เมื่อวันศุกร์ (5 มกราคม) ศาลในกรุงปักกิ่งประกาศว่า Zhongzhi Enterprise Group บริษัททรัสต์รายใหญ่ของจีน ที่ครั้งหนึ่งเคยมีมูลค่าถึง 1.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ยื่นขอล้มละลาย เนื่องจากบริษัทไม่มีความสามารถที่จะชำระหนี้ได้อีกต่อไป นับเป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ล่มเซ่นวิกฤตอสังหาริมทรัพย์จีน
โดยการล่มสลายของ Zhongzhi ครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งการล้มละลายครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของจีน และอาจเป็นการสร้างแรงกดดันต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนที่เปราะบางอยู่แล้ว ท่ามกลางภาวะอสังหาริมทรัพย์ที่ตกต่ำ อุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ และการค้าที่ซบเซา จึงอาจเป็นแรงกดดันต่อเศรษฐกิจจีนอีกระลอก
Zhongzhi Enterprise คือใคร?
Zhongzhi เป็นบริษัททรัสต์รายใหญ่ ซึ่งถูกมองว่าเป็นธนาคารเงา (Shadow Bank) หมายถึงบริษัทการเงินที่ทำหน้าที่คล้ายกับธนาคาร คือเป็นธุรกิจตัวกลางที่ทำหน้าที่รับฝากเงินจากผู้ที่ต้องการออม และนำเงินฝากไปปล่อยกู้ให้แก่ผู้ที่ต้องการเงินทุน แต่ไม่ได้ถูกควบคุมตามหลักเกณฑ์เดียวกับธนาคาร ซึ่งเคยมีสินทรัพย์ภายใต้การดูแล (AUM) มากกว่า 1 ล้านล้านหยวน จึงได้ชื่อว่าเป็น Blackstone แห่งประเทศจีน
โดยเมื่อปีที่แล้ว Zhongzhi ได้เริ่มแสดงอาการ โดยหนึ่งในบริษัทในเครือคือ Zhongrong Trust ได้พลาดการชำระเงิน (Missed Payment) หรือไม่สามารถชำระดอกเบี้ย-เงินต้น สำหรับผลิตภัณฑ์การลงทุนหลายรายการให้แก่ลูกค้าได้ จนทำให้เกิดการประท้วงในกรุงปักกิ่ง เป็นการส่งสัญญาณให้โลกเห็นปัญหาที่ถูกซุกซ่อนไว้ใต้พรมเศรษฐกิจจีน
เหตุการณ์ล่าสุดเป็นอย่างไร?
โดยในเอกสารที่เผยแพร่โดยศาลในกรุงปักกิ่งระบุว่า Zhongzhi ไม่สามารถชำระหนี้ได้แล้ว เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ล่าสุดและข้อมูลทางการเงินที่บริษัทนำเสนอ
โดยศาลได้เปิดเผยตัวเลขบางส่วนจากงบดุลที่ยังไม่ได้ตรวจสอบ (Unaudited) ล่าสุดของ Zhongzhi ณ สิ้นเดือนตุลาคม พบว่า
มีหนี้สินรวมอยู่ที่ 9.58 พันล้านหยวน
มีสินทรัพย์อยู่ที่ 9.38 พันล้านหยวน
เท่ากับว่า บริษัทมีสินทรัพย์ไม่พอจ่ายหนี้ราว 200 ล้านหยวน
โดยจำนวนนี้สินทรัพย์นี้ บริษัทเหลือเงินสดเพียง 1.8 ล้านหยวน ทำให้ ณ จุดนั้น Zhongzhi ต้องยอมรับต่อกระบวนการตรวจสอบของศาลว่า บริษัทขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง
และแม้ว่าบริษัทมีลูกหนี้ ซึ่งติดหนี้ Zhongzhi อยู่ราว 2.9 พันล้านหยวน อย่างไรก็ตาม บริษัทยอมรับว่าหนี้ส่วนใหญ่นั้น ‘เรียกเก็บเงินได้ยาก’
สินทรัพย์ส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนในตราสารทุน สำนักงาน การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และสินทรัพย์ไม่มีตัวตน เช่น ซอฟต์แวร์
จุดนี้ทำให้ศาลถือว่า Zhongzhi มีหนี้สินล้นพ้นตัว และ ‘เป็นไปไม่ได้แล้วที่จะชำระหนี้ที่กำลังจะครบกำหนด’
โดยในระหว่างนี้ ศาลกล่าวว่าจะหาผู้ชำระบัญชี (liquidator) ของคดีนี้ผ่านกระบวนการประมูลที่แข่งขันได้ เนื่องจากถือว่าเครดิตและหนี้สินของ Zhongzhi ‘มีความซับซ้อน’ โดยได้กำหนดเส้นตายการสมัครเป็นในวันที่ 12 มกราคม และแจ้งให้ผู้สมัครที่มีคุณสมบัติเหมาะสมทราบภายในวันที่ 15 มกราคม เพื่อดูรายละเอียดว่า จะนำเสนอแผนอย่างไร
วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
ถือว่าอาจเป็นข่าวดีว่าเจ้าหนี้ของบริษัทส่วนใหญ่เป็นผู้มีความมั่งคั่ง (Wealthy Individuals) แทนที่จะเป็นสถาบันการเงิน จึงอาจช่วยจำกัดผลกระทบต่อระบบการเงินโดยรวมได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม การล่มสลายของ Zhongzhi ครั้งนี้ก็เผยให้เห็นถึงปัญหาในอุตสาหกรรมทรัสต์จีน มูลค่า 2.9 ล้านล้านดอลลาร์ และยังเผยให้เห็นความเสี่ยงที่กำลังก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในอุตสาหกรรมทรัสต์ทั่วโลก
ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2021 มูลค่าสินทรัพย์บริษัททรัสต์ในจีนยังคิดเป็น 79% ของมูลค่าสินทรัพย์บริษัททรัสต์ทั่วโลกมูลค่า 4 ล้านล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ ยังเป็นการตอกย้ำถึงความเสี่ยงของตลาดสินเชื่อภาคเอกชนทั่วโลก ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว (ซึ่งการขาดการเปิดเผยอย่างโปร่งใสต่อสาธารณะเกี่ยวกับหนี้สินที่เพิ่มขึ้นนอกระบบธนาคาร)
อ้างอิง: