×

2019 ปีสุดท้ายของยุค 10s บทสรุปแห่งทศวรรษที่การผลิตดนตรีมีความพลิกผันสูงสุด

24.01.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

12 Mins. Read
  • วัฏจักรแห่งการปฏิวัติได้วนกลับมาอีกครั้งด้วยดนตรีที่สร้างขึ้นโดยกลุ่มคนที่แทบไม่เคยจับเครื่องดนตรีเลยสักชิ้น! แล้วมันออกมาเป็นเพลงได้อย่างไร
  • ถ้าจะให้ยกตัวอย่างซอฟต์แวร์ดนตรีที่ถือเป็นนวัตกรรมทางความคิดที่เด่นชัดที่สุดในยุคนี้น่าจะต้องยกให้ ‘Ableton Live’ จากประเทศเยอรมนี
  • ดนตรีสมัยใหม่หลายๆ เพลงอาจไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาจากการแจมกันในห้องซ้อมหรือห้องบันทึกเสียง แต่มันถูกสร้างขึ้นได้จากทุกที่ โดยสื่อที่ใช้ก็คือคอมพิวเตอร์พกพากับซอฟต์แวร์ต่างๆ
  • ในปี 2007 ได้กำเนิดศิลปินสังเคราะห์คนแรกทั้งภาพและเสียงจากซอฟต์แวร์ที่ชื่อ Vocaloid โดยใช้ชื่อว่า ฮัตสึเนะ มิกุ โดยที่ชื่อนี้แปลเป็นไทยแบบตรงตัวได้ว่า ‘เสียงแรกแห่งอนาคต’ นับเป็นศิลปินคนแรกที่สร้างขึ้นมาจากคอมพิวเตอร์ทั้งหมด   
  • “รางวัลของการเล่นดนตรีก็คือการที่เราได้เล่นมันนั่นแหละเว้ย” เดฟ โกรห์ล วง Foo Fighters ให้สัมภาษณ์ไว้
  • เมื่อเวลาผ่านไป ดนตรีแนวกดปุ่มแบบปัจจุบันก็จะกลายเป็นเพียงอีกแนวเพลงหนึ่งโดยไม่ต้องมีใครมาตัดสิน เหมือนกับที่ยุคหนึ่งดนตรีแนวนูเมทัลเคยเป็นที่นิยมอย่างหนัก แต่ตอนนี้มันก็กลายเป็นแค่อีกหนึ่งแนวดนตรีบนโลกที่เกิดขึ้นในยุค 2000s

เมื่อต้นยุค 90s เคิร์ต โคเบน ได้ออกมาประกาศให้โลกรู้ว่าดนตรีไม่จำเป็นต้องเล่นให้มันยากก็ได้นี่หว่า เสียงกีตาร์ดิบๆ สากๆ สไตล์กรันจ์แบบ Nirvana ได้ทำให้วัยรุ่นค่อนโลกเกิดแรงบันดาลใจในการหยิบกีตาร์ขึ้นมาสับคอร์ดเพลงโครงสร้างง่ายๆ อย่าง Smells Like Teen Spirit เกิดเป็นแรงขับให้เกิดวงดนตรีใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย จนพวกนักดนตรีสายเนี้ยบที่เคยจับจองพื้นที่ในยุค 80s อดไม่ได้ที่จะออกมากระแนะกระแหน เมื่อการฝึกปั่นดนตรียากๆ มาทั้งชีวิตของเขาไม่สามารถต้านแรงสับคอร์ดกระท่อนกระแท่น 3 คอร์ดของก๊วนเด็กอัลเทอร์เนทีฟไปได้

 

ผ่านไป 20 ปี วัฏจักรแห่งการปฏิวัติได้วนกลับมาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ไม่ได้มากับดนตรีกรันจ์ 3-4 คอร์ด แต่มันกลับมาด้วยดนตรีที่สร้างขึ้นโดยกลุ่มคนที่แทบไม่เคยจับเครื่องดนตรีเลยสักชิ้น! แล้วมันออกมาเป็นเพลงได้อย่างไรกัน

 

คำตอบคือเทคโนโลยีนั่นเอง มันเป็นตัวแปรสำคัญที่เปลี่ยนกระบวนการผลิตเพลงไปตลอดกาล ถึงขั้นที่ว่าความรู้เรื่องทฤษฎีดนตรีไม่สำคัญเท่าจินตนาการ ตราบใดที่สมองคิดออกมาได้ การลงมือทำก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ และเทคโนโลยีได้ทำให้ยุค 10s กลายเป็นทศวรรษที่วิธีการผลิตงานดนตรีมีความยืดหยุ่นสูงสุดเท่าที่เคยมีมา

 

 

 

ซอฟต์แวร์เปลี่ยน วิธีคิดก็เปลี่ยน

เป็นระยะเวลาประมาณเกือบ 30 ปีแล้วที่ระบบการบันทึกเสียงโดยใช้คอมพิวเตอร์ได้เข้ามาลงหลักปักฐานในอุตสาหกรรมดนตรี ซึ่งในช่วงแรกการใช้ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์เป็นเพียงสื่อชนิดใหม่ที่ถูกนำมาแทนที่การบันทึกเสียงลงม้วนเทปอันแสนลำบาก และได้ถูกพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ ให้ใช้ในการแต่งเพลง จนกระทั่งใช้ปิดงานเพลงทุกขั้นตอนได้เบ็ดเสร็จในที่สุด แต่นั่นเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น

 

ซอฟต์แวร์ใหม่ๆ ได้พยายามเอื้ออำนวยให้โปรดิวเซอร์และนักแต่งเพลงน้อยใหญ่สามารถดึงไอเดียออกมาจากสมองได้ง่ายขึ้น และช่วยทำลายกำแพงอิสรภาพทางความคิดสร้างสรรค์ให้ไม่มีขอบเขตอีกต่อไป

 

ถ้าให้ยกตัวอย่างซอฟต์แวร์ดนตรีที่ถือเป็นนวัตกรรมทางความคิดที่เด่นชัดที่สุดในยุคนี้น่าจะต้องยกให้ ‘Ableton Live’ จากประเทศเยอรมนี ด้วยวิธีการออกแบบ User Interface สำหรับการทำเพลงแบบใหม่ให้ไปได้รอบทิศทาง กลับหน้ากลับหลัง ขึ้นบนลงล่าง ทแยงเฉียง หรือแม้กระทั่งสุ่มแรนดอมตามยถากรรมแล้วลองฟังผลลัพธ์เอาก็ยังได้

 

 

เพลงฮิตใหม่ๆ ที่เราได้ยินได้ฟังกันทุกวันนี้ โดยเฉพาะแนวฮิปฮอป อีดีเอ็ม แทร็ป และดนตรีสังเคราะห์ตามสมัยนิยมกว่าครึ่งตลาดล้วนถูกสร้างขึ้นมาจาก Ableton Live เป็นเครื่องมือหลัก ตัวอย่างศิลปินและโปรดิวเซอร์ที่ใช้มัน ได้แก่ Diplo, Skrillex, Deadmau5, The Chainsmokers ฯลฯ และที่น่าตกใจคือแม้แต่เจ้าพ่อสายเรโทรอิเล็กทรอนิกส์ผู้คลั่งไคล้ความย้อนยุคอย่าง Daft Punk ก็ยังเคยให้สัมภาษณ์ว่าพวกเขาใช้ Ableton Live เป็นซอฟต์แวร์หลักในการทำเพลง

 

โทมัส แบงกอลเตอร์ สมาชิกวง เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ผมใช้มันเป็นเหมือนซอฟต์แวร์ Notepad ทางดนตรีน่ะ คือเอาไว้บันทึกไอเดียและทดลองเล่นแร่แปรธาตุต่างๆ และผมยังเล่นมันแทนวิดีโอเกมด้วยนะ” ได้ฟังเช่นนี้ถึงกับงงกันเลยทีเดียวว่า Ableton Live มันเป็นวิดีโอเกมได้ด้วยหรือ “คือหมายความว่าผมสนุกกับการใช้งานมันมากกว่าการเล่นวิดีโอเกมใดๆ หลายเท่าน่ะ” โทมัสเสริม

 

 

 

โทรศัพท์มือถือใช้แต่งรูปได้ แล้วยังใช้แต่งเพลงได้ด้วยนะ

สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเป็นอีกนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้เราในหลายๆ ด้าน รวมไปถึงการเป็นเครื่องมือแต่งเพลงแบบพกพาด้วย ปัจจุบันมีแอปฯ มากมายสำหรับทำดนตรีบน iOS และ Android และเริ่มใช้งานจริงได้มากขึ้นเรื่อยๆ

 

หากย้อนกลับไปสัก 6-7 ปี แอปฯ แต่งเพลงในสมัยนั้นเป็นเหมือนของเล่นเสียมากกว่า เพราะมันยังใช้งานได้ไม่สะดวกนัก จนกระทั่งเวลาผ่านไปเพียงไม่กี่ปี เหล่าผู้พัฒนาแอปฯ เริ่มคำนึงถึงการใช้แอปฯ ร่วมกับคอมพิวเตอร์เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่สามารถถ่ายโอนงานข้ามไปมาระหว่างสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ได้ และด้วยสเปกซีพียูที่แรงขึ้นในเครื่องมือรุ่นใหม่ๆ เช่น iPad Pro ทำให้อนาคตของการทำดนตรีบนแท็บเล็ตราบรื่นขึ้นอย่างมากมาย

 

บริษัทผลิตเครื่องดนตรีชื่อดังหลายค่ายเริ่มทยอยหันมาพัฒนาแอปฯ ภายใต้แบรนด์ของตัวเองมากขึ้นและจริงจังขึ้นเรื่อยๆ ที่เห็นชัดเจนที่สุดน่าจะเป็นบริษัท KORG ที่เริ่มต้นก่อนใครๆ KORG เริ่มเปิดตลาดด้วยการจับเอาซินธิไซเซอร์และบีตบ็อกซ์รุ่นตำนานที่เป็นหน้าเป็นตาของแบรนด์ตั้งแต่ยุค 80s-90s มาจำลองให้อยู่ในรูปแบบของแอปฯ ใน iOS โดยตั้งชื่อแอปฯ ตามชื่อรุ่นดั้งเดิมของเครื่องนั้นๆ แล้วใส่ตัวอักษร i ไว้ข้างหน้าให้ฟังดูเก๋ๆ เช่น iPolysix, iMS-20, iM1, iMono/Poly ฯลฯ

 

หลังจากนั้น KORG จึงเริ่มพัฒนาแอปฯ ใหม่ชื่อว่า ‘KORG Gadget’ ให้ใช้งานจริงจนจบในตัวได้ และมันก็เป็นที่นิยมจนทางบริษัทต้องพัฒนาแอปฯ ตัวนี้ในเวอร์ชันสำหรับ macOS และ Nintendo Switch ตามมาติดๆ เพื่อให้การทำดนตรีข้ามแพลตฟอร์มเป็นไปได้อย่างสะดวกสบายขึ้น

 

 

 

นอกจากนี้ยังมีแอปฯ เชิงสนับสนุนที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับโปรดิวเซอร์และนักดนตรีออกมาอีกมากมาย เช่น แอปฯ ที่ใช้เป็นรีโมตคอนโทรลร่วมกับคอมพิวเตอร์ ทำให้เราไม่จำเป็นต้องอยู่ที่หน้าแป้นคีย์บอร์ดก็สามารถปรับค่าต่างๆ ได้จากทัชสกรีนบน iPhone หรือ iPad และส่งสัญญาณผ่านบลูทูธหรือไวไฟไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ แอปฯ ที่เป็นที่นิยม ได้แก่ TouchOSC, Conductr, DAW Control เป็นต้น   

 

ยิ่งไปกว่านั้น อุปกรณ์ดนตรีใหม่หลายๆ รุ่นก็ออกมาพร้อมแอปฯ ประจำตัวเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการตั้งค่าหรือแม้กระทั่งเซฟเสียงไว้ในสมาร์ทโฟนเลยก็ยังได้

 

 

 

ไฮเทคขนาดนี้แล้วมันมีผลกับแนวดนตรีอย่างไรกันนะ

มันก็เหมือนเราได้วัสดุใหม่ๆ มาใช้ในการถ่ายทอดผลงานนี่แหละ อย่างจิตรกรที่เคยใช้กระดาษ ผืนผ้าใบ หรือฝาผนังเป็นพื้นผิว ใช้สีน้ำ สีน้ำมัน หรือแอร์บรัชเป็นเครื่องละเลง ตอนนี้ก็มีอุปกรณ์ใหม่ๆ อย่าง Apple Pencil กับ iPad มาให้เลือกใช้ ซึ่งผิวสัมผัสย่อมต่างไปจากความสากของผืนผ้าใบ และความเข้มของสีก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณของน้ำที่ผสมลงไป

 

ดนตรีสมัยใหม่หลายๆ เพลงอาจไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาจากการแจมกันในห้องซ้อมหรือห้องบันทึกเสียง แต่มันถูกสร้างขึ้นได้จากทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นในห้องนอน บนรถไฟฟ้าขณะเดินทาง หรือแอบเกิดขึ้นหลังห้องเรียนวิชาอันน่าเบื่อในมหาวิทยาลัย โดยสื่อที่ใช้ก็คือคอมพิวเตอร์พกพากับซอฟต์แวร์ต่างๆ ตามสมัยนิยม ซึ่งมีผลอย่างมากกับรูปแบบของงานที่ออกมาเป็นผลลัพธ์ ‘สำเนียงดิจิทัล’ จึงได้ถือกำเนิดขึ้น และได้ฤกษ์ลงหลักปักฐานเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้นมา ณ ทศวรรษนี้นี่เอง

 

‘สำเนียง’ เป็นคุณลักษณะสำคัญในการบ่งชี้ถึงพื้นเพและแนวดนตรีของศิลปิน สำเนียงในที่นี้หมายรวมทั้งการขับร้อง การเล่นเครื่องดนตรี ไปจนถึงภาพรวมของเสียงทั้งหมดที่ประกอบกันออกมาเป็นเพลงเพลงหนึ่ง

 

ยุคนี้อาจจะไม่มีสำเนียงกีตาร์ที่ดุดันอย่าง จิมมี่ เฮนดริกซ์ หรือเต็มไปด้วยจิตวิญญาณจากแรงบดขยี้เส้นลวดของ คาร์ลอส ซานตานา ไม่มีการเปล่งสำเนียงสูงต่ำอันทรงพลังแบบ เฟรดดี เมอร์คิวรี หรือวิตนีย์ ฮุสตัน ในเมื่อเรามีวิทยาการเป็นของเล่นใหม่มาให้บิดโน่นจิ้มนี่ ปรับให้เกิดสำเนียงที่ไม่เคยมี บวกกับสัญชาตญาณเดิมของมนุษย์ที่ยังคงชอบซุกซนปนสร้างสรรค์ จึงนำไปสู่สำเนียงประหลาดมากมายโดยที่ขอบฟ้าไม่ใช่จุดสิ้นสุดเขตแดนอีกต่อไป

 

 

ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือเทคโนโลยีบางอย่างที่เคยถูกคิดค้นมาเพื่อปรับปรุงแก้ไขความไม่สมบูรณ์แบบของเสียง เช่น ซอฟต์แวร์ Auto-Tune ที่เอาไว้ใช้ตกแต่งเสียงร้องที่ผิดเพี้ยนให้ตรงโน้ต ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าเราจะตกแต่งอย่างไรให้ฟังดูเป็นธรรมชาติเหมือนเสียงจริงที่สุด ขึ้นอยู่กับความชำนาญของผู้ใช้ แต่ปัจจุบันกลับถูกนำมาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดสำเนียงใหม่ๆ โดยจงใจใช้มันปรับเสียงให้ฟังดูผิดธรรมชาติเป็นหุ่นยนต์ไปเลย โดยมองว่ามันเป็นเครื่องมือสำหรับ Sound Design ซึ่งเป็นการใช้ทักษะคนละด้านกับจุดประสงค์ดั้งเดิมของมัน

 

ปัจจุบันมีหลากหลายศิลปิน โดยเฉพาะแนวฮิปฮอปที่ใช้เทคนิค Auto-Tune อันผิดธรรมชาตินี้จนกลายเป็นเอกลักษณ์ไปเสียแล้ว เช่น will.i.am, Future, Lil Wayne, T-Pain หรือแม้กระทั่งในอัลบั้มล่าสุดของวงป๊อปร็อกมาแรงอย่าง The 1975 ก็ไม่พลาดที่จะอินเทรนด์กับเทคนิคนี้ จนอดถูกกระแนะกระแหนไม่ได้ว่านี่มันเข้าทำนอง ‘wrong is new right’ หรือการทำสิ่งที่ผิดตามๆ กันจนมันกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องในที่สุด

 

แต่อย่างไรก็ตาม การตัดสินว่าอะไรถูกอะไรผิดในวงการศิลปะมันเป็นได้แค่เพียงข้อคิดเห็น ไม่สามารถฟันธงว่าเป็นข้อเท็จจริงได้ ต่างกับวงการจราจรที่การเปิดเลนใหม่บนไหล่ทางนั้นเป็นเรื่องที่ผิดตลอดกาลแน่นอน

 

 

 

Hatsune Miku เสียงแรกแห่งอนาคต

การปรับแต่งเสียงร้องให้ราวกับว่าเป็นเสียงหุ่นยนต์จากโลกอนาคตนั้น จริงๆ แล้วเริ่มมีการคิดค้นมาตั้งแต่ยุค 70s แล้ว โดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า Vocoder และเทคนิคนี้เป็นที่เฟื่องฟูอย่างมากในช่วงปลายยุค 70s จนถึงต้นยุค 80s มีเพลงฮิตที่ใช้ Vocoder อย่าง Mr. Blue Sky จากศิลปิน ELO และเพลง The Robots โดยวง Kraftwerk

 

จนกระทั่งในปี 2007 ได้กำเนิดศิลปินสังเคราะห์คนแรกทั้งภาพและเสียงจากซอฟต์แวร์ที่ชื่อ Vocaloid โดยผู้ผลิตได้สร้างออกมาเป็นแอนิเมชันคาแรกเตอร์เด็กผู้หญิงผมสีน้ำทะเล อายุ 16 ปี ที่เสียงร้องของเธอเป็นเสียงสังเคราะห์ภาษาญี่ปุ่นทั้งหมด โดยใช้ชื่อว่า มิกุ ฮัตสึเนะ (Miku Hatsune) แปลเป็นไทยแบบตรงตัวได้ว่า ‘เสียงแรกแห่งอนาคต’ นับเป็นศิลปินคนแรกที่ถูกสร้างขึ้นมาจากคอมพิวเตอร์ทั้งหมด   

 

ชื่อของมิกุโด่งดังไปทั่วญี่ปุ่นและขยับขยายไปทั่วโลกในที่สุด มีการจัดแสดงคอนเสิร์ตใหญ่เป็นเรื่องเป็นราวหลายครั้งโดยใช้ภาพโฮโลแกรมฉายภาพตัวเธอในการแสดงทั้งร้อง เต้น และยังเอ็นเตอร์เทนผู้ชมได้อีกต่างหาก โดยใช้นักดนตรีแบ็กอัปที่เป็นคนจริงๆ และหลังจากนั้นมิกุก็ได้ไปปรากฏตัวในที่ต่างๆ มากมาย เช่น ในวิดีโอเกมไปจนถึงในสนามแข่งรถ โดยการเป็น Race Queen ให้กับ BMW และ Porsche

 

 

 

ปรากฏการณ์ของมิกุเป็นเครื่องบ่งชี้ความเป็นไปได้อย่างบ้าระห่ำของโลกยุคนี้ เมื่อเพลงที่เป็นต้นฉบับของเธอได้ถูกศิลปินที่เป็นคนจริงนำไปคัฟเวอร์กันมากมาย เหตุการณ์นี้ยังถือว่าเบาะๆ เพราะยังมีที่น่าตกตะลึงมากกว่านี้คือมิกุเคยได้รับการออกแบบเสื้อผ้าที่ใช้ในการแสดงคอนเสิร์ตโอเปราโดยแบรนด์ระดับโลกอย่าง Louis Vuitton ซึ่งดีไซเนอร์ผู้รับหน้าที่การออกแบบในครั้งนั้นก็คือ มาร์ค เจคอบส์ ผู้โด่งดังและยังเป็นแฟนตัวยงของมิกุด้วย

 

ส่วนในด้านงานเพลงของมิกุก็ไปได้สวย โดยมีการเพิ่มเพลงเวอร์ชันภาษาอังกฤษและจีนขึ้นมาเพื่อเข้าถึงฐานแฟนเพลงที่กว้างขึ้น และเธอยังเคยได้รับโอกาสให้เป็นศิลปินที่เล่นเปิดให้กับคอนเสิร์ตของคุณแม่เลดี้ กาก้า และยังได้ไปร่วมฟีเจอริงในงานรีมิกซ์ของฟาร์เรลล์ วิลเลียมส์ อีกต่างหาก หรือแม้แต่รายการโทรทัศน์ชื่อดังแห่งอเมริกันชนอย่าง Late Show with David Letterman ก็ยังเคยเชิญมิกุไปทำการแสดงในรายการอีกด้วย

 

แต่เรื่องราวที่ทำให้เราตะลึงงันที่สุดน่าจะเป็นการที่มิกุได้แต่งงานกับหนุ่มแฟนคลับตัวยงที่เป็นคนจริงๆ ชาวญี่ปุ่นเมื่อปี 2018 โดยมีการออกทะเบียนสมรสรับรองอย่างเป็นทางการจากต้นสังกัดของเธอ ความรักเอยช่างไม่มีพรมแดน แม้กระทั่งกำแพงแห่งภพจริงกับภพเสมือนก็มิอาจขวางกั้น

 

 

แล้วจุดสมดุลระหว่างการทำดนตรีที่ใช้เทคโนโลยีล้วนๆ กับการทำดนตรีที่ยังคงไว้ซึ่งจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์อยู่ที่ตรงไหน

ความเปลี่ยนแปลงแบบปุบปับย่อมสร้างความฉงนงงงวยให้กับโลกดนตรีอย่างแน่นอน อะไรก็ตามที่เป็นงานศิลปะย่อมเป็นเรื่องปลายเปิดให้เกิดประเด็นถกเถียงกันไปนานาจิตตัง เมื่อเข้าสู่ยุคที่วงดนตรีแบบเล่นสดถูกแบ่งส่วนตลาดออกไป ถึงเวลาของชาวเนิร์ดที่ซุ่มบ่มเพาะวิชาอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ในห้องนอนได้ออกมาปรากฏตัวในโลกกว้างบ้าง โดยไม่ลืมที่จะหยิบคอมพิวเตอร์คู่ใจเครื่องเดิมเครื่องนั้นออกมาด้วยเพื่อใช้โชว์ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ในเฟสติวัลที่มีผู้ชมเป็นหลักหมื่นหลักแสน   

 

ใครจะไปคาดคิดว่า ณ วันหนึ่งจะมาถึงยุคที่ดีเจนิ้วชี้ฟ้า-ไหล่หนีบหูฟังจะก้าวขึ้นมาเป็นศิลปินเฮดไลน์ในเทศกาลดนตรีใหญ่ๆ ได้ เช่น แคลวิน แฮร์ริส ที่ได้เล่นเป็นศิลปินหลักในเวทีใหญ่สุดของเทศกาลดนตรี Summer Sonic ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2017 เทียบเท่ากับวงร็อกรุ่นใหญ่อย่าง Foo Fighters ที่ได้เล่นเป็นศิลปินหลักในเวทีเดียวกันในวันที่ 2 ของเทศกาล

 

 

พูดถึง Foo Fighters ก็อดไม่ได้ที่จะกล่าวถึงทัศนคติอันรุนแรงของป๋าเดฟ โกรห์ล นักร้องนำของวงที่มีต่อวงการดนตรีในยุคนี้ ป๋าแกได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์วงการเพลงอยู่เป็นระยะๆ อยู่แล้ว ตั้งแต่ช่วงที่รายการประกวดร้องเพลงกำลังเฟื่องฟูเมื่อ 5 ปีก่อน ป๋าเดฟบอกว่า “ถ้าพวกเอ็งอยากเป็นศิลปินก็จงรวมตัวกันกับเพื่อนฝูง หยิบเครื่องดนตรีคนละชิ้น เข้าไปหมกตัวซ้อมดนตรีกันในโรงรถ แล้วเล่นมันออกมาดังๆ โว้ย! ถึงแม้มันจะเริ่มต้นด้วยเสียงที่ห่วยแตกแค่ไหน แต่มันก็เป็นสิ่งที่สนุกสนานมิใช่รึ แล้วเมื่อถึงวันหนึ่งก่อนที่จะรู้ตัว พวกเอ็งก็จะกลายเป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่แบบวง Nirvana ไปแล้ว” ป๋าเดฟกล่าวถึงที่มาของวงดั้งเดิมของตนก่อนที่จะมาเป็น Foo Fighters

 

“ลองนึกดูสิว่าไอ้การยืนต่อแถวทั้งวันกับคน 800 คน แล้วรอที่จะเข้าไปร้องเพลงให้เขาฟังเพื่อตัดสินว่าเอ็งยังไม่เจ๋งพอเนี่ยนะ นั่นไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้เอ็งกลายเป็นศิลปินขึ้นมาได้หรอก”

 

หลังจากนั้นป๋าเดฟก็ได้ทำกิจกรรมหลายๆ อย่างเพื่อตอกย้ำถึงนิยามของความเป็นนักดนตรีแท้ๆ ที่ใกล้จะถูกลืมเลือน หนึ่งในนั้นคือไวรัลวิดีโอที่ตั้งใจออกมาจิกกัดดนตรีสมัยใหม่แนวจิ้มๆ เคาะๆ กดปุ่มเดียวก็เฟี้ยวได้อย่างจงใจ หลังจากที่วิดีโอนี้ถูกปล่อยลงในยูทูบก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในเชิงเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และมียอดผู้เข้าชมกว่า 5.6 ล้านครั้ง ซึ่งถ้ามองในแง่ดี คลิปนี้ก็ถือเป็นการตั้งคำถามปลายเปิดให้กับเราเกี่ยวกับทิศทางของดนตรีสมัยใหม่ที่กำลังเป็นอยู่นี้

 

 

และเมื่อปลายปี 2018 ป๋าเดฟก็ได้ทำโครงการ Play ซึ่งเป็นภาพยนตร์สารคดีเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองรางวัลแห่งการเป็นนักดนตรี และเป็นการท้าทายชีวิตที่ได้อุทิศให้กับการเล่นดนตรี โดยป๋าได้ทำการประพันธ์เพลงที่มีความยาวถึง 23 นาทีขึ้นมา และตั้งใจฝึกหัดเล่นเครื่องดนตรีทุกชิ้นเพื่อที่จะบรรเลงทุกเครื่องดนตรีเองในการบันทึกเสียงทั้งหมด

 

วัตถุประสงค์ของโครงการนี้คือต้องการแสดงให้เห็นถึงมนต์เสน่ห์ของการเล่นเครื่องดนตรี เรายิ่งเล่นก็ยิ่งรักมัน ต่อให้เราเล่นจนเก่งกาจขนาดไหน ยังไงก็ยังมีสิ่งที่ยังคงต้องค้นหาและเรียนรู้ในตัวมันไปไม่รู้จบ ป๋าเดฟกล่าวสรุปว่า “รางวัลของการเล่นดนตรีก็คือการที่เราได้เล่นมันนั่นแหละเว้ย” และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งเสียงใหญ่ๆ จากฝั่งที่ยังยืนหยัดเชื่อมั่นในการเล่นดนตรีสดมาจนถึงปัจจุบัน

 

 

**รับชมภาพยนตร์สารคดี Play ฉบับเต็มได้ที่นี่ play.roswellfilms.com

 

ท้ายที่สุดแล้วมันอาจจะไม่ใช่หน้าที่ของใครที่จะมากำหนดความสมดุลของแนวดนตรี ในเมื่อทุกยุคทุกสมัยก็มีสีสันเฉพาะตัวของมัน และความเคลื่อนไหวของเทรนด์ก็เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาโดยที่ไม่ต้องมีใครไปบังคับ และแล้วเมื่อเวลาผ่านไป ดนตรีแนวกดปุ่มแบบปัจจุบันก็จะกลายเป็นเพียงอีกแนวเพลงหนึ่งโดยไม่ต้องมีใครมาตัดสิน เหมือนกับที่ยุคหนึ่งดนตรีแนวนูเมทัลเคยเป็นที่นิยมอย่างหนัก แต่ตอนนี้มันก็กลายเป็นแค่อีกหนึ่งแนวดนตรีบนโลกที่เกิดขึ้นในยุค 2000s  

 

เมื่อวันใดที่ supply ของดนตรีแนวใดมีล้นเหลือมากเกินไป ผู้บริโภคก็จะเปลี่ยน demand ไปหาอะไรอย่างอื่นฟังแก้เลี่ยนเองตามธรรมชาติความขี้เบื่อของมนุษย์ และถึงแม้ปัจจุบันเครื่องไม้เครื่องมือในการทำดนตรีจะอำนวยความสะดวกให้เหล่าโปรดิวเซอร์และศิลปินมากขึ้นเพียงใด แต่ค่าความพยายามของนักทำเพลงในแต่ละยุคสมัยก็ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่ากันเลย

 

กว่าที่พวกเขาจะก้าวสู่ความสำเร็จในที่โล่งแจ้งได้ ศิลปินทุกยุคต่างก็ต้องใช้ความเพียรพยายามไม่แพ้กัน ต้องเสียหยาดเหงื่อและน้ำตาในปริมาณเท่าๆ กันภายใต้อุปกรณ์และเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป

 

 

คณะ Radiohead เคยออกมาประกาศอ้าแขนตอบรับเทคโนโลยีด้วยอัลบั้ม OK Computer ก่อนใครตั้งแต่ปี 1997 และหลังจากนั้นพวกพี่ๆ เขาก็พาเราลอย… ลอยไปในอวกาศ จนถึงทุกวันนี้เหมือนจะลอยไกลจนหลุดไปกาแล็กซีอื่นเสียแล้ว เพลงของพี่ๆ เขาอาจกำลังเป็นที่นิยมอยู่บนดาวดวงอื่นก็ได้นะ แล้วพวกเราเหล่านักฟังเพลงชาวโลกล่ะ เตรียมพร้อมหรือยังที่วันหนึ่งเราอาจจะได้ฟังเพลงของศิลปินจากต่างดาวก็เป็นได้

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising