรงด้วยผลงานระดับตำนานความทรงจำอย่าง สิงหไกรภพ (2526), ขวานฟ้าหน้าดำ (2527), เทพสังวาลย์ (2528), เทพสามฤดู (2530), แก้วหน้าม้า (2530), โกมินทร์ (2532), เกราะเพชรเจ็ดสี (2537) และอีกมากมายในเวลาต่อมา  

 

เรื่องราวของตำนานนั้นยังถูกต่อยอดไม่รู้จบ เพราะ 4 ยอดกุมาร จากโครงเรื่องของนิทานพื้นบ้าน นางแก้วคำกลอง ยังถูกนำมาสร้างใหม่อีกหลายครั้งในชื่อที่แตกต่างกัน เช่น จำปาสี่ต้น (2515), ดิน น้ำ ลม ไฟ (2534), 4 ยอดกุมาร (2544) และล่าสุดในปี 2559 ในชื่อ 4 ยอดกุมาร ออกอากาศทางช่อง 7 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X