สำหรับใครที่ยังไม่คุ้นกับชื่อของ Howard Marks มากนัก นอกจากการเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Oaktree Capital Management เขายังเป็นบุคคลที่นักลงทุนระดับตำนานอย่าง Warren Buffett ให้การยอมรับและยกย่องเป็นอย่างยิ่ง
Warren เคยบอกไว้ว่า “เมื่อผมเห็นบันทึกจาก Howard Marks ในกล่องจดหมายของผม นั่นคือสิ่งแรกที่ผมจะเปิดและอ่านมัน และผมได้เรียนรู้อะไรบางอย่างเสมอ”
ไม่เพียงแค่ Warren เท่านั้น Charlie Munger คู่หูของ Buffett ก็เคยยกย่อง Howard ไว้เช่นกันว่า “ผมพูดเสมอว่า ไม่มีครูคนไหนที่บอกอนาคตได้ดีไปกว่าประวัติศาสตร์ หนังสือของ Howard บอกเราถึงวิธีการเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ และทำให้เรามีมุมมองที่ดีขึ้นว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร”
เสียงชื่นชมจากบรรดานักลงทุนชื่อดังต่อความคิดเห็นและความรู้ของ Howard ที่ถูกจดบันทึก (Memos) และเผยแพร่สู่สาธารณะ ทำให้ผู้คนในแวดวงเศรษฐกิจและการลงทุนต่างให้ความสนใจในวงกว้าง
Sea Change น่านน้ำการลงทุนกำลังเปลี่ยนไป
หนึ่งในบันทึกที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดชิ้นหนึ่งที่เกิดขึ้นล่าสุดคือประเด็นที่ชื่อว่า Sea Change ซึ่ง Howard บันทึกไว้ครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2022 และมีการเขียนอัปเดตเพิ่มเติมอีก 2 ครั้ง ในเดือนพฤษภาคม 2023 และล่าสุดคือเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
หากกล่าวโดยสรุป Sea Change ในความเห็นของ Howard หมายถึงสภาพแวดล้อมทางการลงทุนที่เปลี่ยนไปจาก 40 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องของอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ลดลงไปประมาณ 20% จนถึงขั้นลงไปติดลบไปครั้งแรกช่วงปลายปี 2008 เพื่อพยายามพลิกฟื้นเศรษฐกิจจากวิกฤตการเงิน และยังคงใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำและอัดฉีดเงินผ่านมาตรการ QE มาต่อเนื่องอีก 13 ปี
ผลจากดอกเบี้ยต่ำเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจและการลงทุน มูลค่าสินทรัพย์ทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น ต้นทุนการเงินก็ต่ำลง การระดมทุนทำได้ง่าย ขณะที่การล้มละลายก็เกิดได้ยาก จนนำไปสู่การใช้อัตราทด (Leverage) เพื่อช่วยลงทุน และก่อให้เกิดอาการที่เรียกว่า ‘กลัวจะตกรถ’ หรือ Fear of Missing Out (FOMO)
แต่ Howard บอกว่า สภาพแวดล้อมแบบนี้กำลังจบลง และโลกของการลงทุนในอีก 10 ปีข้างหน้า จะแตกต่างไปจาก 40 ปีที่ผ่านมา ทำให้การเลือกลงทุนในสินทรัพย์ประเภท ‘ตราสารหนี้’ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการลงทุนใน ‘หุ้น’
และเมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปแล้ว Howard เตือนว่า “คุณไม่ควรจะคิดว่ากลยุทธ์การลงทุนที่เคยให้ผลลัพธ์ที่ดีมาตั้งแต่ปี 2009 จะยังคงเป็นกลยุทธ์ที่ดีต่อไปในอนาคต”
Howard ชวนตั้งคำถามว่า เมื่ออัตราดอกเบี้ยไม่ได้อยู่ในขาลงอีกต่อไป สิ่งที่เราควรจะทำคือ การเปลี่ยนฝั่งการลงทุนไปเป็น ‘คนให้กู้’ แทนที่จะเป็น ‘คนกู้’ อย่างในอดีตที่ผ่านมา หรือไม่
คำพูดของ Howard Marks ต่อการลงทุน
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (5 พฤศจิกายน) เกียรตินาคินภัทร (KKP) ได้จัดงาน An Afternoon with Howard Marks: Navigating Market Realities Through Sea Change ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ Howard เดินทางมาขึ้นเวทีบรรยายให้กับนักลงทุนไทย
Howard บอกว่า ตอนนี้เราไม่ได้อยู่ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยสูงแต่เป็นระดับปกติ หลายคนอาจรู้สึกว่าตอนนี้ดอกเบี้ยสูง เพราะคนส่วนใหญ่ต่างเห็นอัตราดอกเบี้ยลดลงมาตลอด 40 ปีที่ผ่านมา จนรู้สึกว่านั่นคือเรื่องปกติ
อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงต่อเนื่องช่วยหนุนราคาสินทรัพย์ และทำให้ผลตอบแทนเฉลี่ยของดัชนี S&P 500 ในช่วงเกือบ 100 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 10.2% ต่อปี ซึ่งทำให้เงินลงทุน 1 ดอลลาร์ กลายเป็นเกือบ 14,000 ดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 14,000%
ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนส่วนใหญ่ยังไม่ได้ตอบสนองต่อมัน คือการที่ผลตอบแทนของการลงทุนในตราสารหนี้ ขยับขึ้นมาใกล้เคียงกับผลตอบแทนของการลงทุนในตราสารทุน หรือ ‘หุ้น’ ในขณะที่ความเสี่ยงต่ำลง
Howard ยกตัวอย่างผลตอบแทนจากการลงทุนในตั๋วเงินคลัง (T-Bills) ในปัจจุบันที่ราว 5% ต่อปี ขณะที่การลงทุนในตราสารหนี้ประเภท High Yield Bonds ให้ผลตอบแทนราว 9.5% ต่อปี
ระหว่างการบรรยายในครั้งนี้ Howard ได้วาดรูปเส้น Capital Market Line เพื่ออธิบายความสัมพันธ์ระหว่าง ความเสี่ยง (Risk) กับ ผลตอบแทน (Return) และผลลัพธ์ (Outcome) ซึ่ง Howard มองว่ารูปนี้ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากกว่าจะให้ผลตอบแทนสูงกว่า ทำให้พวกเขาคิดว่าถ้าอยากได้เงินมากขึ้นก็ต้องเสี่ยงมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วผลตอบแทนที่น่าจะสูงขึ้นนี้ เป็นเพียงความคาดหวัง หากคุณต้องการอยู่รอดและสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาว คุณจำเป็นจะต้องบริหารจัดการความเสี่ยงให้ดี
สิ่งที่น่ากังวลในเวลานี้ การลงทุนจากนักลงทุนที่ยังมุ่งใช้อัตราทด รวมทั้งบริษัทที่มีหนี้สูงและไม่ได้คาดเดาว่าต้นทุนทางการเงินจะเพิ่มขึ้น ทำให้ความเสี่ยงเรื่องของการล้มละลายอาจเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ดี Howard เชื่อว่าสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปก็เป็นโอกาสเช่นกัน แต่เราจำเป็นจะต้องคัดเลือกสินทรัพย์ที่มีพื้นฐานที่เหมาะสม เช่น บริษัทที่อาจเริ่มมีความเปราะบางทางการเงิน (Distressed Debt) แต่ยังมีพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่ง จะเป็นโอกาสของนักลงทุนในการสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ และ Howard อยากให้ทุกคนพยายามคว้าโอกาสเหล่านี้ไว้
หลักการลงทุน 6 ข้อ
Howard เน้นย้ำว่า เขาไม่เชื่อในเรื่องของการทำนายอนาคต เพราะมันยากที่จะทำได้ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ สิ่งสำคัญสำหรับการลงทุนคือ การเตรียมความพร้อมเพื่อให้มั่นใจอยู่เสมอว่า “แม้สิ่งที่เราคาดหวังว่าจะเกิดขึ้น สุดท้ายแล้วมันไม่เกิดขึ้น เราก็ยังสามารถอยู่รอดได้”
ปัจจุบัน Howard และ Oaktree ยังคงยึดมั่นในหลักการลงทุนพื้นฐาน 6 ข้อ ซึ่งเขียนขึ้นมาตั้งแต่ 28 ปีก่อน และก็ยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน
- The Primacy of Risk Control การให้ความสำคัญกับการจัดการความเสี่ยงก่อนเสมอ Howard บอกว่าถ้าเราทำได้เช่นนี้ติดต่อกันนับ 10 ปี เราจะได้ผลตอบแทนมหาศาล
- Emphasis on Consistency การสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ ทั้งในปีที่ตลาดย่ำแย่และร้อนแรงกว่าปกติ
- The Importance of Market Inefficiency เป็นผลจากการที่ตลาดไม่ได้มีประสิทธิภาพสมบูรณ์ ทำให้ทักษะและการทำงานหนักสามารถช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้นได้
- The Benefits of Specialization การกำหนดให้พอร์ตโฟลิโอแต่ละอันโฟกัสในการลงทุนเฉพาะทาง เพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในการลงทุนแต่ละประเภท
- Macro-Forecasting Not Critical to Investing การสร้างผลตอบแทนที่ยอดเยี่ยมได้อย่างต่อเนื่อง เกิดจากการโฟกัสในการศึกษาเกี่ยวกับบริษัทหรือหลักทรัพย์นั้นๆ โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นกระบวนการที่เรียกว่า Bottom-up
- Disavowal of Market Timing เราไม่เชื่อเกี่ยวกับความสามารถในการจับจังหวะตลาด และมุ่งลงทุนอยู่ตลอดเวลา ตราบเท่าที่ราคาสินทรัพย์อยู่ในจุดที่เหมาะสม หากวันนี้ราคาถูกก็ควรจะซื้อ และหากถูกลงอีกก็ซื้ออีก
Howard กล่าวในช่วงท้ายว่า ความผิดพลาดในการลงทุนคือการขายออกไปในจุดที่ราคาสินทรัพย์กำลังตกต่ำ กุญแจแห่งความสำเร็จคือ การซื้อที่ราคาต่ำและขายที่ราคาสูง และปล่อยให้พลังของการทบต้นทำงานของมัน