×

โลกปี 2021 และ 10 ประเด็นร้อนน่าจับตากับ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

28.12.2020
  • LOADING...
โลกปี 2021 และ 10 ประเด็นร้อนน่าจับตากับ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ตลอดปี 2020 ที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งปีที่ประชาคมโลกต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ดูจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น การเปลี่ยนผ่านอำนาจของผู้นำสหรัฐอเมริกาภายหลังการเลือกตั้งครั้งสำคัญ เป็นปีที่หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในบางประเทศจะเริ่มอนุญาตให้มีการใช้วัคซีนต้านโควิด-19 ในวงกว้างเป็นกรณีฉุกเฉินบ้างแล้วก็ตาม โดยทุกหน่วยในสังคมต่างยังคงจะต้องปรับตัวรับกับแรงกระเพื่อมของความท้าทายนี้ไปอีกพักใหญ่ๆ 

 

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประจำในช่วงส่งท้ายปีจนแทบจะกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ถึงภาพรวมความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายที่เกิดขึ้นในปี 2020 รวมถึงแนวโน้มความต่อเนื่องของประเด็นสำคัญต่างๆ ที่น่าติดตามในปี 2021 โดยเฉพาะในมิติของการเมืองและความมั่นคง

 

นี่คือ 10 ประเด็นสำคัญในเวทีโลกที่น่าจับตามองในปี 2021

 

Photo: Tim Rue / Corbis via Getty Images

 

  1. การเปลี่ยนตัวผู้นำสหรัฐฯ กับความสัมพันธ์ระหว่างพญาอินทรีและพญามังกรใน ‘ยุคไบเดน-สีจิ้นผิง’

สถานการณ์ในปี 2021 หากมองจากมุมในเวทีระหว่างประเทศ จะเป็นอีกปีหนึ่งที่มีความท้าทายใหญ่ โจทย์สำคัญแรกๆ ที่จะต้องพูดถึงคงหนีไม่พ้นประเด็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกากับจีนในยุคของ โจ ไบเดน และ สีจิ้นผิง

 

ปี 2021 คือการสิ้นสุดอำนาจของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่ไม่ได้หมายความว่ายุคของทรัมป์หรือยุคของกระแสขวาจัดในสหรัฐอเมริกาจะสิ้นสุดลงตามไปด้วย โจทย์ใหญ่คือการเปลี่ยนตัวผู้นำสหรัฐฯ เป็น โจ ไบเดน จะมีผลกระทบต่อการเมืองภายในของสังคมอเมริกันเอง รวมถึงบทบาทของ โจ ไบเดน บทบาทในฐานะผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่กับการเมืองในเวทีโลก ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าแนวนโยบายของพรรคเดโมแครตคงจะแตกต่างจากพรรครีพับลิกันเป็นอย่างมาก โดยเราจะยังไม่เห็นตัวนโยบายจริงๆ จนกว่าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในช่วงกลางเดือนมกราคม 2021 จะแล้วเสร็จ

 

นโยบายชุดใหม่จะมีผลต่อการเมืองโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยหลายฝ่ายเชื่อว่า นโยบายเหล่านั้นคงจะแตกต่างจากนโยบายในยุคทรัมป์ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาสิ่งที่เห็นชัดเจนคือ ทรัมป์แสดงบทบาทและท่าทีที่เน้นนโยบายที่เป็นการถอยสหรัฐฯ กลับไปอยู่แบบโดดเดี่ยว (Isolationism) ซึ่งไม่มีใครคิดว่าเราจะได้เห็นนโยบายในลักษณะนี้ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา 

 

เพราะฉะนั้นผลกระทบในอีกด้านหนึ่งจากการก้าวขึ้นสู่อำนาจของ โจ ไบเดน และนโยบายการเมืองใหม่ของสหรัฐฯ ในเวทีโลกที่ต้องจับตามองคือ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่จะเด่นชัดขึ้นในสองมิติ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ในมิติของการแข่งขันและในมิติของความร่วมมือ ไม่ได้อยู่ในมิติของการต่อสู้กันอย่างเดียวอีกต่อไป 

 

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

สิ่งที่น่าคิดต่อก็คือ การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับจีนไม่ได้จบลงไปพร้อมกับการลงจากอำนาจของทรัมป์ เพราะว่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ทรัมป์เปิดประเด็นใหญ่ที่อาจจะต้องยอมรับว่าสังคมอเมริกันเองหลายส่วนยังเห็นพ้องและคล้อยตามไปกับจุดยืนของทรัมป์ที่ว่า จีนเป็นปัญหาใหญ่และจีนเอารัดเอาเปรียบสหรัฐฯ ถ้ามองผ่านการรับรู้ (Perception) ดังกล่าวของคนในสังคมอเมริกัน จะเห็นได้ชัดว่าปัจจุบันพวกเขาส่วนใหญ่ไม่ได้มองจีนด้วยทัศนะที่เป็นบวก (Positive) เพราะฉะนั้นการแข่งขันกันระหว่างมหาอำนาจเหล่านี้ ความน่าสนใจจึงอยู่ที่ว่า ถ้าทรัมป์แข่งขันกับจีนโดยใช้มิติทางการค้าเป็นหลัก การแข่งขันในอนาคตในยุคของไบเดนกับสีจิ้นผิงเราจะเห็นอะไรมากกว่ามิติทางด้านการค้าหรือทางเศรษฐกิจหรือไม่ นี่จะเป็นการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ หรือการแข่งขันเพื่อครองความเป็นใหญ่ (Hegemonic Struggle) ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก โจทย์นี้จะยังคงเป็นโจทย์ที่ทิ้งค้างไว้กับอนาคตของปี 2021

 

Photo: Kevin Frayer / Getty Images

 

  1. การสร้างอำนาจทางทหารของจีน และผลกระทบต่อการเมืองโลก

ในหลายช่วงเวลาที่ผ่านมา สิ่งที่เราเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ คือ การสร้างอำนาจทางทหารของจีน ยิ่งในปัจจุบันจีนมีสถานะทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง บวกกับจีนสามารถสร้างความเติบโตทางเทคโนโลยีภายในสังคมของตัวเองได้ แล้วเราเห็นชัดว่าความเข้มแข็งและความเติบโตดังกล่าวถูกนำไปสร้างเป็นพลังอำนาจทางทหาร สิ่งที่น่าสนใจในปี 2021 คือ การสร้างอำนาจชุดนี้จะมีผลกระทบต่อการเมืองโลกอย่างไร และบทบาททางทหารของจีนในอนาคตจะเป็นไปในทิศทางไหน ได้แต่เพียงหวังว่า สงครามระหว่างสหรัฐฯ กับจีน สุดท้ายแล้วการแข่งขันชุดนี้จะไม่ขยายตัวไปเป็นสงครามใหญ่จริงๆ แต่ที่แน่นอนคือปี 2021 จะเป็นอีกปีหนึ่งที่เราจะเห็นการขยายอำนาจทางทหารของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเติบโตทางเทคโนโลยี

 

อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก

Photo: Rainer Keuenhof – Pool / Getty Images

 

  1. ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของยุโรปกับกระแสประชานิยมปีกขวา

ปี 2021 การเมืองยุโรปจะมีความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบทบาทการเป็นผู้นำประเทศของ อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีที่ได้รับการจัดอันดับจากนิตยสาร Forbes ให้เป็นผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกถึง 10 ปีติดต่อกัน วันนี้เราต้องยอมรับว่าผู้นำเยอรมนีเป็นเหมือนเสาหลักของสหภาพยุโรป (EU) โดยเธอเคยประกาศจะยุติเส้นทางการเมืองและก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อครบวาระในปี 2021 หากช่วงเวลานั้นมาถึง ใครจะเป็นผู้นำคนใหม่ในอนาคต รวมถึงบทบาทของผู้นำฝรั่งเศสเองก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงของการเมืองในสหภาพยุโรป เราจะดูจากเฉพาะบริบทของการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร หรือ Brexit อย่างเดียวคงไม่พอ แต่จะต้องดูการเมืองบนภาคพื้นทวีปด้วย โดยเฉพาะการเมืองเยอรมนีกับฝรั่งเศสที่ยังเป็นจุดสำคัญ ซึ่งทั้งสองประเทศนี้เป็นเหมือนเสาหลักของภูมิภาคนี้ในปัจจุบัน

 

ในอีกมิติหนึ่ง เราจะเห็นกระแสประชานิยมปีกขวา (Right Wing Populism) ในยุโรปที่ถูกขับเคลื่อนมาตลอดหลายๆ ปี โดยกระแสความคิดนี้เติบโตและเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นในเยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ รวมถึงฮังการี ซึ่ง ‘ชุดความคิดชาตินิยมใหม่’ (New Nationalism) ที่ต่อต้านแนวคิดแบบเสรีนิยม ต่อต้าน ‘ความเป็นอื่น’ อย่างสุดโต่งนี้จะยิ่งทำให้การเมืองยุโรปร้อนระอุและน่าติดตามไม่น้อย

 

Photo: William Potter / Shutterstock

 

  1. ปัญหาการค้าโลกและผลกระทบจากการลดถอยของโลกาภิวัตน์ (Deglobalization)

การเมืองโลกปี 2021 ยังเป็นปัญหาเศรษฐศาสตร์การเมือง ยังต้องจับตาดูเรื่องของปัญหาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเรามักจะพูดถึงการค้าระหว่างประเทศในบริบทของสหรัฐฯ กับจีนที่เป็นการแข่งขัน แต่การค้าระหว่างประเทศในปี 2021 คงจะต้องมองในบริบทมหภาคมากยิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 กับผลพวงที่ตามมาจากการแข่งขัน ซึ่งอาจทำให้หลายประเทศพยายามที่จะมีนโยบายทางเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศในลักษณะที่ปิดมากยิ่งขึ้น 

 

คำถามสำคัญคือ ถ้านโยบายมีลักษณะที่ปิดมากขึ้น เราจะเห็นการถดถอยของกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) หรือไม่ ถ้าถอดถอย โลกจะถดถอยลงไปถึงจุดนั้นมากน้อยเพียงใด เพราะฉะนั้นปัญหาเรื่องการค้า หรือมิติทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศปี 2021 จะเป็นโจทย์ใหญ่อย่างแน่นอน

 

แต่ในขณะเดียวกันกระแสโลกาภิวัตน์ในมิติของสังคมก็นำพาไปสู่สังคมที่มีความหลากวัฒนธรรม ดังเห็นได้จากกรณีที่ คามาลา (กมลา เทวี) แฮร์ริส ได้รับเลือกให้เป็นรองประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐฯ โดยที่เธอมีเชื้อสายอินเดียน-อเมริกัน อีกทั้งการพัฒนาและความเจริญทางการเมืองยังสะท้อนถึงการเปิดโอกาสที่ไม่มีข้อจำกัด ทั้งสีผิว ชาติพันธุ์ รวมถึงความเชื่อและเพศสภาพ ซึ่งทีมรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่สะท้อนความแตกต่างหลากหลายในสังคมอเมริกันได้เป็นอย่างดี ก็เป็นอีกหนึ่งมิติของโลกาภิวัตน์ที่น่าติดตามในปี 2021 

 

สงครามเชื้อโรค

Photo: Roman J Royce / Shutterstock

 

  1. ผลกระทบทางการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านมานานราว 1 ปี มีผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 80 ล้านรายทั่วโลก ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตสูงกว่า 1.7 ล้านราย โดยสหรัฐอเมริกาถือเป็นประเทศที่พบการระบาดรุนแรงที่สุด มียอดผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุดในโลกกว่า 18.5 ล้านราย เสียชีวิตราว 1 ใน 5 จากยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมด พบผู้ติดเชื้อแล้วอย่างน้อยใน 185 จาก 193 ประเทศทั่วโลก

 

ผลพวงจากโควิด-19 จะออกผลใหญ่ในปี 2021 เนื่องจากในปีที่ผ่านมา หลายประเทศอาจจะยังแบกรับสถานการณ์ตัวเองได้ แต่พอถึงปี 2021 หลายประเทศจะเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจภายใน ปัญหาการระบาดระลอกใหม่ที่อาจจะรุนแรงมากกว่าเดิม วันนี้ถ้ามองไปยังยุโรป การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นที่นั่นมันมากกว่าระลอกที่สองแล้ว ขณะที่สหรัฐฯ เองก็เป็นระลอกต่อเนื่องที่ยังไม่สิ้นสุด 

 

เพราะฉะนั้นในสภาวะเช่นนี้ ผลกระทบในทุกมิติที่เกิดจากปัญหาโควิด-19 จะเกิดขึ้นตามมา ไม่ว่าจะเป็นทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และรวมถึงเรื่องใหญ่ที่สุดอย่างความมั่นคง ซึ่งเท่ากับตอบว่าสงครามในช่วงที่โควิด-19 ยังระบาดนี้ สงครามปรากฏขึ้นในรูปแบบของ ‘สงครามเชื้อโรค’ (Germ Warfare) แต่เป็นสงครามเชื้อโรคที่รัฐไม่ได้เป็นผู้กระทำ แต่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนั้นในสงครามชุดนี้ การแข่งขันที่ใหญ่ที่สุดกลายเป็นเรื่องของ ‘รัฐปะทะไวรัส’ (State versus Virus) ที่รัฐต้องต่อสู้แข่งขันกันในเรื่องของวัคซีนต้านโควิด-19 (Vaccine Race) 

 

คำถามคือ ใครจะเป็นประเทศแรกที่ประสบความสำเร็จในการผลิตวัคซีนได้จริงๆ จะเป็น Pfizer-BioNTech และ Moderna ของโลกตะวันตก หรือจะเป็น Sputnik V ของรัสเซีย หรือจะเป็นวัคซีนต้านโควิด-19 จากจีน เพราะนี่ไม่ใช่เพียงแต่มีนัยกับบริบทของการควบคุมการระบาดเท่านั้น แต่ยังส่งสัญญาณและสะท้อนถึงความก้าวหน้าของประเทศที่เป็นผู้ค้นพบ ไม่ต่างกับยุคสงครามเย็น (Cold War) ที่บอกว่าการแข่งขันทางเทคโนโลยีเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าระหว่างค่ายทุนนิยมกับค่ายสังคมนิยม 

 

อาวุธนิวเคลียร์

Photo: Dmitry Kalinovsky / Shutterstock

 

  1. การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ในเวทีโลกและการออกแบบข้อตกลงควบคุมอาวุธทางยุทธศาสตร์ในศตวรรษที่ 21

เรื่องของการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ในเวทีโลก เป็นประเด็นตกค้างที่พูดกันมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โจทย์ในปี 2021 จะไม่ใช่แค่โจทย์ของเกาหลีเหนืออีกต่อไป แต่จะกลับมาเป็นโจทย์แพ็กคู่ที่ควบรวมถึงทั้งเกาหลีเหนือและอิหร่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลัง Mohsen Fakhrizadeh นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของอิหร่าน ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาอาวุธนิวเคลียร์ของประเทศถูกลอบสังหารเมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2020 ปลุกกระแสความตึงเครียดระหว่างอิหร่านและชาติตะวันตกอีกครั้ง

 

เราต้องยอมรับว่าพรรคเดโมแครตเคยดีลกับประเด็นอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านมาก่อน และประเด็นนี้จะกลับมาอีกครั้งหลังจากที่ โจ ไบเดน ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการแล้ว เพียงแต่จะเกิดขึ้นในรูปแบบไหน คำถามสำคัญคือ ข้อตกลงระหว่างทรัมป์และคิมจองอึนจะเปลี่ยนรูปไปอย่างไร จะยังคงฟังก์ชันอยู่หรือไม่ 

 

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ที่ผ่านมาหลังจากเวที Six-party talks ไม่ประสบผลสำเร็จ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ตัดสินใจเลือกที่จะสื่อสารโดยตรง หรือการขายตรง (Direct Deal) มากกว่าที่จะใช้เวทีการเจรจาหลายฝ่ายในการดีลกับประเด็นเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ แม้ว่าวิธีการขายตรงนี้จะไม่เห็นผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม แต่ในแง่ของภาพลักษณ์ในสื่อต่างๆ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าภาพการพบกันระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาสร้างความตื่นเต้นและได้ภาพขนาดใหญ่อยู่ไม่น้อย โดยสหรัฐฯ ภายใต้การนำของไบเดน แนวนโยบายจะคล้ายคลึงกับสมัย บารัก โอบามา หรือไม่ จะกดดันเพิ่มมากขึ้นหรือจะเปิดดีลกับประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ที่อาจสั่นสะเทือนความมั่นคงระหว่างประเทศเหล่านี้อย่างไร ต้องติดตาม

 

ขณะที่การออกแบบข้อตกลงเพื่อควบคุมอาวุธทางยุทธศาสตร์ในศตวรรษที่ 21ยังคงเป็นประเด็นที่จะถูกพูดถึง ตลอดเวลาที่ผ่านมาภายใต้การบริหารประเทศของทรัมป์ สหรัฐฯ มีจุดยืนที่เด่นชัดมากคือ เชื่อว่ารัสเซียละเมิดข้อตกลงในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง จึงนำไปสู่การเรียกร้องให้สหรัฐฯ ถอนตัวจากความตกลงอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางของยุโรป (Intermediate-Range Nuclear Forces Treaty: INF) ในท้ายที่สุด โดยสิ่งที่จะเริ่มเป็นปัญหาคือ หากสหรัฐฯ และรัสเซียไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางนี้ได้ จะเปิดโอกาสให้การพัฒนาอาวุธดังกล่าวมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่ามันอาจจะนำไปสู่การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางของจีน กลายเป็นโจทย์ใหญ่อีกชุดหนึ่งในอนาคตได้ 

 

ปัญหาสิ่งแวดล้อม

Photo: Roschetzky Photography / Shutterstock

 

  1. ปัญหาสิ่งแวดล้อมและความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

หากใครติดตามบทสัมภาษณ์ของผมใน THE STANDARD มาโดยตลอดจะทราบว่า ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมและความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกเป็นสิ่งที่ผมเน้นย้ำเป็นประจำทุกปี โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราเห็นแนวโน้มของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เราเห็นการขยายตัวของไฟป่าทั้งในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย รวมถึงป่าแอมะซอนแถบบราซิล เราเห็นปัญหาฝุ่นละออง ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ การกำเนิดของพายุที่อาจจะมีมากขึ้นหรือถี่ขึ้น ในขณะที่บางพื้นที่อาจจะประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก 

 

วันนี้ผมใช้ THE STANDARD เป็นเวทีเพื่อเรียกร้องให้สังคมไทยตระหนักถึงโจทย์ชุดนี้ซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลา อย่านึกถึงแต่เพียงตอนน้ำท่วมใหญ่ที่กรุงเทพฯ หรือน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย นั่นเป็นเพียงสัญญาณเล็กๆ ส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าเรามองจากเวทีโลก เราจะเห็นสเกลใหญ่ของความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมถึงโจทย์ใหญ่คู่ขนานอย่างความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมโลก เพราะฉะนั้นเราต้องตระหนักว่าทุกปีอากาศไม่เหมือนเดิม แล้วก็แปรปรวนมากยิ่งขึ้น

 

เริ่มแรกรัฐบาลต้องยอมรับก่อนว่ามีปัญหา เพราะว่าทุกวันนี้เราเห็นไฟป่า เราเห็นน้ำท่วม แล้วช่วงหลังเทศกาลปีใหม่ PM2.5 จะมาเยี่ยมเรา แปลว่าเรื่องเหล่านี้เชื่อมโยงกัน แต่เราต้องไม่ลืมว่าเรื่องที่ 4 ที่โยงไปถึงคือปัญหาความยากจน เพราะน้ำท่วมและน้ำแล้งล้วนส่งผลกระทบและก่อให้เกิดความยากจน ส่งผลกระทบต่อบรรดาเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ เรายังโชคดีที่ยังไม่เกิดถึงขั้นที่มีผู้อพยพอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Refugees from Climate Change) แต่เราก็เริ่มเห็นบ้างแล้วในบางพื้นที่ของโลก

 

ผลพวงเหล่านี้จะไปกระทบกับเรื่องที่ใหญ่ที่สุดอย่างเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหาร (Food Security) ที่นอกจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 อยู่แล้ว ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากยิ่งขึ้นไปอีก ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเริ่มไม่มีขอบเขตในบริบทของรัฐอธิปไตย อาจจะต้องร่วมผลักดันประเด็นนี้เป็นโจทย์ใหญ่ของระดับภูมิภาคหรือระดับโลกอย่างจริงจัง แต่สำคัญที่สุดคือรัฐบาลต้องทำความเข้าใจและพร้อมที่จะผลักดันนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ การเรียกร้องให้พลเมืองสวมหน้ากากอนามัย หรือจำกัดช่วงเวลาในการวิ่งของยานพาหนะชนิดต่างๆ ไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด อาจจำเป็นต้องคิดไปให้ไกลกว่านี้

 

ความอดอยาก ภาวะขาดแคลนอาหาร ความยากจน

Photo: AkulininaOlga / Shutterstock

 

  1. การขยายตัวของความยากจนและแนวคิดฝ่ายซ้ายในประชาคมโลก

การขยายตัวของความยากจน ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นหนึ่งในโจทย์สำคัญที่สหประชาชาติ (UN) แสดงความกังวลเป็นอย่างมาก โดยในปี 2021 ความยากจนนี้มีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกในประชาคมโลก แล้วยิ่งปัญหาความยากจนเกี่ยวโยงกับมิติต่างๆ อีกมากมาย เช่น ความมั่นคงทางด้านการอาหาร ปัญหาการว่างงาน ปัญหาเศรษฐกิจซบเซา ก็จะยิ่งส่งผลกระทบเพิ่มมากขึ้น โจทย์นี้จะเป็นอีกโจทย์สำคัญในปี 2021 เนื่องจากยังไม่มีหลักประกันว่าการเดินทาง การท่องเที่ยว ภาคบริการต่างๆ จะฟื้นตัวในเร็ววันนี้ แม้ในบางประเทศจะเริ่มอนุมัติการใช้วัคซีนต้านโควิด-19 เป็นกรณีฉุกเฉินบ้างแล้วก็ตาม 

 

สำหรับประเทศไทย เราคงไม่ได้วัคซีนต้านโควิด-19 เร็วกว่ารัฐมหาอำนาจ ขณะที่ประเทศเล็กๆ อาจเข้าถึงวัคซีนช้ากว่าที่เราคาดคิดหรืออาจจะเข้าถึงวัคซีนได้บ้าง แต่ยังคงอยู่ในปริมาณที่จำกัดอยู่มากและฉีดให้กับกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อก่อนเป็นกลุ่มแรกๆ 

 

ในอีกมุมหนึ่งที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการขยายตัวของความยากจนในเวทีโลก ปี 2021 เราจะเห็นการขยายตัวของแนวความคิดฝ่ายซ้ายในการเมืองโลก มันเชื่อมโยงกันในความหมายที่ว่า เมื่อปริมาณความยากจนขยายตัว มีคนจนเพิ่มมากขึ้น จะนำไปสู่ข้อเรียกร้องเรื่องรัฐสวัสดิการ ถ้าเอาเวทีโลกเป็นตัวตั้ง ในปี 2019 เราเห็นคนอย่าง เจเรมี คอร์บิน ในสหราชอาณาจักรที่เป็นภาพตัวแทนของคนฝ่ายซ้าย ซึ่งเวลาที่พูดถึงฝ่ายซ้าย เราต้องเข้าใจว่า นี่ไม่ใช่ภาพของฝ่ายซ้ายแบบเก่า เป็นฝ่ายซ้ายในอีกมิติหนึ่ง ที่ผมใช้คำว่าเป็น ‘ฝ่ายซ้ายในศตวรรษที่ 21’ ที่ไม่ได้อิงกับมาร์กซ์-เลนินแบบเก่า ไม่ได้อิงกับลัทธิสังคมนิยมที่เป็นเรื่องของชนชั้นกรรมาชีพทั้งหมดอีกต่อไป 

 

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ขณะที่ในปี 2020 เราเห็น เบอร์นี แซนเดอร์ส ในสหรัฐอเมริกาที่มีบทบาทโดดเด่นมากในช่วงหาเสียงชิงตำแหน่งผู้แทนของพรรคเดโมแครตลงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับโดนัลด์ ทรัมป์ โดยแซนเดอร์สเป็นตัวแทนของคนหนุ่มสาวอเมริกันที่วันนี้พูดเรื่องสังคมนิยม (Socialism) ในภาษาสมัยใหม่ ไม่ใช่สังคมนิยมแบบยุคสงครามเย็น ซึ่งข้อเรียกร้องส่วนใหญ่เป็นข้อเรียกร้องของความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ไม่ได้พูดเฉพาะเรื่องชนชั้นกรรมาชีพแบบเก่า หรือไม่ได้พูดเรื่องการปฏิวัติแบบมาร์กซ์ แต่ขยายไปครอบคลุมในหลายมิติ โดยมีคีย์เวิร์ดที่สำคัญคือ ‘ความเท่าเทียม’ (Equality) 

 

ถ้าใช้ภาษาการเมืองไทย อย่างน้อยเราเห็นกระแสคนรุ่นใหม่ (Young Generation) ที่เติบโตและขับเคลื่อนไปด้วยแนวคิดทางการเมืองที่มีความเอียงซ้ายเพิ่มมากขึ้น (Left-leaning) เพราะฉะนั้นสิ่งที่น่าสนใจในปี 2021 อย่างที่บอกว่า ปี 2019 เราเห็นเจเรมี คอร์บิน ปี 2020 เราเห็น เบอร์นี แซนเดอร์ส แล้วในปี 2021 ภายหลังจากที่ โจ ไบเดน ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ทิศทางอนาคตของปีกซ้ายนี้จะขับเคลื่อนไปในทิศทางไหน ใครจะเป็นภาพแทนของปีกซ้ายที่น่าจับตามองในการเมืองโลกคนต่อไป

 

 เทคโนโลยี 5G

Photo: Marko Aliaksandr / Shutterstock

 

  1. การแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร (5G) ในเวทีโลก

โจทย์การแข่งขันด้านเทคโนโลยีจะเป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่น่าจับตามองในปี 2021 โดย 5G จะเป็นตัวบ่งชี้ค่ายการเมืองในเวทีโลกว่าคุณจะใช้ 5G ของสหรัฐฯ (Apple) หรือ 5G ของจีน (Huawei) ปี 2021 จะเป็นการเปิดตัวครั้งสำคัญของกระแส 5G และ 5G จะเป็นกลายเป็นภาพแทนของการแข่งขันระหว่างพญาอินทรีและพญามังกรในวงการเทคโนโลยีการสื่อสารโลก การแข่งขันจะไม่ได้ถูกจำกัดแค่ในมิติของสงครามการค้า (Trade War) อย่างเดียวอีกต่อไป แต่จะขยับเข้าสู่สงครามเทคโนโลยี (Tech War) มากยิ่งขึ้น สิ่งหนึ่งที่คงจะต้องเตรียมตัวคือราคาสมาร์ทโฟนจะยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ตอบโจทย์และสอดรับกับเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด 

 

ในขณะเดียวกันการแข่งขันนี้จะยิ่งทำให้ประเทศเล็กๆ ตกที่นั่งลำบาก เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สูงขึ้น จะยิ่งทำให้ช่องหว่าง (Gap) ระหว่างประเทศมหาอำนาจกับประเทศเล็กจะยิ่งห่าง หามองในมิติเชิงบวก การมาของ 5G คือการทะลุทะลวงกำแพงทุกอย่างที่ขวางกั้น แต่ในขณะเดียวกันก็จะเกิดการไหลของข้อมูลข่าวสารแบบโฟลว์มาก Fake News เองก็อาจจะมากขึ้น โจทย์เกี่ยวกับความมั่นคงทางไซเบอร์ (Cyber Security) ก็จะยิ่งเข้มข้นขึ้นตามไปด้วย 

 

ประชากร

Photo: Arthimedes / Shutterstock

 

  1. การเติบโตของภูมิภาคเอเชียในปี 2021

เหตุผลที่จะทำให้ปี 2021 เป็นที่เติบโตของภูมิภาคเอเชีย เพราะการฟื้นตัวจะเกิดขึ้นกับภูมิภาคนี้ก่อน เนื่องจากอัตราการติดเชื้อและการสูญเสียเมื่อเทียบกับยุโรปแล้ว ต้องยอมรับว่าเรามีอัตราการสูญเสียน้อยกว่ามาก วันนี้เมื่อมองโลกผ่านสหรัฐฯ ผ่านยุโรป ผ่านลาตินอเมริกา ก็ยังมีปัญหาหมด เพราะฉะนั้นหลายฝ่ายเชื่อว่าปี 2021 นี้จะเป็นโอกาสของเอเชีย แต่จะเป็นปีทองของจีนเลยหรือไม่ ยังไม่สามารถตอบได้แน่ชัด แต่ปี 2021 เอเชียจะเป็นโจทย์ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โจทย์ของการเมืองระหว่างประเทศอย่างแน่นอน

 

เพราะถ้าเราสังเกตจะพบว่า การเมืองโลกในยุคที่มี โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทรัมป์ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเอเชียเท่าที่ควร ทรัมป์ไม่มีนโยบายต่อเอเชียอย่างจริงจัง มีเพียงนโยบายสองชุดในเอเชียคือ นโยบายการทำสงครามการค้ากับจีน และนโยบายเกี่ยวกับนิวเคลียร์ดีลกับเกาหลีเหนือ เพราะฉะนั้นปี 2021 จะเป็นปีของเอเชียที่จะฟื้นตัว เราอาจเห็นนโยบายสหรัฐฯ ต่ออาเซียนที่เป็นรูปเป็นร่างมากยิ่งขึ้น ชัดเจนมากยิ่งขึ้นเหมือนในยุคบารัก โอบามา 

 

ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวสรุปภาพรวมเวทีโลกว่า ปี 2021 จะเป็นปีที่รัฐยังคงต้องรับมือกับความท้าทายต่างๆ มากมายอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตโรคระบาด ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ผลกระทบจากสงครามระหว่างมหาอำนาจ เป็นอีกปีที่ประเด็นร้อนเหล่านี้จะสร้างแรงกระเพื่อมให้รัฐต่างๆ ในประชาคมโลกจะต้องเตรียมพร้อมให้ดี

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising