×

ส่องตัวละครสำคัญรัฐประหาร 2549 พวกเขาอยู่ไหน สบายดีหรือเปล่า

19.09.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ไทยเป็น 1 ใน 3 ประเทศในโลก ที่มีรัฐประหารถึง 2 ครั้ง ในรอบ 10 ปี
  • บุคคลชื่อ ‘สนธิ’ 2 คนที่มีบทบาทสำคัญยิ่งเมื่อครั้งรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 มีเส้นทางพลิกผัน คนหนึ่งเข้าสนามการเมืองตามระบบ อีกคนหนึ่งรับโทษจำคุก
  • พล.ต. ประพาศ ศกุนตนาค และ ลุงนวมทอง 2 บุคคลสำคัญในเหตุการณ์ที่สื่อกระแสหลักไม่ค่อยกล่าวถึงนัก

การอยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นเวลากว่า 5 ปี ผนวกกับประเทศไทยเป็น 1 ใน 3 ของประเทศในโลก (ฟิจิ, บูร์กินาฟาโซ และไทย) ที่มีรัฐประหารถึง 2 ครั้ง ในรอบ 10 ปี ด้วยเหตุนี้สังคมไทยอาจชาชินกับการรัฐประหาร และยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองแบบไทยๆ ขณะที่คนจำนวนหนึ่งมองรัฐประหารเป็นทางออกจากวิกฤต



ในช่วงเวลาห่างกันไม่ถึง 10 ปี ไทยมีรัฐประหารถึง 2 ครั้ง นั่นคือรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นำโดย พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน และรัฐประหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

 

Photo: SAEED KHAN/AFP

 

มองย้อนไปก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 บรรยากาศแวดล้อมต่างๆ ทั้งกระแสประชาธิปไตยและโลกาภิวัตน์ ทำให้ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดรัฐประหารขึ้นอีกในสังคมไทย หลายคนพูดว่าการรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจรัฐบาลของพล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ น่าจะรัฐประหารเป็นครั้งสุดท้าย

 

Photo: INDRANIL MUKHERJEE/AFP

 

แต่แล้วรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ก็เกิดขึ้น และถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการแบ่งขั้วแบ่งสีทางการเมือง และนับแต่วันนั้นจนถึงวันนี้มากกว่าทศวรรษ ที่ความขัดแย้งในสังคมไทยร้าวลึก เปลี่ยนโฉมการเมืองไทยให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป 

THE STANDARD ขอพาย้อนไปดูตัวละครการเมืองสำคัญในเหตุการณ์ รัฐประหารวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ได้แก่สองสนธิ ทั้งสนธิ (บัง) และสนธิ (ลิ้ม) กับอีกสองตัวละครเล็กๆ แต่เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์การเมืองที่สำคัญ และที่ขาดไม่ได้ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ว่าปัจจุบันพวกเขาเป็นอย่างไรกันบ้าง

 

Photo: PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP

 

พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน

2549: หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)

ปัจจุบัน: ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา

 

พล.อ. สนธิ ผู้บัญชาการทหารบกมุสลิมคนแรกของไทย นายทหารที่เติบโตจากหน่วยรบพิเศษก่อนก้าวขึ้นตำแหน่งสูงสุดของกองทัพ และจารึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

     

ในทางการเมืองว่ากันว่า ทักษิณ ชินวัตร จิ้มชื่อ พล.อ. สนธิ เป็น ผบ.ทบ. เองกับมือ ขณะที่หนึ่งในภรรยาของ พล.อ. สนธิ มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคุณหญิงพจมาน ชินวัตร (นามสกุลเวลานั้น) โดยทักษิณหวังใช้บุญคุณและสายสัมพันธ์เป็นโล่กำบังการยึดอำนาจ

     

แต่แล้วคืนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ระหว่างที่ทักษิณไปประชุมสหประชาชาติที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พล.อ. สนธิ ในฐานะหัวหน้า คปค. ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลทักษิณ แม้ฝั่งทักษิณพยายามต่อสู้ด้วยการถ่ายทอดสัญญาณออกช่อง 9 ปลด พล.อ. สนธิ ออกจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. แต่ก็สายไปเสียแล้ว

 

Photo: SRT/AFP

 

พล.อ. สนธิ ยึดอำนาจพร้อมคำมั่นคืนอำนาจประชาชนภายใน 1 ปี และเชิญ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยหลังตั้งรัฐบาล พล.อ. สนธิ ได้เปลี่ยนตำแหน่งจากหัวหน้า คปค. ไปเป็นประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ขณะที่ปี 2550 พล.อ. สนธิ เข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีดูแลความมั่นคงในรัฐบาลพล.อ. สุรยุทธ์ นายทหารรุ่นพี่ที่เขาเชิญมาเป็นนายกฯ

     

จากนายทหารหัวหน้าคณะปฏิวัติ พลเอก สนธิ ตัดสินใจก่อตั้งพรรคมาตุภูมิ และลงสมัครเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ บทบาทของ พลเอก สนธิ ในฐานะ ส.ส. คือหนึ่งในผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ และเป็นประธาน กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของทักษิณ ที่ตนยึดอำนาจมากับมือ

 

บทบาทปัจจุบันของ พลเอก สนธิ คือ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา พร้อมกับลงสมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อลำดับที่ 8 ของพรรค แต่สอบตกไม่ได้เป็นสมัยที่ 2

 

 

Photo: TANG CHHIN SOTHY/AFP

 

สนธิ ลิ้มทองกุล

2549: แกนนำคนสำคัญกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ปัจจุบัน: รับโทษจำคุกคดีทำรายงานเท็จกรณีกู้เงินธนาคารกรุงไทยก่อนได้รับพระราชทานอภัยโทษ

     

ปี พ.ศ. 2526 สนธิโดดเด่นจากการก่อตั้งหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการรายเดือน และหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการรายสัปดาห์ จนประสบความสำเร็จ ช่วงเวลานั้นเครือผู้จัดการสร้างนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ชั้นแนวหน้าของวงการไว้มากมาย

     

สนธิเป็นที่รู้จักของคนหมู่มากผ่านการจัดรายการ เมืองไทยรายสัปดาห์ ร่วมกับ สโรชา พรอุดมศักดิ์ ออกอากาศทางช่อง 9 หรือโมเดิร์นไนน์ทีวี เมื่อปี พ.ศ. 2546 ด้วยวิธีการถ่ายทอดเรื่องราวที่แตกต่างจากรายการข่าวทั่วไป มีข้อมูลวงในมาอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ รายการจึงได้รับความนิยมและเป็นที่พูดถึงโดยแพร่หลาย จนในที่สุดถูกทักษิณ ชินวัตรฟ้องฐานหมิ่นประมาทเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2548 และถูกช่อง 9 ถอดออกจากผังรายการ

     

จากนั้น สนธิจึงออกตระเวนจัดรายการ เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ตามสถานที่ต่างๆ และนี่คือจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โค่นล้มรัฐบาลทักษิณสำเร็จในที่สุด

 

Photo: PORNCHAI KITTIWONSAKUL/AFP

 

แต่แล้วชะตากรรมผู้ชนะของสนธิกลับไม่งดงาม ด้วยผลพวงจากแกนนำม็อบ ทำให้มีคดีความติดตัวมากมาย รวมถึงมีศัตรูทั่วเมือง ท่ามกลางกระแสข่าวขัดแย้งกับผู้ใหญ่ในกองทัพ

     

หนักหนาสาหัสที่สุด สนธิเคยถูกลอบสังหาร เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2552 ช่วงเช้ามืดระหว่างเดินทางไปสถานีโทรทัศน์ ASTV เพื่อจัดรายการตามปกติ คนร้ายใช้อาวุธสงคราม AK47 HK33 M16 และเครื่องยิงลูกระเบิด M79 กระหน่ำยิงใส่รถของนายสนธิแล้วขับรถหนีไป

     

สนธิถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลวชิระ แต่อาการไม่ถึงขั้นสาหัส ส่วนนายอดุลย์ แดงประดับ คนขับรถได้รับบาดเจ็บสาหัส

     

เส้นทางชีวิตสนธิรอดพ้นจากคมกระสุนและคดีการเมือง แต่ต้องมาจบที่คดีความในทางธุรกิจ

     

สนธิ ลิ้มทองกุล ในวัย 68 ปี เดินเข้าเรือนจำหลังศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 20 ปี ไม่รอลงอาญา คดีทำรายงานเท็จกู้ธนาคารกรุงไทยวงเงินกว่าพันล้านบาท

 

สนธิ รับโทษจำคุก 2 ปี 11 เดือน 27 วัน จึงได้รับพระราชทานอภัยโทษ เพราะเข้าเกณฑ์ได้รับการลดโทษ 1 ใน 2 รวมถึงยังเป็นผู้ต้องหาอายุเกิน 70 ปี จึงเข้าเกณฑ์ได้รับการปล่อยตัวทันทีตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ

 

Photo: STR/AFP

 

พล.ต. ประพาศ ศกุนตนาค

2549: โฆษกอ่านประกาศคณะรัฐประหาร

ปัจจุบัน: ที่ปรึกษาผอ. ช่อง 5 และรับขับเสภาประกอบละครจักรๆ วงศ์ๆ

 

“โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง” ประโยคปิดท้ายยอดฮิตติดหูในช่วงการรัฐประหาร 2549 บรรยากาศช่วงรัฐประหารที่โทรทัศน์และวิทยุไม่มีอะไรให้ดูให้ฟังนอกจากเพลงปลุกใจ และประกาศหรือแถลงการณ์จากคณะรัฐประหาร

     

น้ำเสียงที่นุ่มชวนฟังแต่แฝงด้วยความหนักแน่นจริงจังของ พล.ต. ประพาศ ศกุนตนาค ยังติดหูอยู่ในความทรงจำของหลายคน โดยเฉพาะประโยคปิดท้ายยอดนิยม “โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง” ที่ภายหลังถูกศิลปินตลกนำไปล้อเลียนเล่นมุกสนุกสนานอยู่ช่วงหนึ่ง

     

พล.ต. ประพาศ ก้าวเข้ามาทำหน้าที่ประกาศคำสั่งปฏิวัติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ในยุค รสช. ภายใต้การนำของ พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ ผบ. สูงสุดในขณะนั้น ซึ่งยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ เวลาผ่านไป 15 ปี การรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 พล.อ. สนธิ เรียกใช้บริการเขาอีกครั้ง

 

Photo: STR/AFP

 

พล.ต. ประพาศ เคยให้สัมภาษณ์กับ ผู้จัดการ เมื่อปี พ.ศ. 2553 ว่า การทำหน้าที่เป็นผู้ประกาศคำสั่งปฏิวัติแต่ละครั้งไม่เคยได้รับการแจ้งให้รู้ล่วงหน้า แจ้งปุ๊บก็ต้องรีบแต่งตัวเดินทางเข้าสถานี ททบ. 5 ทันที

     

และเมื่อครั้งรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 ก็ถูกเรียกตัวด่วนขณะกำลังอยู่บ้าน

     

แต่อีกบทบาทหนึ่งที่น้อยคนจะรู้คือ พล.ต. ประพาศ เป็นเจ้าของเสียงขับเสภาประกอบละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่ออกอากาศทางช่อง 7 ซึ่งการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 ทำให้พล.ต. ประพาศ ว่างเว้นจากหน้าที่นี้ไป

     

กระทั่งต้นปี พ.ศ. 2556 แฟนละครจักรๆ วงศ์ๆ ได้ยินเสียงขับเสภาของ พล.ต. ประพาศ อีกครั้ง ในละครเรื่อง จันทร์ สุริยคาธ ขณะที่ปัจจุบัน พล.ต. ประพาศ ใช้ชีวิตวัยเกษียณอย่างสงบ เลี้ยงไก่ชน สะสมพระเครื่อง ปลูกต้นไม้ และทำหน้าที่ที่ปรึกษาผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ช่อง 5

 

พล.ต. ประพาศ ศกุนตนาค ออกจอโทรทัศน์ในรายการ Hardcore ข่าว ในประเด็น 60 ปี ททบ.5 เผยแพร่ทางยูทูบ 25 มกราคม 2561

 

 

นวมทอง ไพรวัลย์ หรือ ลุงนวมทอง

2549: อาชีพขับรถแท็กซี่

ปัจจุบัน: เสียชีวิตจากการประท้วงไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549

 

30 กันยายน พ.ศ. 2549 เกิดเหตุการณ์แท็กซี่ซึ่งทราบชื่อผู้ขับภายหลังว่า นายนวมทอง ไพรวัลย์ พุ่งเข้าชนรถถังบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อประท้วงคณะรัฐประหาร

     

ต่อมา ‘ลุงนวมทอง’ ได้ผูกคอตายประท้วงอีกครั้งจนเสียชีวิตในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2549 บริเวณราวสะพานลอยถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก เยื้องกับที่ตั้งสำนักงานหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ โดยในจดหมายลาตายระบุว่า ต้องการลบคำสบประมาทของ พ.อ. อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษก คปค. ที่ว่า “ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้” พร้อมกับสวมเสื้อที่สกรีนข้อความเป็นบทกวีที่ถูกใช้ในการต่อสู้ทางการเมือง โดยด้านหลังเป็นบทกวีของศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) ที่ว่า

     

‘อันประชา สามัคคี มีจัดตั้ง เป็นพลัง แกร่งกล้า มหาศาล แสนอาวุธ แสนศัตรู หมู่อันธพาล ไม่อาจต้าน แรงมหา ประชาชน’

     

ลุงนวมทองเป็นประชานคนธรรมดาที่ถูกยกย่องให้เป็นวีรบุรุษประชาธิปไตย และทุกวันที่ 31 ตุลาคมของทุกปี จะมีกลุ่มคนเดินทางไปรำลึก ณ ราวสะพานลอยบริเวณที่ลุงนวมทองเสียชีวิต และเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556 มีพิธีเปิดสดมภ์อนุสรณ์ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ โดยกลุ่ม นปช. เพื่อยกย่องและรำลึกถึงลุงนวมทอง

 

Photo: STR/AFP

 

(พ.ต.ท.) ทักษิณ ชินวัตร

2549: นายกรัฐมนตรี

ปัจจุบัน: นักโทษหนีคดี, ผู้ขอลี้ภัยทางการเมือง, นักธุรกิจ

 

ทักษิณมีเส้นทางชีวิตจากนักธุรกิจ ก่อนเข้าสู่สนามการเมืองโดยการชักชวนของ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง ให้มาสังกัดพรรคพลังธรรม จากนั้นก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ชูนโยบายซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็น ‘ประชานิยม’ คว้าชัยชนะในสนามเลือกตั้งถล่มทลาย และเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่อยู่ครบเทอม (ครบวาระ 4 ปี)

     

ตลอดช่วงที่ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีได้ฝากผลงานไว้มากมายพอๆ กับข้อกล่าวหาเรื่องทุจริตและเอื้อประโยชน์พวกพ้อง ด้วยบุคลิกมั่นใจในตัวเองสูง ทำให้การสัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในประเด็นร้อนหลายครั้งผลออกมามีเสียงด่ามากกว่าชม กระแสข่าวข้อกล่าวหาการทุจริต กรณีละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งฆ่าตัดตอนยาเสพติด และความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งข่าวลือต่างๆ ทำให้สังคมสั่งสมความไม่ไว้วางใจนายกฯ ผู้มาจากการเลือกตั้งผู้นี้

     

จุดแตกหักคือ กรณีขายหุ้นปี พ.ศ. 2549 ทักษิณขายหุ้นชินคอร์ปให้เทมาเส็ก รัฐบาลสิงคโปร์ มูลค่า 73,274 ล้านบาท โดยใช้ช่องทางหลีกเลี่ยงเพื่อไม่เสียภาษี

     

ทักษิณถูกยึดอำนาจระหว่างไปประชุมสหประชาชาติที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ใครจะคิดว่าการเดินทางออกนอกประเทศในฐานะผู้นำประเทศครั้งนั้นจะเป็นการเดินทางที่ยาวนานถึงเพียงนี้

 

Photo: SAEED KHAN/AFP

 

หลังวันยึดอำนาจผ่านไป 1 ปี 5 เดือน ทักษิณได้กลับเมืองไทยอีกครั้ง ภาพจำของหลายคนคือภาพอดีตนายกฯ ทักษิณ ก้มลงกราบแผ่นดิน ที่สนามบินสุวรรณภูมิ จากนั้นได้เข้ามอบตัวที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีตกเป็นจำเลยในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ร่วมกับคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา ซึ่งศาลอนุมัติให้ประกันตัว ก่อนจะขอศาลเดินทางออกนอกประเทศ โดยให้เหตุผลว่าจะไปร่วมพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศจีน ตั้งแต่นั้นทักษิณก็ไม่ได้กลับมาเหยียบแผ่นดินไทยอีกจนถึงปัจจุบัน

     

ในทางธุรกิจปัจจุบัน ทักษิณถือว่าประสบความสำเร็จ เขาลงทุนในเหมืองทอง เหมืองแพลทินัม และเหมืองถ่านหิน รวมถึงมีข่าวร่วมทุนกับนักวิจัยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ตั้งบริษัทประดิษฐ์เครื่องมือขนาดเล็กตรวจหามะเร็งด้วยลมหายใจ นอกจากนี้ยังมีบ้านพักในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และวิลล่าสุดหรูในนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

     

แต่ในทางการเมือง พรรคการเมืองของเขาถูกมรสุมการเมืองถล่ม ทั้งพรรคพลังประชาชน จนถึงพรรคเพื่อไทย ขณะที่นายกฯ ในสังกัดพรรคของเขา ทั้ง สมัคร สุนทรเวช, สมชาย วงศ์สวัสดิ์ รวมถึงน้องสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องพบกับชะตากรรมที่ยากลำบาก

     

โดยเฉพาะยิ่งลักษณ์ที่ต้องมีชะตากรรมไม่ต่างจากเขา เพราะการเข้าสู่เส้นทางการเมือง

 

ขณะที่ครบรอบ 12 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ทักษิณโพสต์ข้อความรำลึก 12 ปี เหตุการณ์รัฐประหารที่ผลักตัวเองออกนอกแผ่นดินไทย

 

 

 

การขยับโพสต์เฟซบุ๊กครั้งนี้ของเขาถูกวิเคราะห์ตีความว่าคือการฉวยจังหวะตีปี๊บกินพื้นที่สื่อ ในช่วงเวลาที่ผู้มีอำนาจขีดกรอบเวลาการเลือกตั้ง แต่ยังกำหนดกติกาห้ามทุกพรรคการเมืองหาเสียง

 

เวลาผ่านไปมากกว่าทศวรรษ แม้ชะตาชีวิตของคนที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 จะพลิกผันแตกต่างกัน แต่ดูเหมือนชะตาชีวิตของคนไทยจะยังติดอยู่กับวังวนความขัดแย้งที่ไม่มีทีท่าว่าจะจบลงตรงไหน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X