×

‘ชนะตั้งแต่ยังไม่เลือก’ เลือกตั้งรัสเซีย 2024 ทำไมปูตินไร้คู่แข่ง?

15.03.2024
  • LOADING...

การเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียที่มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 มีนาคมนี้ ถือเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 8 ของประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดจากการทำสงครามของรัสเซียในยูเครน

 

แต่การแข่งขันเพื่อชิงอำนาจผู้นำแดนหมีขาวนั้นกลับไม่ค่อยปรากฏความท้าทาย เนื่องจากแทบจะแน่นอนว่าชื่อของผู้ชนะการเลือกตั้งคงหนีไม่พ้นประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ซึ่งจะขยายระยะเวลาปกครองประเทศแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดต่อไปจนสิ้นทศวรรษนี้และยาวไปถึงทศวรรษ 2030

 

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น และทำไมการเลือกตั้งครั้งนี้ปูตินถึง ‘ไร้คู่แข่ง’ และ ‘ชนะตั้งแต่ยังไม่เลือก’

 

สานต่ออำนาจสมัยที่ 5

 

โดยพื้นฐานแล้วการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยคือการใช้สิทธิ์ออกเสียงของประชาชนเพื่อลงคะแนนให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเป็นวิถีตามรัฐธรรมนูญ

 

แต่สำหรับการเลือกตั้งของรัสเซียโดยเฉพาะในครั้งนี้ อาจไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการเลือกตั้งตามปกติ เพราะผลการเลือกตั้งน่าจะออกมาได้รูปแบบเดียวคือ ‘ประธานาธิบดีปูตินจะต้องคงอยู่ในอำนาจ’

 

ที่ผ่านมาปูตินมีความพยายามเพื่อขยายระยะเวลาครองอำนาจผู้นำรัสเซียมาหลายครั้ง นับตั้งแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2008 เพื่อขยายวาระดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจาก 4 ปี เป็น 6 ปี และการสลับให้นายกรัฐมนตรีดมิทรี เมดเวเดฟ รับตำแหน่งประธานาธิบดีแทนในปีเดียวกัน ก่อนที่ปูตินจะคืนสู่เก้าอี้ประธานาธิบดีในปี 2012

 

ต่อมาในปี 2021 ปูตินได้ลงนามแก้กฎหมาย ยกเลิกการจำกัดวาระดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซีย ภายหลังการทำประชามติในปีก่อนหน้า เปิดทางให้เขาลงสมัครชิงตำแหน่งได้อีก 2 สมัย และส่งผลให้สามารถปกครองรัสเซียต่อเนื่องไปจนถึงปี 2036

 

โดยปูตินครองอำนาจทั้งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีของรัสเซียต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1999 หรือเรียกได้ว่าเป็นประมุขแห่งรัฐของรัสเซียมาตลอดศตวรรษที่ 21

 

ซึ่งชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้เขาได้ครองอำนาจประธานาธิบดีสมัยที่ 5 ถือเป็นผู้ปกครองรัสเซียที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ยุคโจเซฟ สตาลิน ผู้นำเผด็จการของสหภาพโซเวียต

 

ใครกล้าท้าชิง

 

ผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียนั้นจะต้องผ่านการตรวจสอบและควบคุมอย่างเข้มงวดโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งกลาง (CEC) ซึ่งหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่ากฎระเบียบการลงสมัครเลือกตั้งที่เข้มงวดนั้นช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ปูตินในการลงแข่งขันในสนามเลือกตั้งที่ได้เปรียบ และลดโอกาสที่ผู้สมัครฝ่ายค้านจะมีโมเมนตัมคว้าชัยชนะ

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้สมัครแต่ละคนต้องมีคือรากฐานอุดมการณ์และนโยบายภายในประเทศที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับปูติน

 

หนึ่งในผู้สมัครคือ นิโคไล คาริโตนอฟ จากพรรคคอมมิวนิสต์ ได้รับอนุญาตให้ลงสมัครในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียครั้งนี้และอีกหลายครั้งที่ผ่านมา คงยากที่จะพูดว่าเขาสามารถเป็นคู่แข่งให้ปูตินได้ โดยการลงสมัครเลือกตั้งในอดีตนั้นเขาไม่เคยได้รับคะแนนเสียงมากเท่ากับ 1 ใน 5 ของคะแนนเสียงที่ปูตินได้รับในการชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยแรก

 

ส่วนอีก 2 ผู้สมัคร ซึ่งถือเป็นผู้ที่สนับสนุนรัฐบาลเครมลิน ได้แก่ เลโอนิด สลุตสกี รองประธานสภาดูมา หรือสภาผู้แทนราษฎรของรัสเซีย และ วลาดิสลาฟ ดาวันคอฟ ผู้สมัครจากพรรคลิเบอรัล เดโมเครติก (Liberal Democratic Party) ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นพรรคที่นำโดย วลาดิเมียร์ ซิรินอฟสกี ผู้นำชาตินิยมหัวรุนแรงที่เสียชีวิตไปในปี 2022

 

ส่วนผู้สมัครอื่นๆ ที่มีอุดมการณ์สวนทางกับเครมลิน หรือต่อต้านการทำสงครามในยูเครน ต่างถูกห้ามลงสมัครเลือกตั้ง เช่น บอริส นาเดซดิน ที่ถูกห้ามลงสมัครเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่ง CEC อ้างว่าเขาไม่ได้รับลายเซ็นรับรองที่ถูกต้องตามกฎหมายมากพอเพื่อเสนอชื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง

 

อีกคนคือ เยคาเทรินา ดันต์โซวา ถูก CEC ปฏิเสธการสมัครรับเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม โดยอ้างว่ามีข้อผิดพลาดในเอกสารการลงทะเบียน

 

เลโอนิด โวลคอฟ นักเคลื่อนไหวต่อต้านเครมลินที่ถูกตัดสิทธิ์ลงสมัครโพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดีย โดยมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเพียง ‘ละครสัตว์’ และมีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อส่งสัญญาณว่ามีประชาชนจำนวนมากสนับสนุนปูติน

 

“คุณต้องเข้าใจว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีความหมายต่อปูตินอย่างไร มันเป็นความพยายามในการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อเผยแพร่ความสิ้นหวังในหมู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” โวลคอฟกล่าว

 

การเลือกตั้งที่โปร่งใส-ยุติธรรม?

 

หน่วยงานอิสระและผู้สังเกตการณ์ทั้งในและนอกประเทศต่างมองว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีของรัสเซียครั้งนี้ไม่เสรีและไม่ยุติธรรม และเป็นเพียงพิธีการเพื่อขยายวาระการดำรงตำแหน่งของปูติน

 

Freedom House หน่วยงานเฝ้าระวังด้านประชาธิปไตยทั่วโลกเผยแพร่รายงานเมื่อไม่นานนี้ ระบุว่า ความสำเร็จในการเลือกตั้งของปูตินนั้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก ‘สิทธิพิเศษ’ ที่ได้รับจากสื่อท้องถิ่น ตลอดจนการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ และความผิดปกติของขั้นตอนนับคะแนน

 

ในหลายครั้งเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลเครมลินยังมุ่งเป้าเผยแพร่เนื้อหาที่สนับสนุนปูตินไปยังกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ขณะที่ประชาชนจำนวนมากถูกปิดกั้นการเข้าถึงข่าวสารของสำนักข่าวที่อยู่นอกรัสเซียนับตั้งแต่เกิดสงครามยูเครน

 

ส่วนการเคลื่อนไหวประท้วงหรือแสดงออกใดๆ ที่เป็นการต่อต้านสงคราม ปูติน หรือเครมลิน ในที่สาธารณะ จะถูกจำกัดหรือปราบปรามอย่างเข้มงวด ทำให้ประชาชนกลัวที่จะแสดงความเห็น

 

โดยนักการเมืองและนักเคลื่อนไหวฝ่ายค้านมักตกเป็นเป้าการใส่ร้ายในคดีอาญาและเผชิญการคุกคามจากรัฐในรูปแบบต่างๆ เพื่อป้องกันการมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง

 

ปูตินยังเป็นที่นิยม

 

แน่นอนว่าการทำโพลสำรวจความคิดเห็นที่เชื่อถือได้ในรัสเซียนั้นเป็นเรื่องยากมาก และแม้จะสามารถทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ชาวรัสเซียจำนวนมากก็ยังคงเกรงกลัวที่จะวิพากษ์วิจารณ์เครมลิน

 

แต่ถึงกระนั้น ความนิยมทางการเมืองของปูตินก็ยังคงสูงมาก โดย Levada Center องค์กรสำรวจความคิดเห็นที่ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ รายงานว่าคะแนนนิยมของปูตินนั้นมากกว่า 80% ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับผู้นำของหลายชาติตะวันตก และเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วง 3 ปี ก่อนเกิดสงครามรุกรานยูเครน

 

ที่ผ่านมาการทำสงครามบุกยูเครนทำให้ปูตินได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากกลุ่มชาตินิยม แม้ว่าจะเผชิญภาวะความลำบากและการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก

 

ขณะที่ Levada Center เผยเมื่อปลายปีที่แล้วว่า “อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นและราคาอาหารที่สูงขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อภาวะอารมณ์ของชาวรัสเซีย” แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าชาวรัสเซียนั้นคาดหวังว่าการเลือกตั้งจะเปลี่ยนทิศทางของประเทศ ซึ่งปูตินได้รับประโยชน์อย่างมากจากการที่ประชาชนจำนวนมากไม่แยแสต่อผลการเลือกตั้ง

 

โดยนับตั้งแต่แยกตัวจากสหภาพโซเวียต ชาวรัสเซียส่วนใหญ่แทบไม่เคยเห็นการถ่ายโอนอำนาจตามระบอบประชาธิปไตยระหว่างพรรคการเมืองที่เป็นคู่แข่งกัน

 

ขณะที่การแสดงท่าทีไม่พอใจหรือต่อต้านเครมลินนั้นเกิดขึ้นได้ยาก ทำให้ประชากรจำนวนมากยิ่งปล่อยวางและไม่อยากยุ่งกับการเมืองมากนัก

 

ทั้งนี้ ความมั่นคงของชาติเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการตัดสินใจของผู้มีสิทธิลงคะแนนชาวรัสเซียในช่วงเลือกตั้ง โดยการโจมตีของยูเครนที่รุกล้ำข้ามชายแดนเข้าไปในรัสเซียช่วงที่ผ่านมายิ่งจุดไฟแห่งความรักชาติและการสนับสนุนปูตินให้ลุกโชนมากขึ้น

 

การตายของนาวาลนีกับการเลือกตั้ง

 

กรณีการเสียชีวิตของ อเล็กเซ นาวาลนี ผู้นำฝ่ายค้านและคู่ปรับทางการเมืองคนสำคัญของปูติน ระหว่างถูกจำคุกที่เรือนจำไซบีเรีย หลังถูกตัดสินโทษจากคดีฉ้อโกง ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นการใส่ร้ายและดำเนินคดีด้วยแรงจูงใจทางการเมือง เป็นเครื่องสะท้อนที่ชัดเจนถึงผลลัพธ์จากการต่อต้านอำนาจของปูติน

 

ในการปรากฏตัวในศาลครั้งสุดท้ายของนาวาลนีเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ก่อนจะเสียชีวิต เขาเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ‘ลงคะแนนต่อต้านปูติน’

 

“ผมมีข้อเสนอแนะให้ลงคะแนนให้กับผู้สมัครคนอื่นที่ไม่ใช่ปูติน การที่จะลงคะแนนต่อต้านปูติน คุณเพียงแค่ต้องลงคะแนนให้กับผู้สมัครคนอื่นๆ” นาวาลนีกล่าว

 

การเสียชีวิตของเขายิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียครั้งนี้ถูกครอบงำด้วยอำนาจมืด

 

ขณะที่ ยูเลีย นาวาลนายา ภรรยาม่ายของนาวาลนี ประณามการเลือกตั้งในรัสเซียครั้งนี้ว่าเป็นการเลือกตั้งจอมปลอม เรียกร้องให้สหภาพยุโรปไม่รับรองการเลือกตั้ง

 

“ปูตินสังหารสามีของฉัน 1 เดือนก่อนสิ่งที่เรียกว่าการเลือกตั้ง การเลือกตั้งเหล่านี้เป็นของปลอม แต่ปูตินยังต้องการมันสำหรับการโฆษณาชวนเชื่อ เขาต้องการให้คนทั้งโลกเชื่อว่าทุกคนในรัสเซียสนับสนุนและชื่นชมเขา อย่าหลงเชื่อโฆษณาชวนเชื่อนี้”

 

นอกจากนี้นาวาลนายายังเรียกร้องให้ประชาชนรัสเซียออกมารวมตัวกันประท้วงตอนเที่ยงของวันที่ 17 มีนาคม วันสุดท้ายของการเลือกตั้ง

 

โดยในคลิปวิดีโอบันทึกข้อความที่โพสต์ลงบนโซเชียลมีเดีย เธอบอกกับชาวรัสเซียว่าพวกเขาสามารถลงคะแนนให้ผู้สมัครคนใดก็ได้นอกจากปูติน

 

“คุณสามารถทำลายบัตรลงคะแนนของคุณ คุณสามารถเขียนนาวาลนีลงไปก็ได้”

 

ภาพ: STRINGER / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising