×

10 ปรากฏการณ์ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยในระยะเวลา 15 ปีข้างหน้า

29.06.2020
  • LOADING...

ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (FutureTales Lab by MQDC) ได้ทำการวิเคราะห์คาดการณ์อนาคตเกี่ยวกับปรากฏการณ์ในสังคมไทยที่จะเปลี่ยนแปลงไป เพื่อตอบโจทย์การวิจัยเรื่องอนาคตของการใช้ชีวิตของคนไทย โดยการศึกษาครั้งนี้วิเคราะห์ผ่านการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยจากในอดีตย้อนหลังจนถึงปรากฏการณ์ในปัจจุบัน ผ่านการวิเคราะห์ด้วยวิธีการศึกษาเทรนด์แนวโน้มเพื่อนำเสนอภาพสังคมหลากหลายมิติที่เป็นไปได้ในอนาคต 

 

โดยครอบคลุมด้านเพศสภาพ สังคม วัฒนธรรม ครอบครัว เศรษฐกิจ และการเมือง ซึ่งสามารถสรุปการวิเคราะห์ได้เป็น 10 ปรากฏการณ์สำคัญ ซึ่งประเมินแล้วว่าอาจจะเกิดขึ้นในระยะเวลา 15 ปีข้างหน้า ดังนี้ 

 

1. อาชีพในอนาคตที่ไม่มีวันเกษียณ ปรากฏการณ์ด้านการพัฒนาสายงานและอาชีพในอนาคตนั้นอาจนำไปสู่การที่ไม่มีอายุสำหรับการเกษียณ การกำหนดอายุสำหรับเกษียณจะกลายเป็นข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเป็นหลัก เพราะรูปแบบการทำงานในอนาคตนั้นสะท้อนความเป็นไปได้ของสถานที่ทำงานในรูปแบบที่ไม่มีข้อจำกัดด้านอายุ (Ageless Workplace) อีกต่อไป เสมือนการไปทำงานคือการไปเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์การทำงานโลกอนาคตด้วยเช่นกัน

 

2. ความเชี่ยวชาญสู่โลกอนาคต เนื่องด้วยการแข่งขันที่สูงมากขึ้น ทำให้การพัฒนาความเชี่ยวชาญของคนยุคถัดไปจะอยู่ในรูปแบบการเรียนเพื่อวุฒิการศึกษาไปพร้อมกับการสร้างแบรนดิ้งความเชี่ยวชาญของตนเองผ่านช่องทางออนไลน์หรือช่องทางอื่นๆ ไปพร้อมกัน

 

3. อัตลักษณ์ทางเพศที่ไม่สำคัญอีกต่อไป ปรากฏการณ์ด้านเพศสภาพในอนาคตนั้นถูกคาดการณ์ว่าอาจไม่มีความสำคัญอีกต่อไป มีการมองข้ามเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศของคน โดยให้ความสำคัญกับเรื่องทักษะความสามารถและความเป็นมนุษย์เป็นหลัก และเริ่มมีความแตกต่างทางเพศสภาพที่เปลี่ยนไปมากกว่าเพียงแค่สองเพศเท่านั้น เป็นกลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) หรือมากกว่า กรณีตัวอย่างการจำแนกเพศของผู้ใช้ในโลกออนไลน์สามารถจำแนกแบ่งเพศได้มากถึง 58 ลักษณะ เพื่อสะท้อนความเป็นตัวตนของคนในยุคปัจจุบันให้มากที่สุด

 

4. ครอบครัวสะท้อนความหลากหลายในอนาคต การยอมรับความหลากหลายทางเพศสภาพที่เพิ่มขึ้นจะนำไปสู่ครอบครัวในอนาคตที่จะมีทั้งคู่สมรสข้ามเพศที่เป็นทั้งแม่และพ่อในครอบครัวเดียวกัน พ่อแม่ที่เป็นคู่ชายรักชาย หรือคู่หญิงรักหญิง หรือแม้กระทั่งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ด้านการเจริญพันธุ์ที่จะนำไปสู่การเป็นพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวมากขึ้น ต่างจากภาพครอบครัวในอดีตที่มักอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ ทั้งพ่อแม่ลูก และปู่ย่าตายาย

 

5. ภาวะผู้นำในอนาคต ต่อเนื่องและเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับความเปลี่ยนแปลงด้านการยอมรับทางเพศสภาพในอนาคตที่ไม่มีความแตกต่างทางอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งในอดีตภาพของผู้นำในยุคถัดไปจะไม่ได้ยึดติดกับลักษณะแบบชายเป็นใหญ่ (Patriarchal Leader) โดยในปัจจุบันเริ่มมีแนวโน้มและพัฒนาการไปสู่ความหลากหลายของผู้นำมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้นำที่เป็นหญิง เกย์ ผู้หญิงข้ามเพศ และผู้ชายข้ามเพศ

 

6. กฎหมายกับความสัมพันธ์ของคนและเทคโนโลยี ในอนาคตจะมีการเปิดใจยอมรับความสัมพันธ์ระหว่างคนและเทคโนโลยีที่มีมากขึ้น และอาจนำไปสู่การปรับกฎหมายเรื่องการยอมรับความสัมพันธ์ของคู่สมรสระหว่างมนุษย์และปัญญาประดิษฐ์ได้ เนื่องด้วยการพัฒนาปรับปรุงของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่สูงมากขึ้น

 

7. อนาคตสะท้อนเชื้อชาติที่มีความเป็นลูกผสม ความเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นลูกครึ่งหรือการแต่งงานมีคู่ครองข้ามเชื้อชาติหรือข้ามประเทศ จนมีทายาทหรือคนรุ่นถัดไปในสังคมไทยที่มีพื้นฐานหลากหลายเชื้อชาติจนกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้นกว่าเดิม 

 

จากตัวเลขเลขทางสถิติที่ผ่านมาในไทย พบว่าชาวต่างชาติในภาคอีสานประมาณ 27,357 คน หรือกว่า 90% แต่งงานกับผู้หญิงไทย โดยสอดคล้องไปกับแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาจาก 12,088 ไปถึง 38,403 

 

สำหรับการขอวีซ่าคู่หมั้นชาวต่างชาติของสหรัฐอเมริกา ซึ่งสภาพการณ์นี้ต่างจากภาพอดีตที่คนในประเทศที่มีความเป็นไทยที่ชัดเจน หรือยุคปัจจุบันที่ผู้นำหลายภาคส่วนที่มีเชื้อสายไทย-จีนเป็นหลัก

 

8. ปรากฏการณ์ฮ่องเต้น้อย หมายถึงกลุ่มเด็กที่เพิ่งเกิดหรือกำลังจะเกิดในอนาคต เนื่องด้วยแนวโน้มของเด็กที่จะเกิดน้อยลงเรื่อยๆ ทำให้สมาชิกในครอบครัวทุ่มเทให้ความสำคัญกับเด็กเกิดใหม่เป็นอย่างมาก ต่างจากอดีตที่จะเน้นความสำคัญไปที่กลุ่มวัยทำงานหรือวัยกลางคนที่เป็นกลุ่มขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก 

 

ส่วนปัจจุบันจะเน้นการให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้สูงวัยที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหากได้รับการปรับเปลี่ยนทักษะ (Reskill) จะเกิดแนวโน้มที่จะกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานอีกครั้ง แต่ภาพอนาคตจะเน้นไปที่กลุ่มเด็กตามปรากฏการณ์ฮ่องเต้น้อย ซึ่งมีกรณีศึกษาจากประเทศจีนที่สมาชิกในครอบครัวทั้งปู่ย่าตายายและพ่อแม่จะดูแลเด็กเล็กซึ่งเป็นสมาชิกใหม่คนเดียวของบ้าน เนื่องด้วยแนวโน้มจำนวนของเด็กที่จะเกิดนั้นน้อยลงทุกปี

 

9. การเติบโตของเมืองรองตามภูมิภาค การแบ่งภูมิภาคในอนาคตจะพัฒนาตามรูปแบบการขยายของเมืองรองมากขึ้น ตามเส้นทางการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนความเร็วสูงที่เชื่อมต่อไทยและประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค ภาพการเติบโตของเมืองรองในอนาคตนั้นพัฒนามาจากการแบ่งส่วนภูมิภาคในอดีตที่ให้ความสำคัญในรูปแบบเมืองหลักของแต่ละส่วนภูมิภาค เช่น เชียงใหม่ เป็นเมืองหลักของภาคเหนือ 

 

10. อนาคตการเมืองสะท้อนรูปแบบกลุ่ม มีความเป็นไปได้ของการเมืองในอนาคตสะท้อนรูปแบบกลุ่มคนที่มีความสนใจประเด็นใกล้เคียงกัน (Clan Based Politics) เช่น ประเด็นสิ่งแวดล้อม หรือประเด็นหลักของการอยู่อาศัยของชุมชนกับนวัตกรรม เป็นต้น

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising