×

สื่อนอกจับตา ‘โอกาสสุดท้าย’ พิธา โหวตนายกฯ รอบ 2

19.07.2023
  • LOADING...
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของไทยรอบที่ 2 ในวันนี้ (19 กรกฎาคม) ยังเป็นที่จับตามองจากสื่อทั่วโลก เช่น Reuters, AP, AFP, The Guardian, Nikkei Asia

 

โดยสำนักข่าว Reuters พาดหัวตั้งข้อสังเกตว่านี่อาจเป็น ‘โอกาสสุดท้าย’ ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในการท้าชิงตำแหน่งผู้นำประเทศ แม้จะเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุนกว่า 14 ล้านเสียง แต่ถูกปฏิเสธจากสภาในการโหวตรอบแรกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบ หรืองดออกเสียง

 

ในการให้สัมภาษณ์ Reuters วานนี้ (18 กรกฎาคม) พิธากล่าวว่า เขาไม่ได้ ‘ล้มเหลว’ และ ‘ชนะการเลือกตั้ง’ แต่ถูกขัดขวางโดยวุฒิสภา

 

“ผมไม่ได้ล้มเหลว ผมชนะการเลือกตั้งและได้จัดตั้งรัฐบาลผสม แต่ถูกขัดขวางโดยวุฒิสภา ขอให้เราเข้าใจชัดเจนในเรื่องนี้”

 

พิธายังตอบคำถาม Reuters กรณีศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคำร้องเรื่องขาดคุณสมบัติจากประเด็นการถือหุ้นสื่อซึ่งอาจส่งผลให้สมาชิกภาพ ส.ส. ของเขาสิ้นสุดลง โดยพิธาตอบแบบเรียบง่ายว่า ‘ไม่เป็นไร’ และชี้ว่า ‘มันเป็นสิ่งที่ถูกวางแผนไว้แล้วล่วงหน้า’

 

สำนักข่าว AP พาดหัวข่าวคล้ายกันว่า “ผู้ชนะการเลือกตั้งของไทยเตรียมยืนหยัดครั้งสุดท้ายในการเสนอชื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี”

 

AP รายงานความเห็นนักวิจารณ์การเมืองที่มองว่า นโยบายของก้าวไกลที่ให้สัญญาเรื่องการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือกฎหมายมาตรา 112 ‘ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในทางที่ผิด’

 

ขณะที่ AP ชี้ว่าความสนใจของสื่อได้เปลี่ยนไปสู่ประเด็นการเสนอชื่อผู้ที่จะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแทนพิธาแล้ว โดยอาจมาจากพรรคเพื่อไทยที่ชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับ 2 ด้วยที่นั่ง ส.ส. ตามหลังเพื่อไทยอยู่ 10 เสียง

 

ด้าน ผศ.ดร.เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ให้สัมภาษณ์ AP ถึงท่าทีของก้าวไกลที่ประกาศไม่จับมือตั้งรัฐบาลกับทุกพรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจเผด็จการ โดยเธอกล่าวว่า “พวกเขา (ก้าวไกล) คงเต็มใจที่จะไม่เข้าร่วมกับพรรคเหล่านั้น และยังคงรู้สึกว่าพวกเขาให้เกียรติในสิ่งที่พวกเขาได้ประกาศต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในระหว่างหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง”

 

ขณะที่เธอมองว่าปัญหาการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้การเมืองดำเนินไปข้างหน้าอย่างยากลำบาก

 

“ฉันยังไม่เห็นว่าเราจะเอาสิ่งกีดขวางเหล่านี้ออกไปได้อย่างไร” เสาวนีย์กล่าว

 

ด้าน AFP พาดหัวข่าวเรียกพิธาว่านักปฏิรูปชาวไทย กำลัง ‘เผชิญศึกหนักครั้งที่ 2 เพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี’ 

 

ผศ.ดร.นภิสา ไวฑูรเกียรติ นักวิเคราะห์การเมืองจากมหาวิทยาลัยนเรศวร บอกกับ AFP ว่า “พิธามีโอกาสน้อยที่จะได้รับการโหวตผ่าน” เนื่องจากอุปสรรคสำคัญอย่าง ส.ว.

 

โดยเธอมองว่านโยบายปฏิรูปต่างๆ ของก้าวไกลยังเป็นภัยคุกคามต่อธุรกิจผูกขาดของตระกูลต่างๆ ซึ่งมีบทบาทเกินขอบเขตเศรษฐกิจไทย

 

“ถ้าคุณเป็นคนพวกนั้น คุณจะไม่ยอมให้เป็นอย่างนั้น” เธอกล่าว

 

ภาพ: Sirachai Arunrugstichai / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising