×

35 เรื่องน่ารู้ของ คุณปู่ฮายาโอะ มิยาซากิ ผู้เป็น ‘จิตวิญญาณ’ ของสตูดิโอจิบลิมาตลอด 35 ปี และตลอดไป

15.06.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 mins. read
  • ฮายาโอะ มิยาซากิ เป็นทายาทบริษัทผลิตปีกของเครื่องบินรบซีโร่ให้กับกองทัพญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในช่วงแรกเขารู้สึกว่าเป็นเด็กที่โชคดี ก่อนที่จะค่อยๆ ได้เรียนรู้บทเรียนสำคัญถึงความโหดร้ายของสงคราม และนำเสนอสิ่งเหล่านั้นในแอนิเมชันของเขาอยู่เสมอ
  • จากความสำเร็จของแอนิเมชันเรื่อง Nausicaä of the Valley of the Wind กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ ฮายาโอะ มิยาซากิ, อิซาโอะ ทาคาฮาตะ และ ซูซูกิ โทชิโอะ ร่วมกันก่อตั้งสตูดิโอจิบลิขึ้นมาในวันที่ 15 มิถุนายน 1985
  • มิยาซากิเป็นคนตั้งชื่อสตูดิโอจิบลิ ที่มีความหมายในภาษาอาหรับว่า ลมร้อนที่พัดผ่านทะเลทราย เพื่อสื่อว่าสตูดิโอจิบลิคือ ‘ลม’ ที่จะพัดพาวงการแอนิเมชันญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคใหม่ 
  • หนึ่งในปรัชญาการทำงานที่มิยาซากิพูดถึงอยู่บ่อยๆ คือ “ซื่อสัตย์ต่อผลงาน ไม่เสแสร้ง ภาพยนตร์เป็นภาพสะท้อนของผู้กำกับ เรื่องนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมจะรู้สึกผิดถ้าไม่ได้ทำหนังที่ซื่อสัตย์ต่อหัวใจของผม ถ้าเป็นแบบนั้น ผมคงไม่สามารถทำหนังได้อีก”

“ถึงแม้จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คุณต้องแน่วแน่ที่จะเปลี่ยนโลกด้วยหนังของคุณ นั่นคือการเป็นผู้สร้างหนัง”

 

ปรัชญาในฐานะ ‘ผู้สร้างหนัง’ ที่ ฮายาโอะ มิยาซากิ หนึ่งใน 3 ผู้ก่อตั้งสตูดิโอจิบลิ ยึดมั่นมาตลอดระยะเวลา 35 ปี และแสดงให้เห็นสิ่งเหล่านี้ผ่านผลงานแอนิเมชันที่มอบความสุข สร้างแรงบันดาลใจ สะท้อนสังคม และตั้งคำถามกับชีวิตมากกว่า 10 เรื่อง

 

ในวาระที่สตูดิโอจิบลิทำหน้าที่นั้นอย่างมั่นคงมาครบรอบ 35 ปี THE STANDARD POP ขอพาทุกคนย้อนกลับไปทำความรู้จักกับ ‘คุณปู่’ วัย 79 ปี ผู้เป็นเหมือน ‘จิตวิญญาณ’ ของสตูดิโอจิบลิ ที่ยังคงมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานเพื่อ ‘เปลี่ยนโลก’ อย่างไม่ลดละ เหมือนที่เขาเคยพูดเอาไว้ว่า จะทำแอนิเมชันไปจนวันสุดท้ายของชีวิต 

 

 

  1. ฮายาโอะ มิยาซากิ เกิดเมื่อวันที่ 5 มกราคม 1941 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นลูกชายคนที่ 2 จากพี่น้อง 4 คน ของครอบครัวบริษัทผลิตปีกเครื่องบินรบซีโร่ให้กับกองทัพญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในช่วงแรกเขารู้สึกว่าเป็นเด็กที่โชคดี ก่อนที่จะค่อยๆ ได้เรียนรู้บทเรียนสำคัญถึงความโหดร้ายของสงคราม และนำเสนอสิ่งเหล่านั้นในแอนิเมชันของเขาอยู่เสมอ

 

  1. ตอนเด็กเขามีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับระบบการย่อยอาหาร หมอบอกว่าเขาจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 20 ปีเท่านั้น เนื่องจากร่างกายอ่อนแอ อยู่ท้ายแถวทุกครั้งเวลาวิ่งรอบสนามในชั่วโมงพละ ทำให้มิยาซากิใช้ชีวิตวัยเด็กด้วยความเจ็บปวดจากปมด้อยที่รุมเร้า 

 

  1. คุณแม่เขาล้มป่วยกะทันหันด้วยวัณโรคกระดูกสันหลังตั้งแต่เขาอายุ 6 ขวบ ครั้งหนึ่งตอนที่เขาอ้อนขอขี่หลังกลับบ้าน แต่คุณแม่ร้องไห้ออกมาเพราะทำไม่ได้ กลายเป็นอีกหนึ่งบาดแผลที่ทับถมให้รู้สึกว่า เขาไม่น่าเกิดขึ้นมาบนโลกนี้เลย 

 

  1. กระทั่งเขาเริ่มรู้จักกับโลกของการ์ตูนซึ่งเป็นเหมือนพื้นที่ปลอบโยนหัวใจ และคิดว่าสักวันหนึ่งเขาจะแข็งแกร่งได้เหมือนตัวละครเหล่านั้น ทำให้เขารักการอ่าน และฝึกวาดการ์ตูนทุกครั้งที่ว่าง 

 

 

  1. เมื่อโตขึ้นมาพร้อมกับสุขภาพที่แข็งแรงมากขึ้น มิยาซากิได้ดู The Tale of the White Serpent (ตํานานนางพญางูขาว) ของสตูดิโอโทเอ แอนิเมชันสีขนาดยาวเรื่องแรกของญี่ปุ่นที่ออกฉายในปี 1958 และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาอยากเป็นผู้ผลิตแอนิเมชันนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

 

  1. มิยาซากิเป็นสมาชิกชมรมวรรณกรรมเด็ก ในช่วงเรียนคณะเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาคุชูอิน (Gakushuin) หลังจบการศึกษาในปี 1963 มิยาซากิเข้าทำงานในแผนกแอนิเมชันที่สตูดิโอโทเอ ใช้เวลาฝึกงานอยู่ 3 เดือน Doggie March คือผลงานเรื่องแรกที่เขามีส่วนร่วม 

 

 

  1. เริ่มได้ออกเดตกับว่าที่ภรรยา โอตะ อาเคมิ แอนิเมเตอร์ในสตูดิโอโทเอในปี 1964 ฝีมือและจินตนาการของมิยาซากินับว่าโดดเด่นมากๆ ในหมู่แอนิเมเตอร์รุ่นใหม่ จนหลายคนยกให้เขาเป็น ‘ปรากฏการณ์ใหม่’ ของวงการแอนิเมชัน 

 

  1. นอกจากนี้ เขาได้ยังได้ช่วย อิซาโอะ ทาคาฮาตะ หนึ่งในผู้กำกับรุ่นใหม่เขียนเนื้อเรื่อง และวาดสตอรีบอร์ดเรื่อง Hols: Prince of the Sun ออกฉายในปี 1968 และกลายเป็นเพื่อนรุ่นน้องคนสนิท และร่วมกันก่อตั้งสตูดิโอจิบลิในเวลาต่อมา  

 

  1. มิยาซากิและทาคาฮาตะลาออกจากสตูดิโอโทเอในปี 1971 และกลายเป็นแพ็กคู่ที่ย้ายไปทำงานด้วยกันตลอดตั้งแต่บริษัท A-pro, ซุยโย พิกเจอร์ส และเทเลคอม แอนิเมชันฟิล์ม 

 

  1. เขามีโอกาสกำกับซีรีส์โทรทัศน์ Lupin the Third (จอมโจรลูแปงที่ 3) ที่ทำให้เขาได้กำกับภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องแรก The Castle of Cagliostro (จอมโจรลูแปงที่ 3 ตอนปราสาทของคากลิออสโตร) ออกฉายในปี 1979

 

 

  1. ถึงแม้ผู้ชมบางส่วนจะชื่นชมเรื่องฉากแอ็กชันและการลำดับภาพที่ดูล้ำสมัย แต่ The Castle of Cagliostro กลับไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ ทำให้มิยาซากิไม่ได้รับโอกาสในการกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวอีกเลย 

 

  1. แต่เขาก็ยังไม่ยอมแพ้ นำเนื้อหาและคาแรกเตอร์จากเรื่อง Princess Mononoke, My Neighbor Totoro และอีกหลายเรื่องไปเสนอบริษัทโทรทัศน์ และสตูดิโอแอนิเมชัน แต่ถูกปฏิเสธทั้งหมด 

 

  1. ในช่วงนั้นมิยาซากิถูกวิจารณ์ลับหลังว่ามีความคิดล้าหลัง ไม่สามารถสร้างผลงานฮิตออกมาได้ จนมิยาซากิเริ่มเกิดความรู้สึกขึ้นมาอีกครั้งว่า “ถ้าสร้างความสนุกให้กับผู้คนไม่ได้ ชีวิตก็ไม่มีความหมาย”

 

  1. ในปี 1982 โทชิโอะ ซูซูกิ บรรณาธิการนิตยสารแอนิเมชันรายเดือน Animage มาติดต่อให้มิยาซากิวาดซีรีส์มังงะลงในนิตยสาร ตอนแรกมิยาซากิไม่อยากทำ แต่ยอมรับในความกระตือรือร้นของโทชิโอะ

 

 

  1. มังงะเรื่องนั้นคือ Nausicaä of the Valley of the Wind ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก (ตีพิมพ์ถึงปี 1994 รวมเล่มได้ 7 เล่ม) จนวันหนึ่งโทชิโอะมาบอกกับเขาว่า เขาน่าจะทำมังงะเรื่องนี้ให้เป็นภาพยนตร์แอนิเมชัน

 

  1. คุณแม่ของมิยาซากิเสียชีวิตหลังจากเขาเริ่มทำแอนิเมชันได้ไม่นาน เขาทำงานอย่างหนักจนได้ใช้เวลาช่วงสุดท้ายกับคุณแม่ เขาเลยตั้งใจทุ่มเททั้งชีวิต หัวใจ และวิญญาณเพื่อสร้างแอนิเมชันเรื่องนี้ออกมาให้ดีที่สุด เพราะคิดว่านี่คือโอกาสครั้งสุดท้ายที่เขาจะได้เป็นผู้กำกับแอนิเมชัน

 

  1. ช่วงเวลานี้เองที่เขาได้ร่วมงานกับ โจ ฮิซาอิชิ คอมโพสเซอร์คู่ใจ ที่เป็นผู้ประพันธ์ดนตรีประกอบให้กับภาพยนตร์แอนิเมชันของมิยาซากิแทบทุกเรื่องมาจนถึงทุกวันนี้ 

 

 

  1. เมื่อออกฉายในปี 1984 แอนิเมชันที่มีตัวเอกเป็นผู้หญิง เนื้อหาพูดถึงมลพิษ และต่อต้านสงคราม ประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งด้านคำชม และรายได้ที่ทำได้ถึง 16 ล้านดอลลาร์ (ถือว่าเยอะมากในยุคนั้น) และเป็นจุดเริ่มต้นให้มิยาซากิ, ทาคาฮาตะ และโทชิโอะ ร่วมกันก่อตั้งสตูดิโอจิบลิขึ้นมาในวันที่ 15 มิถุนายน 1985 โดยได้รับเงินทุนจาก ยาสุโยชิ โทคุมะ เจ้าของนิตยสาร Animage

 

ฮายาโอะ มิยาซากิ, ซูซูกิ โทชิโอะ และอิซาโอะ ทาคาฮาตะ

Photo:The Kingdom of Dreams and Madness

 

  1. มิยาซากิ เป็นคนตั้งชื่อสตูดิโอจิบลิจากเครื่องบินรบของอิตาลี Caproni Ca.309 Ghibli ตามความชอบเรื่องเครื่องบินในวัยเด็ก นอกจากนี้ Ghibli ยังมีความหมายในภาษาอาหรับว่า ลมร้อนที่พัดผ่านทะเลทราย ซึ่งสื่อความหมายว่า สตูดิโอจิบลิคือ ‘ลม’ ที่จะพัดพาวงการแอนิเมชันญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคใหม่ 

 

  1. โดยมีแนวคิดหลักในการทำภาพยนตร์ที่เขาพูดอยู่เสมอว่า “ถึงแม้จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คุณต้องแน่วแน่ที่จะเปลี่ยนโลกด้วยหนังของคุณ นั่นคือการเป็นผู้สร้างหนัง”

 

  1. มิยาซากิและทีมงานทั้งหมดพิสูจน์ว่าสตูดิโอจิบลิทำแบบนั้นได้จริงๆ โดยเฉพาะตัวเขาเองที่สร้างผลงานในฐานะผู้กำกับหลังจากนั้นไว้ถึง 9 เรื่อง คือ Laputa: Castle in the Sky (1986), My Neighbor Totoro (1988), Kiki’s Delivery Service (1989), Porco Rosso (1992), Princess Mononoke (1997), Spirited Away (2001), Howl’s Moving Castle (2004), Ponyo (2008), The Wind Rises (2013) 

 

Photo: Studio Ghibli

 

  1. Spirited Away คือผลงานที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำรายได้ทั่วโลกได้มากถึง 347 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสามารถไปถึงจุดสูงสุด คว้ารางวัลแอนิเมชันยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์ปี 2002 มาครองได้สำเร็จ 

 

มิยาซากิไม่ไปรับรางวัลในปีนั้นโดยให้เหตุผลว่า เขาไม่อยากไปเยือนประเทศที่ทิ้งระเบิดถล่มประเทศอิรัก แต่สุดท้ายก็ไปเยือนอีกครั้ง ตอนได้รับรางวัล The Governors Awards รางวัลเกียรติยศที่มอบให้ผู้ทำประโยชน์ให้กับวงการภาพยนตร์ในปี 2014 

 

  1. มิยาซากิออกแบบตัวละคร ยูบาบา ผู้จัดการโรงอาบน้ำใน Spirited Away โดยเอาแรงบันดาลใจมาจากโทชิโอะ โปรดิวเซอร์คู่ใจ ที่ทำหน้าที่คอยจัดการทุกอย่างในสตูดิโอจิบลิให้เรียบร้อย

 

  1. มีหลายคนเรียกมิยาซากิว่า ‘วอลต์ ดิสนีย์’ แห่งภูมิภาคตะวันออก แต่เขากลับไม่ชอบชื่อนี้เท่าไรนัก 

 

  1. อีกหนึ่งปรัชญาในการทำงานที่มิยาซากิพูดถึงอยู่บ่อยๆ คือ “ซื่อสัตย์ต่อผลงาน ไม่เสแสร้ง ภาพยนตร์เป็นภาพสะท้อนของผู้กำกับ เรื่องนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมจะรู้สึกผิดถ้าไม่ได้ทำหนังที่ซื่อสัตย์ต่อตัวใจของผม ถ้าเป็นแบบนั้นผมคงไม่สามารถทำหนังได้อีก”

 

Photo: 10 Years With Hayao Miyazaki

 

  1. ในขณะที่ผู้กำกับหลายคนเริ่มต้นทำภาพยนตร์ด้วยเนื้อเรื่อง แต่มิยาซากิเริ่มต้นด้วย ‘ภาพ’ เขาจะพยายามวาดภาพที่ทรงพลังและนำเสนอประเด็นได้ชัดเจนที่สุด การไม่มีบททำให้มิยาซากิสร้างสรรค์เรื่องราวได้อย่างเต็มที่ เพื่อขยายขอบเขตบนหน้ากระดาษออกไปให้ไกลที่สุด 

 

  1. กิจวัตรประจำวันเวลาทำงานที่สตูดิโอส่วนตัวของมิยาซากิ เขาจะไปถึงสตูดิโอก่อนใครตอน 10 โมง กล่าวทักทาย ‘อรุณสวัสดิ์’ ทั้งที่ไม่คนอยู่ บอกว่าทักทายคนที่อยู่ที่นี่ ถึงแม้ไม่รู้ว่าเป็นใคร และลากม้านั่งที่ติดป้ายคำว่า ‘เชิญนั่ง’ ไว้หน้าสตูดิโอ และยกมาเก็บเข้าที่ในตอนกลางคืนก่อนกลับบ้าน 

 

  1. มิยาซากิมักจะเปิดเพลง เปิดเพลง Ride of the Valkyries ของ ริชชาร์ท วากเนอร์ เพื่อสร้างบรรยากาศและแรงบันดาลใจในการทำงาน 

 

  1. มิยาซากิจะเป็นคนตรวจงานแอนิเมชันที่ทีมงานวาดขึ้นด้วยมือด้วยตัวเองทั้งหมด แผ่นไหนที่ยังใช้ไม่ได้เขาจะลงมือวาดใหม่ด้วยตัวเอง เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นกับทีมงาน เขาจะมีประโยคติดปากที่ว่า “ไม่สำคัญหรอกว่าใครผิด แค่แก้ไขมันก็พอ”

 

Photo: 10 Years With Hayao Miyazaki

 

  1. ถึงแม้จะหงุดหงิดหรือเครียดกับการทำงานแค่ไหน แต่เขาจะหาเวลาออกมามองพระอาทิตย์ตกดินอยู่เสมอ เพราะคิดว่าถ้าตายไปก็จะไม่มีโอกาสได้เห็นสิ่งนี้อีกแล้ว 

 

  1. มิยาซากิผูกพันและคิดถึงคุณแม่อย่างมาก เขานำแรงบันดาลใจจากคุณแม่มาใส่ในตัวละครหลายเรื่อง เช่น หญิงสาวที่มีชีวิตชีวาเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณคล้ายผู้ชายผ่าน สลัดอวกาศโดลา ใน Laputa: Castle in the Sky, คุณแม่ใน My Neighbor Totoro ที่ดูแลลูกๆ ขณะสู้กับโรคร้าย, โซฟีใน Howl’s Moving Castle เป็นภาพสะท้อนของแม่ที่ทั้งเด็ดเดี่ยวและใจดี, ฉากกอดในตอนสุดท้ายระหว่างโทกิ หญิงชราขี้หงุดหงิดกับโปเนียวใน Ponyo คือภาพที่อยากให้เกิดขึ้นกับเขาและแม่มากที่สุด

 

  1. จากความรู้สึกที่ติดค้างในวัยเด็ก มิยาซากิ กำกับ Ponyo เพื่อบอกว่า “เด็กๆ ทุกคนที่มีคุณค่า และทุกคนสมควรที่จะเกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้” 

 

  1. โกโร มิยาซากิ คือลูกชายของมิยาซากิ ที่รับหน้าที่เป็นผู้ออกแบบและผู้บริหารพิพิธภัณฑ์จิบลิ เป็นผู้กำกับแอนิเมชัน Tales from Earthsea (2006), From Up on Poppy Hill (2011) และผลงานเรื่องต่อไปอย่าง Aya and the Witch (2020)

 

Photo: Imdb

 

  1. มิยาซากิเคยประกาศเกษียณจากการเป็นผู้กำกับแอนิเมชันมาแล้ว 5 ครั้ง และล่าสุดเขาก็เพิ่งกลับมาจับงานภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องล่าสุดอย่าง How Do You Live? ที่อยู่ในขั้นตอนการผลิต ซึ่งโปรดิวเซอร์อย่างโทชิโอะได้ออกมาให้สัมภาษณ์ให้ความหวังกับแฟนๆ ว่า แอนิเมชันจะสำเร็จภายใน 3 ปีนี้!

 

  1. มิยาซากิเป็นคนที่ตาม ‘เทคโนโลยี’ ไม่เคยทัน ในวันที่ Netflix ติดต่อมาขอผลงานจากสตูดิโอจิบลิไปฉาย เขายังไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าแพลตฟอร์มสตรีมมิงคืออะไร แต่เมื่อโทชิโอะมาบอกเขาว่า เงินทุนจากดีลนี้มากพอจะให้เขาทำแอนิเมชันเรื่อง How Do You Live? ได้สำเร็จ เขาก็ยอมใจอ่อน ด้วยเหตุผลเพียงอย่างเดียวคือ ‘เพื่อสร้างสรรค์ผลงานแอนิเมชันที่เขารักให้สำเร็จได้ในที่สุด’

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X