ทำไมทีมกู้ภัยเข้าไปไม่ถึง?
ภาพรวมปฏิบัติการหลังจากพบโพรงใหญ่ที่อยู่บริเวณโซน C ติดกับโซน D ที่ตรวจสอบโดยการสแกนพื้นที่ ก่อนจะพบร่างของผู้ประสบภัยหลายชีวิต แต่ยังไม่สามารถเข้าไปได้ลึกมาก เนื่องจากยังพบเศษแผ่นปูนและเหล็กที่กีดขวางอยู่
ซึ่งอุปสรรคหน้างานของเจ้าหน้าที่กู้ภัย ที่นอกจากจะต้องทำงานแข่งกับเวลาแล้ว อีก 2 อุปสรรคที่สำคัญเลยคือ
1.ซากอาคาร: ทั้งความไม่เสถียรและน้ำหนักของซากอาคารที่ถล่ม
- ซึ่งน้ำหนักของซากอาคารเหล่านี้คือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การเปิดเส้นทางตรวจสอบเป็นไปได้อย่างล่าช้า โดยจากการประเมินซากอาคารทั้งหมดมีปริมาณประมาณ 15,000 ลูกบาศก์เมตร หรือ 40,000 ตัน
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ อธิบายว่า ด้วยความที่ซากอาคารมีขนาดมหึมาและกองกันเป็นภูเขา ทำให้มีความชันและมีความเสี่ยงที่เศษซากปูนและเหล็กจะร่วงหล่นลงมา ซึ่งตามแผนปฏิบัติการได้มีการติดตั้งเครนทั้งหมด 4 ตัว โดยมีรถเครน 600 และ 500 ตันอย่างละ 1 ตัว และขนาด 200 ตันอีกจำนวน 2 ตัว ซึ่งจะนำมายกชิ้นส่วนขนาดใหญ่ เพื่อเปิดโพรงเส้นทางเพิ่มเติมให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยเข้าไปสำรวจพื้นที่และระบุตำแหน่งผู้ประสบภัย
โดยผู้ว่าฯ ชัชชาติ อธิบายว่า แม้จะมีเครน 600 ตันก็จริง แต่เวลาที่เครนยื่นแขนออกไป 50 เมตร กำลังยกจะเหลือแค่ 20 ตัน แล้วน้ำหนัก 20 ตันนี้มีความเสี่ยง ดังนั้นจึงต้องตัดชิ้นส่วนเศษซากอาคารให้น้ำหนักเหลือแค่ 10 ตันแล้วค่อยยก หรือไม่ก็ต้องให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยใช้มือขนเศษคอนกรีตออกมามากกว่าหลายตัน
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเปิดทางได้หรือไปเจอโพรง แต่อีกหนึ่งอุปสรรคคือเศษคอนกรีตและเหล็ก เนื่องจากยิ่งขุดก็ยิ่งเจอเหล็ก หรือบางจุดเป็นโพรงแคบมากจนไม่สามารถเข้าไปต่อได้
2. อาคารไม่มีแปลนที่ชัดเจน
- บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ เจ้าหน้าที่ทีมอาสาสมัครกู้ภัยมูลนิธิร่วมกตัญญู เคยให้สัมภาษณ์ว่า หนึ่งในอุปสรรคที่ทีมกู้ภัยเผชิญคือความยากในการระบุพิกัดจุดต่างๆ ในซากตึกถล่ม เนื่องจากตึกแห่งนี้ยังสร้างไม่เสร็จและไม่มีแปลนชั้นที่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ในปฏิบัติการครั้งนี้มีทั้งเจ้าหน้าที่ไทยและต่างชาติ โดยทีมกู้ภัยต่างประเทศก็ยืนยันว่า นี่แทบจะเป็นสถิติต้นๆ ของโลก โดยกู้ภัยต่างชาติที่มีประสบการณ์มานานกว่า 40 ปียังบอกด้วยว่า การค้นหาและปฏิบัติการกู้ภัยในครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในการกู้ภัยที่ยากที่สุดที่เคยเจอมา เนื่องจากงานมีความซับซ้อนสูง
รวมไปถึงก่อนหน้านี้หัวหน้าทีมกู้ภัย ผู้บัญชาการหน่วยค้นหา และกู้ภัยสำรองแห่งชาติของกองทัพอิสราเอล ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ภัยพิบัติในแต่ละครั้งจะมีความยากและความท้าทายที่แตกต่างกันออกไป แต่ “ตึกสูงระฟ้าถล่มแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยนัก”
เพราะโดยปกติแล้วเหตุแผ่นดินไหวจนทำให้อาคารถล่มเสียหายมักเกิดขึ้นกับตึกเล็กๆ หรือบ้าน และอาคารที่ไม่ได้สูงเสียดฟ้า ดังนั้นการระบุพิกัดสามารถทำได้ง่ายด้วยข้อมูลของคนที่เคยเข้าไปในอาคารนั้นๆ เพื่อให้ข้อมูลว่าแต่ละชั้นมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ผู้คนที่ติดอยู่น่าจะอยู่ส่วนใดของอาคาร แต่สำหรับเหตุสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม ความยากอยู่ที่ ‘กองภูเขาแท่งปูนและเหล็ก’ ซึ่งเป็นอาคาร 30 กว่าชั้นที่ถล่มทับถมกันลงมานั้น จึงทำให้การระบุพิกัดนั้นทำได้ยากกว่า
เริ่มเน้นการรื้อถอน
หลังจากนี้เจ้าหน้าที่จะเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรหนักเข้าทำงานให้มากขึ้น โดยการทำงานจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ Rescue การค้นหาผู้รอดชีวิต และ Recovery การรื้อถอนซากอาคาร
โดยจะเริ่มเน้นไปที่การรื้อถอนมากขึ้น คาดว่าจะใช้เวลาในการรื้อย้ายซากอาคารทั้งหมดประมาณ 30-60 วัน เนื่องจากยังต้องเฝ้าระวังผู้รอดชีวิตด้วย ในขณะเดียวกันทีม Rescue เองจะยังคงสแตนด์บาย รวมไปถึงทีมกู้ภัยต่างประเทศด้วยเช่นกัน โดยมีเจ้าหน้าที่คอยมอนิเตอร์ตรวจจับสัญญาณชีพอยู่ตลอด แต่เตรียมลดกำลังทั้งสุนัข K9 และเจ้าหน้าที่บางส่วนลง
ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร