×

2025 เราจะเผชิญอะไรกับปัญหาโลกร้อน

25.12.2024
  • LOADING...
โลกร้อน 2025

น้อยคนที่จะทราบว่าสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยน้อยกว่า 1% ของทั้งโลก แต่ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็น 1 ใน 10 ประเทศ ที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

ปี 2023 ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลกเรียงตามลำดับ คือ จีน, สหรัฐอเมริกา, อินเดีย, สหภาพยุโรป 27 ประเทศ, รัสเซีย และบราซิล ที่มีจำนวนประชากรรวมกันครึ่งหนึ่งของทั้งโลก เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยคิดเป็น 68% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก

 

ในขณะที่ทั่วโลกต่างตื่นตระหนกกับปัญหาโลกร้อน และเรียกร้องให้ชาติต่างๆ ลดการปล่อยก๊าซเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง แต่ในปี 2023 จีน, อินเดีย, รัสเซีย และบราซิล ยังเพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไป เมื่อเทียบกับปี 2022

 

ประเทศกำลังพัฒนาต้องแบกรับผลกระทบจากสภาพอากาศที่เลวร้ายและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นในช่วง 2 ศตวรรษที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่ประเทศเหล่านี้มีส่วนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกสะสมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น 

 

Nature Climate Change หน่วยงานหลักที่ดูแลด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เปิดเผยงานวิชาการที่เก็บข้อมูลมานานว่า ในปี 2023 โลกมีอุณหภูมิร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียส สูงกว่าค่าเฉลี่ยอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (ปี 1850-1900) เป็นครั้งแรกไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งๆ ที่ทั่วโลกพยายามจำกัดอุณหภูมิไม่ให้ร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

 

ในปี 2015 ประชาคมโลก 197 ประเทศให้คำมั่นไว้ในความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่จะจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้พุ่งเกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ตัวเลข 1.5 องศาเซลเซียสถือเป็น ‘จุดเปลี่ยนสำคัญ’ คือหากอุณหภูมิสูงไปกว่านี้ โอกาสที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ จะยากขึ้นมาก หรืออาจสายไปเสียแล้ว

 

อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ถือเป็นสัญญาณเตือนภัยครั้งร้ายแรงที่สุดถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศครั้งสำคัญ และหายนะของคนทั้งโลก

 

ฤดูร้อนปี 2024 อุณหภูมิทั่วโลกสูงแตะ 1.5 องศาเซลเซียสเป็นครั้งแรก คนไทยต้องเผชิญกับปัญหาหมอกควันพิษที่นับวันจะเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับที่ต้องเผชิญกับอากาศร้อนจัดมาตลอด ทุกพื้นที่ของประเทศไทยจะมีอุณหภูมิสูงสุดทำลายสถิติเท่าที่เคยมีมา อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 44.6-44.9 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จังหวัดลำปาง แม่ฮ่องสอน และตาก เพราะเป็นพื้นที่ราบสูง และไม่มีป่าปกคลุม อันเกิดจากการถูกทำลายไปจำนวนมาก

 

ความร้อนจัดทำให้น้ำทะเลอ่าวไทยและอันดามันมีอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยสูงเกิน 30 องศาเซลเซียสขึ้นไป หญ้าทะเลไทยตายกว่า 10,000 ไร่ ปะการังฟอกขาวเสียหายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเผยข้อมูลในปี 2024 ว่า ปะการังมีอัตราการฟอกขาวประมาณ 60-80% จากภาวะโลกร้อนและสภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลให้อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นจนปะการังเครียดและถูกทำลายจนเป็นหินปูนสีขาว และใช้เวลาอีกหลายปีกว่าปะการังจะกลับคืนมาได้

 

ปะการังเป็นแหล่งอนุบาลและที่อยู่อาศัยสำคัญของสัตว์น้ำทุกชนิด เมื่อบ้านหายไป ปริมาณสัตว์น้ำที่เป็นอาหารโปรตีนหลักของมนุษย์ทั่วโลกจะต้องขาดแคลนแน่นอน

 

เมื่อหญ้าทะเล อาหารหลักของพะยูนค่อยๆ หายไป พะยูนซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนตายจำนวนมากอย่างไม่น่าเชื่อ ในปี 2024 มีพะยูนตายไปแล้วเกือบ 40 ตัว มากเป็นประวัติการณ์ จากพะยูนในประเทศที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ฝั่งทะเลอันดามันไม่ถึง 300 ตัว

 

พอย่างเข้าสู่ช่วงฤดูมรสุม ฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมใหญ่ ปัญหาโลกเดือดทำให้เกิดภูมิอากาศแปรปรวนวิปริตไปทั้งโลก เกิดพายุฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ โดยเฉพาะทางภาคเหนือนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ซึ่งพบว่ามีปริมาณฝนมากกว่าปกติถึง 50-60% เกินความสามารถของดินที่จะอุ้มน้ำได้ จึงไหลทะลักมาท่วมบ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหายมหาศาลทั้งชีวิตและทรัพย์สิน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 6 หมื่นล้านบาท

 

ไม่นับรวมถึงความเสียหายจากน้ำท่วมภาคใต้ครั้งร้ายแรงที่สุดจากฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์ จนถึงขณะนี้หลายจังหวัดทางภาคใต้ก็ประสบอุทกภัย ตั้งแต่ 3 จังหวัดภาคใต้ไล่ขึ้นมาจนถึงจังหวัดชุมพร ซึ่งคาดว่าความเสียหายน่าจะไม่ต่างจากภาคเหนือเช่นกัน

 

ปี 2025 ความแปรปรวนด้านภูมิอากาศนับวันจะเพิ่มความรุนแรงขึ้น จากปริมาณความร้อนโดยรวมของมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ส่งผลให้ระดับ CO2 ในชั้นบรรยากาศสูงขึ้น

 

อุณหภูมิพื้นผิวโลกโดยเฉลี่ยในปี 2025 จะอยู่ระหว่าง 1.29-1.53 องศาเซลเซียส ตามการคาดการณ์ของ Met Office ซึ่งเป็นหน่วยงานพยากรณ์อากาศและภูมิอากาศแห่งชาติของสหราชอาณาจักร

 

และเมื่อพิจารณาการปล่อยมลพิษในปัจจุบัน รวมถึงการกระทำของบุคคล ประเทศ และหน่วยงานระหว่างประเทศทั่วโลกแล้ว อุณหภูมิของสภาพภูมิอากาศน่าจะเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 3.2 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษนี้ 

 

ภาวะสุดขั้วของพายุและฝนจะเพิ่มความรุนแรงขึ้น จำนวนวันและระยะเวลาที่ฝนตกจะมากขึ้น การเกิดพายุไต้ฝุ่นจะถี่มากขึ้น และปริมาณน้ำฝนรวมสูงสุดจะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันอย่างรุนแรงบ่อยขึ้นในหลายพื้นที่

 

อุณหภูมิเฉลี่ยของไทยจะเพิ่มขึ้น ทุกภูมิภาคของไทยจะมีอากาศร้อนจัดและร้อนนาน โดยเฉพาะภาคกลางและภาคตะวันออก จำนวนวันที่อากาศเย็นจะลดลง ขณะที่จำนวนวันที่อากาศร้อนจะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำแล้งอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่

 

ปัญหาน้ำแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล จะส่งผลให้การเกษตรในหลายพื้นที่ได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พืชผลแห้งตาย หรือไม่ก็อาจถูกน้ำท่วมจนเสียหายในช่วงฤดูฝน

 

นักวิจัยพบว่า อุณหภูมิตอนกลางคืนที่ร้อนขึ้นในช่วงที่ข้าวกำลังออกดอกจะกระทบกระบวนการสังเคราะห์แสงของข้าว ทำให้ผลผลิตลดลง และเมื่อใดที่มีภาวะฝนแล้ง ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญของไทยโดยเฉพาะข้าวโพดจะลดลงมากที่สุด ตามมาด้วยข้าวและอ้อย

 

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ คาดการณ์ว่า ปัญหาจากโลกเดือดครั้งนี้ คาดว่าประเทศไทยจะได้รับความเสียหายสะสมระหว่างปี 2011-2045 คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 0.61-2.85 ล้านล้านบาท

 

มองออกไประดับโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อทุกคน แต่ประเทศยากจนและกลุ่มเปราะบางจะเป็นกลุ่มที่เผชิญกับผลกระทบรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น ด้วยปัจจัยทางทรัพยากรธรรมชาติ สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม

 

ความร้อนส่งผลกระทบต่อทั่วโลก หลายประเทศมีอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เช่น เบลารุส, เบลเยียม, เอสโตเนีย, ฟินแลนด์, ฝรั่งเศส, คาซัคสถาน, ลิทัวเนีย, ลักเซมเบิร์ก, เนเธอร์แลนด์, นอร์เวย์, โปแลนด์, สเปน, สวีเดน, สวิตเซอร์แลนด์, ยูเครน, ญี่ปุ่น, เม็กซิโก, รัสเซีย, ไทย ฯลฯ

 

ในปี 2025 ผู้หญิงมากกว่า 240 ล้านคนจะตกอยู่ในภาวะไม่มั่นคงทางอาหาร นอกจากนี้ในภูมิภาคอาเซียน ผู้หญิงมากกว่า 7 ล้านคนจะตกอยู่ในภาวะอดอยาก ขณะที่ผู้หญิงมากกว่า 24 ล้านคนจะตกอยู่ในภาวะไม่มั่นคงทางอาหาร เพราะผู้หญิงและเด็กผู้หญิงยังเจอข้อจำกัด เช่น การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ การต้องออกจากระบบการศึกษาและหันมาทำงานด้านเกษตรกรรมที่ถูกกระทบโดยโลกร้อน หรือต้องเลี้ยงดูบุตร ไม่สามารถออกไปทำงานนอกบ้านได้

 

ในปี 2030 ประชากรกว่า 130 ล้านคนจะตกอยู่ในความยากจนเพราะโลกร้อน ถูกผลักให้เผชิญความหิวโหย รวมถึงการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ความไม่ปลอดภัยในการใช้ชีวิต และการพลัดถิ่นของคนจำนวนมาก 

 

ตามรายงานของ Nature Communications ผู้คนจำนวน 200 ล้านคนทั่วโลกจะอาศัยอยู่ใต้แนวน้ำทะเลภายในสิ้นศตวรรษนี้ เมื่อน้ำทะเลสูงขึ้นจากน้ำแข็งขั้วโลกจำนวน 7.5 แสนล้านตันละลายลงสู่ทะเลทุกปี 

 

ปัญหาความแห้งแล้งอย่างรุนแรง และการละลายของธารน้ำแข็งที่เป็นแหล่งน้ำจืดหล่อเลี้ยงคนหลายพันล้านคน จะก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง สงครามแย่งชิงน้ำจะเกิดขึ้น คาดว่าจะมีประชากร 1.8 พันล้านคนเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนน้ำโดยสิ้นเชิง และ 2 ใน 3 ของประชากรโลกต้องต่อสู้กับความเครียดจากน้ำ

 

ตามรายงานของ UN Climate Action ระบุว่า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1.5-2 องศาเซลเซียส จะทำให้พื้นที่ของสิ่งมีชีวิตบนบกส่วนใหญ่หดตัวลงอย่างมาก เพิ่มความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผลักดันให้ชนิดพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้งพืชและสัตว์สูญพันธุ์สูงกว่าในอดีตเกือบ 1,000 เท่า และภายในกลางศตวรรษนี้ ชนิดพันธุ์ต่างๆ บนโลกจะสูญพันธุ์มากถึงร้อยละ 30-50

 

ในท้องทะเล แนวปะการังที่อยู่อาศัยสำคัญของสัตว์ทะเลมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นพิเศษ โดยคาดว่าจะลดลงเหลือ 10-30% ของพื้นที่ปกคลุมเดิม เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส และเหลือต่ำกว่า 1% ของพื้นที่ปกคลุมเดิม เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส

 

ในปี 2025 อนาคตของนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศในสหรัฐฯ ยังคงไม่แน่นอน หลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งหนึ่ง ผู้ประกาศว่าปัญหาโลกร้อนไม่มีอยู่จริง และสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล จะทำให้สหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงปารีส อันหมายถึงการไม่ร่วมมือกับนานาชาติในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งเงินทุนและการลดอุณหภูมิของโลกในอนาคต

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising