วันนี้ (9 มิถุนายน) อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ถึงเหตุผลความจำเป็นของการต้องตราพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ 2564 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้แล้วในวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 โดยใช้เวลาประมาณ 20 นาที ว่า
จากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีบทบาทอย่างต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชนและต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างหนักหน่วงและกว้างขวาง เป็นสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขโดยด่วนและต่อเนื่องกับการแก้ปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้ดำเนินการอยู่ จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้
เพื่อประโยชน์ในการที่จะรักษาความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ และป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้ บนตัวเลขวงเงินกู้ 5 แสนล้านบาท โดยเป็นการใช้จ่ายภายใต้ 3 แผนงาน ประกอบด้วย โครงการเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 30,000 ล้านบาท โครงการเพื่อช่วยเหลือเยียวยาและชดเชยให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพที่ได้รับผลกระทบ 300,000 ล้านบาท และโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบอีก 170,000 ล้านบาท
ทั้งนี้อาคมยังย้ำว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้แก้ไขสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดมาอย่างต่อเนื่องผ่านแหล่งเงินทุนภายใต้กรอบกฎหมายที่มีอยู่ ทั้งในส่วนของการจัดสรรงบกลาง แหล่งเงินภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินโควิด-19 แต่พบว่ายังไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาการระบาดระลอกใหม่นี้ได้ สำหรับการโอนเงินงบประมาณรายจ่าย พ. ศ. 2564 เนื่องจากสำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยงานของรัฐตามแผนการใช้จ่ายจริงในแต่ละไตรมาส จึงทำให้ไม่มีวงเงินงบประมาณเหลือสำหรับการโอนเงินงบประมาณได้ อีกทั้งเงินทุนสำรองจ่ายที่เหลืออยู่ก็มีไม่เพียงพอเช่นกัน
สำหรับการจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมในงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 รัฐบาลก็ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากการจัดเก็บรายได้มีข้อจำกัดและได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และหากจะรอแหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ก็จะไม่ทันต่อการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนและผู้ประกอบการโดยทันที
ดังนั้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นของประเทศให้กลับมาสู่สภาวะปกติโดยเร็ว รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องใช้เงินอย่างเร่งด่วนในการแก้ไขสถานการณ์และหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งงบประมาณดังกล่าวไม่อาจดำเนินการให้ได้มาโดยวิธีการงบประมาณตามปกติ จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ และเป็นทางเลือกสุดท้ายของรัฐบาลในการตราพระราชกำหนดฉบับนี้ ซึ่งขั้นตอนการกู้เงินกระทรวงการคลังจะต้องลงนามในสัญญากู้เงินหรือออกตราสารหนี้ไม่เกินวันที่ 30 กันยายน 2565 โดยการใช้จ่ายจะต้องเป็นไปตาม 3 แผนงานที่กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ในบัญชีพระราชกำหนดเท่านั้น
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ