×

ธุรกิจท่องเที่ยวภูเก็ตโอด กฎหมายแซนด์บ็อกซ์ที่ไม่ชัดเจนทำนักท่องเที่ยวไม่ยืนยันการจอง วอนรัฐผ่อนคลายกฎ อย่าสองมาตรฐาน

26.06.2021
  • LOADING...
ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์

เหลือเวลาอีกไม่กี่วันที่การเปิดพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต หรือโครงการ ‘ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์’ (Phuket Sandbox) จะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ แต่จนถึงปัจจุบันผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวบนเกาะยังรอคอยความชัดเจนของภาครัฐทั้งในแง่กฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร และการปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ ให้เอื้อต่อนักท่องเที่ยวมากขึ้นตามที่ภาคเอกชนได้เสนอไป

 

“อีกไม่เกิน 7 วัน Phuket Sandbox จะเริ่มแล้ว แต่ผมยังไม่ทราบว่าความชัดเจนเป็นอย่างไร ยังไม่มีการประกาศออกมาเป็นกฎหมาย ทำให้นักท่องเที่ยวที่สนใจจะเดินทางเข้ามาเมื่อสอบถามไปยังเอเจนต์ เขาก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน Booking Confirmation จึงยังไม่เกิดขึ้น ภาครัฐควรจะเร่งทำเรื่องนี้ให้ชัดๆ ไม่ใช่ทำเหมือนเด็กประถมส่งการบ้าน” ต่อพงษ์ วงศ์เสถียรชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เลิฟอันดามัน จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจเดินเรือท่องเที่ยวในภูเก็ต กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ ‘Phuket Sanbox โอกาสธุรกิจท่องเที่ยวไทย’ จัดโดยธนาคารกสิกรไทย

 

ต่อพงษ์ ยังมองว่า เงื่อนไขต่างๆ ที่ถูกกำหนดโดยภาครัฐในเวลานี้ยังไม่เอื้อให้เกิดการท่องเที่ยวในภูเก็ตอย่างแท้จริง เช่น การกำหนดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ถึง 3 ครั้งภายใน 14 วัน ทั้งๆ ที่นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาต้องได้รับวัคซีนครบ 2 โดส และต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 มาแล้ว 1 ครั้งก่อนการเดินทาง ขณะที่กลุ่มนักท่องเที่ยวในประเทศไทยซึ่งมีการแพร่ระบาดหนักเช่นกัน กลับกำหนดเงื่อนไขให้ฉีดวัคซีน AstraZeneca เพียงหนึ่งเข็ม หรือวัคซีน Sinovac สองเข็มก็เดินทางเข้ามาได้เลยโดยไม่ต้องตรวจหาเชื้ออีก

 

“ถามว่าถ้าเราเป็นชาวต่างชาติที่จะเข้ามาแล้วรู้ว่าต้องมาถูกแทงจมูกตรวจอีก 3 ครั้ง เสียค่าใช้จ่ายราวๆ 1 หมื่นบาท ถ้ามาเป็นครอบครัว 4-5 คน เท่ากับต้องจ่าย 4-5 หมื่นบาท เขาจะอยากมาหรือไม่ ถ้าภาครัฐกังวลเรื่องการแพร่เชื้อ ถามว่าชาวต่างชาติที่ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีน mRNA ซึ่งมีงานวิจัยว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่าวัคซีนที่ใช้อยู่ในไทย กับคนไทยที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ อย่างไหนน่ากลัวกว่ากัน เรากำลังยกการ์ดสูงกับตลาดต่างประเทศและยกการ์ดต่ำกับตลาดในประเทศใช่หรือไม่” ต่อพงษ์กล่าว

 

นอกจากนี้ยังมองว่าการจำกัดการเดินทางของนักท่องเที่ยวให้อยู่ภายในเขตจังหวัดภูเก็ตเท่านั้นยังสะท้อนถึงความไม่เข้าใจรูปแบบการท่องเที่ยวในภูเก็ตที่นักท่องเที่ยวนิยมออกเรือไปยังเกาะต่างๆ เช่น เกาะพีพี เกาะไข่ และเกาะอื่นๆ ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดพังงาและกระบี่ ซึ่งหากนักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางไปยังเกาะที่มีชื่อเสียงเหล่านี้ได้และต้องอยู่แต่ในภูเก็ต โอกาสที่จะตัดสินใจมาก็จะน้อยลงไปด้วย

 

“ภาครัฐควรหาจุดสมดุลระหว่างมาตรการทางสาธารณสุขและการท่องเที่ยว ถ้าจะเปิดแล้วอย่าทำให้เสียของ อยากให้รับฟังข้อเสนอของภาคเอกชนแล้วนำไปปรับปรุงเงื่อนไขให้ดีขึ้น อีกเรื่องที่อยากฝากไปยังภาครัฐคือการช่วยเหลือธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ ในภูเก็ตที่นอกเหนือจากโรงแรมและห้องพัก เช่น ธุรกิจโชว์ต่างๆ และไนต์ไลฟ์ ซึ่งล้วนอยู่ในไอซียูและต้องการออกซิเจนมาต่อลมหายในเช่นกัน หากธุรกิจเหล่านี้ไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ การท่องเที่ยวภูเก็ตก็จะไม่กลับมาสมบูรณ์” ต่อพงษ์กล่าว

 

ก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ โรงแรม เดอะ วิจิตร รีสอร์ท ภูเก็ต เปิดเผยว่า โครงการ Phuket Sandbox ได้เข้ามาปลุกความหวังของภาคธุรกิจท่องเที่ยวในภูเก็ตที่อยู่ในภาวะจำศีลมายาวนาน โดยขณะนี้โรงแรมและร้านอาหารหลายแห่งต่างเตรียมความพร้อมกันอย่างเต็มที่ และเริ่มเรียกพนักงานกลับมาบ้างแล้ว

 

“มีโรงแรมและร้านอาหารประมาณ 400 แห่ง ที่ยกระดับตัวเองให้เป็นไปตามมาตรฐาน SHA+ ซึ่งกำหนดให้พนักงาน 70% ต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดส และพนักงานที่อยู่หน้างานสัมผัสกับแขกต้องฉีดวัคซีนครบทั้ง 100% แล้ว นอกจากนี้แต่ละแห่งยังมี SHA+ Manager ซึ่งจะทำหน้าที่ติดตามนักท่องเที่ยวให้มารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้ครบกำหนดตามเกณฑ์ และดูแลไม่ให้นักท่องเที่ยวออกนอกพื้นที่” ก้องศักดิ์กล่าว

 

ก้องศักดิ์กล่าวอีกว่า เป้าหมายของภาครัฐที่ต้องการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 129,000 คน เข้ามาในช่วง 3 เดือน คือกรกฎาคม-กันยายน แม้ว่าจะเป็นตัวเลขที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับภาวะปกติที่ภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวปีละ 14 ล้านคน แต่ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการกลับสู่ภาวะปกติ เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกอบการโรงแรมได้พยายามปรับตัวกันอย่างเต็มที่จนถึงขีดจำกัดแล้ว ทั้งการทำอาหารเดลิเวอรีขาย การนำพนักงานไปรับจ้างทำความสะอาดนอกสถานที่ จนถึงการลดชั่วโมงการทำงานและเลิกจ้างพนักงาน

 

“ภูเก็ตมีโรงแรมประมาณ 3,000 แห่ง คิดเป็น 150,000 ห้องพัก แต่ตอนนี้เหลือเปิดอยู่เพียง 300-400 แห่ง หรือปิดตัวไป 90% และทุกแห่งที่เหลือก็พยายามดิ้นรนเอาตัวรอดอย่างเต็มที่ แม้ว่าช่วงกรกฎาคม-กันยายนจะเป็นฤดูฝนซึ่งเป็นโลว์ซีซั่นแต่ก็จำเป็นต้องเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามา เพราะนี่คือทางรอดเดียวของเรา หากยังไม่เปิดพวกเราที่เหลืออยู่ก็คงไม่รอดเช่นกัน” ก้องศักดิ์กล่าว

 

ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ระบุว่า ภูเก็ตมีเป้าหมายใหญ่คือการเปิดรับนักท่องเที่ยวให้เข้ามาโดยไม่ต้องกักตัวภายในเดือนตุลาคมนี้ ดังนั้น Phuket Sandbox จึงเป็นเหมือนสนามทดลองและวัดฝีมือของผู้ประกอบการในภูเก็ต โดยเชื่อว่าหากสามารถทำได้ดีในช่วงสามเดือนของแซนด์บ็อกซ์ เป้าหมายดังกล่าวจะสามารถเกิดขึ้นได้จริง

 

“เราอยากเห็นช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้มียอดนักท่องเที่ยวกลับมา 30-40% ของภาวะปกติ ซึ่งที่ผ่านมาคนในภูเก็ตได้ร่วมมือร่วมใจกันเพื่อให้มันเกิดขึ้นอย่างเต็มที่ เห็นได้จากการรณรงค์ให้คนฉีดวัคซีน จนปัจจุบัน 74% ของประชากรในภูเก็ตได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อยหนึ่งเข็ม เพราะเรามองว่าตัวแปรหลักในเวลานี้คือวัคซีนเท่านั้น” ภูมิกิตติ์กล่าว

 

ภูมิกิตติ์กล่าวว่า ขณะนี้ยังประเมินได้ยากว่าโครงการ Phuket Sandbox จะมีส่วนช่วยเศรษฐกิจในภูเก็ตได้มากน้อยเพียงใด เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนทางกฎหมายทำให้ยอดการจองที่แท้จริงยังไม่เกิด อย่างไรก็ดีคนในภูเก็ตยังมองว่าโครงการนี้จะเข้ามาช่วยจุดประกายความหวัง

 

“เราเข้าใจว่าแซนด์บ็อกซ์เป็นเรื่องใหม่ แนวคิดอาจแตกเป็นสองมุมคือถ้าเปิดแล้วควรทำให้เงื่อนไขมีความง่ายเพื่อให้ผลประโยชน์เกิดกับการท่องเที่ยวจริงๆ และค่อยๆ ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง ทยอยผ่อนคลายกฎต่างๆ ซึ่งเป็นวิธีที่ภาครัฐเลือกใช้ แต่เราก็หวังว่าหากในเดือนกรกฎาคม เราสามารถทำได้ดี ในเดือนต่อๆ ไป กฎเกณฑ์ต่างๆ จะค่อยๆ ถูกผ่อนคลายลง หนึ่งในสิ่งที่เราอยากเห็นในระยะต่อไปคือมาตรการที่เหมาะสมในการเดินทาง (Seal Route) ระหว่างภูเก็ต-กระบี่-พังงา” ภูมิกิตติ์กล่าว

 

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X