×

1 วันในคลาสการแสดง กับการค้นหา ‘ความต้องการ’ ในชีวิตจริง

15.09.2019
  • LOADING...

THE STANDARD POP สรุปความรู้สึกสำคัญที่ได้จากการเป็นผู้สังเกตการณ์ 1 วัน (จากทั้งหมด 5 วัน) ในคลาส The Acting Effect ในโปรเจกต์ Camp G The X Gen ที่ได้ ร่ม-ร่มฉัตร ธนาลาภพิพัฒน์ (Spark Drama) บิว-อรพรรณ อาจสมรรถ (Bew’s Act-Things) และ กุ๊กไก่-รังสิมา อิทธิพรวณิชย์ (ActionPlay) 3 แอ็กติ้งโค้ชและครูสอนการแสดงจาก 3 สถาบันชื่อดัง ที่มาช่วยเปิดโลกให้เราเข้าใจ ‘ศาสตร์แห่งการแสดง’ มากยิ่งขึ้น 

 

แม้ชื่อคลาสจะเน้นไปที่คำว่า ‘การแสดง’ แต่สาระสำคัญที่น่าสนใจอยู่ที่การทำความเข้าใจตัวละครก่อนเริ่มถ่ายทำ ที่ไม่ต่างอะไรจากการทำความเข้าใจทั้งตัวเองและคนอื่นในฐานะมนุษย์ที่มีอารมณ์ ความรู้สึก ซับซ้อน 

 

และไม่ได้ช่วยแค่ให้ทำหน้าที่ ‘นักแสดง’ ได้ดีขึ้น แต่ช่วยให้เราใช้ชีวิตในฐานะ ‘มนุษย์’ คนหนึ่งที่ต้องอยู่ร่วมโลกกับผู้คนจำนวนมากได้ดีขึ้นเช่นกัน

 

1. เราไปถึงตอนที่ครูกุ๊กไก่กำลังสอนเรื่องข้อจำกัด ความแตกต่าง และจุดเด่นของการแสดงเวลาถ่ายทำซีรีส์หรือละครโทรทัศน์ เช่น มีเวลาในการถ่ายทำไม่มาก นักแสดงต้องแม่น เพราะมีโอกาสเทกแค่ไม่กี่ครั้ง และการแสดงที่ต้อง ‘ใหญ่’ และ ‘ชัด’ มากกว่ากองถ่ายภาพยนตร์ แต่น้อยกว่ากองถ่ายโฆษณา ฯลฯ

 

2. โจทย์ของช่วงนี้คือ การให้นักเรียนแบ่งกลุ่ม 3 คน รับบทเป็นตัวละครเพื่อนรัก A B C ในซีรีส์สมมติเรื่องหนึ่ง ที่มีสถานการณ์และบทสนทนาคล้ายกันทุกอย่าง คือ B เครียด อยากเลิกกับแฟน เลยโทรศัพท์ให้ A และ C มาหา แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างช่วงเวลา คือ B เพิ่งไปเดตครั้งแรก, ครบรอบ 3 ปีที่ B คบแฟน และก่อนวันแต่งงานของ B

 

3. ก่อนเข้าฉาก ครูกุ๊กไก่ให้ทุกคนพล็อตกราฟความรู้สึกของตัวละครขึ้นมา เพื่อดูว่า ตัวละครควรจะรู้สึกกับสิ่งที่เกิดขึ้นในระดับไหน ระหว่างเดตแรก, ครบรอบ 3 ปี และก่อนแต่งงาน และช่วยกันตีความตัวละครร่วมกันว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง A B C ควรจะเป็นแบบไหน ถ้า A แอบชอบ B อยู่ และ C ก็ดันแอบชอบ A อยู่ด้วย จะเกิดอะไรขึ้น 

 

ที่น่าสนใจคือ การพล็อตกราฟความรู้สึกแบบนี้ คือการทำบ้านของนักแสดงที่ดี ขณะเดียวกัน ถ้าเราอยากเป็นคนที่ ‘เข้าใจ’ ชีวิตได้ดี ก็สามารถนำเทคนิคนี้ไปใช้ได้เหมือนกัน 

 

เช่น เวลาเกิดปัญหาอะไรขึ้นสักอย่าง แล้วไม่รู้จะทำอย่างไร ลองคิดว่ากำลังอ่าน ‘บท’ ชีวิตของตัวเองและคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในหน้ากระดาษ (การจำลองตัวเองเป็นนักแสดงที่ต้องอ่านบท จะทำให้เราพิจารณาตัวเองด้วยความสนุกและตั้งใจมากขึ้น) แล้วลองดูว่า ตัวละครของเรากำลังเจอกับสถานการณ์แบบไหนอยู่, ลึกๆ แล้วรู้สึกและต้องการอะไร เป็นการทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นอีกครั้งอย่างตั้งใจ เพื่อหาวิธีการรับมือและแสดงออกที่เหมาะสมได้มากขึ้น

 

4. ก่อนเริ่มการแสดง ครูกุ๊กไก่ให้นักเรียนเวิร์กช็อปไล่ ‘ระดับ’ การแสดงออกความรู้สึกต่างๆ เช่น เหม็น, นอยด์, แอบชอบ, อยากแกล้ง ฯลฯ ออกเป็น 5 ระดับ เพื่อเตรียมระดับการแสดงแต่ละขั้นเอาไว้ใช้ เพื่อปรับหรือประคองอารมณ์ให้เท่ากับตัวละครอื่น และเมื่อไปถึงหน้าฉากแล้วสามารถทำตามที่ผู้กำกับบอกว่าอยากให้เพิ่ม ลด หรือเปลี่ยนเป็นแบบไหนได้ถูก 

 

เช่นเดียวกับในชีวิตจริงที่เราจะเจอผู้คนแสดงออกความรู้สึกกับเราในหลายระดับ รวมทั้งสถานการณ์ต่างๆ ก็มีระดับ และกาลเทศะของการแสดงออกที่เหมาะสมแตกต่างกันไป การรู้ถึงระดับการแสดงออกที่เราสามารถรู้สึกและปฏิบัติได้ จะช่วยให้เราควบคุมและเลือกใช้การแสดงออกในระดับที่เหมาะสมได้ทันท่วงที

 

5. อีกสิ่งหนึ่งที่เราชอบมากๆ คือ เวลาเห็นนักแสดงทุกคนพยายามผ่อนคลายร่างกาย ตั้งสมาธิ และทำอารมณ์ก่อนเข้าฉาก ที่ไม่ต่างอะไรกับการ ‘ตั้งสติ’ ก่อนลงมือกระทำการต่างๆ ในชีวิตจริง ที่เรามักจะคิดไปว่า การทำแบบนี้เป็นหน้าที่ของนักแสดงก่อนเข้าฉากเท่านั้น

 

6. เราทำการบ้านเพื่อเข้าใจความคิดของตัวละครทั้งหมด แต่เมื่อถึงเวลาเข้าฉาก ให้โฟกัสเฉพาะความรู้สึกที่เกิดขึ้นในฉากนั้นเท่านั้น ไม่ต้องดึงเหตุการณ์อื่นมาเกี่ยวข้องด้วย ครูกุ๊กไก่ยกตัวอย่างฉากของ ภัสสร (คัทลียา แมคอินทอช) ต้องช่วยลูกชายที่โดนจับ ก็คิดแค่ความรู้สึกห่วงลูกในตอนนั้น ไม่ต้องคิดถึงความเฮงซวยของพี่ชาย หรือความเสียใจที่แม่ไม่รัก ในชีวิตก็คิดเท่าที่มีเหตุการณ์มาปะทะ ณ ขณะนั้นก็พอ

 

7. เมื่อทุกกลุ่มแสดงจบ เข้าช่วงแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีจุดเล็กๆ ที่ดีมากๆ ที่เราสังเกตเห็นคือ การตอบรับของครูกุ๊กไก่ที่จะบอกว่า “ดีค่ะ”, “ขอบคุณค่ะ”, “น่าสนใจมากค่ะ” ให้กับทุกๆ ความเห็นตลอดเวลาตั้งแต่เริ่มต้นจนจบคลาส แสดงให้เห็นว่า ทุกการแสดง ทุกอารมณ์ ทุกความรู้สึก ทุกความนึกคิด ล้วนน่าสนใจและมีความหมายทั้งหมด

 

8. ก่อนจบคลาสช่วงในเช้า ครูกุ๊กไก่สรุปถึงเหตุผลที่นักแสดงต้องพล็อตกราฟความรู้สึกและทำความเข้าใจตัวละครให้ได้มากที่สุด เพราะในโลกของการแสดง หลายครั้งที่นักแสดงต้องเจอกับบทที่แตกต่างกับตัวเองมากๆ แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนบทให้เป็นไปตามที่เราคิด สิ่งเดียวที่ทำได้คือ หา ‘เหตุผล’ เพื่อเข้าใจความเป็นตัวละครนั้นให้ได้มากที่สุด 

 

ในชีวิตจริงเราก็ไม่อาจเปลี่ยนโลก เปลี่ยนความคิดของผู้คนให้เป็นไปอย่างที่เราต้องการ แต่เราสามารถหาเหตุผลเพื่อทำความเข้าใจว่า ทำไมเขาถึงตัดสินใจหรือเป็นคนแบบนั้น เพื่อหาทางอยู่ร่วมกันให้มากขึ้นได้

 

9. ช่วงบ่ายเป็นคลาสของครูบิว เน้นไปที่การแสดงในกองถ่ายทำภาพยนตร์ เริ่มจากการเปิดฉากการกล่าวสปีชของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ที่แสดงโดย โคลิน เฟิร์ธ ในหนังเรื่อง King’s Speech, Always Sunset on Third Street และ มะลิลา ให้เห็นจุดเด่นของการเป็นภาพยนตร์ที่ฉายบนจอใหญ่ มองเห็นชัด นักแสดงไม่ต้องเล่น ‘ใหญ่’ เท่าในซีรีส์ แต่ทุกๆ การแสดงออกทั้งหายใจ, กะพริบตา, กัดฟันกราม, มือสั่น ฯลฯ ต้องมีความหมาย

 

10. ครูบิวให้นักเรียนจับคู่แสดงฉากหนึ่งที่มีไดอะล็อกน้อยมาก แต่ให้นักเรียนช่วยกันตีความตามความคิดของแต่ละคน โจทย์หลักคือ การหา Inner Message หรือสิ่งที่ตัวละครคิดอยู่ในหัวอยู่ตลอดเวลา แต่ตัวละครจับความคิดนั้นไม่ทัน หน้าที่ของนักแสดงคือ ทำการบ้านเพื่อจับความคิดนั้นให้ได้

 

11. โดยมีสมการว่า การกระทำเป็นผลพลอยได้ของความรู้สึก และความรู้สึกเป็นผลพลอยได้ของความต้องการ มี 3 เรื่อง ที่นักแสดงต้องหาคำตอบให้ได้คือ เพราะอะไรตัวละครถึงต้องการสิ่งนั้น, ถ้าไม่ได้สิ่งนั้นจะเกิดอะไรขึ้น และทำไมถึงต้องการสิ่งนี้ กับคนนี้ ตอนนี้เท่านั้น

 

12. การนั่งอยู่ในคลาสทำให้รู้เลยว่า การเป็นนักแสดงที่ดีนั้นยากกว่าที่เราเคยคิดไว้หลายเท่าตัว โดยเฉพาะการตีความตัวละครผ่านหน้ากระดาษ ที่มีความซับซ้อนไม่ต่างจากการตีความจิตใจมนุษย์จริงๆ 

 

ครูบิวเลยต้องใช้เวลาในเวิร์กช็อปร่วมกับนักแสดงให้นานที่สุด เพื่อลงไปถึงความต้องการของตัวละครนั้นๆ ให้ได้มากที่สุด ก่อนเริ่มถ่ายทำจริงๆ เหมือนที่ครูบิวบอกไว้ว่า “นักแสดง ต่อให้มีเทคนิคดีแค่ไหน แต่อ่านบทไม่แตกก็ตาย” 

 

ไม่ต่างอะไรกับคนปกติที่ต่อให้มีทักษะในทุกๆ เรื่องสูงแค่ไหน แต่หากไม่สามารถเข้าใจชีวิต เข้าใจโลกในแบบที่ควรจะเป็นได้ ก็มีชีวิตรอดได้ยากเหมือนกัน

 

13. นอกจากการทำความเข้าใจ Inner Message ของตัวเองแล้ว นักแสดงที่ดีจะต้องทำความเข้าใจ Inner Message ของตัวละครที่ร่วมฉากด้วย เพราะเราจะได้รีแอ็กชันกลับไปได้ตรงความรู้สึกที่เขาคิดอยู่ 

 

เหมือนที่บางครั้งเราก็โฟกัสแต่สิ่งที่ตัวเองคิด สิ่งที่ตัวเองเป็น และสิ่งที่ตัวเองกระทำอยู่ โดยไม่ทันสังเกตว่า คู่สนทนาอีกฝ่ายที่อยู่ในฉากชีวิตเดียวกับเรา เขาอยู่ในสภาพพร้อมที่จะเปิดใจยอมรับกับสิ่งที่เราเชื่อว่าดีแล้วอยู่หรือเปล่า

 

14. ด้วยข้อจำกัดในการถ่ายทำ หลายครั้งที่ไปถึงหน้างานแล้วเจอบรีฟทำนองว่า “ให้เดินไปตรงนั้น พอเจอสิ่งนั้น แล้วมองหน้ากันด้วยความรู้สึกบางอย่าง” การทำการบ้านกับตัวละครล่วงหน้า จะทำให้เรารู้ว่า ต้องทำอย่างไรเมื่อไปถึงกองถ่ายจริงๆ 

 

เช่นเดียวกับชีวิตจริงที่ไม่ได้มีใครมาบอกบทให้เราอย่างละเอียด และเราก็ไม่มีแอ็กติ้งโค้ชคอยให้คำแนะนำได้ทุกครั้ง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดก็คือ การทำความเข้าใจความต้องการของตัวเองให้มากที่สุด เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

15. จากการนั่งอยู่ในคลาสเป็นเวลาประมาณ 7 ชั่วโมง เราพบว่า ศาสตร์การแสดงมีทฤษฎีที่ต้องทำความเข้าใจจำนวนมาก ซึ่งเราในฐานะคนฟังและสังเกตการณ์ไม่มีทางเข้าใจได้ทั้งหมด ถ้าไม่ได้ลองเอาตัวเข้าไปทำความรู้จักกับมันด้วยตัวเอง

 

หลายๆ ทฤษฎีก็คล้ายกับหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนา ที่เน้นให้เราค้นหาตัวตนที่แท้จริงภายในจิตใจ ซึ่งแน่นอนว่า มีหนังสือประเภทนี้ให้อ่านเต็มไปหมด แต่เราไม่มีทางเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง หากไม่ลองภาวนาหรือพาตัวไปปฏิบัติตามหลักการจริงๆ

 

16. ประโยชน์สุดท้ายที่เรารู้สึกว่าคลาสการแสดงมอบให้กับทุกคนคือ โอกาสในการกระโจนเข้าไปจับทุกห้วงความรู้สึกของตัวละคร ได้พิจารณา ได้แสดงออก ได้ลองผิดลองถูก โดยมีแอ็กติ้งโค้ชคอยแนะนำ และให้โอกาสให้แสดงใหม่ได้ตลอดเวลา 

 

เพื่อเตรียมตัวก่อนออกมารับบท ‘นักแสดง’ ใน ‘โรงละครแห่งชีวิต’ ที่ไม่มีโอกาสให้ผิดพลาดแม้แต่เทกเดียว 

 

อ่านบทสัมภาษณ์แอ็กติ้งโค้ชทั้ง 3 คน เพิ่มเติมได้ที่ thestandard.co/the-acting-effect/

 

 

ภาพ: CampG

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X