เมื่อ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ รุกคืบเข้ามาในพื้นที่ของมนุษย์มากขึ้นทุกวัน ภาคธุรกิจเอกชนรวมถึงภาครัฐในบางประเทศ จึงเร่งศึกษาการใช้งาน ปรับกระบวนการทำงานผสมผสานระหว่างคนกับ AI พร้อมปรับโครงสร้างให้องค์กรพัฒนาและอยู่รอดในยุคดิสรัปชันให้ได้มากที่สุด
ผู้บริหารในองค์กรชั้นนำระดับโลกหลายแห่งจึงตื่นตัวในเรื่องนี้อย่างแข็งขัน
อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้ง SEAC (ซีแอค) จึงนำเนื้อหาบางส่วนที่มีความสำคัญและน่าสนใจ จากการบรรยายของ Amir Goldberg Associate Professor of Organizational Behavior at Stanford Graduate School of Business มาขยายความเพิ่มสำหรับองค์กรธุรกิจไทยที่กำลังหาแนวทางในการปรับตัว
อริญญาเปิดเผยว่า ในช่วงสิ้นปี 2024 และต้นปีหน้า จะเกิดภาพที่องค์กรท็อประดับโลกจะไม่เป็นท็อปอีกต่อไป เพราะองค์กรในบางอุตสาหกรรมที่กำลังแอบเก็บข้อมูล และใส่ใน Machine Learning อยู่ในวันนี้ จะนำสิ่งที่ซุ่มทำอยู่ออกมาใช้ ทำให้องค์กรที่ยังไม่ขยับตัวก้าวตามไม่ทัน จนกลายเป็น ‘Another Major Wave Disruption’
อย่างไรก็ตาม หลายองค์กรยังพยายามทำ Transformation โดยโฟกัสในมิติก่อนที่ AI หรือ Machine Learning จะมาใน Stage นี้ การเปลี่ยนแปลงในทางบวกจึงไม่เกิดขึ้น นอกจากนี้ องค์กรในไทยยังไม่ตระหนักถึงจุดนี้ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว เพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ผู้นำองค์กรจึงต้องรีบลงมือพลิกโฉมองค์กร โดยมี 3 Key Takeaways ที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่
ประเด็นที่ 1 Transformation ในยุค AI ไม่เหมือนเดิม
โดยไม่ใช่แค่การนำ AI มาใช้แทนคนเพื่อลดแรงงานมนุษย์อีกต่อไป แต่คือการผสมผสานระหว่าง AI, Machine Learning และคนเข้าด้วยกัน เพื่อพัฒนารูปแบบการทำงานใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวอย่างที่ยกมา เช่น Royal Dutch Petroleum Company และท็อป 20 องค์กรในจีนที่ทำรายได้สูงสุด ต่างประกาศไม่ต้องการพนักงานที่ไม่ยอมพัฒนาทักษะใหม่ๆ เพื่อรองรับเทคโนโลยี AI
ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงในยุค AI จึงไม่ใช่เรื่องของการเปลี่ยนกระบวนการ (Process) เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมองให้รอบด้านทั้งภายนอกและภายในองค์กร และหากแผนการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันไม่ได้คำนึงถึงมิติของ AI ก็อาจต้องทบทวนใหม่
ประเด็นที่ 2 Managerial Decision (การตัดสินใจของระดับผู้บริหาร) กำลังเปลี่ยนไปในระดับ Organization
Managerial Decision ในปัจจุบันไม่ได้มาจากประสบการณ์หรือข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เพียงอย่างเดียว แต่มาจากข้อมูลภายในองค์กรที่ผ่านการประมวลผลโดย AI สำหรับองค์กรที่เก็บข้อมูลมาอย่างต่อเนื่องและนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะสามารถตัดสินใจได้อย่างแม่นยำและทันต่อสถานการณ์ ยกตัวอย่าง บริษัท Walmart ได้นำ AI มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลภายในองค์กร ส่งผลให้สามารถตัดสินใจได้อย่างแม่นยำและลดต้นทุนได้
ประเด็นที่ 3 Manager ทุกระดับต้องเพิ่มทักษะ Data Driven Manager
Manager ทุกระดับในองค์กรจำเป็นต้องมีทักษะ Data Driven เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการตัดสินใจและขับเคลื่อนองค์กร เพราะ Data Driven Manager คือคนที่สามารถกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการนำ Data มาใส่ใน Machine Learning และนำมาใช้ได้อย่างถูกต้อง โดยองค์กรที่สามารถสร้าง Data Driven Manager ได้ จะมีความได้เปรียบในการแข่งขัน
ยกตัวอย่าง บริษัท P&G เริ่มสร้างให้ Manager ของตัวเองเป็น Data Driven Manager ซึ่งคนที่ทำได้ดีมากๆ ก็คือคนที่ทำเรื่องของการ Recruit คนเข้าทำงาน ผ่านการเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลา 24 เดือน เมื่อนำข้อมูลออกมาใช้ก็ทำให้คนที่เข้ามาทำงานได้ 60 วัน สามารถ Perform ได้เหมือนคนทำงานมาแล้วเฉลี่ย 6-8 ปี ทั้งยังเป็นการลด Cost จากการลาออกได้อีกด้วย
อีกกรณีหนึ่งคือ เครือบริษัทโตโยต้า เป็นธุรกิจรถยนต์ที่เริ่มนำการเก็บ Data มาใช้ในการเลื่อนตำแหน่ง (Promotion) และคนที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งสามารถ Perform ได้มากกว่าคนที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งด้วยระบบเดิมถึง 5 เท่า โดยโตโยต้าเก็บ Data มานาน เพื่อจะออกแบบ Pattern และดูว่าการย้ายคนขึ้นมานำในเรื่องนี้ต้องเป็นคนอย่างไร หรือเรียกว่าคือการหาคนที่ใช่มานำ ซึ่งช่วยประหยัด Cost เพิ่ม Speed และมีกลยุทธ์ในการขับเคลื่อน
หากองค์กรไทยไม่เร่งปรับตัว อาจตกจากตำแหน่งผู้นำในอุตสาหกรรม ส่วนองค์กรที่ยังไม่นำ AI มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ อาจถูกคู่แข่งที่พัฒนานำหน้าแซงหน้าไปในที่สุด