ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบนโลกใบนี้สิ่งที่เรียกว่า ‘คอนเน็กชัน’ มีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของหน้าที่การงาน ใครที่ Connect the dots ไปได้มากและไกลเท่าไร ก็หมายถึงโอกาสที่จะมีเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
เรื่องนี้ทำให้ในโลกของการทำงาน การแสวงหาคนรู้จักเป็นเรื่องที่มีความหมายไม่น้อยไปกว่าการมองหาคนรู้ใจ เพียงแต่ในการจะทำความรู้จักกับใครสักคนหรือสังคมใดสักแห่งไม่ได้หมายความว่าเราต้องตามใจหรือเออออห่อหมกตามเขาไปหมดเสียเมื่อไร
นี่คือ 10 วิธีง่ายๆ ที่จะทำให้เรากลายเป็นคนที่เข้าหาสังคมได้ดีขึ้นโดยไม่ต้องฝืนความรู้สึกกัน 🙂
1. เป็นตัวของตัวเอง!
อย่างแรกที่สำคัญที่สุดตราบใดที่เราไม่ได้เป็นอาชญากรหรือฆาตกรต่อเนื่องที่ต้องปิดบังตัวตนแล้ว จงเป็นตัวของตัวเอง!
การเป็นตัวของตัวเองสำคัญที่สุด เป็นหัวใจของทุกสิ่ง ถ้าเราเป็นคนสนุก มีอารมณ์ขัน ก็จงใช้เสียงหัวเราะและมุกตลก (ที่พอดี) เป็นใบเบิกทางในการทำความรู้จัก แต่ถ้าหากเราไม่ได้เป็นคนตลกโดยธรรมชาติ (เหมือนผู้เขียน) ก็ไม่จำเป็นต้องไปฝืนตัวเองด้วยการทำตัวตลกแต่อย่างใด (แบบผู้เขียนอีกเช่นกัน…)
เพราะถ้าทำแบบนั้นก็แปลว่าเรากำลังแสดงเป็นคนอื่น ไม่ใช่ตัวเอง และมันไม่ใช่เรื่องดีไม่ว่าจะในระยะสั้นหรือระยะยาวของการทำความรู้จักใครสักคน ถ้าอยากให้ใครรู้จักตัวจริงของเรา เราก็ต้องเป็นตัวจริงให้เขาเห็น
2. เอาใจไปแลกใจ
แน่นอนว่าการทำความรู้จักหรือเข้าหาสังคมโดยเฉพาะในโลกของการทำงานเป็นเรื่องของผลประโยชน์อยู่แล้ว ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะจ้องมองหาแต่ ‘ตัวเลข’ จากความสัมพันธ์นั้น การแลกนามบัตรเป็นสิบเป็นร้อยใบอาจไม่มีความหมายเลยเมื่อเทียบกับการทำความรู้จักกับใครสักคนด้วยการพูดคุยกันอย่างจริงจังและจริงใจ รู้จักเขาและให้เขารู้จักเรา
หากวันใดวันหนึ่งมันจะนำไปสู่การจับมือกันเพื่อร่วมกันทำอะไรสักอย่าง ก็ถือว่าเป็นการรู้จักกันที่ดี แต่ต่อให้ไม่ได้โอกาสในการร่วมงานกัน ได้เพื่อนเพิ่มสักคนก็ย่อมดีกว่าได้ศัตรูมาแบบไม่คาดฝัน จริงไหม
3. ติดตามแต่ไม่ตามติด
เวลาไปงานสัมมนาต่างๆ ในช่วงของการ Networking คือระยะเวลาสั้นๆ ที่เราจะได้พูดคุยกับคนที่อยากทำความรู้จักด้วย เพียงแต่นั่นไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจบลงแค่ตรงนั้น
ขึ้นชื่อว่าความสัมพันธ์มันต้องมีการสานต่อ แต่การสานต่อนั้นไม่ได้หมายถึงการบอมบ์ด้วยอีเมลหรือยกหูต่อสายหาแบบไม่หยุดหย่อน บางครั้งแค่การส่งข้อความทักทายหาบ้างในวันต่อๆ มา ถามไถ่สุขภาพกันบ้าง หรือหากมีประเด็นที่อยากพูดคุย แค่ถามกันว่า “สะดวกพอให้ติดต่อทางไหนบ้าง” คนที่ได้ยินก็อยากพูดคุยด้วยแล้ว
4. ช่วยเหลือได้แต่ไม่ใช่ทุกอย่าง
เพราะบนโลกใบนี้มีคนประเภทหนึ่งที่มีจิตใจดีพร้อมช่วยเหลือคนอื่นเสมอ แต่คนประเภทนี้อีกเช่นกันที่มักจะเจ็บปวดเพราะโดนคนอื่นใช้ประโยชน์
เราช่วยเหลือคนอื่นได้นะ แต่ไม่จำเป็นต้องรับทุกเรื่อง ไม่จำเป็นต้องยอมทุกอย่าง เพื่อให้คนใจร้ายมาเอาเปรียบเราได้
การปฏิเสธกันไม่ได้หมายความว่าไม่มีน้ำใจ คนที่เข้าใจเขาจะเข้าใจ แต่ถ้าคนไม่เข้าใจก็ปล่อยเขาไปเถอะ
5. มีทั้งชีวิตและชีวา
สำหรับคนที่ต้องออกไปตามงานพบเจอผู้คนบ่อยๆ เป็นเรื่องเข้าใจได้ที่แรงจะหมด พลังงานจะตก เพราะมันหมายถึงการเดินทาง การต้องใช้สมาธิในการร่วมงาน ไปจนถึงต้องพยายามพูดคุยกับผู้คน
เพียงแต่สิ่งที่จะสร้างความแตกต่างได้คือภาพจำของเราเวลาที่ไปร่วมงานนี่แหละ
ระหว่างคนที่กระฉับกระเฉง สดใส กระตือรือร้น แววตาเป็นประกาย กับคนที่ง่วงเหงาหาวหวอดๆ คนแบบแรกก็ย่อมน่าสนใจและน่าทำความรู้จักอยู่แล้ว ดังนั้นพยายามทำตัวให้สดชื่นเขาไว้ ง่วงก็เติมกาแฟ หิวก็หม่ำของว่าง
6. อย่าเป็นเกรียนโซเชียลมีเดีย
โซเชียลมีเดียเป็นแพลตฟอร์มที่เป็นเหมือนโลกอีกใบของคนก็จริง เรามีอิสระเสรีที่จะแสดงออกอย่างไรก็ได้
แต่ในทางกลับกัน คนอื่นก็มีสิทธิ์ที่จะติดตามหรือตัดสินเราจากสิ่งที่เราแสดงออกเช่นกัน
ดังนั้นจงใช้โซเชียลมีเดียอย่างถูกทาง ไม่เป็นเกรียน ไม่เป็นคนที่ดูติดลบทางความคิด เพราะมันอาจกระทบต่อความน่าเชื่อถือของเราได้ อย่าลืมว่าดิจิทัลฟุตพรินต์มันน่ากลัว ต่อให้วันนี้เรามีภาพลักษณ์ที่ดี แต่ถ้าในอดีตเราเคยทำเลอะเทอะอะไรไว้ มันสามารถกลับมาหลอกหลอนเราได้เสมอ
7. หากลุ่มที่ใช่ อย่าหากลุ่มที่ชอบ
การเข้าร่วมกลุ่มเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น อาจมีสิ่งที่ชอบร่วมกัน คิดเหมือนกัน หรือทำงานแวดวงเดียวกัน จะเข้ากลุ่มไหนก็ได้ทั้งนั้นเป็นสิทธิ์ของเรา
แต่จะให้ดีต่อหน้าที่การงานนั้นควรจะเป็นกลุ่มที่ใช่มากกว่าแค่กลุ่มที่ชอบ ในความหมายคือเป็น ‘มิตร’ ที่พร้อมจะช่วยกันผลักดันกันและกันไปสู่สิ่งที่ดี ได้พบปะผู้คนใหม่ๆ ต่อไปเรื่อยๆ ได้โอกาส ไปจนถึงได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ด้วย
ตรงนี้ถึงมันยากที่จะบอกว่ากลุ่มไหนใช่ แต่อย่างน้อยถ้าใน 100 กลุ่มที่เราอยู่ มีสัก 2-3 กลุ่มที่จะช่วยพาชีวิตไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น แค่นั้นก็ถือว่าโอเคแล้ว
8. ให้ใจ อย่าให้ไต
ในการหยิบยื่นอะไรสักอย่างให้แก่ใครสักคน สิ่งที่เราจะให้คือ ‘คุณค่า’ ที่แท้จริงของเรา ซึ่งอาจมาจากความสามารถ บทบาท ตำแหน่ง หรืออะไรสักอย่างที่เป็นของเราจริงๆ
แต่ไม่ใช่ว่าเราต้องอุทิศทุกสิ่งทุกอย่างให้กับคนอื่นหมด ถ้ามันจะกระทบต่อการงาน การเงิน สุขภาพ ชีวิต หรืออะไรก็ตามที่รู้สึกว่าไม่โอเคเลย แปลว่านั่นไม่ใช่มิตร แต่มีแนวโน้มจะเป็น ‘มิจ’ เจอแบบนั้นก็ขอให้หลีกให้ไกล
9. อ้างอิงได้แต่อย่าบ่อย
บางครั้งการรู้จักใครสักคนก็สามารถเป็นใบเบิกทางที่ดีได้ เช่น “ผมเป็นรุ่นน้องเฮียวิทย์นะ” ซึ่งนั่นหมายถึงคนอาจสนใจแล้วว่าเราคือใคร มีความสัมพันธ์อย่างไรต่อบุคคลที่โด่งดังหรือมีชื่อเสียง
เพียงแต่เราก็ไม่ควรจะไปอ้างอิงอะไรบ่อย ไม่ใช่เอะอะหยิบชื่อมาอ้าง เพราะบางครั้งเราก็ควรคำนึงถึงคนที่ถูกอ้างด้วยว่ามันจะกระทบอะไรกับเขาไหม (และส่วนใหญ่พวกที่อ้างชื่อคนใหญ่คนโตบ่อยๆ ก็มักจะก่อเรื่องก่อราวทั้งนั้น)
ในทางตรงกันข้าม หากใครพูดชื่อใครสักคนมาแต่เราไม่รู้จัก อย่าเพิ่งเมินไป ยิ้มไว้ พยักหน้า แล้วค่อยหาเวลา Google ดูว่า “เฮียวิทย์นี่ใครนะ”
10. เปิดใจให้กว้างเหมือนแม่น้ำ
การไปร่วมงาน ได้มีโอกาสพบเจอผู้คน ได้พูดคุย แลกนามบัตรกัน ถือเป็นการเปิดประตูของความสัมพันธ์ แต่มันจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยหากเราไปแบบไม่เปิดใจ ไม่ได้อยากรับรู้หรือเรียนรู้อะไรใหม่
ถ้ามีโอกาสแบบนี้ให้คิดว่าเป็นโอกาสดีๆ ต่อให้ไปเจอกับคนที่อาจมีประสบการณ์ในการทำงานน้อยกว่า ตำแหน่งเล็กกว่า ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมองข้ามกันเฉยเลย บางครั้งการได้แลกเปลี่ยนมุมมองกันอาจทำให้มองเห็นอะไรบางอย่างได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
และไม่มีใครรู้ บางครั้งคนตัวเล็กๆ ที่คุณเคยเจอในวันนั้น สักวันเขาอาจกลายเป็นคนสำคัญที่หยิบยื่นความช่วยเหลือให้แก่คุณก็ได้ในวันข้างหน้า
ทั้งหมดนี้คือ 10 วิธีง่ายๆ ที่หวังว่าจะช่วยให้พัฒนาการทำความรู้จัก เข้าสังคมได้ดียิ่งขึ้น ใครรู้อยู่แล้วเก่งอยู่แล้วก็ถือว่าทำดีแล้วทำต่อไป ส่วนใครยังไม่รู้ลองดูนะ ไม่มีอะไรที่ยากเกินไปหรอก
และอย่าลืมว่าทุกอย่างเริ่มต้นจากข้อที่ 1
ไม่ว่าจะไปรู้จักกับใคร เป็นตัวของตัวเองไว้นะ 🙂
อ้างอิง: