ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม รัฐบาลประกาศชะลอ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เฟสที่เหลือ ไปจนกว่าสถานการณ์เหมาะสม โดยตั้งเป้าจะปรับใช้งบวงเงิน 1.57 แสนล้านบาท ที่เหลือจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนี้ เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรองรับผลกระทบจากสงครามการค้าแทน โดยวางแผนให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในไตรมาส 3
โดยไฮไลต์โครงการสำคัญในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมีดังนี้
1. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน: พัฒนาแหล่งน้ำป้องกันภัยแล้ง-น้ำท่วม พัฒนาระบบประปา แก้ปัญหาคอขวดจราจร จุดตัดทางรถไฟ-ถนน พัฒนาถนนเชื่อมแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งผลิต
2. ด้านท่องเที่ยว: ปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว สนามกีฬา ห้องน้ำ-ป้ายบอกทาง ติดตั้ง CCTV ในเมืองท่องเที่ยวหลัก เน้นเมืองรองเป็นพิเศษ
3. ด้านเกษตร-แรงงาน-ดิจิทัล: สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีในภาคเกษตร เสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการส่งออก พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล
4. เศรษฐกิจชุมชน: อัดฉีดเงินสู่กองทุนหมู่บ้านและโครงการที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก
กสิกรไทยมอง รัฐเปลี่ยนแผน อาจมี Multiplier สูงกว่าการโอนเงิน แต่อาจใช้เวลานานกว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch) ระบุว่า รัฐเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.57 แสนล้านบาทภายใต้งบประมาณรายจ่ายประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง เพื่อรับมือ Reciprocal Tariff และชะลอแจกเงินผ่าน Digital Wallet ในเฟสที่เหลือ เพื่อเน้นแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง สร้างงาน และเพิ่มขีดความสามารถนั้น ยังต้องติดตามรายละเอียดและข้อสรุปต่อไป
แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมุมมอง ประมาณการเศรษฐกิจไทยโต 1.4% ในปี 2568 โดยมองว่า ผลต่อเศรษฐกิจในปี 2568 ไม่ต่างจากที่คาดไว้เดิมมากนัก เนื่องจากเป็นเพียงการจัดสรรงบประมาณในกรอบเดิม โดยมาตรการภาครัฐเน้นการลงทุนมากขึ้น อาจมี Multiplier สูงกว่าการโอนเงิน แต่อาจใช้เวลานานกว่าที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจ
กรุงศรีฯ แนะควรมีกลไกติดตาม-ประเมินผล ให้แน่ใจว่าโครงการเกิดผล-คุ้มค่า
ด้านวิจัยกรุงศรีมองว่า การปรับการใช้งบประมาณจากการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไปสู่การลงทุนในโครงการขนาดเล็ก-กลาง ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่เผชิญแรงกดดันจากนโยบายภาษีทางการค้าของสหรัฐฯ
โดยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบบริหารจัดการน้ำ การคมนาคม และการท่องเที่ยว นอกจากจะสร้างผลบวกต่อเศรษฐกิจในระยะสั้นผ่านการจ้างงานและการใช้จ่ายของรัฐแล้ว ยังช่วยเสริมศักยภาพของการผลิตในระยะยาว ขณะเดียวกันโครงการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนอาจเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยในการกระจายรายได้ และเสริมกิจกรรมเศรษฐกิจฐานราก
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของมาตรการเหล่านี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของโครงการ การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณที่รวดเร็วและกระจายลงสู่กลุ่มเป้าหมายได้ตามแผนที่วางไว้
หากภาครัฐสามารถผลักดันให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้จริงภายในปีงบประมาณก็จะสามารถสร้าง multiplier effect ที่มากกว่าการแจกเงินแบบครั้งเดียวซึ่งมีผลระยะสั้นและอาจกระจุกตัวในบางกลุ่มผู้บริโภค
วิจัยกรุงศรียังทิ้งท้ายว่า ทั้งนี้ ควรมีกลไกติดตามและประเมินผลที่ชัดเจน เพื่อให้แน่ใจว่าโครงการสามารถบรรลุเป้าหมายทั้งด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจและความคุ้มค่าทางการคลังในระยะยาวได้อย่างแท้จริง
‘แบงก์ชาติ’ เห็นด้วย พร้อมแนะให้เพิ่มน้ำหนักการบรรเทาผลกระทบภาษีศุลกากรสหรัฐฯ
ด้านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้มีหนังสือด่วนที่สุด แจ้งว่ากระทรวงการคลัง ได้เสนอเรื่องแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท และขอให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสนอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม.โดยด่วน
โดย เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เสนอความเห็นมายัง ครม. มีสาระสำคัญดังนี้
“ธปท. เห็นด้วยกับการทบทวนแผนการใช้งบประมาณให้สอดรับกับสภาวการณ์ ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ทันท่วงที และไม่ขัดข้องกับหลักการของแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่เน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การเพิ่มผลิตภาพการผลิต และการรักษาระดับการจ้างงาน โดยเฉพาะในภาคการผลิต และการส่งออกที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าและการประกาศนโยบายการจัดเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariff) ของประเทศมหาอำนาจ”
ทั้งนี้ ธปท. เห็นว่า ควรให้น้ำหนักกับการบรรเทาผลกระทบ และสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจมากขึ้นด้วย โดยมีข้อสังเกตเพิ่มเติม ดังนี้
1. ควรจัดสรรงบประมาณโดยให้ความสำคัญกับการบรรเทาความเดือดร้อนต่อกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่
- กลุ่มผู้ส่งออกสินค้าไปสหรัฐ รวมถึงธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ที่เกี่ยวข้อง
- กลุ่มผู้ผลิตที่จะถูกกระทบจากการทะลักของสินค้าจากต่างประเทศ (import flooding) ที่รุนแรงขึ้น ซ้ำเติมปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตที่ไทยเผชิญอยู่ โดยตั้งแต่ ปี 2565-2567 การนำเข้าสินค้าขั้นสุดท้ายเพิ่มขึ้นประมาณ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งผู้ผลิตในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่มีข้อจำกัดในการปรับตัว
นอกจากนี้ ควรมีโครงการที่ช่วยให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มโอกาสในการเปิดตลาดใหม่ควบคู่ไปด้วย
2. ควรมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรับมือกับ Import Flooding เพราะถ้าไม่ดำเนินการ ในเรื่องนี้ก่อน โครงการหรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้แผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อาจไม่มีประสิทธิผลเท่าที่ควร โดยแนวทางการรับมือที่ต้องเร่งดำเนินการ อาทิ
- การบังคับใช้กฎหมาย และการตรวจสอบที่เข้มงวดใน 3 ด้าน ได้แก่ การตรวจมาตรฐานสินค้า การตรวจสินค้าผ่านด่าน และการป้องกันสวมสิทธิสินค้าเพื่อใช้ไทยเป็นทางผ่านในการส่งออก
- การเร่งรัดกระบวนการไต่สวน ข้อพิพาทกับต่างประเทศ เรื่องการที่สินค้าจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาดในไทย
- การกำหนดให้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ขายสินค้าในไทยต้องจัดตั้งสำนักงานในประเทศไทย เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ การตรวจสอบมาตรฐานสินค้า และมีระบบชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม
- การกำหนดมาตรการเพิ่มเติมด้านภาษี โดยตั้งภาษีหรือกำหนดโควตาการนำเข้าสินค้า หรือการเก็บภาษีสำหรับสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท
ภาพประกอบ: กันยกร กาญจนวิไล