นับจากวงดนตรีป๊อปร็อกชื่อ P.O.P ที่เปิดตัวด้วยอัลบั้มอีพี Era ในปี 2541 กระทั่งขยับสู่ดนตรีแนวดิสโก้ฟังก์สุดมันกับ Groove Riders โดยเฉพาะอัลบั้มแรก Discovery (2544) ที่กลายเป็นหนึ่งในอัลบั้มระดับตำนานเพลงไทย ก้อ-ณฐพล ศรีจอมขวัญ ออกเดินทางและสร้างงานดนตรีทั้งในฐานะนักดนตรี โปรดิวเซอร์ และศิลปินเดี่ยวของตัวเองมาครบ 20 ปีแล้ว
ล่าสุดหลังจากปล่อยผลงานเดี่ยว ‘NOTAPOL SRICHOMKWAN Presents FUNK’ ออกมาได้พักใหญ่ THE STANDARD ค้นพบระหว่างฟังว่า นอกจากจะเป็นการหวนกลับสู่ดนตรีฟังก์ที่ทั้งเขาและแฟนเพลงเคยชื่นชอบนับจากผลงาน Groove Riders ในเวลาเดียวกัน FUNK มันก็เต็มไปด้วยซาวด์ดนตรีฟังก์ที่แตกต่าง ทันสมัย และยังชอบที่เขากำหนดบทบาทของตัวเองไว้ในฐานะโปรดิวเซอร์ และเป็นโอกาสให้กับตัวเองได้ร่วมงานกับศิลปิน นักร้อง นักแต่งเพลงที่ตัวเองชื่นชอบและอยากร่วมงานด้วย
บอกเลยว่าเพลง ‘รุ่นใหญ่’ ที่ร่วมฟีเจอริงกับ คงเดช จาตุรันต์รัศมี, อุ๋ย Buddha Bless นั้นโคตรเปรี้ยว ขณะที่เพลงเปิดตัวอย่าง FUNK ที่ได้ ตุลย์ อพาร์ตเมนต์คุณป้า มาเขียนเนื้อและร่วมร้องกับ นุ้ย The Peachband และอีกหลายเพลงที่เลือกร่วมงานกับทั้ง จีน กษิดิศ, ตู่ ภพธร, เป้ Mild, นะ Polycat, กานต์ The Parkinson ก็ทำให้รู้สึกว่าปีที่ 20 ของเขายังมีอะไรให้ตื่นเต้นและรอฟังอยู่เสมอ
Restart FUNK!
ผมเริ่มต้นทำอัลบั้ม NOTAPOL SRICHOMKWAN Presents FUNK มาได้ 2-3 ปี ย้อนกลับไปอัลบั้มเดี่ยวก่อนหน้านี้ คือ The Workings of The Soul, The Workings of The Soul 02 ที่ผมร้องเองจะเป็นงานดนตรีป๊อปผสมโซล ซึ่งเราค่อนข้างจะอิ่มตัวและไม่อยากจะทำอะไรเหมือนเดิม ผมมีความรู้สึกในฐานะคนทำงานเพลงว่าควรจะก้าวออกมาทำสิ่งใหม่อยู่เรื่อยๆ
ความคิดแรกที่ออกมาคือ หลังจากหยุดทำวง Groove Riders ผมก็ไม่ได้ทำดนตรีแนวฟังก์อีกเลย ทั้งที่ความจริงฟังก์เป็นดนตรีอีกแนวหนึ่งที่ชอบมาก แต่ในขณะเดียวกันผมก็ไม่อยากจะทำ ‘ดิสโก้ฟังก์’ แบบ Groove Riders แต่ต้องการพัฒนาแนวฟังก์ให้ฉีกออกมาจากเดิม แน่นอนว่าฟังก์มันเป็นแนวดนตรีที่ย้อนยุค แต่เราจะทำยังไงให้ฟังก์มันมีคาแรกเตอร์ที่ใหม่ขึ้น ดูเก๋ ดูโมเดิร์น จนกลายเป็นรูปแบบดนตรีฟังก์ในยุค 2016-2017 ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายของคนทำดนตรี
Proud to Presents
ผมเองเป็นนักแต่งเพลง พออยากได้ส่วนผสมใหม่ๆ ในงานเพลง เปรียบเทียบได้เหมือนกับคนทำอาหาร ถ้าเราอยากได้เมนูใหม่ๆ เราก็ต้องมีวัตถุดิบใหม่ๆ เช่นเดียวกับการทำเพลง ถ้าเรามีโอกาสทำงานกับศิลปินหลายๆ คนที่ชื่นชอบ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ล้วนแล้วแต่เป็นนักร้อง นักแต่งเพลง จากนั้นนำความโดดเด่นของเขามาผสมกับงานดนตรีของเรา แค่คิดก็สนุกแล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง นับตั้งแต่เริ่มทำ ผมเลยตั้งใจว่าจะทำดนตรีให้เสร็จสัก 70% จากนั้นถ้าเราอยากเห็นนักร้องหรือนักแต่งเพลงคนไหนมาฟีเจอริง เราก็อยากให้เขาพัฒนาเพลงนั้นไปพร้อมกับเรา อย่างเขียนเนื้อและร้องเพลงให้กับเราด้วย สุดท้ายอัลบั้มนี้เลยอัดแน่นไปด้วยศิลปินเพลงอย่าง ตุลย์ อพาร์ตเมนต์คุณป้า, พี่คงเดช จาตุรันต์รัศมี, อุ๋ย Buddha Bless, ตู่ ภพธร, เป้ Mild, นะ Polycat, กานต์ The Parkinson, จีน กษิดิศ, นุ้ย The Peachband (วิริยาภา จันทร์สุวงศ์)
FUNK (feat. Tul Apartment Khunpa & Nui Wiriyapa)
เพลง FUNK เป็นเพลงแรกของอัลบั้มนี้เลย ซึ่งผมได้ตุลย์ อพาร์ตเมนต์คุณป้า กับ นุ้ย The Peachband มาร่วมฟีเจอริง เริ่มต้นผมก็ส่งเพลงไปให้เขา แล้วก็รออยู่นานพอสมควร จนวันหนึ่งผมโทรกลับไปหาเขาว่า พอจะมีไอเดียอะไรบ้างไหม ตุลย์บอกกลับมาว่า “ผมเริ่มมีไอเดียนิดๆ หน่อยๆ แต่พี่นัดผมมาเลยแล้วกันว่าอยากจะให้เข้าไปหาเมื่อไร ผมเป็นคนประเภทว่าจะทำงาน ณ เดี๋ยวนั้นเลยนะ ผมจะไม่ทำก่อน”
พอนัดวัน นัดเวลา เจอหน้ากัน ตุลย์ก็บอกมาประมาณว่า “ผมเพิ่งแต่งเนื้อตอนเช้าเลย แล้วก็ยังแต่งไม่เสร็จด้วยนะ ผมแต่งมาประมาณนี้ เดี๋ยวพี่ลองฟังดูว่าชอบไหม จากนั้นเราก็เริ่มต้นอัดเสียง ทำงานกันจากตรงนั้นเลย อย่างท่อนแรปตรงกลางเพลง ตุลย์บอกว่าผมยังเขียนไม่เสร็จเลย พี่ช่วยเปิดเพลงวนไปเรื่อยๆ สักแป๊บหนึ่งได้ไหม แล้วเขาก็นั่งเขียนเดี๋ยวนั้นเลย ใช้เวลาประมาณ 10 นาทีก็เขียนเสร็จ แล้วงานดีด้วย ไม่ใช่งานแบบสุยๆ เผาๆ ซึ่งนั่นก็เป็นลักษณะการทำงานในแบบเขาที่ต่างจากผมมาก
ตุลย์เขามีลักษณะเฉพาะในวิธีเขียน มีภาษาของตัวเอง เขามีความเป็นกวีทันสมัย กวีโมเดิร์น แต่พองานในส่วนของตุลย์เสร็จ ผมก็มีความรู้สึกว่ามันยังเป็นฟังก์ที่ค่อนข้างดิบ เพราะตุลย์เขามีความดิบอยู่ในตัว เปรียบเหมือนกับสลัดแซลมอนรมควัน ที่เนื้อและรสชาติจะยังดิบอยู่ เพลงดีแล้ว แต่น่าจะหาส่วนผสมอีกส่วนหนึ่งที่มันจะมาบาลานซ์ ซึ่งโชคดีมากเลยที่ในเวลานั้น นุ้ย-วิริยาภา จันทร์สุวงศ์ หรือ นุ้ย The Peachband ซึ่งปกติจะเรียนอยู่ที่อเมริกา เดินทางกลับมาเมืองไทยพอดี ผมเองเคยเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับอัลบั้มเดี่ยวของเขา กล้าพูดเลยว่าผู้หญิงคนนี้เป็นนักร้องหญิงที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของประเทศ ผมก็เลยชวนเขามาร้องเพลงนี้ให้ ซึ่งผลที่ได้กลับมาก็ไม่ผิดหวังเลย เพราะมันทำให้เพลงนี้ออกมาสมบูรณ์ลงตัว กลายเป็นเพลงที่มีส่วนผสมที่ทั้งสุกและดิบ
รุ่นใหญ่ (feat. Kongdej 4 Tao Tur & Oui Buddha Bless)
ผมเป็นแฟนเพลงพี่คงเดชมาตั้งแต่สมัยวงสี่เต่าเธอ ความจริงผมเคยมีโอกาสได้ร่วมงานกับพี่เขาตั้งแต่ตอนทำวง Groove Riders แล้วล่ะ แต่เพลงนี้ผมตั้งใจไว้ว่าคนร้องจะต้องเป็นใครบางคนที่มีความแสบ ความจี๊ด ซึ่งผมก็คิดไม่ออกเหมือนกันว่าจะเป็นใครนอกจากพี่คงเดช ที่สำคัญพี่คงเดชเองเขาก็ห่างหายจากงานดนตรีไปพอสมควร
ตอนแรกที่ผมโทรไปชวน ผมก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะมีเวลาว่างมาร่วมฟีเจอริงด้วยกันไหม เพราะรู้ว่าปัจจุบันพี่คงเดชเป็นผู้กำกับที่งานเยอะมาก แต่พอเขาตอบรับกลับมาผมก็ดีใจมาก แล้วครั้งแรกที่พี่คงเดชส่งเพลงกลับมาให้ จำได้ว่าผมอ่านเนื้อร้องไปพร้อมกับเพลงที่เขาทำเดโมมาให้ฟังแล้วหัวเราะคนเดียวอยู่หลายนาทีเลย คือสงสัยว่าทำไมแกยังแสบได้อยู่จนถึงทุกวันนี้ หลังจากฟังจบ ผมก็รีบโทรกลับไปหาพี่คงเดชเลยว่า พี่ฮะ ไอ้เนื้อเพลงนี่มันแสบมาก พี่กล้าร้องหรือเปล่าครับ พี่รู้ใช่ไหมว่านอกจากแต่งแล้วพี่ต้องเป็นคนร้องด้วย (หัวเราะ) พี่คงเดชก็บอกกลับมาว่า ถ้าก้อกล้าใช้ พี่ก็กล้าร้อง ถ้างั้นโอเคเลยพี่ เรามาลุยกันดีกว่า
ส่วนการมาของ อุ๋ย Buddha Bless ก็ทำให้ผมได้ท่อนแรปที่ลงตัว หลังจากจบงานในส่วนของพี่คงเดชแล้ว เพลงจะเชื่อมไปถึงท่อนท้ายที่มีอุ๋ยมาร่วมฟีเจอริงอีกคนหนึ่ง แล้วอุ๋ยก็เป็นคนที่มีวิธีการเขียนเนื้อร้องที่แสบไม่แพ้พี่คงเดช แต่แสบไปอีกแบบหนึ่ง ซึ่งพอเขาเขียนเนื้อเพลงและมาบันทึกเสียง เพลงมันก็ออกมาเจ๋งมาก”
The Perfectionist
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ผมเคยเป็นพวก Perfectionist มากๆ แล้วก็เป็นคนเครียดกับการทำงานมากเลย แต่มีประสบการณ์หนึ่งที่เปลี่ยนชีวิตเลยนะ คือผมไปบวช หยุดงานแล้วไปบวชที่วัดป่ามา 3 เดือน ช่วงเวลานั้นเองที่ทำให้ได้กลับมาเห็นตัวเองว่าการเป็น Perfectionist ของเรามันสร้างความเดือดร้อนให้กับคนรอบข้าง ทั้งเพื่อนร่วมงาน ทั้งคนที่ต้องทำงานให้กับเราอย่างแสนสาหัสเลย ตอนนั้นเองที่ได้เข้าใจว่าทำไมนักแต่งเพลงบางคนถึงไม่ยอมรับโทรศัพท์กูวะ หรือทำไมคนถึงชอบเรียกผมว่าครูใหญ่ (หัวเราะ) นั่นเพราะว่าเราเป็นพวก Perfectionist เที่ยวไปทำความเดือดร้อนให้คนเหล่านี้ แล้วขณะเดียวกันก็ทำให้ตัวเองเครียดด้วย พอเห็นตัวเองแล้ว หลังจากนั้นผมก็พยายามจะไม่เป็นแบบนั้นอีก
ตอนสมัยผมเป็นนักศึกษานะฮะ มีอาจารย์ฝรั่งท่านหนึ่งที่เก่งและดังมากเลย ชื่อ Herb Pomeroy เขาเป็นอาจารย์ที่สอนเกี่ยวกับ Arranging เป็นตำนานของ Berklee College of Music สหรัฐอเมริกา แล้วตอนที่ผมเรียนอยู่ที่นั่นเป็นปีที่เขาจะรีไทร์จากการสอนพอดี โอ้โห ลูกศิษย์ชื่อดังมาจากทั่วสารทิศทั่วโลกเพื่อมาเล่นคอนเสิร์ต Tribute ให้กับเขา
ผมยังจำสิ่งที่เขาพูดได้อยู่เลยว่า “คนเป็นสิ่งที่มีชีวิตที่สำคัญกว่าดนตรี คนเป็นคนที่สร้างดนตรี ไม่ใช่ดนตรีสร้างคน
“เรานักดนตรีเนี่ย มักจะให้ความสำคัญกับดนตรีมาก แต่อย่าลืมว่าผู้ที่ผลิตงานขึ้นมาคือมนุษย์ เพราะฉะนั้นมนุษย์ต้องสำคัญกว่าดนตรีเสมอ บางทีเราจะมองว่าดนตรีหรือผลงานของเราเนี่ยสำคัญที่สุด ดนตรีมันต้องเจ๋งที่สุด มันต้องสมบูรณ์แบบที่สุด เราให้ความสำคัญกับสิ่งที่ตัวเองสร้างขึ้น แต่กลับลืมไปว่าผู้ที่ทำมันขึ้นมาล้วนแล้วแต่คือมนุษย์ที่มีชีวิตทั้งนั้นเลย”
ผมจำได้ว่าตอนฟังรู้สึกว่าเขาสอนดีมากเลย แต่ตอนนั้นฟังแบบยังไม่เข้าใจ แต่พอไปบวชแล้วกลับไปคิดถึงสิ่งที่เขาสอน หลังจากนั้นคำสอนของเขาก็ติดตัวผมมาตลอด
ปัจจุบันผมมีความสุขกับการทำงานเพลงมากขึ้นมาก มีความสุขกับการทำงาน มีความสุขและสนุกกับการได้ร่วมงานกับทุกคน ไม่มีความกดดันความเครียดเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก
- ข่าวดีสำหรับแฟนเพลง Groove Riders ติดตามข่าวปี 2018 นี้ให้ดี เพราะ ก้อ-ณฐพล ศรีจอมขวัญ ในฐานะหัวหน้าวงและมือเบส ยืนยันออกมาแล้วว่า Groove Riders จะกลับมารวมตัวทำวงดนตรีด้วยกันอีกครั้ง
- แต่ในข่าวดีก็มีข่าวร้ายแปะติดมาด้วยอีกเล็กน้อย เพราะงานนี้นักร้องนำของวงจะไม่ได้ชื่อ บุรินทร์ บุญวิสุทธิ์ อีกทั้งยังยืนยันว่าไม่มีใครทะเลาะกัน ทุกคนยังเป็นพี่น้องเหมือนเดิม เพียงแต่ ณ เวลานี้ บุรินทร์ได้แยกตัวเพื่อสร้างงานในฐานะนักร้องเดี่ยวไปแล้ว ซึ่งเจ้าตัวเองก็กำลังจะปล่อยผลงานเดี่ยวออกมาในปีนี้ด้วยเช่นกัน
- “ผมกับเพื่อนอีก 2 คนเราก็รู้เหมือนกันว่าเรายังอยากจะมีโอกาสได้กลับมาเล่นดนตรีด้วยกันนะ เรายังรู้สึกว่าเรายังมีความสุขที่จะได้กลับมาทำงานด้วยกัน ส่วนนักร้องนำคนใหม่จะเป็นใคร แฟน Groove Riders ต้องติดตามกันต่อแบบใกล้ชิด เพราะวงเองก็ยังไม่รู้เช่นกัน”