×

ถอดบทเรียน ‘เงินหมื่นเฟสแรก’ คุ้มหรือไม่? KKP เปิด 3 เหตุผล ทำให้ ‘แจกเงิน’ ได้ผลน้อยกว่าคาด

06.02.2025
  • LOADING...
เงินหมื่น

ถอดบทเรียน ‘เงินหมื่นเฟสแรก’ คุ้มหรือไม่? หลังรัฐบาลทุ่มงบประมาณมูลค่ากว่า 1.4 แสนล้านบาท (หรือคิดเป็นต้นทุน 0.7% ต่อ GDP) แต่กระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ 0.3% ด้าน KKP เปิด 3 เหตุผลทำให้ ‘เงินหมื่น’ ได้ผลน้อยกว่าคาด

 

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปลายเดือนกันยายน 2567 รัฐบาลดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ หรือ ‘เงินหมื่นเฟสที่ 1’ คิดเป็นเงินมูลค่ากว่า 1.4 แสนล้านบาท หรือประมาณ 0.7% ของ GDP

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่น่ามานี้ พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจ (Survey) ที่จัดทำขึ้น โดยมาจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ จากกลุ่มตัวอย่างราว 30,000 ราย และผลสำรวจจากสวนดุสิตโพล จากกลุ่มตัวอย่างราว 4,000 ราย พบว่า โครงการ ‘เงินหมื่นเฟสที่ 1’ กระตุ้น GDP ได้ 0.3% ตามที่คาดไว้ และสร้างตัวทวีคูณ (Multiplier Effect) เฉลี่ยอยู่ที่ 0.7 เท่า

 

KKP ‘เห็นต่าง’ ประเมินตัวคูณมีแค่ 0.1-0.3 เท่า

 

โดยล่าสุด KKP Research ของเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยบทวิเคราะห์เรื่อง ‘KKP แจงสาเหตุเศรษฐกิจไทยโตต่ำ แม้แจกเงิน-ส่งออก-ท่องเที่ยวฟื้นตัว’ โดยในบทความดังกล่าว KKP Research ประเมินว่า จากข้อมูลการบริโภคในช่วงที่ผ่านมา พบว่า จำนวนเงินที่ถูกนำมาใช้เพื่อการบริโภคใหม่คิดเป็นไม่ถึง 10% ของเงินที่แจกไป สอดคล้องกับที่ KKP Research เคยประเมินไว้ว่า ตัวคูณทางเศรษฐกิจ (Multiplier Effect) จากโครงการนี้จะเกิดขึ้นในระดับต่ำมากเพียงประมาณ 0.1-0.3 เท่า หรือการแจกเงิน 100 บาทจะส่งผลต่อเศรษฐกิจจริงประมาณ 10-30 บาทเท่านั้น

 

การแจกเงินแทบไม่ส่งถึงการบริโภค

 

KKP Research ยังชี้ให้เห็นว่า เมื่อพิจารณาดัชนีการบริโภคภาคเอกชนรายสินค้าในไตรมาส 4 ช่วงหลังที่มีมาตรการแจกเงินจะพบการเติบโตที่เป็นบวกของการบริโภคสินค้าไม่คงทนและกึ่งคงทนบ้าง สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของดัชนีค้าปลีกในหมวดอาหาร

 

อย่างไรก็ตาม อัตราการปรับตัวเพิ่มขึ้นของการบริโภคโดยรวมยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำมาก โดยการเพิ่มขึ้นของการบริโภคในไตรมาส 4 ปี 2567 ในภาพรวมมีอัตราการเติบโตโกล้เคียงกับการบริโภคในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2567 หรือหมายความว่า การแจกเงินแทบไม่มีผลต่อการบริโภคโดยรวมของภาคเอกชนไทยเลย

 

 

KKP Research เปิด 3 เหตุผลทำให้ ‘เงินหมื่น’ ได้ผลน้อยกว่าคาด

 

นอกจากนี้ KKP Research ยังวิเคราะห์ว่า 3 เหตุผลสำคัญที่ทำให้มาตรการแจกเงินของรัฐได้ผลน้อยกว่าที่หวังไว้ มีดังนี้

 

  1. เงินที่ได้รับไปไม่ได้กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายใหม่ในระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากมีแนวโน้มที่ระดับหนี้ครัวเรือนสูง โดยเฉพาะในกลุ่มคนรายได้น้อยจะลดประสิทธิภาพของนโยบายแจกเงินลง เนื่องจากเงินบางส่วนไม่ได้ถูกนำไปใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ถูกนำไปใช้เพื่อการชำระหนี้

 

โดยผลสำรวจวจจากกลุ่มตัวอย่างของสำนักงานสถิติพบว่า คนสัดส่วนประมาณ 12.8% นำเงินไปใช้เพื่อชำระหนี้ นอกจากนี้การใช้จ่ายในสินค้าส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายไปกับสินค้าจำเป็นที่มีการใช้จ่ายเดิมอยู่แล้ว และไม่ได้เป็นการเพิ่มการบริโภคใหม่ที่ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจ

 

โดยจากผลสำรวจพบว่า การใช้จ่ายในการแจกเงินกระจุกตัวอยู่ในอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้ในครัวเรือน และการชำระค่าสาธารณูปโภคมากที่สุด ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าจำเป็นที่คนมีการใช้จ่ายอยู่แล้วในทุกเดือน

 

 

 

 

  1. การใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายในเศรษฐกิจนอกระบบ (Informal Sectors) ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาของเศรษฐกิจนอกระบบคือ ภาครัฐไม่สามารถวัดข้อมูลกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้โดยตรง ตัวอย่างเช่น การใช้จ่ายในตลาดชนบทต่างจังหวัด

 

สอดคล้องกับผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ชี้ว่า ช่องทางที่มีการนำเงินไปใช้จ่ายมากที่สุดคือร้านค้าในชุมชนและหาบเร่แผงลอย ซึ่งอาจทำให้การวัดผลของนโยบายต่อเศรษฐกิจทำได้ยาก

 

โดยเมื่อพิจารณาข้อมูลจาก World Bank จะพบว่า เศรษฐกิจไทยมีขนาดของเศรษฐกิจนอกระบบใหญ่ถึงประมาณ 45% ของ GDP คิดเป็นลำดับที่ 8 ของโลก

 

 

 

  1. ปัจจัยเศรษฐกิจอื่นๆ ยังอยู่ในทิศทางขาลง ไม่สนับสนุนการฟื้นตัวของการบริโภค โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทน โดย KKP Research ประเมินว่า ทิศทางการบริโภคภาคเอกชนในภาพรวมยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ทำให้แม้มีการแจกเงินแต่ไม่พอชดเชยปัจจัยลบอื่นๆ ได้แก่

 

  • สินเชื่อภาคธนาคารที่ยังมีทิศทางหดตัวต่อเนื่อง จากปัญหาด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวแย่ลง ทำให้ธนาคารมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้นชัดเจน
  • รายได้ของครัวเรือนยังคงอ่อนแอ โดยเฉพาะรายได้ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไทยในภาพรวมยังคงไม่ฟื้นตัว
  • หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงยังกดดันการฟื้นตัวของการบริโภค

 

ถอดบทเรียน ‘เงินหมื่นเฟสแรก’ คุ้มหรือไม่? รัฐบาลควรปรับนโยบายอย่างไร

 

“ปัจจัยที่กล่าวมาเป็นข้อสังเกตสำคัญที่ทำให้การฟื้นตัวของการบริโภคยังคงอ่อนแอ แม้ว่าจะมีมาตรการแจกเงินเพิ่มเติม ประสบการณ์จากมาตรการแจกเงินในช่วงปลายปีชี้ให้เห็นว่า การใช้มาตรการดังกล่าวอาจเป็นทางเลือกนโยบายที่ได้ผลทางเศรษฐกิจน้อยกว่าต้นทุนทางการคลังที่เกิดขึ้น และเกิดคำถามว่างบประมาณการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2025 ควรปรับรูปแบบให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจได้หรือไม่” KKP Research ระบุ

 

โดย KKP คาดการณ์ว่า การบริโภคภาคเอกชนของไทยยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงในปี 2025 โดยจะขยายตัวได้ที่ 2.3% ชะลอลงจาก 4.2% ในปี 2024 โดยเฉพาะกลุ่มการบริโภคสินค้าคงทนที่จะยังหดตัวลงต่อไป

 

ขณะที่ รศ. ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การออกแบบนโยบายแจกเงิน รัฐควรทำให้เม็ดเงินเข้าไปกระตุ้นที่รากฐานของเศรษฐกิจไทยได้ พร้อมแนะแนวทางปรับปรุงหลักนั่นคือ รัฐควรจำกัดเงื่อนไขให้คนจับจ่ายกับสินค้าและบริการในประเทศ (Domestic Content) ไม่ควรให้เม็ดเงินรั่วไหลไปกับสินค้านำเข้า (Import Content) รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขอื่นๆ เพิ่มเติม เนื่องจากการแจกเงินโดยไม่กำหนดเงื่อนไขก็จะทำให้เกิดตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจไม่สูงมาก

 

ทั้งนี้ โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแจกเงิน 10,000 บาทของรัฐบาลแบ่งเป็น 3 ระยะ โดยระยะแรกแจกให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้พิการจำนวนกว่า 14 ล้านคน เป็นเงินกว่า 1.4 แสนล้านบาท ส่วนระยะที่ 2 แจกให้ผู้สูงอายุจำนวนราว 3 ล้านคน เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2568 สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตระยะที่ 3 รัฐบาลไทยเตรียมเปิดตัวในเดือนเมษายนนี้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising