×

ถกงบประมาณ 67 วันที่สอง เช้านี้สภามีมติ ‘เอกฉันท์’ ตัดงบกระทรวงดีอี 72 ล้านบาท

โดย THE STANDARD TEAM
21.03.2024
  • LOADING...

วันนี้ (21 มีนาคม) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มี พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภา คนที่ 2 เป็นประธานการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงินงบประมาณ 3.48 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 2 เรียงตามมาตรา ในการพิจารณามาตรา 16 ว่าด้วยงบกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปรับลด 72,083,500 บาท

 

ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล สส. เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล อภิปรายเจาะจงถึงการตัดงบประมาณของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งเป็นโครงการที่เกี่ยวกับยอดจัดซื้อเครื่อง Lidar PBL อุปกรณ์สำหรับวัดการยกตัวขึ้นลงของชั้นบรรยากาศเพื่อพยากรณ์ความหนาแน่นของฝุ่นได้ล่วงหน้า โดยมีการตั้งงบประมาณปี 2567 จำนวน 19 ล้านบาท และเป็นงบผูกพันในปี 2568 จำนวน 108 ล้านบาท รวมแล้วระบบนี้จะมีมูลค่า 127 ล้านบาท

 

ณัฐพลกล่าวอภิปรายต่อว่า เราทุกคนเล็งเห็นถึงปัญหาฝุ่น PM2.5 แต่ขอชี้แจงว่าเครื่อง Lidar PBL เป็นเครื่องที่ดี มีประโยชน์ ดูไม่แพง รวมถึงยังได้ตรวจพบความผิดปกติของงบประมาณในโครงการดังกล่าวด้วย พร้อมยกตัวอย่างใบเสนอราคาซื้อเครื่อง Lidar PBL จำนวน 2 เครื่อง ราคาเครื่องละ 18 ล้านบาท โดยที่กรมอุตุนิยมวิทยาก็ไม่ทราบว่าประเทศไทยเคยมีเครื่องดังกล่าวนี้แล้ว และซื้อมาในราคาเพียง 5 ล้านบาทเท่านั้น

 

นอกจากนี้ที่บริษัทซัพพลายเออร์เสนอค่าซ่อม 2 ล้านบาท แต่เครื่องนี้ถูกทิ้งไว้เฉยๆ มากไปกว่านั้น ปัจจุบันก็มีนักวิทยาศาสตร์ไทยผลิตเครื่องนี้ได้เอง โดยมีมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาทเท่านั้น

 

ขณะที่ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายเสนอตัดงบศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมทั้งโครงการ จำนวน 69 ล้านบาททิ้ง โดยเฉพาะศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมในเดือนกันยายน 2566 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐมนตรีคนใหม่เข้าดำรงตำแหน่ง ต้องคัดกรองข้อความราว 5.4 ล้านข้อความ รวมกับข้อร้องเรียนที่ประชาชนส่งมาทาง LINE Official เกือบ 10,000 ข้อความ พบข้อความที่เข้าเกณฑ์การตรวจสอบ 539 เรื่อง ซึ่งจะถูกส่งไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง สุดท้ายได้รับการตรวจสอบจากหน่วยงาน 356 เรื่อง และมีเรื่องที่สามารถเผยแพร่ได้เพียง 235 เรื่อง

 

ปกรณ์วุฒิชี้ว่า เหตุใดศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเลือกตรวจสอบข่าวจากหน่วยงานราชการเท่านั้น ทั้งนี้ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมยังแบ่งกลุ่มข่าวที่ไม่สามารถเผยแพร่ได้ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

 

  1. หน่วยงานไม่สามารถชี้แจงได้
  2. หน่วยงานปฏิเสธการตอบกลับ
  3. หน่วยงานไม่ประสงค์เผยแพร่

 

ปกรณ์วุฒิเห็นว่าศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมไม่มีความเป็นกลาง รวมถึงไม่มีความเป็นอิสระ และเป็นเพียงเครื่องมือของรัฐในการผูกขาดความจริงแบบที่รัฐอยากให้ประชาชนรู้ และปกปิดความจริงที่รัฐไม่อยากให้ประชาชนเห็นเท่านั้น โครงการเช่นนี้ไม่ควรได้รับงบประมาณจากภาษีประชาชนแม้แต่บาทเดียว

 

แจงตัดงบกระทรวงดีอี 72 ล้านบาท

 

สรวุฒิ เนื่องจำนงค์ สส. ชลบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะกรรมาธิการ กล่าวชี้แจงถึงงบประมาณกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมว่า มีการตัดลดงบประมาณของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแทบทุกหน่วยรับงบประมาณ เนื่องจากไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันได้ทันปี 2567 รวมถึงมีเป้าหมายและประสิทธิภาพของงบประมาณไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ได้รับหลักการไว้ในวาระที่ 1 สภาผู้แทนราษฎร

 

สรวุฒิกล่าวยอมรับว่าปัญหาทางดิจิทัลของประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน และยังมีปัญหาอีกมาก ซึ่งคณะกรรมาธิการได้เล็งเห็นถึงสิ่งที่สมาชิกตั้งข้อสังเกตเรื่องความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน ต้องยอมรับว่าด้วยสายตาก็ยังไม่ค่อยพร้อม ยังมีความคลาดเคลื่อนทั้งการวัดผลสัมฤทธิ์ของงาน เพราะจะวัดจากกิจกรรมที่ดำเนินการ แต่ไม่ได้วัดผลจากประสิทธิภาพต่อประชาชนเป็นวงกว้าง

 

สรวุฒิยังกล่าวถึงปัญหาของการหลอกลวงในออนไลน์ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนเคยเป็นเหยื่อ แต่ปัญหาดังกล่าวนี้ไม่ได้สร้างปัญหาแก่รัฐบาลไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาระดับโลก ยอมรับว่าการยิงโฆษณาของเฟซบุ๊กมีประสิทธิภาพมาก ส่วนนี้เกินอำนาจขอบเขตที่รัฐบาลไทยจะทำได้ สะท้อนว่าระบบทุนนิยมที่ครอบงำไปทั่วโลกสามารถเอาชนะสิ่งที่เป็นศีลธรรมอันดีว่าบริษัทไม่ควรแสวงหากำไรจากสิ่งเหล่านี้

 

“เป็นสิ่งที่พวกเราในฐานะ สส. ต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อความเป็นธรรมต่อประชาชนทั่วประเทศ และทางกรรมาธิการได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว ขอให้มีการคงไว้ในการลดงบประมาณของกระทรวงดีเอส” สรวุฒิกล่าว

 

ทั้งนี้ ภายหลังการอภิปรายของสมาชิก ที่ประชุมได้ลงมติให้ความเห็นชอบกับการแก้ไขของคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก 

 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising