วันนี้ (24 ก.ค.) ผู้เชี่ยวชาญแผนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) จัดงานแถลงข่าว พร้อมเผย ‘ผลสำรวจสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทย ปี 2561’ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยใช้ข้อมูล 3 ฐาน ประกอบด้วยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด เป็นหลัก
โดย ปรีดา จาตุรพงศ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดเผยผลการรวบรวมและวิเคราะห์สถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทย ปี 2561 พบว่า ภาพรวมสถานการณ์ในประเทศไทยยังน่าเป็นห่วง หลังมีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนที่สูงกว่า 20,169 ราย ในปี 2561 ทั้งนี้ ยังมีการระบุถึงช่วงวัยที่ประสบอุบัติเหตุและเสียชีวิตมากที่สุดคือ ช่วงอายุ 15-24 ปี ขณะที่ผู้ขับขี่จักรยานยนต์มีอัตราการเสียชีวิตมากถึง 70% รองลงมาคือ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล 14% และคนเดินเท้า 10% ส่วนรถจักรยานและรถใหญ่รวมกัน 6%
นอกจากนี้ ยังมีการรายงานถึงจังหวัดที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงสุดต่อแสนประชากรของปี 2561 โดยอันดับ 1 คือ ระยอง (65.53) อันดับ 2 ชลบุรี (49.63) อันดับ 3 จันทบุรี (49.02) อันดับ 4 สระบุรี (48.06) และอันดับ 5 ฉะเชิงเทรา (47.55)
ขณะเดียวกัน นายแพทย์วิทยา ชาติบัญชาชัย ประธานแผนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) กล่าวเสริมว่า แม้ตัวเลขการเสียชีวิตในปี 2561 จะลดลง และดูเหมือนว่าเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่อุบัติเหตุและการสูญเสียบนท้องถนนไทยยังเป็นปัญหาสำคัญต่อเนื่องยาวนาน เฉพาะในกลุ่มอาเซียนไทยยังสูงเป็นอันดับ 1 และยังห่างไกลเป้าหมาย ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนในปี 2563 ที่ตั้งเป้าลดการตายลงครึ่งหนึ่งให้เหลือน้อยกว่า 20 รายต่อแสนประชากร ซึ่งองค์การอนามัยโลกชี้ว่า ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวเนื่องกับการบังคับใช้กฎหมาย
โดยล่าสุด แม้ว่ารัฐบาลจะกำหนดแผนนโยบายที่เกี่ยวเนื่องกับการเพิ่มประสิทธิภาพ รวมถึงการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยทางถนนที่สอดคล้องกันระหว่างระบบการเตือนภัย การช่วยเหลือกู้ภัย และการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยที่มีประสิทธิภาพ แต่ยังไม่เห็นถึงความชัดเจนและจริงจังจากนโยบายดังกล่าว
ดังนั้น ทางภาคีเครือข่ายจึงเสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ผลดีมากยิ่งขึ้น 3 ประการ ประกอบด้วย
1. ให้การป้องกันปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเป็นหนึ่งในแผนแม่บทของรัฐบาลภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580)
2. มอบหมายให้มีการศึกษาทางเลือกต่างๆ ในการปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและการลดอุบัติเหตุทางถนนปี 2554 เพื่อให้ระบบบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
3. มีนโยบายและแผนเพิ่มการลงทุนเพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของถนนที่ชัดเจนและวัดผลได้
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล