เริ่มแรกที่ดีเจสาวแห่งคลื่น Cat Radio มองหาอาคารเพื่อตั้งสำนักงาน เธอพบเข้ากับตึกเก่าอายุร้อยปีในเขตพระนครที่เมื่อประเมินดูแล้วไม่เหมาะกับจุดประสงค์ตั้งต้น แต่ด้วยหลงใหลในบรรยากาศรอบข้าง ครั้นจะตัดใจก็นึกเสียดาย ว่าแล้วเธอจึงรีโนเวตให้เป็นเกสต์เฮาส์
เรากำลังพูดถึง ดีเจสับปะรดแนน-ณัฐกฤตา พงษ์ธนานิกร กับเกสต์เฮาส์สไตล์โคโลเนียลขนาดย่อมภายใต้ชื่อ 1905 Heritage Corner ที่เธอทำร่วมกับคนรัก มาร์ค แซล์มอน
สาวผู้เป็นเจ้าบ้านขอให้เราเรียกเธอสั้นๆ ว่า ‘แนน’ แล้วบทสนทนาที่เกี่ยวกับที่พักที่น่าพักแห่งนี้ก็เริ่มขึ้น และต่อไปนี้คือเรื่องราวของเกสต์เฮาส์ที่แม้จะเริ่มต้นจากความบังเอิญ แต่ลงท้ายด้วยความตั้งใจ
1905 Heritage Corner ตั้งอยู่หัวมุมของถนนแพร่งภูธร หนึ่งในชุมชนสามแพร่งในแขวงศาลเจ้าพ่อเสือ โดยอีกสองแพร่งคือแพร่งนราและแพร่งสรรพศาสตร์ ก่อสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ระหว่างปี 1904-1906 แนนเลือกหยิบปีตรงกลางคือ 1905 มาตั้งเป็นชื่อเกสต์เฮาส์
ชุมชนอายุร้อยปีแห่งนี้แม้จะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา สถาปัตยกรรมเก่าแก่ยังได้รับการรักษาไว้ใกล้เคียงแบบเดิม แพร่งภูธรมีจุดเด่นที่อาคารบ้านเรือนล้อมสวนสาธารณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม เหตุจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง จึงมีพระราชดำริทดลองสร้างชุมชนล้อมสวนตามแบบยุโรป
เมื่อสมัครใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เก่าแก่ แนนจึงศึกษาลงลึกทางประวัติศาสตร์เท่าที่จะค้นคว้าได้ บวกกับคำบอกเล่าจากหลายแหล่ง เธอเล่าให้เราฟังว่า
“สมัยก่อนย่านนี้ถือว่าเป็นสยามสแควร์ของกรุงเทพฯ มีร้านสนุกเกอร์ที่คุณตาท่านหนึ่งเล่าว่า แดง ไบเล่ มาเล่นเป็นประจำ มีร้านขายสินค้าแฟชั่น Jacob มีบาร์เบอร์ที่รัฐมนตรีสมัยก่อนนิยมมาตัดผม เพราะอยู่ตรงข้ามกับกระทรวง แล้วก็มีสถานีอนามัย (สุขุมาลอนามัย) ที่เปิดมาตั้งแต่ร้อยปีที่แล้ว จนทุกวันนี้ก็ยังเปิดให้บริการคนในชุมชนอยู่”
เมื่อสืบเสาะไปเรื่อยๆ แนนจึงได้ทราบเพิ่มเติมว่าแม้กระทั่งตึกเก่าที่เธอจับมาแปลงโฉมเป็นที่พักก็เคยเป็นโรงงานฟันปลอมแห่งแรกของประเทศไทยในยุค 70 แถมหากย้อนกลับไปเมื่อร้อยปีที่แล้ว สถานที่แห่งนี้เคยเป็นโรงน้ำชาประจำย่านมาก่อน พอรู้ดังนี้แนนจึงตัดสินใจบูรณะอาคารเก่าแล้วตกแต่งภายในให้อิงบรรยากาศของทีเฮาส์ในอดีต
The Vibe
เนื่องจากอาคารมีอายุกว่าร้อยปี สภาพจึงค่อนข้างชำรุด ทั้งยังถูกทิ้งร้างมานานกว่า 3 ทศวรรษ การรีโนเวตจึงต้องดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป
“ตอนเข้ามาดู พื้นชั้นบนถล่มหมดแล้ว ข้างในเป็นเหมือนป่าหิมพานต์ เป็นที่อยู่ของแมว มีต้นไม้ มีน้ำฝนรั่วลงมา แล้วด้วยที่นี่เคยเป็นโรงงานทำฟันปลอม เขาก่ออิฐขึ้นมาจนเหลือหน้าต่างแค่นิดเดียว เราก็เลยต้องรื้อออก ทีนี้พอมันเก่ามาก เคาะปูนปุ๊บก็กลายเป็นทราย เคาะบ้านนี้ เดี๋ยวบ้านโน้นมาบ่นแล้ว แล้วพอปูนเป็นทราย ฉาบอะไรเข้าไปก็ไม่ติด สงสารช่างมาก เพราะการรีโนเวตบ้านเก่าเป็นงานที่ยาก” ดีเจสาวเจ้าของเกสต์เฮาส์ย้อนความ
นอกจากจะกำชับช่างให้ระวังมือ แนนยังขอให้เก็บชิ้นส่วนเก่าบางอย่างไว้ เช่น ผนังปูน แผ่นไม้ หรือโครงประตู เธอเลือกปรับปรุงตามแนวคิดอนุรักษ์ที่ผสานกับความอยู่สบาย แม้ต้องท้าทายกับโจทย์ที่ยาก แนนเล่าว่าแค่วางระบบไฟฟ้า ท่อประปา และอินเทอร์เน็ตภายใต้โครงสร้างบ้านแบบโบราณก็ทำเอาปวดหัวไม่น้อย
ตึกเก่าหลังนี้มีลักษณะเป็น Shophouse ที่มีหน้าแคบ แนนจึงต้องบริหารพื้นที่ใช้สอยให้คุ้มค่า บริเวณชั้นล่างควบหน้าที่ทั้งรีเซปชัน ครัว ห้องอาหาร และมุมอ่านหนังสือ ตกแต่งให้ได้กลิ่นอายของโรงน้ำชาตามอย่างอดีต เจือจางความเป็นจีนด้วยข้าวของหลากชิ้นทั้งจากฝั่งตะวันออกและตะวันตก ที่เด่นๆ ก็เช่นชุดโต๊ะเก้าอี้ไม้สักผลงานจากช่างฝีมือพม่า ตาชั่งสมุนไพรโบราณที่แนนได้มาจากร้านขายของเก่า ตู้เอกสารใบโตของอังกฤษ รวมถึงตู้หลังใหญ่ที่บรรจุหนังสือไทยและเอเชียอาคเนย์หลายรายการ
“ตรงที่วางตู้หลังนี้ ช่างต้องตัดน็อตปริศนาที่ติดมากับกำแพงออกถึงจะดันตู้เข้ามุมได้อย่างพอดี” แนนเล่าถึงขั้นตอนกว่าจะลงตัวอย่างที่เห็น
เดินเลาะไปด้านหลังเราจะพบกับคอร์ตยาร์ดเล็กๆ เปิดโล่งรับแสง โชว์ผนังปูนผิวกะเทาะกำลังสวย ด้านบนมุงกระจกใส มีเฟืองหมุนเปิด-ปิด เดิมทีตรงนี้เป็นตำแหน่งของตู้เก็บฟันปลอมและแท็งก์น้ำ แนนตัดสินใจยกออกเพื่อเปิดทางให้แดดผ่าน ส่วนด้านขวาของล็อบบี้มีบันไดขนาดหนึ่งคนเดินนำทางขึ้นไปสู่ห้องพัก
“มีหลายคนถามแนนว่าเอาตู้เสื้อผ้าขึ้นไปได้ยังไง เพราะทางเดินแคบมาก จริงๆ คือแนนเอาขึ้นไปตั้งแต่ยังไม่มีบันไดเลย เป็นความโชคดีที่พี่สถาปนิกเขาแนะนำให้ซื้อของก่อน ยกเว้นเตียงที่ไม่ได้เอาขึ้น เพราะเตียงโบราณจะแยกส่วนและประกอบเข้ากันด้วยลิ่ม ซึ่งพอถึงเวลาจริงๆ ก็เอาขึ้นไม่ได้ ต้องขึ้นทางระเบียงด้านหลัง แถมตอนดันเข้าไปเตียงก็ขูดกับผนังเป็นรอยคว้านนิดหนึ่งด้วย” หากเธอไม่เล่ารายละเอียดเหล่านี้ เราคงนึกไม่ถึงว่ากว่าจะกลายเป็นเกสต์เฮาส์ที่น่านอนขนาดนี้ต้องเสียเหงื่อกันมามากแค่ไหน
ชั้นบนเป็นที่ทางของห้องพักจำนวน 3 ห้อง โดยจำลองเรื่องราวการเดินทางของชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากในไทยผ่านการตกแต่ง ห้องหมายเลข 1 หรือ Sino-Siamese Room บอกเล่าถึงช่วงเวลาที่ชาวจีนล่องเรือเข้ามาสู่อาณาเขตสยาม ภายในจึงมีทั้งกระเป๋าสานเดินทางใบใหญ่ หัวเตียงที่มีลักษณะคล้ายกับหน้าต่างเรือ หรือแม้แต่ห้องน้ำก็ให้บรรยากาศเสมือนอยู่ในเรือ
ห้องหมายเลข 2 หรือ Colonial Room สื่อถึงยุคสมัยที่ไทยรับเอาอิทธิพลตะวันตกเข้ามา เครื่องใช้และเฟอร์นิเจอร์ภายในห้องจึงดีไซน์ตามแบบโคโลเนียล ห้องหมายเลข 3 หรือ Tea Room เป็นห้องขนาดเล็ก เล่าถึงชีวิตประจำวันของพ่อค้าที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย มีกลิ่นอายความเป็นจีนอย่างชัดเจน ทุกห้องมีกาน้ำชาไว้ให้จิบแกล้มบรรยากาศด้วย
The Dishes
ความพิเศษอย่างหนึ่งเมื่อเข้าพักเกสต์เฮาส์แห่งนี้คืออาหารเช้าที่เสิร์ฟให้แบบไม่หวง ผสมผสานทั้งอาหารไทยและฝรั่ง มีจานหลักเป็น American Breakfast แล้วจับเอาจุดเด่นของย่านพระนครที่อุดมไปด้วยของอร่อย แนนจะคัดสรรอาหารเด็ดจากร้านใกล้ๆ มาหมุนเวียนเสิร์ฟ ในมื้อเช้าของเรามีเปาะเปี๊ยะสดและข้าวเหนียวปิ้งใบตองที่รสหวานละมุนกำลังดี
“แนนพยายามใส่อาหารโลคัลเข้าไปด้วย เพราะแถวนี้ร้านอร่อยเยอะ อย่างร้านอุดมโภชนาตรงโน้นก็ใช่ ส่วนไก่ย่างร้านข้างหน้าก็มาตั้งร้านตั้งแต่ตี 3 พอ 10-11 โมงก็หมดแล้ว”
“ที่พักของเราให้ความสำคัญกับอาหารเช้า จริงอยู่ที่เมืองไทยขึ้นชื่อเรื่องของกิน มีให้กินได้ตลอดทั้งวัน แต่นักท่องเที่ยวอาจไม่ได้ชินกับอาหารบ้านเราทุกคน เราเลยอยากให้เขาพร้อมไปจากเราก่อน ปรากฏว่าแขกบางคนบอกว่าฉันอิ่มจนไม่ได้กินข้าวเที่ยงเลยเนี่ย” พูดจบเธอก็หัวเราะร่วน แขกคนนั้นไม่ได้พูดเกินจริง เพราะหลังมื้อเช้าที่ 1905 Heritage Corner เราเองก็อิ่มไปถึงเที่ยง
นอกจากแนนจะตื่นเช้าไปจับจ่ายวัตถุดิบเพื่อมาเตรียมอาหารเช้าแล้ว หากมีโอกาสเธอก็จะชวนแขกที่เข้าพักไปสัมผัสวิถีชุมชนยามเช้ากับเธอด้วย เป็นความใส่ใจต่อผู้มาเยือนแบบไม่ต้องอาศัยความรู้วิชาการโรงแรม เพราะสำหรับคนทำเกสต์เฮาส์อย่างเธอแล้วคงไม่มีอะไรดีไปกว่าการได้ทำหน้าที่ของเจ้าบ้าน
1905 Heritage Corner
Address: 68 ถนนแพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ
Contact: 0 2041 0102
Website: www.1905heritagecorner.com
Facebook & Instagram: 1905HeritageCorner
Map:
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
พักที่ 1905 Heritage Corner แล้ว อย่าลืมแวะ Heritage Craft & Cafe ร้านที่สนับสนุนงานฝีมือท้องถิ่นซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากเกสต์เฮาส์ โดยแนนและมาร์คได้เดินทางไปทำงานร่วมกับผู้ผลิตกว่า 70 กลุ่มทั่วประเทศภายใต้องค์กรชื่อ ThaiCraft Fair Trade ในร้าน นอกจากขายสินค้าหัตถกรรมหลากประเภทแล้วยังมีมุมเล็กๆ ให้นั่งจิบกาแฟอีกด้วย