×

9 เรื่องต้องเฝ้าระวังปี 2024 กับมิติภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์

26.12.2023
  • LOADING...
ภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์

ปี 2023 ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ปะทุขึ้นในหลายภูมิภาค สงครามยูเครนยังไม่ทันจบ ก็มีสงครามระหว่างฮามาสกับอิสราเอลในฉนวนกาซาเกิดขึ้นอีก ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นดีนัก เรียกได้ว่าซึมยาวตั้งแต่ยุคโควิดต่อเนื่องมาจนถึงวิกฤตพลังงาน เงินเฟ้อ และอาหาร จากผลพวงสงคราม พ่วงด้วยปัญหาเศรษฐกิจภายในของจีนที่ปัจจุบันยังไม่ฟื้นเต็มที่ แถมโลกยังเผชิญกับภาวะโลกรวนที่หนักขึ้นกว่าเดิม เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติถี่และรุนแรงขึ้น ขณะที่อุณหภูมิเฉลี่ยร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์

 

แล้วปีหน้าโลกจะเจอกับอะไร มีอะไรน่ากังวลและน่าจับตาเป็นพิเศษบ้าง

 

ความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านในประชาคมอาเซียน 

 

หลังจาก เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตอบปฏิเสธที่จะอำนวยความสะดวกให้ สปป.ลาว ขายพลังงานไฟฟ้าให้สิงคโปร์ผ่านระบบสายส่งประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย หรือ ASEAN Power Grid นั่นอาจสะท้อนว่าไทยประกาศจุดยืนไม่สนับสนุนโอกาสทางการค้าของประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ สปป.ลาว ในเวลาที่เขาอยู่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ และต้องการกระจายความเสี่ยงโดยขายพลังงานซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักไปยังประเทศต่างๆ ให้มากที่สุด 

 

ขณะที่สิงคโปร์เองก็ต้องการพลังงานสะอาดไปสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพราะมีข้อจำกัดที่ประเทศของตนเองไม่มีทรัพยากรด้านพลังงานที่เพียงพอ แม้ว่าเศรษฐาจะแจ้งทาง สปป.ลาว ว่าไทยพร้อมรับซื้อพลังงานเองทั้งหมดก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติ ในประเทศไทยเราเองยังมีโรงไฟฟ้าอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้ผลิตเต็มศักยภาพ และมีพลังงานสำรองมากกว่าความต้องการใช้พลังงาน นั่นหมายความว่าเราเองก็ไม่ได้ต้องการซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว เพื่อมาใช้งาน แต่จะซื้อมาเพื่อขายต่อ ทำกำไรจากเพื่อนบ้านในยามที่เขาเดือดร้อน 

 

ในขณะที่กระทรวงการต่างประเทศเรียกประชุมทูตจากทั่วโลกให้มารับมอบนโยบาย ซึ่งนโยบายหลักคือให้ความสำคัญสูงสุดกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีกลับดำเนินนโยบายโดยไม่ได้รับฟังความเห็นจากกระทรวงการต่างประเทศ และกระทำไปโดยพลการ ผลกระทบที่ตามมาจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2024 ที่ สปป.ลาว จะเป็นเจ้าภาพการประชุมอาเซียนและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ประเทศไทยจะสามารถผลักดัน Agenda ที่ไทยต้องการ และจะรักษาบทบาทนำในเวทีอาเซียนอย่างไร นี่คือประเด็นท้าทาย

 

ประเด็นความขัดแย้งที่เดินหน้าไปสู่ทางตันในเมียนมา 

รัฐบาล State Administration Council (SAC) ภายใต้การนำของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ไม่สามารถให้บริการภาครัฐกับประชาชนได้ โดยเฉพาะในเรื่องสวัสดิการสังคม การสาธารณสุข การศึกษา และการรักษาความปลอดภัยและสวัสดิภาพ 

 

ในขณะที่กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ (Ethnic Armed Organizations: EAOs) ก็ไม่ได้มีอุดมการณ์ที่จะต่อสู้กับ SAC เพื่อให้รัฐบาลเงาในนาม National Unity Government (NUG) ได้เข้ากุมอำนาจ หากแต่ EAOs เองก็ต่างคนต่างรบเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง อาจจะรวมกันได้ในบางโอกาส เมื่อมีมหาอำนาจจากภายนอกเข้ามาแทรกแซง เช่น การรวมตัวของ Three Brotherhood Alliance ระหว่างชาติพันธุ์อาระกัน, ตะอาง (หรือปะหล่อง) และโกก้าง ที่ใช้การสนับสนุนของ NUG เป็นข้ออ้าง แต่ในความเป็นจริงคือการรักษาผลประโยชน์ให้กับท่อก๊าซของจีนที่พาดผ่านในพื้นที่ และ SAC ไม่สามารถเป็นหลักประกันให้กับทางการจีนได้ว่าการดำเนินกิจการของจีนจะได้รับความคุ้มครอง ร่วมกับการปราบปรามขบวนการอาชญากรรมที่ส่งผลต่อความมั่นคงภายในของจีนเอง 

 

ดังนั้น พวกเขาไม่ได้รบเพื่อ NUG แต่เพื่อผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่ม และจะเป็นการรวมกลุ่มพันธมิตรกันในรูปแบบเฉพาะกิจเท่านั้น โดยกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ก็ไม่ได้ต้องการเข้าร่วม และไม่ได้รับการสนับสนุนให้เข้าร่วม เนื่องจากไม่ได้มีผลประโยชน์ตรงกัน และทุกกลุ่มก็ตั้งข้อสงสัยในตัว NUG ด้วยซ้ำถึงเรื่องความโปร่งใสในการใช้เงินบริจาคที่ได้รับมาจากทั่วโลก ว่าเงินเหล่านี้ถูกใช้จ่ายไปอย่างไร และเพื่อใคร 

 

ซ้ำร้าย NUG เองก็ไม่มีแกนนำที่มีบารมีและมีประสบการณ์มากเพียงพอที่จะเข้ามานำการเปลี่ยนแปลง และสามารถควบคุมทุกองคาพยพของประเทศที่มีความหลากหลายแห่งนี้ได้ ความหวังเดียวอยู่ที่ ออง ซาน ซูจี ซึ่งเธอเองก็มีความเสี่ยงสูงทั้งในแง่อายุและสุขภาพ ชุดความคิดอำนาจรวมศูนย์ และการไม่สร้างตัวตายตัวแทน ไม่มีการวางแผนในการส่งต่ออำนาจให้กับคนรุ่นใหม่ ในขณะที่กองกำลังชาติพันธุ์บางกลุ่มก็ได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจตะวันตกและมหาอำนาจภูมิภาค

 

สถานการณ์ที่มีความเป็นไปได้สูงในปี 2024 คือการเจรจาของกลุ่มต่างๆ เพื่อหาทางออก โดยอาจเป็นทางออกในรูปแบบเดิมๆ นั่นคือหาทางลงสวยๆ ให้พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย สร้างคำมั่นสัญญาในการสร้างสหพันธรัฐ หรือสมาพันธรัฐ (รวมกันแบบหลวมๆ กว่าสหพันธรัฐ) ที่ให้อำนาจในการบริหารจัดการตนเองในบางระดับกับกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ 7 รัฐนอกแกนกลางของ 7 เขตที่มีชาวพม่าเป็นประชาชนส่วนใหญ่ เดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง โดยแบ่งผลประโยชน์ให้กับ NUG (พรรค NLD และพันธมิตรให้มีที่ยืน มีผลประโยชน์ และไม่ได้มีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการประเทศในทุกมิติ โดยเฉพาะในมิติความมั่นคงภายใน กิจการชนกลุ่มน้อย และกิจการความมั่นคงระหว่างประเทศ)

 

แต่กว่าจะถึงจุดที่จะมีการเจรจา ต่างฝ่ายต่างก็จะต้องช่วงชิงอำนาจการต่อรองในการเจรจาผ่านการใช้กำลังเข้าย่ำยีบีฑาระหว่างกัน และผู้ที่เป็นฝ่ายสูญเสียคือประชาชนเมียนมา ซึ่งจำนวนมากจะหลั่งไหลเข้ามายังพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ดังนั้น ไทยจะรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้อย่างไร โดยทางออกที่ดีที่สุดคือต้องเล่นบทบาทนำและดึงเพื่อนบ้านประชาคมอาเซียนเข้ามาร่วมมีบทบาทและแบ่งเบาภาระ 

 

แต่อุปสรรคสำคัญคือ (จากข้อที่ 1) เราเองอาจจะสูญเสียบทบาทนำนั้นไปแล้ว เนื่องจากความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านชุดความคิด Salesman ที่นิยมการค้าผูกขาด (อ่านเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจปฐมบทแห่งความขัดแย้งนี้ได้ในบทที่ 9 Zomia: จากดินแดนแห่งเทือกเขาสู่พื้นที่ยุทธศาสตร์การเมืองในเมียนมา หนังสือ สมรภูมิพลิกอำนาจโลก Amidst the Geo-Political Conflicts สำนักพิมพ์มติชน)

 

ปี 2024 คือปีแห่งการเลือกตั้ง 

 

โดยการเลือกตั้งแรกที่ต้องจับตาคือการเลือกตั้งในเขตเศรษฐกิจไต้หวัน (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจีนตามหลักการจีนเดียว) ในวันที่ 13 มกราคม 2024 สถานการณ์ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันอาจเกิดขึ้นอีกครั้งหาก ไล่ชิงเต๋อ หรือ วิลเลียม ไล แห่งพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party: DPP) หรือพรรคหมินจิ้นตั่ง ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี เพราะพรรค DPP ไม่ยอมรับหลักการจีนเดียว และต้องการแยกตัวเพื่อก่อตั้งสาธารณรัฐไต้หวัน ซึ่งนั่นคือเหตุผลเพียงประการเดียวที่จีนจะใช้กองกำลังบุกเข้ายึดครองไต้หวันแบบเบ็ดเสร็จ 

 

ต้องจับตาดูว่าประชาชนไต้หวัน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ต้องการเห็นความรุนแรง จะเปลี่ยนจากการให้การสนับสนุนรัฐบาลเดิมไปเป็นพรรคการเมืองฝั่งตรงข้าม นั่นคือเลือก โหวโหย่วอี๋ จากพรรคชาตินิยม (Kuomintang: KMT) หรือก๊กมินตั๋ง ซึ่งยอมรับหลักการจีนเดียวหรือไม่ (แม้จะตีความคำว่าจีนเดียวคนละความหมายกับสาธารณรัฐประชาชนจีน) หากแต่ตราบใดที่ไม่มีการเดินหน้าสู่การแยกประเทศ การใช้กำลังของแผ่นดินใหญ่ก็คงไม่เกิดขึ้น 

 

แต่เสียงโหวตอาจจะไม่ได้สวิงเปลี่ยนข้างจาก DPP สู่ KMT ได้เต็มที่ เนื่องจาก ณ ปัจจุบันทางเลือกขั้วที่ 3 อย่าง เคอเหวินเจ๋อ แห่งพรรคประชาชนไต้หวัน (Taiwan People’s Party: TPP) หรือไต้หวันหมินจิ้นตั่ง ที่เป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ (แม้จะมีคะแนนในโพลเพียง 5%) แต่ด้วยนโยบายที่ต้องการรื้อสร้าง ล้มล้างสถาบันเก่าๆ อย่าง KMT และ DPP ก็ทำให้ TPP กลายเป็นปัจจัยแห่งความไม่แน่นอนทางการเมืองของไต้หวันที่ยังไม่มีใครเคยรับรู้และรับทราบแนวทางการดำเนินนโยบาย  

 

ซึ่งท่ามกลางความไม่แน่นอนเหล่านี้ มหาอำนาจที่ใช้ความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์ (Strategic Ambiguity) อย่างสหรัฐอเมริกา อาจใช้เป็นโอกาสในการเข้าแทรกแซงเพื่อปิดล้อมจีน (อ่านเพิ่มเติมในบทที่ 7 ช่องแคบไต้หวัน: การช่วงชิงพื้นที่ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา หนังสือ สมรภูมิพลิกอำนาจโลก Amidst the Geo-Political Conflicts สำนักพิมพ์มติชน)

 

สงครามยูเครน 

 

สงครามที่เป็นความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับพันธมิตร NATO จะมีความไม่แน่นอนมากยิ่งขึ้น เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วว่าในปี 2024 จะเป็นปีแห่งการเลือกตั้ง โดยรัสเซียจะเลือกตั้งในวันที่ 15-17 มีนาคม 2024 ซึ่งแน่นอนว่า วลาดิเมียร์ ปูติน ก็คงจะได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีต่อไป โดยสิ่งที่นักสังเกตการณ์สนใจมากกว่าคือ คะแนนเสียงสนับสนุนจะถล่มทลายแลนด์สไลด์ขนาดไหน เพราะถ้าคะแนนนำและเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นั่นเท่ากับปูตินก็จะมีความชอบธรรมมากยิ่งขึ้นในการเดินหน้าในสมรภูมินี้ 

 

เช่นเดียวกับที่หลายประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรปและรัฐสภายุโรป (European Parliament) เองก็จะถึงวาระต้องเข้าสู่การเลือกตั้งในปี 2024 คำถามที่ดังมากยิ่งขึ้นจากชาวยุโรปคือ ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เงินเฟ้อสูง ค่าครองชีพคืออุปสรรคในการดำรงชีวิต แล้วทำไมเราชาวยุโรปยังต้องเอาเงินของพวกเราไปอุ้มทำสงครามในยูเครน แล้วยังต้องให้ชาวยูเครนผู้อพยพเข้ามาแย่งงานทำอีกต่างหาก 

 

นั่นจะทำให้หลายๆ ประเทศสมาชิก NATO ต้องเผชิญกับภาวะกลับไม่ได้ ไปไม่ถึง นั่นคือเลิกสงคราม เลิกให้การสนับสนุนยูเครน ก็ทำไม่ได้ เพราะเท่ากับการแสดงออกอย่างชัดเจนว่าพันธมิตร NATO 31 รัฐไม่สามารถเอาชนะรัสเซียประเทศเดียวได้ ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถเดินหน้าไปสู่ชัยชนะในสมรภูมินี้ได้

 

แน่นอนว่าสำหรับยุโรป สถานการณ์กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง อาจจะเป็นประสบการณ์ใหม่ แต่นั่นไม่ใช่สำหรับสหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องตอบคำถามยากๆ มากมายในช่วงเดินหน้าสู่การเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2024 เพราะประชาชนจำนวนมากก็ไม่สนับสนุนสงครามทั้งในยุโรปและตะวันออกกลาง สหรัฐอเมริกาเคยเผชิญหน้าสถานการณ์นี้มาแล้วทั้งในสงครามเวียดนาม และในอัฟกานิสถาน และหากเราเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ การเปลี่ยนผู้นำของประเทศที่เป็นลูกไล่อย่างเวียดนามใต้ที่ในช่วงสุดท้ายเกิดการรัฐประหารหลายครั้ง เพื่อตัดตอนผู้นำหุ่นเชิด หรือการหนีออกนอกประเทศของอดีตผู้นำอัฟกานิสถาน แล้วเปลี่ยนผู้นำใหม่ที่มาพร้อมกับนโยบายใหม่ ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้

 

ประกอบกับช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ในปี 2024 ยูเครนเองก็ต้องเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง แม้ว่าตลอดมา ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี หรือ Volodymyr Zelenskyy (เขียนตามการถอดเสียงแบบใหม่ของยูเครนที่ต้องการลดบทบาทการใช้ภาษารัสเซียในประเทศ) จะเคยเป็นลูกรักของหลายๆ ประเทศตะวันตก แต่ต้องอย่าลืมว่าตลอดช่วงของการประกาศกฎอัยการศึก ยูเครนประกาศยุบพรรคการเมืองทั้งหมด นักการเมืองฝ่ายค้านในยูเครนถูกจับกุมในข้อกล่าวหาว่าสนับสนุนรัสเซีย ดังนั้น ในภาวะไม่ประชาธิปไตย และไม่ใช่ลูกรักอีกต่อไป ร่วมกับฐานะทางการเงินของครอบครัวเซเลนสกีที่ขยายขึ้นอย่างน่าสงสัย พร้อมกับปัญหาคอร์รัปชันจำนวนมาก นี่จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากเราจะเห็นการรัฐประหารเพื่อเปลี่ยนตัวผู้นำ และเปลี่ยนนโยบายการสู้รบในสมรภูมินี้ในปี 2024 เพื่อจบเกม แบ่งเบาภาระให้กับทุกฝ่าย โดยยูเครนยอมรับเส้นเขตแดนใหม่ รัสเซียเข้ามามีอิทธิพลในรัฐบริวารใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น NATO จบภารกิจได้โดยแจ้งว่ายูเครนเองที่เปลี่ยนนโยบาย ในขณะที่เมื่อเส้นเขตแดนของยูเครนไม่ชัดเจน ดังนั้น การรับเข้าเป็นสมาชิกของทั้ง NATO และ EU เองก็คงต้องขอพักสถานะไว้ก่อน สหรัฐอเมริกาเองก็จะเดินหน้าทุ่มเทสนับสนุนสงครามในตะวันออกกลางได้โดยไม่ต้องห่วงพะวงกับสมรภูมิในยุโรป (อ่านเพิ่มเติมเพื่อเข้าใจสถานการณ์ยูเครนในบทที่ 2 NATO กับรัสเซีย: สงครามเย็นที่ไม่สิ้นสุด หนังสือ สมรภูมิพลิกอำนาจโลก Amidst the Geo-Political Conflicts สำนักพิมพ์มติชน)

 

สถานการณ์ในตะวันออกกลางจะลุกลามจากสงครามในภูมิภาค สู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของทั้งโลก 

 

จากความขัดแย้งภายในระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในพื้นที่ฉนวนกาซา สู่การขยายตัวเป็นสงครามภูมิภาค ที่ทางทิศเหนืออิสราเอลก็ต้องรับศึกหนักจากการปะทะกับกองกำลังฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) ที่บริเวณพรมแดนซีเรีย และสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายมากยิ่งขึ้นเมื่อคลองสุเอซถูกปิดจากปฏิบัติการโจมตีเรือขนส่งสินค้าที่ให้การสนับสนุนอิสราเอล โดยกลุ่มฮูตีที่มีฐานปฏิบัติการในเยเมน (และได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน) โดยเหตุผลเรื่องการต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในปาเลสไตน์โดยอิสราเอล ซึ่งเหตุการณ์นี้นำไปสู่การสร้างพันธมิตรทางการทหารในทะเลแดงและทะเลเมดิเตอร์เรเนียนภายใต้ชื่อ Operation Prosperity Guardian ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำ ร่วมกับการสนับสนุนของสหราชอาณาจักร, แคนาดา, ฝรั่งเศส, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์, นอร์เวย์, สเปน, บาห์เรน (ที่ตั้งกองบัญชาการภาคพื้นกลาง United States Central Command หรือ USCENTCOM แห่งกระทรวงกลาโหมและกองทัพสหรัฐอเมริกา ในอดีตนิยมเรียกกันว่ากองเรือที่ 5) และประเทศเซเชลล์ ประเทศเกาะขนาดเล็กที่มีรายได้สูงเพียงแห่งเดียวในทวีปแอฟริกา โดยแหล่งรายได้หลักมาจากการให้บริการเปิดบัญชี Offshore Account 

 

การเผชิญหน้าที่รุนแรงในตะวันออกกลางนี้ นักวิเคราะห์จำนวนมากมองเห็นความเป็นไปได้ที่สหรัฐอเมริกาจะใช้เป็นข้ออ้างในการยกระดับเพื่อโจมตีอิหร่าน โดยมองว่าหากทำสงครามและสามารถเปลี่ยนแปลงระบอบในอิหร่านได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด นั่นจะทำให้ปัญหาทุกอย่างในตะวันออกกลางของพันธมิตรตะวันตกยุติลง นี่ไม่ใช่วิธีคิดใหม่ของสหรัฐอเมริกา เพราะสหรัฐอเมริกาเคยคิดแบบนี้มาแล้วในช่วงต้นทศวรรษ 1970 ที่จะแก้วิกฤต Oil Crisis โดยการบุกยึดซาอุดีอาระเบียทั้งประเทศเพื่อแก้ปัญหา โดยคนที่ถอดชนวนและปูทางไปสู่การเจรจาโดยใช้การค้าพลังงานโดยมีเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นสื่อกลางคือ เฮนรี คิสซิงเจอร์

 

ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า หากสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรโจมตีอิหร่าน นี่จะเป็นความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ที่ใหญ่หลวงอย่างยิ่ง เพราะหากเปิดศึกสงครามโดยตรงกับอิหร่าน นั่นเท่ากับจะเป็นการสร้างสงครามขนาดใหญ่ในทุกพื้นที่ทั่วโลก เพราะโลกมุสลิมจะสามารถรวมตัวกันได้อีกครั้ง โดยพิจารณาว่าสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรตะวันตกคือศัตรูร่วมกันของโลกมุสลิม

 

ในระยะสั้นมีความกังวลเกี่ยวกับการปิดคลองสุเอซ (ตัดเส้นทางโลจิสติกส์ที่เชื่อมเอเชียกับยุโรป) ร่วมกับสงครามในตะวันออกกลาง รวมไปถึงการปิดเส้นทางการค้าสำคัญคือคลองปานามา (เส้นทางโลจิสติกส์ที่เชื่อมมหาสมุทรแอตแลนติกกับแปซิฟิก) ที่กำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศจนระดับน้ำต่ำมาก และไม่สามารถให้บริการโลจิสติกส์ได้เหมือนภาวะปกติ 

 

ขณะเดียวกันสหรัฐอเมริกายังคงกดดันอย่างหนักเพื่อไม่ให้โครงการคลองทางเลือกอย่างคลองนิการากัวสามารถเกิดขึ้นได้ เพราะสหรัฐอเมริกาต้องการผูกขาดจุดเชื่อมโยงโลจิสติกส์ที่คลองปานามา (และอาจจะเปิดศึกตะวันออกกลางเพื่อสร้างคลองสุเอซแนวที่ 2 เพื่อขอแบ่งกำไรจากอียิปต์ แต่จะทำได้นั่นหมายความว่าฉนวนกาซาต้องตกอยู่ในความครอบครองของอิสราเอลเท่านั้น) 

 

ดังนั้น ในปี 2024 อุปสงค์การใช้พลังงานโดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพื่อการขนส่งจะทะยานขึ้นอย่างมาก เช่นเดียวกับที่ระยะเวลาในการขนส่ง และต้นทุนค่าขนส่ง ก็จะทะยานขึ้นตามไปด้วย นั่นเท่ากับต้นทุนการผลิตของทุกภาคส่วนที่สูง คู่ขนานไปกับค่าครองชีพที่จะสูงขึ้นตลอดทั้งปี 2024 (อ่านเพิ่มเติมเพื่อเข้าใจความซับซ้อนและความขัดแย้งในตะวันออกกลางได้ในบทที่ 3 ตะวันออกกลาง: ทางแยกของแผนที่โลก หนังสือ สมรภูมิพลิกอำนาจโลก Amidst the Geo-Political Conflicts สำนักพิมพ์มติชน)

 

ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

 

เมื่อพิจารณาถึงการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2024 จากกระแสเกลียดชังการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนที่ก่อไว้ตั้งแต่สมัยของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2017 และจากยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา นั่นทำให้ประธานาธิบดีคนปัจจุบันอย่าง โจ ไบเดน และว่าที่ผู้สมัครจากทุกกลุ่มของทุกพรรคการเมืองในสหรัฐอเมริกา จะยังคงวางนโยบายไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือการยกระดับสถานะคู่แข่งทางเศรษฐกิจ และพิจารณาว่าธุรกิจจีนบางกลุ่มคือศัตรูต่อพลังอำนาจของสหรัฐอเมริกาในเวทีการเมืองเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมดิจิทัล, เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI), พลังงานทางเลือก, การจัดเก็บพลังงาน, เซมิคอนดักเตอร์ และควอนตัมคอมพิวเตอร์ 

 

ดังนั้น ในปี 2024 เราจะได้เห็นสงครามการค้า และสงครามเทคโนโลยี ที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะในเรื่องการช่วงชิงแหล่งทรัพยากร ซึ่งนั่นจะเป็นการเปิดความขัดแย้งในพื้นที่ภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นไซเบอร์สเปซ, อวกาศ (โดยเฉพาะดวงจันทร์), พื้นดินใต้ท้องทะเล รวมทั้งพื้นที่ขั้วโลก (อ่านเพิ่มเติมเพื่อเข้าใจเครื่องมือในการดำเนินนโยบายเศรษฐสงครามของสหรัฐฯ ได้ในบทที่ 11 สหรัฐอเมริกา: ผู้นำตลอดกาลที่ยอมทรยศแม้แต่ตนเอง แต่ไม่ยอมให้โลกทรยศต่อตน หนังสือ สมรภูมิพลิกอำนาจโลก Amidst the Geo-Political Conflicts สำนักพิมพ์มติชน)

 

ภาคอสังหาริมทรัพย์จีนจะกลับมาฟื้นหรือไม่

 

ถ้าเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักของโลกมี 4 เครื่องยนต์ 3 เครื่องยนต์หลักจะหมายถึงจีนที่ครองส่วนแบ่งประมาณ 18.7% (และจะใหญ่กว่านี้หากรวมเศรษฐกิจของฮ่องกงเข้าไปด้วย) ต่อมาคือสหรัฐอเมริกา ครองส่วนแบ่งอันดับที่ 2 ประมาณ 15.9% และอันดับที่ 3 ได้แก่ สหภาพยุโรป รวมกับสหราชอาณาจักร ที่ 15.2% 

 

โดยเครื่องยนต์ที่ 4 คือประเทศอื่นๆ ที่เหลือที่รวมกันอีกประมาณครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจโลก จะเห็นได้ว่าในปี 2024 ทั้งสามเครื่องยนต์หลักคือ จีน สหรัฐอเมริกา และยุโรป ต่างก็ยังคงอยู่ในภาวะเศรษฐกิจทรงตัว (ยุโรปบางประเทศอาจจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยด้วยซ้ำ) 

 

ในขณะที่จีนเอง แม้ว่าเศรษฐกิจในภาคอื่นๆ จะเข้าสู่ภาวะปกติและเริ่มต้นขยายตัวมาตั้งแต่ปี 2023 หากแต่ภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนยังคงอยู่ในสภาวะถดถอย และส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจจีน เพราะอสังหาริมทรัพย์คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 ใน 3 ของมูลค่าระบบเศรษฐกิจของจีน ดังนั้น หากอสังหาริมทรัพย์ยังเป็นขาลง เศรษฐกิจก็จะยังอยู่ในภาวะซึมๆ ทรงๆ นั่นเท่ากับว่าปี 2024 เศรษฐกิจโลกจะอยู่ในภาวะซึมๆ ต่อเนื่อง

 

คำถามที่สำคัญคือ แล้วเมื่อไรภาคอสังหาริมทรัพย์จีนจะกลับมาทะยานอีกครั้ง โดยปกติภาคอสังหาริมทรัพย์มีข้อดีคือเป็นภาคธุรกิจที่จับต้องได้ นั่นคือมีที่ดิน มีอาคาร มีสิ่งปลูกสร้าง ดังนั้น ในช่วงขาลงหากราคาตกต่ำลงไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งที่ลูกค้ารู้สึกว่าคุ้มค่าพอ พวกเขาก็จะกลับเข้าไปซื้ออสังหาริมทรัพย์เหล่านี้อีกครั้ง เมื่อเงินไหลเข้าไป อาคารที่สร้างยังไม่เสร็จก็จะสร้างต่อ ห่วงโซ่อุปทานในการขายวัสดุอุปกรณ์และบริการต่างๆ ก็จะหมุนได้อีกครั้ง

 

แต่คำถามที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ แล้วตอนนี้อสังหาริมทรัพย์ของจีนถึงจุดต่ำสุดที่คนจะเริ่มเข้ามาช้อนซื้อกันอีกรอบหรือยัง คำตอบคือ ไม่ทราบ ทั้งนี้ เพราะปกติผู้ที่จะส่งสัญญาณว่าถึงจุดต่ำสุดแล้วก็คือรัฐบาล ซึ่งมักจะส่งสัญญาณโดยเข้ามาอุ้มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผ่านการเข้ามา Bail Out เข้ามาบริหารจัดการหนี้ของภาคเอกชน โดยผ่อนถ่ายหนี้บางส่วนให้กลายเป็นของรัฐ นั่นจะเป็นการส่งสัญญาณให้ประชาชนทราบว่านี่คือ ‘จุดต่ำสุดแล้ว เข้ามาซื้อของได้แล้ว’

 

หากแต่ในจีน รัฐบาลยังไม่ออกมาส่งสัญญาณดังกล่าว ทั้งนี้ เพราะต้องอย่าลืมว่ารัฐบาลจีนมีนโยบายชี้นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ยึดมั่นในระบบสังคมนิยมอัตลักษณ์จีนสำหรับยุคใหม่ตามแนวคิดสีจิ้นผิง ที่ปัจจุบันมีค่านิยมหลักคือ ‘ความมั่งคั่งรุ่งเรืองร่วมกัน (Common Prosperity)’ ดังนั้น การให้รัฐเข้ามาอุ้มคนรวยที่เป็นเจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จึงขัดแย้งกับแนวคิดดังกล่าว และเมื่อรัฐบาลยังไม่ส่งสัญญาณ สิ่งที่ชาวจีนส่วนใหญ่นิยมทำกันอย่างยิ่งคือเก็บเงิน เก็บอยู่ และเก็บต่อ เพราะพิจารณาว่า ‘เงินที่เก็บวันนี้อาจจะซื้อคอนโดมิเนียมร้างๆ ได้ 2 ยูนิต’ แต่ถ้าราคาลงต่อ เงินเท่าเดิมอาจจะซื้อได้ 3 ยูนิต ‘ไม่สิ ถ้าเรายิ่งเก็บเงินเพิ่ม ดีไม่ดีเราอาจจะซื้อได้ 4 ยูนิตเลยนะ และเมื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กลับมาหันหัวขึ้นอีกครั้งเราจะเป็นเศรษฐี’ นั่นทำให้คนส่วนใหญ่ออมเงิน ลดการใช้จ่าย เกิดภาวะกับดักเงินออม เงินไหลออกจากระบบไปเก็บไว้เฉยๆ ภาวะใกล้เคียงกับภาวะเงินฝืดจึงเกิดขึ้นในจีน

 

คำถามที่สำคัญที่สุดคือ แล้วเมื่อไรรัฐบาลจีนจะได้ไฟเขียวจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนให้เข้ามาอุ้มอสังหาริมทรัพย์เสียที เพื่อส่งสัญญาณให้ประชาชนเข้าซื้อ แล้วธุรกิจในภาคนี้ก็จะกลับมาขยายตัวอีกครั้ง 

 

ผู้เขียนพิจารณาว่า ช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะเปลี่ยนนโยบายยอมเข้าอุ้มภาคอสังหาริมทรัพย์คือต้นเดือนมีนาคม 2024 เพราะทุกต้นเดือนมีนาคมสาธารณรัฐประชาชนจีนจะจัดการประชุมที่สำคัญที่สุด 2 การประชุมต่อเนื่องกัน นั่นคือการประชุมสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งประชาชนจีน (Chinese People’s Political Consultative Conference: CPPCC) และการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (National People’s Congress: NPC) 

 

ดังนั้น คนจีนจึงนิยมเรียกการประชุมคู่ขนานทั้งสองครั้งนี้ว่า ‘เหลี่ยงฮุ่ย’ ซึ่งแปลว่าการประชุมสองวาระ ด้วยเหตุนี้หากสภาที่ปรึกษาทางการเมืองฯ ซึ่งประกอบขึ้นจากตัวแทนจำนวนกว่า 2,200 คน จากทุกภาคส่วนทั้งข้าราชการ เอกชน นักวิชาการ กลุ่มชาติพันธุ์ ตัวแทนคนจีนโพ้นทะเล ฯลฯ ส่งสัญญาณไปที่พรรคว่าเราต้องการสิ่งนี้ แล้วส่งผ่านไปยังสภาประชาชนฯ ให้ออกกฎหมายมารองรับ รัฐบาลจีนก็จะสามารถส่งสัญญาณให้ประชาชนจีนทราบได้ว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์จะกลับมาแล้ว (อ่านเพิ่มเติมเพื่อเข้าใจระบบและแนวคิดของจีนได้ในบทที่ 6 ถอดบทเรียนพัฒนาการเศรษฐกิจผ่าน 100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์จีนและผู้นำ 5 รุ่น และบทที่ 7 ย้อนอดีต มองอนาคต: จีนกับการขึ้นเป็นมหาอำนาจใหม่ ในหนังสือ ไทยในระเบียบโลกใหม่ Amidst the New World Order สำนักพิมพ์มติชน)

 

ความเสี่ยงจากการก่อหนี้เพิ่มของสหรัฐฯ และนโยบายการเงินการคลังที่ ‘ไม่รับผิดชอบ’

 

แล้วเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักเครื่องยนต์ที่ 2 อย่างสหรัฐอเมริกามีประเด็นอะไรต้องจับตาในปี 2024 นอกจากประเด็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีในช่วงปลายปี ผู้เขียนพิจารณาว่าประเด็นที่น่าห่วงกังวลที่สุดคือ การดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายการคลังที่ไม่รับผิดชอบของสหรัฐอเมริกาเอง กำลังจะนำพาให้นานาประเทศลดการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐ และหันไปค้าขายด้วยเงินสกุลท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น หรือแม้กระทั่งสร้างความร่วมมือในการวางระบบปริวรรตเงินตราขึ้นมาใหม่เฉพาะในกลุ่มของตนเอง

 

ณ เดือนธันวาคม 2023 สหรัฐอเมริกามีหนี้สาธารณะสะสมสูงกว่า 33 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ GDP ของสหรัฐอเมริกาปี 2023 อยู่ที่ 26.95 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นั่นหมายความว่าเฉพาะรัฐบาลสหรัฐอเมริกาผู้เดียวก็ก่อหนี้เกินตัว เกินกว่าที่คนอเมริกันทั้งประเทศหาเงินได้ไปแล้วกว่า 122.82% 

 

และในปี 2024 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาต้องออกพันธบัตรมา Roll-Over หรือใช้หนี้เก่า (เหมือนกดเงินจากบัตรเครดิตใบที่ 2 มาจ่ายยอดขั้นต่ำให้บัตรเครดิตใบแรก) จำนวนกว่า 7.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อรวมกับเงินที่ต้องกู้เพิ่มเพื่อปิดยอดรายจ่ายงบประมาณภาครัฐที่ขาดดุลงบประมาณ (ใช้จ่ายมากกว่าที่ได้รายรับจากภาษี) รัฐบาลสหรัฐอเมริกาอาจต้องออกพันธบัตรหรือกู้เงินเพิ่มอีกมากกว่า 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ยิ่งรวมกับสถานการณ์ความไม่มั่นคง สงครามที่เกิดขึ้นทั่วโลก รัฐบาลสหรัฐอเมริกายิ่งมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินเพิ่ม และอาจจะต้องก่อหนี้มากกว่านี้

 

คำถามคือ ถ้าจะกู้เงินมากมายมหาศาล ในขณะที่หลายๆ ประเทศนำโดยจีน มีนโยบายในการลดการถือครองพันธบัตรสหรัฐอเมริกาอย่างมีนัยสำคัญ จะเท่ากับว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกาอาจต้องเสนออัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลในอัตราที่สูงมาก เพื่อดึงดูดให้ประเทศอื่นๆ หรือกองทุนต่างๆ มาซื้อพันธบัตรเพื่อหวังผลตอบแทนสูงๆ และหากทำเช่นนั้นคำถามต่อมาคือ แล้วสหรัฐอเมริกาจะมีปัญญาใช้เงินคืนได้หรือไม่ในอนาคต

 

หรือสหรัฐอเมริกาอาจต้องใช้นโยบายการเงินในการพิมพ์เงินเพิ่มเพื่อเทใส่ในระบบ เพื่อเพิ่มปริมาณเงิน ลดอัตราดอกเบี้ยลง หรือทำ QE (Quantitative Easing) อีกรอบ แต่หากทำ QE อีก โดยที่ในระบบยังมีปริมาณล้นเกินอยู่อีกกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นั่นก็จะยิ่งทำให้เงินเฟ้อรุนแรงขึ้น โดยนักวิเคราะห์หลายๆ สำนักประมาณการว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐอเมริกาปัจจุบันอยู่ที่ 3-5% อยู่แล้ว ทั้งที่ก่อนหน้านี้ผู้ว่าการธนาคารกลางแจ้งว่า ต้องลดปริมาณเงิน ขึ้นดอกเบี้ย เพื่อดึงเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 2% ให้ได้

 

จะเห็นได้ว่าสหรัฐอเมริกากำลังเข้าสู่ทางตัน จากนโยบายการเงินการคลังที่ไม่มีความรับผิดชอบของตนเอง ด้านหนึ่งอยากลดดอกเบี้ย เพื่อจะกู้เงินได้ด้วยต้นทุนต่ำ และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่อีกด้านก็ต้องขึ้นดอกเบี้ย ลดปริมาณเงิน เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ 

 

แต่ไม่ว่าจะใช้นโยบายไหน ประชาคมนานาชาติก็ได้รับผลกระทบทางลบ นั่นคือหากสหรัฐอเมริกาลดดอกเบี้ย เพิ่มปริมาณเงิน ประชาคมนานาชาติก็ต้องสุ่มเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อ ในทางตรงกันข้าม หากสหรัฐอเมริกาขึ้นดอกเบี้ย ลดปริมาณเงิน ประชาคมนานาชาติก็ต้องสุ่มเสี่ยงกับภาวะเงินทุนไหลออกจากประเทศของตน และอัตราแลกเปลี่ยนที่แกว่งตัว

 

นั่นทำให้ในปี 2024 เชื่อว่าจะมีอีกหลากหลายประเทศในโลกที่ต้องเริ่มต้นศึกษาแนวทางการลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐลง ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมกับการที่เงินดอลลาร์สหรัฐถูกออกแบบให้เป็นเครื่องมือในการบังคับใช้สิทธิสภาพนอกอาณาเขต (Extraterritorial Jurisdiction) ของกฎหมายสหรัฐอเมริกาในประเทศอื่นๆ และใช้เป็นอาวุธในบริบทความขัดแย้งระหว่างประเทศ (อ่านเพิ่มเติมเพื่อเข้าใจเครื่องมือในการดำเนินนโยบายเศรษฐสงคราม และการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นอาวุธของสหรัฐอเมริกาได้ในบทที่ 10 ความขัดแย้งใหม่ในบริบทภูมิรัฐศาสตร์ หนังสือ สมรภูมิพลิกอำนาจโลก Amidst the Geo-Political Conflicts สำนักพิมพ์มติชน)

 

ภาวะโลกเดือด

 

ประเด็นวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศที่กำลังถูกบิดเบือน ภาวะโลกร้อน ภาวะโลกเดือด คือสิ่งที่ทั่วทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศร่ำรวย หรือประเทศยากจน กำลังเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ประเทศภาคีมีพันธะผูกพันให้ต้องดำเนินการร่วมกันในการแก้วิกฤตครั้งนี้ 

 

ตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุสำคัญของวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศคือการใช้พลังงานจากซากพืชซากสัตว์ (Fossil Based Energy) โดยเฉพาะน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน หากแต่เมื่อพิจารณาประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ที่กล่าวมาตั้งแต่ต้น ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วโลกทำให้ทุกประเทศยิ่งต้องสำรองพลังงาน และแหล่งพลังงานที่จัดเก็บได้ง่าย ต้นทุนต่ำ และแทบจะไม่เกิดการสูญเสีย ก็คือน้ำมันเชื้อเพลิง (อย่าลืมว่ารถถัง เรือรบ เรือดำน้ำ เครื่องบินรบ ล้วนแล้วแต่เติมน้ำมันด้วยกันทั้งสิ้น) นั่นทำให้ทุกประเทศต่างขยายปริมาณสำรองปิโตรเลียมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ ประเทศรายได้สูง และประเทศที่มีระดับพัฒนาการทางเศรษฐกิจสูง ที่นอกจากจะบริโภคพลังงานมหาศาลแล้ว ยังเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยต่อหัวประชากรสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย

 

ตามข้อตกลงภายใต้ UNFCCC ไม่ว่าจะเป็น Kyoto Protocol, Paris Agreement หรือผลการประชุมประเทศภาคี (COP) ในรอบต่างๆ สิ่งหนึ่งซึ่งได้รับการบ่ายเบี่ยงไม่ดำเนินการตลอดมานั่นคือ ประเทศร่ำรวยเหล่านี้ที่ถลุงทรัพยากรและสร้างมลพิษมาตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ต่างก็หลีกเลี่ยงที่จะสมทบกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) เต็มตามจำนวนที่ให้สัญญาไว้กับ UNFCCC

 

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือพลังงานฟอสซิลยังคงจะถูกใช้อยู่ต่อไป ในขณะที่เงินกองทุนที่จะช่วยเหลือให้ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุดได้ปฏิรูปการผลิตและการบริโภคให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็ยังไม่เกิดขึ้น หากแต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วแน่นอนคือ การที่ประเทศร่ำรวยเหล่านี้มีแนวโน้มจะใช้ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างข้อกีดกันทางการค้า 

 

ปี 2024 มาตรการ Corporate Sustainability Due Diligence (CSDD), Deforestation-Free Product และ Ecodesign for Sustainable Products Regulation (ESPR) จะมีผลบังคับใช้โดยสหภาพยุโรป ภายใต้นโยบาย European Green Deal โดยเลือกที่จะบังคับใช้ในภาคการผลิตสินค้า ที่บางรายการแทบจะผลิตไม่ได้ด้วยซ้ำในยุโรป เช่น น้ำมันปาล์ม, ถั่วเหลือง, ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้, ปศุสัตว์, โกโก้, กาแฟ, สิ่งทอ, เครื่องนุ่งห่ม แต่กลับเป็นสินค้าที่ผลิตมหาศาลในประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุด และเชื่อว่าก่อนการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา Climate Act ก็จะออกมาบังคับใช้เช่นกัน และมาตรการทางการค้าเหล่านี้ (แน่นอนว่าจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม) ก็ถูกพิจารณาว่าเป็นการซ้ำเติมประเทศยากจน ประเทศกำลังพัฒนา และประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (ทำความรู้จัก European Green Deal ได้ในบทที่ 10 ความขัดแย้งใหม่ในบริบทภูมิรัฐศาสตร์ หนังสือ สมรภูมิพลิกอำนาจโลก Amidst the Geo-Political Conflicts สำนักพิมพ์มติชน)

 

และนี่คือ 9 เรื่องที่ต้องเฝ้าระวังในปี 2024

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร, Getty Images

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X