วานนี้ (17 สิงหาคม) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยตัวเลขที่ทุกฝ่ายกำลังจับตามอง ได้แก่ การขยายตัวเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/63 ซึ่งออกมาติดลบ 12.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุมาจากเศรษฐกิจโลกและไทยที่ชะลอตัว รวมถึงผลกระทบจากโควิด-19
แต่เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดมาหรือยัง?
ธปท. มองเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/63 หดตัวน้อยกว่าคาด เตรียมปรับเป้ากันยายน 2563
ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/63 หดตัวสูงที่ 12.2% เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน หรือเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหดตัว 9.7% เกิดจากการหดตัวสูงจากหลายด้าน มีเพียงการใช้จ่ายภาครัฐที่ยังพยุงเศรษฐกิจต่อไปได้ แต่ยังถือเป็นการหดตัวน้อยกว่าที่ ธปท. ประมาณการไว้ในเดือนมิถุนายน 2563
ทั้งนี้ ธปท. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2 และจะทยอยปรับตัวดีขึ้นในระยะข้างหน้า โดยเศรษฐกิจไทยต้องการแรงสนับสนุนด้านความต่อเนื่องของนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะการจ้างงานและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความไม่แน่นอนในหลายด้านซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เช่น สถานการณ์โควิด-19 ในไทยและต่างประเทศ การตอบโต้ระหว่างสหรัฐฯ-จีน มาตรการการเงินการคลังที่อาจออกมาเพิ่มเติม ฯลฯ โดยจะมีการประเมิน GDP ไทยอีกครั้งในรายงานนโยบายการเงินฉบับเดือนกันยายน 2563
สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดปรับลด GDP ไทย ปี 2563 หดตัว 8% จากก่อนหน้า 5%
ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/63 น่าจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หนักที่สุดไปแล้ว และคาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ เพราะปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศยังอ่อนกำลัง และปัจจัยภายนอกที่ยังมีความไม่แน่นอน
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัจจัยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่พึ่งพิงภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวจีน ทำให้ประเด็นนี้จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบในระยะกลาง เพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน
ดังนั้นทางธนาคารคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะหดตัวมากขึ้นอยู่ที่ 8% จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัว 5% เนื่องจากขาดปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจ และยังมีความกังวลด้านการเมืองในประเทศ ขณะเดียวกันยังไม่เห็นกลยุทธ์ของไทยในการพัฒนาหลังพ้นช่วงโควิด-19 ที่ชัดเจน
นอกจากนี้คาดว่าในปี 2563 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย อาจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากเหลือโอกาสให้ปรับลดได้จำกัด ส่วนปี 2564 ทางธนาคารปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะเติบโต 2% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 1.8% เพื่อสะท้อนฐานการเติบโตที่คาดว่าจะต่ำลงในปีนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ เศรษฐกิจไทยเสี่ยงสูง จับตาแพ็กเกจรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ 19 ส.ค. นี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าวว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/63 หดตัว 12.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือว่าน้อยกว่าที่ตลาดคาดคือหดตัว 13% ถึงหดตัว 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่พลิกกลับมาขยายตัวในไตรมาส 2/63 รวมถึงผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ โดยมองว่าจะเป็นไตรมาสที่หดตัวลึกสุดในปีนี้ และ GDP จะทยอยหดตัวน้อยลงในช่วงที่เหลือของปี
ทั้งนี้ปัจจัยที่ต้องจับตามองในระยะต่อไป ได้แก่
- แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น ทั้งความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่อาจรุนแรงขึ้น
- ประเด็นทางการเมืองในสหรัฐฯ ที่มีความไม่แน่นอนสูง
- สถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลกยังไม่สามารถควบคุมได้ รวมถึงความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีน
- ค่าเงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่าตามแนวโน้มการอ่อนค่าลงของดอลลาร์สหรัฐ จากความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เพิ่มมากขึ้น โดยเงินบาทที่แข็งค่าจะกดดันภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยต่อไปในระยะข้างหน้า
- ประเด็นทางการเมืองในประเทศยังคงมีความไม่แน่นอน
- มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่จะมีการแถลงข่าวในวันที่ 19 สิงหาคมนี้ คาดว่าจะมุ่งเน้นที่จะช่วยสนับสนุนการจ้างงาน และช่วยดูแลผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายเล็ก (Micro SMEs) เป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินในเบื้องต้นว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะหดตัวมากกว่าคาดการณ์ที่หดตัว 6%YoY
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์