ช่วงเวลานี้คงไม่มีหุ้นใดที่ร้อนแรงไปกว่า หุ้น IPO (หุ้นที่เสนอขายให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก) ของ บมจ.เงินติดล้อ (TIDLOR) ที่ล่าสุดแม้จะยังไม่ปิดการรับจองซื้อหุ้น เพราะจะเปิดให้จองซื้อได้ไปจนถึงวันที่ 26 เมษายน 2564 เวลา 16.00 น. แต่ยอดจองซื้อจากผู้ลงทุนรายย่อย ณ เวลานี้เข้ามาเกินกว่า 46,500 ราย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นั่นหมายความว่า ทุกคนที่จองซื้อหุ้น TIDLOR จะได้รับการจัดสรรหุ้นเพียงคนละ 1,000 หุ้นเท่านั้น และบางคนที่จองซื้ออาจจะ ‘ไม่ได้หุ้น’ ก็เป็นได้ เพราะทางบริษัทจัดสรรหุ้นให้กับนักลงทุนรายย่อยไว้จำนวน 46.5 ล้านหุ้น โดยใช้วิธีการจัดสรรแบบ Small Lot First หรือผู้ที่จองซื้อจำนวนน้อยจะได้สิทธิ์ก่อน โดยกำหนดการจองซื้อขั้นต่ำไว้ที่ 1,000 หุ้นต่อราย และในกรณีที่มียอดจองซื้อเกินกว่าจำนวนหุ้นที่จัดสรร ทาง TIDLOR จะใช้วิธีการสุ่มจัดสรรให้ผู้จองซื้อรายละ 1,000 หุ้น
สาเหตุที่มีผู้ลงทุนรายย่อยจองซื้อหุ้น TIDLOR เข้ามาจำนวนมาก นอกจากเป็นเพราะเชื่อว่าธุรกิจของ TIDLOR มีแนวโน้มการเติบโตสูงแล้ว อีกส่วนยังเป็นผลจากการจัดสรรหุ้นแบบ Small Lot First ทำให้ผู้ลงทุนรายย่อยที่ปกติมักไม่ได้หุ้น IPO เนื่องจากหุ้นเหล่านี้ส่วนใหญ่จะถูกจัดสรรให้กับผู้ลงทุนรายใหญ่ก่อน ดังนั้น การจัดสรรหุ้นด้วยวิธี Small Lot First ที่เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนรายย่อยได้สิทธิ์ในการเป็นเจ้าของหุ้นก่อน จึงทำให้หุ้น TIDLOR ได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนอย่างคับคั่ง
แน่นอนว่า TIDLOR แม้จะเป็นบริษัทที่มีศักยภาพสูง มีแนวโน้มการเติบโตดี และการจัดสรรหุ้นแบบ Small Lot First จึงเป็นโอกาสของผู้ลงทุนรายย่อย แต่ในทุกโอกาสย่อมมาพร้อมความเสี่ยง ทีมข่าว THE STANDARD WEALTH ขอพาไปดู ‘24 ความเสี่ยง’ เกี่ยวกับธุรกิจและอุตสาหกรรมของ TIDLOR กัน
1. การระบาดของโรคโควิด-19 ก่อให้เกิดและยังคงทำให้มีอยู่ซึ่งอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจและฐานะทางการเงินของบริษัท
2. บริษัทอาจไม่สามารถรักษาคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อของบริษัท และอาจไม่สามารถประเมินความน่าเชื่อถือทางเครดิตของผู้กู้ และความเพียงพอของนโยบายการบริหารความเสี่ยง ขั้นตอนการดำเนินงาน และความเชี่ยวชาญของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. บริษัทประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง และอาจไม่สามารถขยายหรือรักษาความสามารถในการทำกำไรของบริษัทไว้ได้ เนื่องจากแรงกดดันจากการแข่งขัน
4. บริษัทอาจไม่ประสบความสำเร็จในการรักษาหรือส่งเสริมแบรนด์และชื่อเสียงของบริษัท และความพยายามในการแสวงหาลูกค้าของบริษัทอาจได้รับผลกระทบในทางลบ จากการที่แบรนด์หรือชื่อเสียงของบริษัทได้รับความเสียหาย
5. บริษัทอาจไม่ประสบความสำเร็จในการขยายขอบเขตผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัท
6. ผลิตภัณฑ์สินเชื่อของบริษัทอยู่ภายใต้การควบคุมเรื่องอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สามารถเรียกเก็บได้ตามกฎหมาย ซึ่งจำกัดอัตราดอกเบี้ยที่บริษัทสามารถเรียกเก็บได้จากลูกค้า
7. ธุรกิจของบริษัท และกฎหมายการกำกับดูแลธุรกิจของบริษัทในประเทศไทยมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และปัจจุบันนี้บริษัทเกี่ยวข้องกับ และในอนาคตอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการพิจารณาทางกฎหมายที่สำคัญที่เกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติธุรกิจของบริษัท
8. บริษัทพึ่งพาสาขาเพื่อใช้เป็นช่องทางหลักในการเสนอผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทให้แก่ลูกค้า
9. บริษัทอาจไม่สามารถรักษาหรือเพิ่มปริมาณรวมของสินเชื่อที่บริษัทให้กู้ยืม
10. บริษัทอาจไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยีที่ใช้ในอุตสาหกรรมและตลาดของบริษัท
11. บริษัทต้องใช้เงินทุนจำนวนมากในการดำเนินธุรกิจและดำรงการเติบโตของธุรกิจ
12. บริษัทมีสถานะเป็นนิติบุคคลต่างด้าวประกอบธุรกิจในประเทศไทยในอุตสาหกรรมที่มีการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด ซึ่งทำให้บริษัทมีความเสี่ยงด้านกฎเกณฑ์การกำกับดูแล
13. บริษัทอาจไม่สามารถติดตามทวงถามหนี้สินเชื่อค้างชำระ หรืออาจไม่สามารถติดตามเรียกทรัพย์สินเพื่อการรับชำระหนี้ได้ ในกรณีที่ลูกค้าผิดนัดชำระหนี้ หรืออาจไม่สามารถจำหน่ายทรัพย์สินเพื่อการรับชำระหนี้ได้ หรืออาจไม่ได้รับเงินเพียงพอกับภาระหนี้คงค้าง
14. การเปลี่ยนแปลงในนโยบายทางบัญชีหรือมาตรฐานทางบัญชีที่ใช้บังคับกับบริษัท อาจส่งผลกระทบในทางลบต่อผลการดำเนินงานและฐานะทางการเงินของบริษัท
15. ความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยตลาด อาจส่งผลทำให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทลดลง
16. บริษัทอาจมีข่าวในทางลบซึ่งอาจกระทบต่อชื่อเสียงของบริษัท หรืออาจต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาทางกฎหมายได้
17. บริษัทมีความเสี่ยงด้านกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฉบับใหม่ของไทย
18. บริษัทอาจไม่สามารถตรวจพบกรณีทุจริต โดยในฐานะที่บริษัทเป็นผู้ประกอบธุรกิจให้กู้ยืมเงิน ย่อมตกเป็นเป้าหมายของการทุจริต ระบบตรวจคัดกรองของบริษัทอาจไม่สามารถตรวจพบกิจกรรมทุจริตหรือการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งหมดได้
19. บริษัทมีการพึ่งพิงบุคลากร และอาจไม่สามารถจ้างและรักษาบุคลากรดังกล่าวไว้ได้ โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูง
20. บริษัทอาจไม่สามารถตรวจพบข้อผิดพลาดหรือแก้ไขปัญหาการหยุดชะงักอย่างมีนัยสำคัญของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของบริษัท
21. บริษัทอาจไม่สามารถป้องกันการละเมิดการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัท และอาจถูกโต้แย้งสิทธิ์ในการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของบริษัทได้
22, อันดับความน่าเชื่อถือทางเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดลง ซึ่งปัจจุบันได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ A- โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด หากมีการปรับลดอันดับเครดิตในอนาคต อาจมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความสามารถในการเข้าถึงเงินทุนในตลาดตราสารหนี้ และต่อค่าใช้จ่ายในการจัดหาเงินทุน โดยอันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดลงเมื่อธุรกิจของบริษัทถดถอยลง รวมถึงเนื่องจากปัจจัยอื่นที่อยู่นอกเหนือความควบคุมของบริษัท
23. ความร่วมมือของบริษัทกับบุคคลภายนอกเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การดำเนินธุรกิจของบริษัท และการดำเนินการของแพลตฟอร์มเป็นไปอย่างราบรื่น
24. ภายหลังจากการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ ผู้ถือหุ้นเดิมบางรายจะยังมีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญต่อบริษัท การบริหารจัดการ และการดำเนินงานของบริษัท และผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นที่มีอิทธิพลอาจขัดแย้งกับผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายอื่นของบริษัท
ทั้งหมดนี้เป็น ‘ความเสี่ยง’ ที่ถูกเขียนไว้ในหนังสือชี้ชวน ผู้ลงทุนที่สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://market.sec.or.th/public/ipos/IPOSEQ01.aspx?TransID=319381
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล