×

ทำไม ‘กระดาษเปล่า’ กลายเป็นสัญลักษณ์การประท้วงมาตรการล็อกดาวน์โควิดในจีน

29.11.2022
  • LOADING...
กระดาษเปล่า

ดูเหมือนว่ากระแสความไม่พอใจมาตรการล็อกดาวน์ และมาตรการรับมือโควิดอื่นๆ ที่เข้มงวดขึ้นตามแนวทางที่ต้องการให้โควิดเป็นศูนย์ (Zero-COVID) ของทางการจีนนั้นจะลุกลามไปยังพื้นที่ต่างๆ อย่างรวดเร็ว จนนำไปสู่การชุมนุมประท้วงในหลายเมือง ผู้ชุมนุมบางคนเรียกร้องให้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนก้าวลงจากอำนาจ นับเป็นความเคลื่อนไหวทางสังคมที่พบเห็นไม่บ่อยนักในจีน ขณะที่สื่อตะวันตกมองว่ากระแสประท้วงครั้งนี้อาจสั่นคลอนอำนาจสีจิ้นผิงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

 

โดยผู้ชุมนุมในเซี่ยงไฮ้ รวมถึงในมหาวิทยาลัยชิงหัว ในกรุงปักกิ่ง ได้ชูกระดาษ A4 แผ่นเปล่าๆ ในระหว่างการชุมนุม ส่งผลให้ ‘กระดาษเปล่า’ กลายเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญในการประท้วงมาตรการล็อกดาวน์โควิดของจีนในครั้งนี้ 

 

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

กระแสการเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านการใช้กระดาษเปล่านั้น ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองในฮ่องกงเมื่อปี 2020 ที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยออกมารวมตัวแสดงพลังต้านกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ที่เข้มงวดยิ่งขึ้น

 

โดยกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมในครั้งนั้น ต่างเห็นภาพความรุนแรงจากการชุมนุมครั้งใหญ่ในปี 2019 ที่ทางการฮ่องกงสั่งห้ามไม่ให้ผู้ร่วมชุมนุมชูป้ายสโลแกนหรือวลีใดๆ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานด้านความมั่นคงยังใช้กำลังเข้าสลายและปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุม บางรายถูกจับกุมและดำเนินคดี ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนับสนุนสิทธิและเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย 

 

หลายฝ่ายมองว่า นอกจากการใช้กระดาษเปล่าจะเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงเงียบ (อย่างสันติ) แล้ว ในอีกมิติหนึ่งยังเป็นการท้าทายอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ ราวกับกำลังจะสื่อว่า ‘จะจับพวกเราเพราะถือกระดาษเปล่าอย่างนั้นเหรอ’

 

ขณะที่หนึ่งในผู้ร่วมชุมนุมประท้วงในนครเซี่ยงไฮ้ของจีนให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศอย่าง BBC ว่า “ไม่มีข้อความอะไรอยู่บนกระดาษอย่างแน่นอน แต่พวกเราต่างรู้ดีว่า มีอะไรบางอย่างอยู่บนกระดาษเปล่าแผ่นนั้น”

 

ส่วน จอห์นนี หนึ่งในผู้เข้าร่วมชุมนุมประท้วงในกรุงปักกิ่งวัย 26 ปี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Reuters ว่า “กระดาษเปล่ากลายเป็นสัญลักษณ์แทนทุกสิ่งทุกอย่างที่เราอยากจะพูด แต่พูดไม่ได้”

 

ขณะที่ทางการจีนพยายามจะเซ็นเซอร์ภาพและคลิปเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลจีนในสื่อโซเชียลอย่างหนัก รวมถึงบล็อก #WhitePaperExercise บนสื่อออนไลน์ยอดนิยมอย่าง Weibo อีกด้วย

 

หนึ่งในผู้ใช้ Weibo ระบุว่า “ถ้าหากคุณกลัวกระดาษเปล่า นั่นแปลว่าข้างในของคุณ มันอ่อนแอ”

 

โดยกระดาษเปล่าสีขาวนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้เคลื่อนไหวในทางการเมือง ไม่ต่างจาก ‘ร่ม’ ในการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง รวมถึง ‘เป็ดยาง’ ในการต่อสู้กับระบบเผด็จการทหาร และความไม่เป็นธรรมในสังคมไทย

 

สื่อตะวันตกชี้ เหตุประท้วงระลอกนี้อาจเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของสีจิ้นผิง

เดิมทีกระแสความไม่พอใจมาตรการล็อกดาวน์โควิดของทางการจีนเกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว ก่อนที่จะเกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารที่พักอาศัยแห่งหนึ่งในเมืองอุรุมชี เขตปกครองตนเองซินเจียง เมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 10 ราย หลายฝ่ายมองว่ามาตรการรับมือโควิดที่เข้มงวดขึ้นนี้ มีส่วนทำให้ประชาชนไม่สามารถออกจากที่พักอาศัย รวมถึงยังสร้างอุปสรรคในการเข้าพื้นที่ดับไฟของเจ้าหน้าที่และหน่วยกู้ภัยอีกด้วย ด้วยเหตุนี้จึงสร้างความไม่พอใจให้กับผู้คนในพื้นที่อย่างมาก ก่อนที่กระแสดังกล่าวจะลุกลามและแพร่กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศจีน

 

โดยการตัดสินใจยกระดับมาตรการรับมือโควิดของจีนนั้น เหตุผลสำคัญอาจเป็นเพราะอัตราการฉีดวัคซีนโควิดของจีนอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ และเป็นไปเพื่อปกป้องกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้เปราะบาง และอาจมีอาการรุนแรงหากพบการติดเชื้อ 

 

แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ามาตรการที่เข้มงวดขึ้นนั้น จะสวนทางกับผลลัพธ์ที่ทางการจีนคาดหวัง จำนวนยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตรายใหม่จากโควิดยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังจุดประกายให้เกิดแรงกระเพื่อมทางสังคม ก่อเกิดเป็นการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลจีนอีกด้วย นับเป็นความท้าทายครั้งสำคัญของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงที่เตรียมจะดำรงตำแหน่งผู้นำจีนต่ออีกสมัยในช่วงกลางเดือนมีนาคม ปี 2023

 

ล่าสุด ทางการจีนเตรียมประกาศแนวทางรับมือโรคระบาดครั้งใหม่ ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ว่า จะมีการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดจริงที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ เพื่อลดแรงเสียดทานจากภาคประชาชนที่กำลังลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลในหลายพื้นที่ขณะนี้ 

 

ภาพ: Kevin Frayer / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X