×

4 สิ่งที่ประเทศไทยควรเรียนรู้จาก ‘วิกฤตซิมบับเว’

22.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • บทเรียนที่ประเทศไทยควรเรียนรู้จากการมองวิกฤตการเมืองในซิมบับเว คือ 1. ไม่มีใครอยู่ในอำนาจได้ตลอดกาล 2. สืบทอดอำนาจด้วยพวกพ้อง-ญาติสนิทไม่ใช่ความคิดที่ดีนัก 3. การบริหารประเทศผิดพลาดคือทางพาไปพบจุดจบ 4. ‘เปลี่ยนผ่าน’ ไม่ได้แปลว่า ‘เปลี่ยนแปลง’ เสมอไป

 

 

ชื่อของประเทศ ‘ซิมบับเว’ และการตัดสินใจลงจากอำนาจของประธานาธิบดีโรเบิร์ต มูกาเบ (Robert Mugabe) ผู้นำเผด็จการวัย 93 ปีของประเทศทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกานี้อาจจะดูเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนไทย แต่แท้จริงแล้วหากพิจารณาให้ดี เราสามารถเรียนรู้ผ่านวิกฤตการเมืองของซิมบับเวในครั้งนี้ได้ไม่น้อย   

 

 

1. ไม่มีใครอยู่ในอำนาจได้ตลอดกาล

นายมูกาเบ เป็นหนึ่งในผู้นำเผด็จการในคราบประชาธิปไตยที่อยู่ในอำนาจมานานกว่า 37 ปี น้อยคนนักที่จะอยู่ในอำนาจได้นานเทียบเท่าเขา หลายคนเฝ้าจับตามองว่าชายผิวสีวัยเกือบ 100 ปีคนนี้จะอยู่ในอำนาจได้นานแค่ไหน แต่ท้ายที่สุดเขาก็ตัดสินใจลงจากอำนาจ เพราะทนกระแสกดดันจากหลายฝ่ายไม่ไหว โดยเฉพาะจากประชาชนและกองทัพที่เบื่อหน่ายต่อสภาพชีวิตความเป็นอยู่ และสภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจที่ไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น

 

ถึงแม้ว่าบทสรุปของผู้นำเผด็จการทั่วโลกส่วนใหญ่จะไม่ค่อยแตกต่างกันมากมายนัก แต่ดูเหมือนว่านายมูกาเบจะเลือกทางเลือกที่ไม่เสียเลือดเนื้อและยอมหลีกทางให้มีการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ซึ่งแตกต่างจากผู้นำเผด็จการจำนวนไม่น้อยที่ต้องพบกับจุดจบของชีวิต เช่น ประธานาธิบดีนิโคไล เชาเชสคู (Nicolae Ceaușescu) ของโรมาเนีย หรือผู้นำเผด็จการของลิเบียอย่างนายมูอัมมาร์ กัดดาฟี (Muammar Gaddafi) รวมถึงผู้นำเผด็จการหลายๆ คนในลาตินอเมริกา

 

ซึ่งเหตุผลหนึ่งอาจจะเป็นเพราะชาวซิมบับเวจำนวนไม่น้อยยังคงให้เกียรติและมองนายมูกาเบ เป็นบุคคลสำคัญในการเรียกร้องเอกราชให้กับพวกเขาจากประเทศเจ้าอาณานิคมจนประสบผลสำเร็จ

 

 

2. สืบทอดอำนาจด้วยพวกพ้อง-ญาติสนิทไม่ใช่ความคิดที่ดีนัก

ยิ่งถ้าบุคคลนั้นมีภาพลักษณ์ติดลบและไร้ความสามารถด้วยแล้ว อาจจะยิ่งทำให้ประชาชนเริ่มทวงถามความสมเหตุสมผลและความมั่นคงในการฝากอนาคตไว้กับคนที่พวกเขาไม่เชื่อใจและไม่ยอมรับ

 

นายมูกาเบเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่สะท้อนสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นได้ดี เขากำจัดคู่เเข่งทางการเมืองคนสำคัญที่ขวางเส้นทางการสืบทอดอำนาจของนางเกรซ มูกาเบ ภรรยาและสตรีหมายเลขหนึ่งของซิมบับเว ที่อายุห่างจากนายมูกาเบถึง 40 ปี และถูกวางตัวเป็นผู้สืบทอดอำนาจใน ‘ระบอบมูกาเบ’ ต่อจากเขา

 

ด้วยภาพลักษณ์ของนางเกรซที่ฟุ้งเฟ้อและใช้จ่ายเงินของรัฐจำนวนมหาศาล ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศประสบปัญหาขาดแคลนอาหารและบริการสาธารณสุขเบื้องต้น จึงกระตุ้นให้ประชาชนหลายเเสนคนออกมาประท้วงต่อต้านเธอและสามีให้ลงจากอำนาจ

 

 

3. การบริหารประเทศผิดพลาด คือหนทางพาไปพบจุดจบ

ต้องยอมรับว่าในช่วงแรกของการขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ นายมูกาเบพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ อย่างรวดเร็วจนได้ชื่อว่า ‘เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของแอฟริกา’ ประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึงบริการสาธารณสุข อัตราการรู้หนังสือเพิ่มมากขึ้น จนอาจเรียกได้ว่าสูงที่สุดในภูมิภาค

 

ทุกอย่างเหมือนจะเป็นไปด้วยดี แต่เขากลับบริหารประเทศผิดพลาด ชูนโยบายที่เน้นสวัสดิการของคนผิวดำ โฆษณาขายฝันว่าจะทำให้คนผิวดำทุกคนมีที่ดินทำกินและเริ่มต้นดำเนินมาตรการปฏิรูปที่ดิน (land reform) ยึดที่ดินของชาวผิวขาวและแจกจ่ายให้กับคนผิวดำ (ที่ส่วนใหญ่ไร้ฝีมือ) จึงส่งผลให้ชาวผิวขาวจำนวนมากอพยพออกนอกประเทศไป เพราะไม่แน่ใจว่าธุรกิจและเงินลงทุนจะถูกภาครัฐยึดครองไปตอนไหน การขาดกลุ่มคนผิวขาวที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของประเทศ ทำให้พืชผลการเกษตรลดน้อยลง ประกอบกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ทำให้สภาพสังคมและเศรษฐกิจของซิมบับเวตกต่ำลงในที่สุด

 

นอกจากนี้ การตัดสินใจดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาด ตั้งสกุลเงินเป็นของตัวเอง และพิมพ์ธนบัตรใช้เองต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อที่สูงลิบลิ่ว ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่กลายเป็นเศรษฐีพันล้านในชั่วพริบตา จากการพิมพ์ธนบัตร 1 แสนดอลลาร์ซิมบับเว อัดฉีดเงินลงระบบจนนำไปสู่การพิมพ์ธนบัตรที่มีเลข 0 ต่อท้ายถึง 14 ตัว ค่าเงินตกต่ำลง ประชาชนเริ่มหมดความเชื่อถือในสกุลเงินของตัวเองและเลิกพกธนบัตรชนิดนี้ในที่สุด

 

ความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงานของรัฐบาลทั่วโลก (โดยเฉพาะรัฐบาลเผด็จการที่ผูกขาดอำนาจไว้แต่เพียงผู้เดียวหรือกลุ่มเดียว จะยิ่งทำให้การทำงานและการตัดสินใจเต็มไปด้วยช่องโหว่) ตอกย้ำความรู้สึกเบื่อหน่ายกับสภาพชีวิตและสังคมที่ย่ำอยู่กับที่มาเป็นเวลานาน ท้ายที่สุดพวกเขาก็ต้องการช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่าน เพื่อก้าวเดินไปข้างหน้าเสียที

 

 

4.เปลี่ยนผ่าน’ ไม่ได้แปลว่า ‘เปลี่ยนแปลง’ เสมอไป

ก่อนที่การเลือกตั้งทั่วไปจะมีขึ้นในช่วงปลายปีหน้า ตัวละครสำคัญที่จะเข้ามารับช่วงต่อจากนายมูกาเบในฐานะประธานาธิบดีของซิมบับเวคือ นายเอ็มเมอร์สัน มนังกักวา (Emmerson Mnangagwa) รองประธานาธิบดีและผู้นำพรรครัฐบาลคนใหม่ ซึ่งเขาได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากกองทัพ

 

แต่มีสมาชิกร่วมพรรคของเขาจำนวนไม่น้อย ชี้ว่า ‘คุณคิดว่านายมูกาเบเเย่ แต่คุณเคยคิดไหมว่า คนที่มารับช่วงต่อจากเขาอาจจะเเย่กว่าก็ได้’ เพราะพวกเขาต่างรู้ดีว่า นายมนังกักวาลูกมือวัย 71 ปีของนายมูกาเบคนนี้ ต้องการที่จะขึ้นเป็นผู้นำประเทศมาโดยตลอด และโหดเหี้ยมไม่น้อยไปกว่านายมูกาเบ

 

ท้ายที่สุดการเปลี่ยนผ่านที่แท้จริงจึงอาจไม่เกิดขึ้น แต่เป็นเพียงการเปลี่ยนมือของอำนาจเผด็จการในคราบประชาธิปไตยเดิม ไปสู่ผู้นำเผด็จการคนใหม่เท่านั้น

 

Photo: AFP

อ้างอิง:

FYI
  • ประเทศไทยและซิมบับเวได้เริ่มสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ตั้งแต่ 4 เมษายน ปี 1985 ภายหลังจากที่ซิมบับเวได้รับการรับรองการประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการจากสหราชอาณาจักรและประชาคมโลกเพียง 5 ปีเท่านั้น
  • ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศเป็นไปอย่างราบรื่นแต่ไม่ใกล้ชิด ทั้งสองประเทศไม่มีสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศระหว่างกัน การค้าการลงทุนยังอยู่ในวงจำกัด อีกทั้งสถานการณ์ความไม่สงบภายในซิมบับเวและการถูกคว่ำบาตรจากหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ก็ส่งผลต่อทิศทางการเดินนโยบายของไทยต่อประเทศนี้ไม่น้อย
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising