×

1 ปี เทกโอเวอร์เอสโซ่ ถอดรหัสการเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์บางจากเป็น ‘ใบไม้ใบใหม่’ กับโจทย์ต่อไป ดัน EBITDA 1 แสนล้านบาทในปี 2573

03.09.2024
  • LOADING...

หลังจากที่บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ปิดดีลใหญ่ เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) หรือชื่อเดิมคือ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เวลากว่า 1 ปี ซีอีโอชัยวัฒน์เผยว่า บางจากเดินมาถูกทาง ประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ ด้วยการเดินหน้าสู่เป้าหมาย EBITDA 1 แสนล้านบาทในปี 2573

 

“การเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์ของบางจากเป็น ‘ใบไม้ใบใหม่’ สะท้อนภาพลักษณ์ที่แข็งแกร่ง” ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าว

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ชัยวัฒน์เผยว่า ปีแรกของการดำเนินงานบางจาก ศรีราชา (BSRC) หรือเอสโซ่ ถือว่า ‘เดินมาถูกทาง’ สามารถกวาดยอดขายครึ่งปีนี้ 3 แสนล้านบาท และคาดว่าสิ้นปีนี้จะถึง 6 แสนล้านบาท เติบโตขึ้นจากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 5 แสนล้านบาท 

 

“ขณะที่ EBITDA 4.2 หมื่นล้านบาท ปีหน้าจะเติบโต 20% ตั้งเป้าว่าในปี 2573 จะเพิ่มเป็น 1 แสนล้านบาท ส่วนยอดขายจะเพิ่มขึ้นสู่เป้าหมาย 1 ล้านล้านบาท อยากเป็นองค์กรที่ยั่งยืน 100 ปีคู่สังคมไทย”

 

ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 2,400 แห่งในปี 2573 

 

ชัยวัฒน์ระบุอีกว่า วันที่ 1 กันยายน 2567 เป็นวันที่ครบ 1 ปีของการได้บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปลี่ยนชื่อบริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) หรือ BSRC ซึ่งเดินมาถูกที่ถูกทาง เพราะหากดูยอดขายของบริษัทบางจากเพิ่มขึ้น 5% 

 

“ต้องบอกว่าผมเข้ามาร่วมงานในบางจาก 11 ปี ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา วันนี้เปลี่ยนไปเยอะ จากโรงกลั่นที่เล็กที่สุดในประเทศไทย ปัจจุบันบางจากเป็นโรงกลั่นที่ดีที่สุดในโลก วันนี้และอนาคต และเราตั้งเป้าจะเป็นโรงกลั่นชีวภาพที่อยู่คู่กับสิ่งแวดล้อม”

 

ด้วยมาตรฐานและมีประสิทธิภาพสูงที่สุด จึงมั่นใจว่ายอดขายสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 6 แสนล้านบาทดังที่กล่าวข้างต้น และติด 1 ใน10 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากปัจจุบันเรามีสถานีบริการน้ำมัน 2,200 แห่ง โดยมีมาร์เก็ตแชร์ 28-29% และจากกลยุทธ์ใหม่เราตั้งเป้าว่าปี 2573 เพิ่มเป็น 2,400 แห่ง ด้วยส่วนแบ่งตลาด 33%” ชัยวัฒน์กล่าว

 

ปี 2567 คาดว่ายอดขายจะอยู่ที่ 6 แสนล้านบาท พร้อมทั้งเน้นสร้าง Synergy ระหว่างโรงกลั่นระดับโลก 2 แห่ง คือ โรงกลั่นพระโขนงและโรงกลั่นศรีราชา

 

พร้อมปรับตัวและเติบโต ท่ามกลาง ‘สภาวะตลาดที่ท้าทาย’

 

ทั้งนี้ บางจากก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 และเป็นปีแห่งการสร้าง Synergy ปรับตัวและเติบโตด้วยความแข็งแกร่งท่ามกลาง ‘สภาวะตลาดที่ท้าทาย’ และด้วยวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน พร้อมวินัยทางการเงิน เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมาย EBITDA 1 แสนล้านบาทในปี 2573 บางจากจะรักษาความเป็นผู้นำด้านพลังงานของไทย ขณะเดียวกันพร้อมขยายธุรกิจไปสู่ตลาดโลกมากขึ้น สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

 

ขณะที่การ Synergy กับบริษัท บางจาก ศรีราชา นั้น ‘ทำได้มากกว่าเป้าหมายที่วางไว้’ ครึ่งปีนี้ได้ EBITDA 3 พันล้านบาท คาดว่าทั้งปีนี้จะอยู่ที่ 5 พันล้านบาท 

 

โดยปี 2568 บางโครงการที่ทำจะรับรู้รายได้เต็มปี คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.5 พันล้านบาท

 

“การเพิ่มค่าการกลั่นและลดค่าใช้จ่ายจะช่วยได้มาก ซึ่งมีการลดต้นทุนทุก 1 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังมีกำลังการผลิตรวม 28,000 บาร์เรลต่อวัน หมายความว่าปีปีหนึ่งจะได้เพิ่มในส่วนนี้ได้อีก 3.5 พันล้านบาท” 

 

ซึ่งสมการนี้จะส่งผลให้บางจากเป็นบริษัทที่เติบโตสูงด้วยตัวเลข 2 หลัก

 

ทั้งนี้ ในปี 2568 คาดว่าโรงกลั่นจะดีกว่าปีนี้ เนื่องจากไม่มีการปิดซ่อม 30 วัน การผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน ช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไร ธุรกิจตลาดจะโต 20% ธุรกิจต้นน้ำ ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โต 20-30%” ชัยวัฒน์กล่าว

 

กางแผน 6 ปี (ปี 2569-2573) วางงบลงทุน 1.2 แสนล้านบาท

 

แผนการลงทุน 6 ปี (ปี 2569-2573) วางงบลงทุน 1.2 แสนล้านบาท แบ่งสัดส่วนลงทุนในกลุ่มธุรกิจแหล่งทรัพยากรธรรมชาติประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 35% แบ่งเป็นกลุ่มธุรกิจ Refinery & Marketing ประมาณ 30%, ธุรกิจ Green Power 3 หมื่นล้านบาท และธุรกิจ Bio-Base & New Business อีกประมาณ 10% 

 

โดยเงินลงทุนในช่วง 1.2 แสนล้านบาท จะแบ่งเป็น M&A ในสัดส่วน 45% ประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท ลงทุนในกลุ่มทรัพยากรธรรมชาติ 60% และกลุ่ม Green Power 40%

 

“งบก้อนนี้จะมาจากเงินกู้ยืมประมาณ 50% D/E 0.8 เท่า เพื่อให้ EBITDA เข้าเป้า 1 แสนล้านบาท สรุปง่ายๆ ว่า เราจะลงทุนในธุรกิจดั้งเดิม 50% ส่วนที่เหลือลงทุนในธุรกิจสีเขียวและการซื้อกิจการด้วย ส่วนปีหน้าจะใช้เงินลงทุน 5 หมื่นล้านบาท ประมาณ 50% จะเป็นการซื้อกิจการ”

 

ทั้งนี้ ฐานะการเงินของบางจาก ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 มีเงินสดในมือ 4.5 หมื่นล้านบาท สินทรัพย์ทั้งกลุ่ม 3.5 แสนล้านบาท หนี้สิน 1 แสนล้านบาท EBITDA ย้อนหลัง 12 เดือน 5 หมื่นล้านบาท จึงมีความพร้อมในการขยายการลงทุนต่อไป และสามารถเพิ่มอันดับเครดิตขึ้นไปจากปัจจุบันที่ระดับ A 

 

ส่วนเงินปันผลระหว่างกาลปีนี้จ่ายหุ้นละ 0.60 บาท มีนโยบายเงินปันผล 30% ของกำไร ที่ผ่านมาให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 5-7% มีนโยบายดูแลผู้ถือหุ้นต่อเนื่อง

 

ต่อยอดโมเดล OKEA นอร์เวย์ สู่ภูมิภาคอาเซียน

 

นอกจากนี้กลุ่มบริษัทบางจากยังได้สร้างรากฐานที่แข็งแกร่งในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) ด้วยการลงทุนใน OKEA ASA ในประเทศนอร์เวย์ ตั้งแต่ปี 2561 โดยมีเป้าหมายในการขยายกำลังการผลิต 50,000 บาร์เรลต่อวันภายในปี 2573 ตลอดจนมีแผนที่จะขยายธุรกิจ E&P ผ่านการ M&A ในบริษัทต่างๆ ไปยังภูมิภาคอื่นๆ รวมถึงเอเชีย-แปซิฟิก 

 

“เราพร้อมต่อยอดโมเดล OKEA มาไว้ในภูมิภาคอาเซียน เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางพลังงาน ล่าสุดอยู่ระหว่างทำ Due Diligence 1 โครงการ โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนในปีหน้า” ชัยวัฒน์กล่าว 

 

ปีแห่งการบุกเบิกความเป็นผู้นำในการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) 

 

ชัยวัฒน์ทิ้งท้ายว่า ในฐานะผู้นำด้านพลังงานของประเทศที่มีความทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์ของบางจากเป็น ‘ใบไม้ใบใหม่’ สะท้อนภาพลักษณ์ที่แข็งแกร่ง เป็นเครื่องยืนยันถึงความเชื่อมั่นของลูกค้าในแบรนด์บางจากและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีการขยายให้ลูกค้าเลือกใช้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2568 บางจากจะเริ่มผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) จะเป็นปีแห่งการบุกเบิกความเป็นผู้นำในการผลิต โดยบริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด ด้วยกำลังการผลิต 7,000 บาร์เรลต่อวัน พร้อมจัดหาวัตถุดิบสำหรับการผลิต รับซื้อน้ำมันผ่านโครงการ ‘ทอดไม่ทิ้ง’ ทั่วประเทศ มาผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising