การประชุม COP28 เริ่มแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 12 ธันวาคม 2023 ณ ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยสุลต่าน บิน อาห์เหม็ด อัล จาเบอร์ เป็นประธาน พร้อมนานาประเทศทั่วโลกเข้าร่วม โดยปีนี้หนึ่งในไฮไลต์สำคัญที่เห็นพ้องร่วมกันคือการเพิ่มพลังงานสะอาดเป็น 3 เท่าในปี 2030
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า สุลต่าน บิน อาห์เหม็ด อัล จาเบอร์ ประธานการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP28 ระบุว่า รัฐบาลของ 118 ประเทศ เข้าร่วมให้คำมั่นสัญญาที่จะสนับสนุนให้มีการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น 3 เท่า อย่างน้อย 11,000 กิกะวัตต์ และเพิ่มอัตราการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉลี่ยทั่วโลกขึ้นเป็น 2 เท่า จากประมาณ 2% เป็นกว่า 4% ในทุกปีไปจนถึงปี 2030 เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของสภาวะโลกร้อน พร้อมทั้งยังเรียกร้องให้อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซร่วมมือกันควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ให้เป็นไปตามเป้าหมาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ทำไมไทยพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์และลมช้าที่สุดในภูมิภาค สวนทางเวียดนาม ทั้งที่มีศักยภาพ แต่กลับผลิตไม่ถึง 5% และต้องรับมือค่าไฟที่แพงขึ้น
- วิเคราะห์ ‘ลดราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้า’ นโยบายว้าวุ่นที่เกาไม่เคยถูกที่คัน?
- จากอธิบดีพลังงานทดแทนสู่ปลัดกระทรวงพลังงานคนใหม่ ‘ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ’ กับภารกิจท้าทายในการดูแลโครงสร้างและความมั่นคงของพลังงาน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแม้ทั่วโลกเริ่มมีการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม แต่ก็พบกับปัญหาด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนข้อจำกัดด้านแรงงาน และปัญหาห่วงโซ่อุปทาน ส่งผลให้บางโครงการดำเนินไปอย่างล่าช้า ทำให้รัฐบาลและสถาบันการเงินต้องเพิ่มเงินลงทุนเพื่อจัดการกับต้นทุนที่สูงขึ้นสำหรับโครงการพลังงานสะอาดในประเทศกำลังพัฒนา
นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังได้เปิดตัว ‘พิมพ์เขียวสำหรับการลดก๊าซมีเทน’ (Blueprint for Methane Reduction) โดยมีระยะเวลา 18 เดือน ซึ่งจะจัดตั้งโครงการระดับชาติ 15 โครงการที่มุ่งเป้าไปที่การลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากกิจกรรมต่างๆ เช่น การผลิตข้าว การเลี้ยงสัตว์ และการจัดการขยะ
รวมไปถึงการเสนอการใช้พลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานทางเลือกแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้น แม้ยังเป็นที่กังขาจากการที่กลุ่มสิ่งแวดล้อมที่กังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและการทิ้งกากนิวเคลียร์ที่ใช้แล้ว โดย จอห์น เคอร์รี ทูตทางด้านสภาพอากาศโลกสหรัฐอเมริกา ระบุว่า โลกจะไม่สามารถบรรลุคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2050 ได้โดยปราศจากการพึ่งพานิวเคลียร์
อ้างอิง: