×

โรฮีนจา-ทะเลจีนใต้-นิวเคลียร์ ประเด็นร้อนในอาเซียนซัมมิท ครั้งที่ 31 ที่ฟิลิปปินส์

14.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • กรณีการกวาดล้างชาวโรฮีนจาทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ คือหนึ่งในประเด็นร้อนที่ก่อให้เกิดกระเเสวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของผู้นำเมียนมาอย่างนางออง ซาน ซูจี อีกครั้ง ภายหลังจากที่ประเด็นดังกล่าวไม่ถูกระบุไว้ในร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมในครั้งนี้ แม้สหประชาชาติจะกำลังเฝ้าจับตามองเหตุความรุนแรงดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

 

 

     เป็นที่น่าจับตามองไม่น้อยสำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 31 ที่เปิดฉากขึ้นแล้วเมื่อวานนี้ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ โดยมีผู้นำจาก 10 ประเทศสมาชิก พร้อมผู้นำและตัวแทนจากภาคีเครือข่ายต่างๆ เดินทางเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้กันอย่างคับคั่ง ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่น่าติดตามหลายประเด็น

 

 

ร่างแถลงการณ์ร่วมผู้นำอาเซียนไร้เงาประเด็นกวาดล้างชาวโรฮีนจาในเมียนมา

     กลายเป็นประเด็นร้อน หลังอาเซียนเผยร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดผู้นำในครั้งนี้ โดยไม่ได้มีการระบุถึงประเด็นการกวาดล้างและขับไล่ชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ของเมียนมาออกนอกประเทศ หลังกองทัพเมียนมาใช้มาตรการทางทหารและความรุนแรงต่อชาวมุสลิมกลุ่มนี้

     นับตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา มีชาวโรฮีนจาอพยพไปยังบังกลาเทศมากกว่า 6 แสนคน บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก หมู่บ้านหลายแห่งของชาวโรฮีนจาถูกเผาทำลายทิ้ง สหประชาชาติได้ประณามเหตุการใช้ความรุนแรงดังกล่าวว่า “ไม่ต่างอะไรกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” และเรียกร้องให้นางออง ซาน ซูจี ผู้นำที่ (เคย) เป็นแรงบันดาลใจของคนทั้งโลกในเรื่องการต่อสู้เพื่อความเป็นประชาธิปไตยและความเท่าเทียมกันในยุคเผด็จการทหารของเมียนมาให้ออกมาแก้ไขปัญหานี้เป็นการด่วน

     ความตอนหนึ่งในร่างแถลงการณ์ดังกล่าว พูดถึงความสำคัญของการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม แก่ผู้เคราะห์ร้ายและตกเป็นเหยื่อของภัยพิบัติทางธรรมชาติในเวียดนาม การต่อสู้กับกลุ่มรัฐอิสลาม (กลุ่มไอเอส) ในฟิลิปปินส์ รวมถึงชุมชนที่ได้รับผลกระทบบริเวณทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ ซึ่งไม่ได้ระบุหรือชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับความโหดร้ายและป่าเถื่อนที่กองทัพเมียนมาใช้ความรุนแรง ต่อต้านและปราบปรามกลุ่มคนที่พวกเขามองว่า ‘เป็นอื่น’ โดยมิได้คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด

 

 

     นางออง ซาน ซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 1991 ที่เดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำในครั้งนี้ ต่างทำให้หลายฝ่ายผิดหวังต่อท่าทีของเธอในประเด็นนี้ และเธอยังไม่เคยเอ่ยถึงการกวาดล้างชาวโรฮีนจา บริเวณทางตอนเหนือของรัฐยะไข่เลย นับตั้งแต่เดินทางถึงกรุงมะนิลา สิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะสะท้อนถึงจุดด้อยของอาเซียนที่ยึดถือหลักการไม่แทรกเเซง (Non-Interference) ระหว่างกัน ซึ่งส่งผลให้บางประเด็นปัญหา โดยเฉพาะปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนภายในภูมิภาคนี้ยังไม่ได้รับการเยียวยาเเก้ไขอย่างจริงจัง

     วิลเนอร์ ปาปา (Wilnor Papa) ผู้แทนขององค์กรนิรโทษกรรมสากลระหว่างประเทศ ประจำฟิลิปปินส์เผยว่า “ผู้นำอาเซียนจะพูดคุยถึงประเด็นปัญหาการก่อการร้าย สันติภาพ และความสงบสุขภายในภูมิภาค แต่มีประเด็นปัญหาหนึ่งที่จะไม่ถูกพูดถึง และผู้เคราะห์ร้ายเหล่านั้นกำลังถูกเพิกเฉยจากบรรดาผู้นำประเทศเหล่านี้”

 

 

อาเซียนและผู้นำจีน เร่งผลักดันให้แก้ไขปัญหาพิพาทในทะเลจีนใต้

     นายหลี่ เค่อเฉียง (Li Keqiang) นายกรัฐมนตรีของจีน ได้แสดงจุดยืนต่อกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน ขณะเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในครั้งนี้ โดยมองว่า การเร่งจัดพิมพ์แบบแผนข้อพึงปฏิบัติ (Code of Conduct) ต่อกรณีพิพาทดินแดนที่เกิดขึ้น จะมีส่วนช่วยทำให้เกิดความมีเสถียรภาพเพิ่มมากขึ้นภายในภูมิภาค

     “ความหวังสูงสุดของจีนคือ การเกิดสันติภาพและความมั่นคงขึ้นภายในภูมิภาค”

     นักวิชาการหลายสำนักมองว่า ความพยายามดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในช่วงเร็วๆ นี้ เนื่องจากการพูดคุยที่เกิดขึ้นเป็นเพียงกรอบแนวทางและหลายประเทศก็ยังเดินหน้าอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนต่างๆ โดยยากที่จะเเบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งนี้ยังไม่ได้มีการกำหนดวันที่จะเริ่มเจรจากันอย่างชัดเจนอีกด้วย

     นอกจากนี้เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทางการจีนก็ได้เปิดตัวเรือขุดลำใหม่ที่ใหญ่ที่สุดของจีน หรืออาจจะเรียกได้ว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย ที่มีชื่อว่า เรือขุด Tian Kun Hao มีการคาดการณ์ว่า เรือขุดลำมหึมานี้จะมีส่วนสำคัญในการเพิ่มศักยภาพในการสร้างเกาะเทียมให้แก่จีน และสนับสนุนการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนต่างๆ ที่จีนอ้างว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของตน โดยเฉพาะเหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้ที่มีข้อพิพาทกับไต้หวัน รวมถึง 4 ประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนอีกด้วย (บรูไน เวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์) จึงยิ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นระหว่างกันในการร่วมมือแก้ไขปัญหานี้

     ทั้งนี้ที่ผ่านมาจีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด และสร้างค่ายทหาร รวมถึงถมพื้นที่ตามแนวปะการังในบริเวณดังกล่าวอีกด้วย

 

 

ผู้นำสหรัฐฯ ชี้ อาเซียนจะเป็นกลไกสำคัญในการยุติปัญหานิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี

     ก่อนที่จะปิดท้าย Trump’s Asian Tour อย่างเป็นทางการ วานนี้ทรัมป์ได้เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 31 พร้อมเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ 40 ปี โดยผู้นำสหรัฐฯ ได้กล่าวชื่นชมถึงผลงานและความสำเร็จในการเป็นกลไกสำคัญในการโอบอุ้มพลเมืองอาเซียนกว่า 625 ล้านคน และมีพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในการเดินหน้าอย่างมีพลวัตตลอด 5 ทศวรรษที่ผ่านมา

     ปัญหาความตึงเครียดที่เกิดขึ้นบนคาบสมุทรเกาหลีที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงและยากจะคาดเดาได้นั้น ยิ่งทำให้หลายฝ่ายในประชาคมระหว่างประเทศเป็นกังวลต่อภัยคุกคามความมั่นคง และสงครามนิวเคลียร์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต มหาอำนาจตะวันตกอย่างสหรัฐฯ หนึ่งในคู่ขัดแย้งหลักของปัญหานี้ รวมถึงชาติพันธมิตร จึงได้พยายามดำเนินมาตรการกดดันเกาหลีเหนือในยุติการทดสอบและเดินหน้าพัฒนาขีปนาวุธนิวเคลียร์โดยเร็วที่สุด ก่อนที่ความขัดแย้งจะบานปลายจนกลายเป็นการใช้กำลังเข้าโจมตีระหว่างกัน

 

 

     แต่ดูเหมือนว่าอาวุธนิวเคลียร์นี้ เปรียบเสมือนเป็นหลักประกันเพียงหนึ่งเดียวที่จะช่วยปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติของเกาหลีเหนือไว้ได้ จึงทำให้สถานการณ์ต่างๆ รวมถึงหนทางที่จะนำไปสู่โต๊ะเจรจาในช่วงเวลานี้เป็นไปได้ยากพอสมควร

     ทั้งนี้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังเล็งเห็นว่า อาเซียนจะเป็นอีกหนึ่งตัวแสดงสำคัญในประชาคมระหว่างประเทศที่จะสนับสนุนจุดยืนของสหรัฐฯ พร้อมกดดันให้กองทัพโสมแดงยุติโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับขีปนาวุธนิวเคลียร์โดยเร็วตามมติของสหประชาชาติ เพราะถ้าหากทุกประเทศช่วยกันตัดช่องทางแหล่งเงินทุนที่จะใช้ในการพัฒนาอาวุธดังกล่าว อาจทำให้เป้าหมายนี้บรรลุผลเร็วยิ่งขึ้น

 

 

บทบาทของผู้นำไทยในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งนี้

     นายกรัฐมนตรีไทยเห็นว่า อาเซียนจะยังต้องร่วมกันขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนให้เข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไปในอีก 50 ปีข้างหน้า โดยเน้นการเสริมสร้างประชาคมอาเซียนที่มีความเข้มแข็ง เน้นนวัตกรรม และยึดมั่นกติกา และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2030 อาเซียนจะขยับจากอันดับที่ 6 ขึ้นมาเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของโลก หากอาเซียนนำนวัตกรรมมาเป็นตัวขับเคลื่อนและสามารถนำความตกลงโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจมาปฏิบัติตามเป้าหมายอย่างครบถ้วน

 

 

     นอกจากนี้ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามชายแดนผ่านรูปแบบความร่วมมือประเทศไทย +1 ที่สามารถขยายและเชื่อมโยงกับประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศในภูมิภาคได้อย่างเป็นระบบ รวมถึงการเสริมสร้างและรักษาความเข้มแข็งของแกนกลางอาเซียน (ASEAN Centrality) เพื่อรับมือกับภัยคุกคามภายนอกภูมิภาค และประเด็นความท้าทายต่างๆ ของโลก เช่น อาชญากรรมข้ามชาติ และความเหลื่อมล้ำต่างๆ ทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อก้าวไปสู่อนาคตที่สดใสของประชาคมอาเซียนร่วมกันในอนาคต

 

 

Photo: AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X