×

‘3 เจ้าสัวไทย’ ติดท็อป 20 มหาเศรษฐีในเอเชีย

โดย THE STANDARD TEAM
30.11.2020
  • LOADING...
‘3 เจ้าสัวไทย’ ติดท็อป 20 มหาเศรษฐีในเอเชีย

เปิดโผ 20 อันดับมหาเศรษฐีเอเชีย ครองสินทรัพย์รวมกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ พบ 3 เจ้าสัวไทย “เจียรวนนท์-อยู่วิทยา-จิราธิวัฒน์” ติดอันดับ

 

สำนักข่าว Bloomberg เปิดเผยผลการสำรวจอันดับตระกูลมหาเศรษฐีในภูมิภาคเอเชียประจำปี 2020 พบ อันดับหนึ่งคือ ตระกูลแอมบานีของอินเดีย ผู้ครอบครองอาณาจักร Reliance Industries ซึ่งโดดเด่นในการทำธุรกิจลงทุนด้านพลังงาน น้ำมัน ปิโตรเคมี ไฮโดรเจน ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งทอ ค้าปลีก และเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมีมูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมดรวมกันอยู่ที่ 7.6 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 2,302 ล้านล้านบาท)

 

ส่วนอันดับที่ 2 คือ ตระกูลคว็อกในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง เจ้าของธุรกิจ Sun Hung Kai Properties บริษัทนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ลำดับต้นๆ ของฮ่องกง ซึ่งมีมูลค่าสินทรัพย์ที่ราว 33 ล้านดอลลาร์ และอันดับที่ 3 คือ ตระกูลเจียรวนนท์ของไทย ผู้สร้างอาณาจักรเครือเจริญโภคภัณฑ์ ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคแบบครบวงจรที่กินรวบตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ โดยมีมูลค่าสินทรัพย์อยู่ที่ 3.17 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 9.82 แสนล้านบาท)

 

ทั้งนี้ รายงานของ Bloomberg ระบุว่า หากรวมสินทรัพย์ของบรรดามหาเศรษฐีทั้ง 20 อันดับเข้าไว้ด้วยกัน จะมีมูลค่าสูงถึง 4.63 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 14.35 ล้านล้านบาท  

 

แม้ว่าจะมีความมั่งคั่งที่มากมายมหาศาล และวิถีชีวิตที่หรูหราเกินเอื้อมถึง แต่ผลสำรวจครั้งนี้ก็พบว่า บรรดาทายาทของตระกูลมหาเศรษฐีเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรุ่นที่ 3 หรือ 4 ต่างประสบปัญหาในการต่อยอดหรือดูแลสืบทอดความมั่งคั่งของตระกูล ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแนวทางทิศทางของเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม

 

ทั้งนี้ Bloomberg ระบุว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้คนในหลายประเทศตระหนักและรู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างคนจนกับคนรวยได้ชัดเจนมากขึ้น และทำให้ประชาชนคนธรรมดาต่างออกมาแสดงความไม่พอใจต่อความยากลำบากที่ต้องเผชิญ เช่น ในฮ่องกง ที่มีแนวโน้มจะมีผู้คนออกมาประท้วงมากขึ้น เมื่ออัตราคนว่างงานเพิ่มสูงสุดในรอบ 15 ปี ท่ามกลางราคาที่อยู่อาศัยที่ราคาสูงเกินเอื้อมถึงมานาน หรือในอินเดีย ที่ประชากร 78% ไม่มีอาหารกินอย่างพอเพียง และมีแนวโน้มที่จะมีคนอดตายมากขึ้น เพราะมาตรการล็อกดาวน์ทำให้คนตกงาน 

 

อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการทั่วไปแห่งองค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนก่อนการระบาดก็ถือว่าย่ำแย่อยู่แล้ว และเป็นชนวนเหตุให้เกิดความไม่สงบในหลายพื้นที่ และหนึ่งในแนวทางสำคัญที่จะทำให้โลกพื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ก็คือการพัฒนา ที่เปิดโอกาสให้คนทุกคนมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน 

 

ส่วนอีก 2 ตระกูลมหาเศรษฐีของไทยที่ติดอันดับในครั้งนี้ ประกอบด้วยตระกูลอยู่วิทยา ซึ่งติดอันดับที่ 6 ด้วยมูลค่าความมั่งคั่ง 2.42 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 7.5 แสนล้านบาท) และตระกูลจิราธิวัฒน์ ติดอันดับที่ 20 ครองความมั่งคั่ง 1.29 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 3.99 แสนล้านบาท)

 

การสำรวจครั้งนี้ ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ของบรรดามหาเศรษฐีทั้งหลายทั่วเอเชีย จนถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน โดยไม่นับรวมมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยจากการก่อร่างสร้างตัวมาด้วยตัวเอง หรือที่เรียกว่า First Generation อย่าง แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซสัญชาติจีน Alibaba ตลอดจนไม่นับรวมตระกูลมหาเศรษฐีที่มีทายาทสืบตระกูลเพียงคนเดียว ดังนั้นผลลัพธ์จากการจัดอันดับในขณะนี้จึงไม่มีมหาเศรษฐีหน้าใหม่จากจีนแผ่นดินใหญ่ ที่มั่งคั่งร่ำรวยขึ้นได้จากการมุ่งลงทุนทำธุรกิจด้านเทคโนโลยี 

 

 

โดยตระกูลมหาเศรษฐีเอเชีย 20 อันดับประกอบด้วย

  1. ตระกูลแอมบานี (อินเดีย) แห่ง Reliance Industries ปัจจุบันคือทายาทรุ่นที่ 3 มูลค่าสินทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านดอลลาร์

 

  1. ตระกูลคว็อก (ฮ่องกง) แห่ง Sun Hung Kai Properties ปัจจุบันคือทายาทรุ่นที่ 3 มูลค่าสินทรัพย์ 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์

 

  1. ตระกูลเจียรวนนท์ (ไทย) แห่ง เจริญ โภคภัณฑ์ กรุ๊ป ปัจจุบันคือทายาทรุ่นที่ 4 มูลค่าสินทรัพย์ 3.17 หมื่นล้านดอลลาร์

 

  1. ตระกูลฮาร์โตโน (อินโดนีเซีย) แห่ง Djarum, Bank Central Asia ปัจจุบันคือทายาทรุ่นที่ 3 มูลค่าสินทรัพย์ 3.13 หมื่นล้านดอลลาร์

 

  1. ตระกูลลี (เกาหลีใต้) แห่ง ซัมซุง ปัจจุบันคือทายาทรุ่นที่ 3 มูลค่าสินทรัพย์ 2.66 หมื่นล้านดอลลาร์

 

  1. ตระกูลอยู่วิทยา (ไทย) แห่ง TCP Group ปัจจุบันคือทายาทรุ่นที่ 2 มูลค่าสินทรัพย์ 2.42 หมื่นล้านดอลลาร์

 

  1. ตระกูลเฉิง (ฮ่องกง) แห่ง Chow Tai Fook ปัจจุบันคือทายาทรุ่นที่ 4 มูลค่าสินทรัพย์ 2.26 หมื่นล้านดอลลาร์

 

  1. ตระกูลมิสตรี (อินเดีย) แห่ง Shapoorji Pallonji Group ปัจจุบันคือทายาทรุ่นที่ 5 มูลค่าสินทรัพย์ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์

 

  1. ตระกูลเปา/อู่ (ฮ่องกง) แห่ง BW Group, Wheelock ปัจจุบันคือทายาทรุ่นที่ 3 มูลค่าสินทรัพย์ 2.02 หมื่นล้านดอลลาร์

 

  1. ตระกูลซีย์ (ฟิลิปปินส์) แห่ง SM Investments ปัจจุบันคือทายาทรุ่นที่ 3 มูลค่าสินทรัพย์ 1.97 หมื่นล้านดอลลาร์

 

  1. ตระกูลไช่ (ไต้หวัน) แห่ง Cathay Financial, Fubon Financial ปัจจุบันคือทายาทรุ่นที่ 3 มูลค่าสินทรัพย์ 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์

 

  1. ตระกูลลี (ฮ่องกง) แห่ง Lee Kum Kee ปัจจุบันคือทายาทรุ่นที่ 5 มูลค่าสินทรัพย์ 1.73 หมื่นล้านดอลลาร์

 

  1. ตระกูลเควก (สิงคโปร์/มาเลเซีย) แห่ง Hong Leong Group ปัจจุบันคือทายาทรุ่นที่ 3 มูลค่าสินทรัพย์ 1.65 หมื่นล้านดอลลาร์

 

  1. ตระกูลโทริอิ/ซาจิ (ญี่ปุ่น) แห่ง Suntory ปัจจุบันคือทายาทรุ่นที่ 4 มูลค่าสินทรัพย์ 1.63 หมื่นล้านดอลลาร์

 

  1. ตระกูลคาดูรีย์ (ฮ่องกง) แห่ง CLP Holdings ปัจจุบันคือทายาทรุ่นที่ 4 มูลค่าสินทรัพย์ 1.61 หมื่นล้านดอลลาร์

 

  1. ตระกูลฮินดูจา (อินเดีย) แห่ง Hinduja Group ปัจจุบันคือทายาทรุ่นที่ 4 มูลค่าสินทรัพย์ 1.51 หมื่นล้านดอลลาร์

 

  1. ตระกูลโฮ (ฮ่องกง) แห่ง SJM ปัจจุบันคือทายาทรุ่นที่ 2 มูลค่าสินทรัพย์ 1.46 หมื่นล้านดอลลาร์

 

18.​ ตระกูลชุง (เกาหลีใต้) แห่ง Hyundai ปัจจุบันคือทายาทรุ่นที่ 3 มูลค่าสินทรัพย์ 1.41 หมื่นล้านดอลลาร์

 

  1. ตระกูลอึ๊ง (สิงคโปร์) แห่ง Far East Organization ปัจจุบันคือทายาทรุ่นที่ 3 มูลค่าสินทรัพย์ 1.38 หมื่นล้านดอลลาร์

 

  1. ตระกูลจิราธิวัฒน์ (ไทย) แห่ง Central Group ปัจจุบันคือทายาทรุ่นที่ 4 มูลค่าสินทรัพย์ 1.29 หมื่นล้านดอลลาร์

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X