×

32 ปีกับอาชีพไกด์ของ ‘ป้าอัญ’ โควิด-19 ทำตกงาน สาหัสที่สุดในชีวิต

19.04.2021
  • LOADING...
32 ปีกับอาชีพไกด์ของ ‘ป้าอัญ’ โควิด-19 ทำตกงาน สาหัสที่สุดในชีวิต

ปัจจุบัน ‘ป้าอัญ’ หรือ อัญชลี ปอสิริโภคา มีอายุย่างเข้าวัย 67 ปีแล้ว เธอมีอาชีพที่รัก และทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเองมา 32 ปี นั่นคือ ‘มัคคุเทศก์’ หรือไกด์นำเที่ยว โดยเฉพาะ ‘ภาษาเยอรมัน’ ที่เธอเชี่ยวชาญ และใช้มันเป็นเครื่องมือหาเงินกับนักท่องเที่ยว หรือลูกทัวร์ชาวเยอรมันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ทว่าตั้งแต่ช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยตั้งแต่ต้นปี 2563 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2564 เธอบอกว่าชีวิตหนักหนาสาหัสที่สุด อาชีพไกด์คือด่านหน้าที่ต้องพับเสื่อกลับบ้านก่อนใคร

 

ป้าอัญเป็นคนพื้นเพจังหวัดสิงห์บุรี เธอเติบโตมาในครอบครัวคนจีน เมื่ออายุได้ 20 ปี บรรลุนิติภาวะทางนิตินัย เธอตัดสินใจครั้งใหญ่ของชีวิต ก้าวออกจากเซฟโซน ออกเดินทางตามหาฝันจากสิงห์บุรีสู่กรุงเทพมหานคร ตัดสินใจที่จะเรียนภาษาเยอรมันเบื้องต้นที่สถาบันเกอเธ่ ซึ่งตอนนั้นยังตั้งอยู่ที่ถนนพระอาทิตย์ ตามคำแนะนำของเพื่อน ใช้เวลาเรียนอยู่ 6 เดือน ตัดสินใจครั้งใหญ่อีกรอบด้วยการขอเงินครอบครัว 30,000 บาท ซึ่งต้องบอกว่าเป็นจำนวนเยอะมากหากเทียบในสมัยก่อน เพื่อตีตั๋วเครื่องบิน หอบเอาตัวเองและความฝันไปสู่ประเทศเยอรมนี

 

เธอลงหลักปักฐานเรียนที่เยอรมนี ตอนแรกป้าอัญตั้งใจว่าจะเรียนวิชาพยาบาล แต่ก็เปลี่ยนใจมาเรียนการโรงแรม ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ที่เยอรมนี อยู่ที่นั่นยาวนานราว 4 ปีครึ่ง ก็ตัดสินใจเดินทางกลับเมืองไทย

 

อัญชลี ปอสิริโภคา

 

ความรู้เรื่องการโรงแรม รวมทั้งภาษาเยอรมัน ไม่ได้ถูกใช้อย่างเต็มที่นักเมื่อกลับมาเมืองไทยช่วงแรก ตอนนั้นเธออายุราว 25 ปี จึงลองผิดลองถูกด้วยการไปสมัครเป็นพนักงานขายเครื่องครัวอยู่ที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ก่อนที่ต่อมาจะจับงานขายประกัน แต่ก็ทำได้ไม่ดีนัก กระทั่งปี 2532 เพื่อนแนะนำให้ป้าอัญใช้ความรู้ภาษาเยอรมันที่ถนัดไปทำมาหากินจะดีกว่า ด้วยการสมัครเข้าเรียนหลักสูตรการท่องเที่ยวของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ป้าอัญใช้เวลาเรียน 6 เดือนก็จบ เป็นรุ่นที่ 23 และถือเป็นรุ่นแรกที่มีการอบรมไกด์ หรือมัคคุเทศก์ภาษาเยอรมันด้วย 

 

หลังเรียนจบเธอเริ่มทำงานกับบริษัทนำเที่ยวเอกชนของเยอรมนี และยังคงทำงานที่นี่ต่อเนื่องมาตลอด 32 ปี ป้าอัญบอกเราว่า ตอนเริ่มพาลูกทัวร์ไปเที่ยวครั้งแรกนั้นเกร็งมาก ก็ตามๆ รุ่นพี่ไปดูแลนักท่องเที่ยวก่อน จากนั้นก็ได้นำลูกทัวร์ไปเอง ทริปแรกคือเชียงใหม่ ไปด้วยรถตู้แวะเที่ยวตามรายทาง ขณะที่ขากลับลูกทัวร์ชาวเยอรมันนั่งเครื่องบินกลับ แต่ตัวเองกลับด้วยรถตู้ เพราะตั๋วเครื่องบินเวลานั้นแพงมาก 

 

“จำได้ว่าตัวเองภาษาเยอรมันก็พอได้แล้ว แต่ศัพท์หลายคำก็ยาก ตอนนั้นมีพูดผิดพูดถูก แปลคำว่า งวงช้าง เป็นขาหมู คนเยอรมันก็หัวเราะชอบใจใหญ่” ป้าอัญกล่าวถึงอดีตของจุดเริ่มต้น

 

อัญชลี ปอสิริโภคา

 

“สมัยที่เริ่มต้นทำอาชีพไกด์ ต้องบอกว่าเป็นช่วงรุ่งเรืองมากของอาชีพนี้ ตอนนั้นเป็นยุคนายกฯ ชาติชาย ชุณหะวัณ เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ลูกทัวร์เข้ามาเยอะมาก สามารถเก็บเงินจากอาชีพนี้ได้มาก แล้วก็เป็นอาชีพที่ใช้ภาษา อยู่ระดับบนของคนในสังคมส่วนหนึ่งที่ภาษาเป็นเรื่องยากสำหรับคนไทย แล้วเราได้ภาษาเยอรมันก็จะพิเศษเพิ่มไปอีก” ป้าอัญกล่าว

 

ช่วงเริ่มต้นทำอาชีพไกด์ ป้าอัญอาศัยอยู่ที่กรุงเทพมหานครมาโดยตลอด จากสาวบางกะปิขยับมาเป็นคนย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิอย่างเต็มตัวจนถึงปัจจุบัน คอนโดมิเนียม 2 ห้องที่อาศัยอยู่กับเพื่อนในปัจจุบันมาจากน้ำพักน้ำแรงที่เก็บออมมาจากอาชีพนี้

 

“ตอนวิกฤตปี 2540 ก็มีกระทบบ้าง แต่มันไม่ได้กระทบหนัก ยังมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเราก็ยังมีรายได้ เจอมาหมดแล้วทั้งโรคซาร์ส ไข้หวัดนกก็กระทบ แต่วิกฤตพวกนั้นมาแล้วก็แก้ได้ หายไป ไม่เหมือนโควิด-19 ตอนนี้ที่สาหัสที่สุดในชีวิต ไกด์เป็นด่านหน้าตกงานกันหมด ไม่มีอาชีพ บางคนไปขายโจ๊ก ขายปลาอบโอ่ง บางคนก็หันหลังกลับบ้านไปตั้งหลักรอเวลา”

 

ป้าอัญบอกอีกว่า อาชีพไกด์เป็นอาชีพที่ได้เงินมาง่ายก็ใช้ออกไปง่าย บางคนสนุกสนานกับแสงสีไม่เก็บเงิน เจอวิกฤตก็ลำบาก ยิ่งรอบนี้คือไม่รู้จะกลับมาปกติอีกเมื่อไร งานถูกยกเลิกทันทีที่โรคนี้มาถึง 

 

“ความไม่แน่นอนคือความแน่นอน ชีวิตไม่ควรตั้งอยู่ในความประมาท ให้ทำงานเก็บเงินกันให้ดี ตั้งตัวให้ได้ก่อน ทำงานกับคนเยอรมันคือมีวินัย มีระเบียบมาก รู้เลยว่าทำไมประเทศเขาเจริญ” ป้าอัญกล่าว

 

อัญชลี ปอสิริโภคา

 

ชีวิตในยุคโควิด-19 ทำให้ป้าอัญไม่มีงานมาปีกว่าแล้ว ต้องมาช่วยเพื่อนทำงานร้านซักรีด เพื่อให้อย่างน้อยตัวเองก็ยังมีงานทำอยู่ในแต่ละวัน และรอคอยว่าจะได้กลับมาทำอาชีพที่รักอีกครั้ง

 

ก่อนจบบทสนทนา หัวข้อท้ายสุดคืออยากให้ฝากอะไรถึงผู้ที่มีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขประชาชน ป้าอัญสวนกลับทันทีว่า “พูดไปก็ไลฟ์บอย เขาไม่ฟังเราหรอก ใช้ชีวิตยาก ยากที่สุด ไม่มีความหวัง ความเชื่อมั่น พูดเยอะก็ไม่ได้ เดี๋ยวมีคนมาตาม”

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising