×

24 ชั่วโมงของชีวิตในเทศกาลหนัง

18.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • เปิดตารางเวลาชีวิตของชาวเทศกาลว่าวันหนึ่งเขาทำไรกันบ้าง
  • จริงๆ แล้วสิ่งที่คนมักจะลืมไปเกี่ยวกับเทศกาลหนังคือตัวเทศกาลชอบจัดสัมมนาหรือเวิร์กช็อปที่น่าสนใจอยู่ตลอด บางครั้งเทศกาลมีหนังจากผู้กำกับใหญ่ๆ บางคนฉาย และพวกเขาก็เดินทางมาร่วมเทศกาลด้วย เทศกาลก็จะจัดทอล์กให้คนทั่วไปได้เข้าฟัง
  • รอบไหนที่มีประชาชนในเมืองนั้นมาดูเยอะ ช่วง Q&A จะสนุกมาก เพราะคำถามจากคนดูทั่วๆ ไปจะค่อนข้างแรนดอม และหลายๆ ครั้งเป็นคำถามน่าสนใจที่ไม่ถูกถามจากคอหนังหรือนักวิจารณ์
  • ทุกเทศกาลช่วงดึกๆ นั้นจะมีปาร์ตี้จัดขึ้นตามจุดต่างๆ มากมาย ทั้งปาร์ตี้จากเทศกาลเอง หรือบางทีก็เป็นปาร์ตี้ที่จัดโดยประเทศต่างๆ

เทศกาลหนังยังคงเป็นดินแดนที่คนทำหนังรุ่นใหม่ใฝ่ฝันอยากจะไปเยือนสักครั้ง หรือกระทั่งคนดูหนังก็อยากจะดูหนังที่เทศกาลเหล่านั้นสักที แต่แน่นอนว่าไม่มีใครจินตนาการออกว่าการมาเทศกาลหนังมันเป็นอย่างไรจนกว่าจะได้มาเอง เราอาจจะเคยเห็นภาพของการเดินพรมแดงต่างๆ หรือผู้กำกับถ่ายรูปตัวเองกับรอบฉายต่างๆ ที่นั่น แต่เราอาจจะไม่รู้จริงๆ ว่าวันหนึ่งคนเหล่านี้เขาไปทำอะไรกันบ้าง

 

ในฐานะที่ไปๆ มาๆ เทศกาลหนังอยู่ 5-6 ปีแล้ว เราก็พอเริ่มจับแพตเทิร์นของการมาเทศกาลหนังหรือพฤติกรรมของชาวเทศกาลหนังได้ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้เป็นกลุ่มคนที่ใช้เวลาชีวิตคุ้มค่ามากๆ เรียกได้ว่า 24 ชั่วโมงมีเท่าไรก็ใช้หมด วันนี้จึงจะมาขอเปิดตารางเวลาชีวิตของชาวเทศกาลว่าวันหนึ่งเขาทำไรกันบ้างโดยคร่าวๆ ให้พอเห็นภาพ

 

6.00 น. เวลานี้ส่วนใหญ่ยังไม่ตื่นกัน อ่านไปถึงตอนท้ายจะรู้ว่าทำไม

 

7.00 น. คนตื่นเวลานี้ไม่ได้จะลุกขึ้นมาออกกำลังกาย แต่ส่วนใหญ่คือเจ็ตแล็ก หรือเรียกได้ว่ายังไม่ได้นอนตั้งแต่เมื่อคืน

 

นวพลเพิ่งตื่นที่โรงแรม / เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน 2014

 

8.00 น. หลายคนตื่นตอนนี้เพื่อรีบมาจองตั๋วหนังฟรีประจำวันนั้น คือในหลายๆ เทศกาล ผู้กำกับหรือนักวิจารณ์ที่ได้มาเข้าร่วมงานนั้นจะได้บัตรดูหนังฟรี แต่กฎการจองตั๋วหนังฟรีคือเราจะทำได้แค่ 1 วันล่วงหน้าก่อนฉายจริง จะจองเผื่อล่วงหน้าหลายๆ วันไม่ได้ ดังนั้นแต่ละวันก็ต้องมาตบตีแย่งชิงตั๋วหนังกันตั้งแต่เช้า และการตบตีนั้นไม่ได้ทำกันขำๆ

 

ในหลายๆ เทศกาล คนมายืนต่อแถวเพื่อชิงตั๋วหนังกันท่ามกลางอากาศหนาวของ 8 โมงเช้า โดยเฉพาะวันไหนที่กำลังจะมีหนังดังมากๆ เข้าฉาย ทุกคนก็ยินยอมจะเสียสละเพื่อตั๋วฟรี (แต่บางครั้งทนไม่ไหวจนยอมจ่ายเงินซื้อไปเลยก็มี ไม่รอฟรีแล้ว)

 

9.00 น. อีกหลายส่วนเพิ่งมาตื่นเวลานี้ เพราะกำลังจะหมดเวลาอาหารเช้าโรงแรม ต้องรีบตื่นลงมากินข้าวฟรี การกินอยู่อย่างประหยัดนั้นเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญสำหรับชาวเทศกาล อะไรกินฟรีก็ต้องรีบมากิน อะไรประหยัดได้ก็ประหยัดไว้ โดยเฉพาะคนทำหนังหรือนักดูหนังรุ่นเด็กๆ คือเป็นกลุ่มคนที่ยังไม่มีรายได้มากมาย และการมาเทศกาลหนังต่างประเทศรอบหนึ่งนั้น บางทีค่าตั๋วเครื่องบินหรือค่าที่พักก็เอาเงินพวกเขาไปหมดเรียบร้อยแล้ว การกินและอยู่อย่างมัธยัสถ์จึงเริ่มและรีบจนกว่าของจะหมด

 

10.00 น. หนังรอบแรกมักเริ่มต้นขึ้นในช่วงเวลานี้ ในช่วงแรกๆ ของการเอาหนังไปฉายเทศกาลนั้น บางครั้งหนังของเราอาจจะได้ฉายรอบ 10 โมงเช้า ซึ่งก็จะเกิดความน้อยอกน้อยใจว่า ใช่สิ หนังผมมันหนังเล็ก เลยกระเด็นมาอยู่ช่วงนี้ รอบ 10 โมงเช้านี้เป็นรอบลูกเมียน้อยชัดๆ แต่แท้จริงแล้วเวลา 10 โมงเช้าของเทศกาลหนังนั้นก็เป็นเวลาที่คนเยอะเท่าๆ กับเวลาอื่นๆ ว่าง่ายๆ คือคนดูหนังเทศกาลเหล่านี้ดูกันทั้งวันจริงๆ นี่อาจจะเป็นข้อดีของการได้มาฉายหนังในเทศกาล คือคุณจะเจอคนดูที่ไม่ว่าเช้าแค่ไหนเขาก็จะมาดูหนังคุณ หากหนังคุณน่าสนใจพอสำหรับเขาจริงๆ

 

สภาพห้องพักของพวงสร้อย อักษรสว่าง / เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน 2018

 

11.00 น. สำหรับคนที่มาเทศกาล แต่ไม่ได้มาในฐานะผู้กำกับหรือมาเพื่อดูหนัง หลายๆ ครั้งพวกเขาจะเป็นโปรดิวเซอร์หนังที่มาหาเงินทุนหรือหาเน็ตเวิร์กต่างๆ ในอนาคต ถามว่ายุคนี้มีอีเมล มีสไกป์ มีเฟซไทม์แล้ว ทำไมเราต้องมาเทศกาลหนังอีก ง่ายๆ คือเทศกาลหนังจะรวมฮิตคนวงการนี้เกือบทั่วโลกมาไว้ในที่เดียว (โดยเฉพาะเทศกาลใหญ่) คือมาทีเดียวได้เจอหน้าครบทุกคน และอาจจะนัดคุยหรือนัดเจอได้ง่ายกว่า เดินๆ อยู่อาจจะสวนกันแถวร้านขายข้าว หรือบางครั้งเทศกาลก็มีโปรแกรมเปิดบูทให้โปรดิวเซอร์มาพิตชิงโปรเจกต์ไปเลย เหมือนเปิดหน้าร้านให้ได้เจอผู้ลงทุน จึงเป็นโอกาสดีในการนัดคุยงานต่างๆ

 

บางคนมาเทศกาลหนังก็ไม่ได้ดูหนังเลย เพราะต้องไปนั่งคุยงานหาเงินสร้างหนังทั้งวัน หรือหลายๆ คนก็ต้องไปทำความรู้จักคนใหม่ๆ โปรแกรมเมอร์เทศกาลต่างๆ เผื่อเขาอยากเอาหนังเราไปฉายตามเทศกาลต่างๆ ด้วยเช่นกัน ว่าง่ายๆ นี่คือแพลตฟอร์มทางธุรกิจแบบหนึ่ง หรือจะเรียกว่าตลาดหนังก็ไม่ผิดนัก

 

เป็นเอก รัตนเรือง ในสมัยที่เอา Samui Song มาทำการพิตชิง / เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน 2014

 

12.00 น. คนดูหนังเทศกาลบางทีก็ไม่ค่อยกินข้าวให้เรียบร้อย เพราะบางคนวางโปรแกรมดูหนัง 4 เรื่องต่อวัน พวกเขาจะซื้อกาแฟแก้วเล็กๆ กินระหว่างเดินทางจากโรงหนังหนึ่งไปยังอีกโรงหนึ่ง หรือบางทีก็ซื้อขนมปังเล็กๆ ที่เดินไปกินไปได้ คือรีบมาก เดี๋ยวดูเรื่องต่อไปไม่ทัน เคยเห็นมานั่งกินข้าวกล่องหน้าโรงก็มีมาแล้ว

 

13.00 น. สำหรับคนที่ไม่ดูหนัง หลายๆ ครั้งการไปเทศกาลจะเป็นโอกาสดีในการท่องเที่ยวพักผ่อน หลายๆ ท่านไม่ดูหนัง แต่ไปเดินทางเยี่ยมชมเมืองแทน อันนี้ก็แล้วแต่ว่าเมืองที่จัดเทศกาลหนังนั้นน่าสนใจหรือไม่ บางเทศกาลจัดในเมืองใหญ่ เช่น เบอร์ลิน โตเกียว หรือเวนิส อันนี้ก็สบายเลย มีที่ให้เที่ยวแบบกระหน่ำ แต่บางทีเทศกาลใหญ่จัดที่เมืองเล็ก เช่น ปูซาน ก็จะไม่มีอะไรนอกจากชายหาด หลายๆ ครั้งก็กลับมาดูหนังดีกว่า เพราะไม่มีอะไรจะเที่ยว

 

อนุชา บุญยวรรธนะ ผู้กำกับ มะลิลา กำลังปีนต้นไม้ยามออกไปเที่ยวเล่นนอกเมืองคานส์ / เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ 2017

 

14.00 น. ช่วงเวลาแห่งความหนืดของชาวดูหนังฮาร์ดคอร์ หลายคนชอบหลับคาโรงในช่วงบ่ายๆ อาจจะเป็นเพราะเมื่อเช้าดูหนังรอบ 10 โมงเช้าแล้วก็มาต่อหนังรอบบ่ายเลย ทำให้เกิดความอ่อนล้า และอย่างที่รู้กันว่าหนังในเทศกาลหนังนั้นเรียกร้องพลังงานความคิดจากคนดูขนาดไหน หรือบางทีก็มาในจังหวะเชื่องช้าจนต้องตั้งสติขณะดู

 

เคยคุยกับหลายๆ คนว่านี่มันต้องดูหลายเรื่องต่อวันขนาดนี้เลยเหรอ ชาวดูหนังฮาร์ดคอร์ก็กล่าวว่าบางทีเราตั้งใจบินมาดูหนังที่เทศกาลโดยเฉพาะ คือเสียเงินจองตั๋วกับที่พักมาแล้วก็ต้องเอาให้คุ้ม จะมาดูแค่ 1-2 เรื่องต่อวันนั้นไม่ได้ ต้อง 3-4 เรื่องต่อวันไปเลย คิดเล่นๆ คงเหมือนไปเทศกาลดนตรี คือมาแล้วก็ดูมันทุกเวทีและทุกวงนี่แหละ เผื่อจะเจอวงใหม่ๆ ที่เราชอบก็ได้ คล้ายการตามหาเนื้อคู่มาก

 

พวงสร้อย อักษรสว่าง ผู้กำกับ นคร-สวรรค์ กำลัง Q&A / เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน 2018

 

15.00 น. ช่วงบ่ายเย็นหลายๆ ครั้งจะเป็นเวลาที่ผู้กำกับจะโดนนัดสัมภาษณ์กับสื่อต่างๆ ส่วนใหญ่เขาก็จะจัดเวลาให้ทุกสื่อที่ติดต่อสัมภาษณ์มาในเวลาเดียวกันไปเลย โดยมักจะเกิดที่ Press Office ของเทศกาล

 

การสัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศนั้นมีความยากง่ายต่างกัน หลายๆ ครั้งก็เหมือนคลาสสอบ Listening แบบนานาชาติมาก เพราะสื่อแต่ละเจ้าก็มาจากประเทศที่ต่างกัน คุณจะได้เจอสำเนียงต่างๆ ตั้งแต่อเมริกัน อังกฤษ ยุโรป หรือเอเชีย ซึ่งนี่ก็เป็นอีกสาเหตุเช่นกันว่าทำไมผู้กำกับหนังที่มีหนังฉายในเทศกาล บางครั้งก็ไม่ค่อยมีโอกาสได้ดูหนังเท่าไร เพราะบางครั้งตารางก็แน่นเสียจนเหมือนมาทำงานเหมือนกัน บางทีสัมภาษณ์ทั้งวันก็หมดเวลาแล้ว

 

16.00 น. เริ่มต้นการดูหนังเรื่องที่ 3 ของวันของบรรดาชาวดูหนังฮาร์ดคอร์ หลายๆ คนอาจจะเริ่มชิ่งหนีหรือทิ้งตั๋วก็มีบ้าง แต่นั่นก็จะเป็นโอกาสของคนดูหนังท่านอื่นๆ โดยเฉพาะบรรดาผู้มีบัตรดูหนังฟรี แต่จองตั๋วไม่ทัน หลายๆ เทศกาลจะมี Waiting Line ไว้เผื่อโรงไม่เต็มเนื่องจากมีคนชิ่งหนีหรือทิ้งบัตร แก๊งนักรอคอยเหล่านี้ก็จะได้เข้าโรงไปแทนที่ ถือเป็นผลบุญแห่งความอุตสาหะและความพยายาม

 

บรรดาคนต่อคิว Waiting Line เผื่อได้เข้าไปดูหนัง / เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน 2018

 

17.00 น. จริงๆ แล้วสิ่งที่คนมักจะลืมไปเกี่ยวกับเทศกาลหนังคือตัวเทศกาลมักจัดสัมมนาหรือเวิร์กช็อปที่น่าสนใจอยู่ตลอด บางครั้งเทศกาลมีหนังจากผู้กำกับใหญ่ๆ บางคนฉาย และพวกเขาก็เดินทางมาร่วมเทศกาลด้วย เทศกาลก็จะจัดทอล์กให้คนทั่วไปได้เข้าฟัง ส่วนตัวผมสนใจไปฟังงานแบบนี้มากกว่า เพราะเป็นโอกาสที่จะได้ความรู้ใหม่ๆ และได้เจอผู้กำกับตัวจริง เรียกได้ว่าเป็นการบ้าดาราเชิงวิชาการ

 

18.00 น. ช่วงเย็นเวลาดี หลายๆ ครั้งก็จะมีงานรอบพรีเมียร์เปิดตัวหนังต่างๆ หรือถ้าเรามาวันเปิดเทศกาลหรือพวกงานพรมแดงก็จะมีช่วงนี้ หลังๆ การไปยืนบ้าดาราตามเทศกาลนี่มันสนุกมากนะครับ เพราะนี่คือโอกาสเดียวที่เราจะได้เห็นดาราฮอลลีวูดตัวเป็นๆ แบบใกล้มากๆ ถ้าคุณไปเมืองคานส์อาจจะยากหน่อยในการเข้าประชิดพรมแดง แต่ถ้าเทศกาลอื่นๆ นั้นบางทีก็เข้าไปได้ง่ายๆ เลย โมเมนต์ที่สนุกที่สุดคือเราไม่รู้ว่าใครจะมาพรมแดงบ้าง ก็ต้องรอลุ้นว่าที่ยืนมุงๆ กันเกือบชั่วโมงเนี่ย เราจะได้เห็นใครออกมาเดิน บางทีก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร หรือบางทีก็ได้เจอสตีเวน สปีลเบิร์ก

 

นวพล พบ เวส แอนเดอร์สัน กำลังเดินพรมแดง / เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน 2018

 

19.00 น. เวลาดีในการฉายหนังที่สุด จะดีใจมากหากหนังตัวเองได้ฉายรอบแถวๆ นี้ คงคล้ายๆ ว่าเป็นไพร์มไทม์ของคนดูหนัง เพราะบางทีเราก็หวังใจให้คนทั่วไปในเมืองนั้นๆ มาดูหนังด้วย ไม่ใช่แค่ชาวเทศกาลหนังอย่างเดียว รอบไหนที่มีประชาชนในเมืองนั้นมาดูเยอะ ช่วง Q&A จะสนุกมาก เพราะคำถามจากคนดูทั่วๆ ไปจะค่อนข้างแรนดอม และหลายๆ ครั้งเป็นคำถามน่าสนใจที่ไม่ถูกถามจากคอหนังหรือนักวิจารณ์

 

20.00 น. เริ่มต้นการดูหนังเรื่องที่ 4 ของวันของบรรดาชาวดูหนังฮาร์ดคอร์ เคยถามเหมือนกันว่า ถามจริง นี่ดูไหวใช่ไหม 555 มันเหมือนกินบุฟเฟต์ทั้งวันเหมือนกันนะ หลายคนบอกว่าขึ้นอยู่กับวัย เพราะบางคนทำอย่างนี้ได้สบายในช่วงวัยหนุ่ม แต่พอแก่มาหน่อยก็จะเริ่มไม่ค่อยไหวแล้ว บางทีดูเยอะเกินแล้วจำอะไรไม่ค่อยได้ก็มี  

 

นวพลกินข้าวช่วงเย็นกับเซลเอเจนต์หนังเรื่อง Die Tomorrow / เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน 2018

 

คนต่อแถวดูหนังตอน 4 ทุ่ม หางแถวยาวพันเกี่ยวเลี้ยวลด / เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ 2017

 

21.00-5.00 น. ช่วงเวลาแห่งปาร์ตี้ ทุกเทศกาลช่วงดึกๆ นั้นจะมีปาร์ตี้จัดขึ้นตามจุดต่างๆ มากมาย ทั้งปาร์ตี้จากเทศกาลเอง หรือบางทีก็เป็นปาร์ตี้ที่จัดโดยประเทศต่างๆ เช่น ปาร์ตี้ไต้หวัน ก็จะรวมชาวไต้หวันที่มาเทศกาลไว้หมด ซึ่งคนอื่นๆ ในเทศกาลที่ไม่ใช่คนไต้หวันก็ไปเข้าร่วมได้เช่นกัน นอกจากจะเป็นการสร้างเน็ตเวิร์กแล้ว หลายๆ ท่านก็หวังผลในการไปกินฟรีด้วย เพราะปาร์ตี้มักจะมีอาหารฟรี เบียร์ฟรี บางครั้งหลายปาร์ตี้จัดพร้อมกันก็จะมีการเดินทางจากปาร์ตี้หนึ่งไปสู่อีกปาร์ตี้หนึ่งคล้ายการฮอปปิ้ง สิ่งเหล่านี้ก็จะดำเนินไปทั้งคืนจนเข้าสู่วันใหม่ ตี 1 ตี 2 และสำหรับชาวปาร์ตี้หนัก การเข้าสู่เช้าวันใหม่ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา นั่นคือสาเหตุที่ 6.00 น. จะยังไม่มีใครตื่นที่เทศกาลหนัง

 

อันที่จริงชีวิตในเทศกาลของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกันเลย ก็แล้วแต่ไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน แต่โดยรวมแล้วนี่คือไทม์ไลน์ที่เทศกาลเตรียมไว้ให้พวกเราชาวผู้กำกับหรือคนดูหนังได้ดีไซน์การใช้ชีวิตกันเองในช่วงเวลาที่ภาพยนตร์เป็นใหญ่ที่สุดในสัปดาห์นั้น หากใครนึกไม่ออกว่าปกติพวกมันไปทำอะไรกัน ทั้งหมดนี้คือคร่าวๆ ที่จะทำให้คุณคิดออกมากขึ้น เผื่อรอบหน้าคุณอยากลองไปเอง ไม่ว่าจะในฐานะคนดูหรือคนทำก็ตาม

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising