×

เจิงจื้ออิง เซียนปิงปองระดับ ‘ตัวแม่’ ลุยโอลิมปิกเกมส์ครั้งแรกในวัย 58 ปี

25.07.2024
  • LOADING...
เจิงจื้ออิง

ในวันที่ผู้คนกำลังฮือฮากับนักกีฬาอายุน้อยที่ทยอยสร้างชื่อในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ในทางคู่ขนาน นักกีฬา ‘อายุเยอะ’ ก็ยังเป็นที่พูดถึงไม่แพ้กัน

 

นอกเหนือจากเรื่องราวของ แอนดี แมคโดนัลด์ นักสเกตบอร์ดที่ลงแข่งโอลิมปิกเกมส์ครั้งแรกในชีวิตในวัย 50 ปีแล้ว การเดินทางจากชิลีสู่ปารีสของ เจิงจื้ออิง (Zeng Zhiying) ในฐานะนักกีฬาเทเบิลเทนนิสวัย 58 ปี ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

 

เจิงจื้ออิง หรือ ‘ทาเนีย’ ชื่อที่ใช้ในชิลี เกิดและโตในแผ่นดินจีนที่กว้างใหญ่ ความฝันในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ของเธอเริ่มต้นเมื่อตอนที่ได้อยู่ในทีมเยาวชนในจีนช่วงปี 1970 ผ่านการฝึกฝนส่วนตัวกับแม่ของเธอ

 

ในปี 1983 เจิงจื้ออิง ได้รับเลือกให้เข้าร่วมทีมปิงปองระดับชาติของจีน และเธอมุ่งมั่นที่จะเป็นตัวแทนของประเทศบนเวทีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างโอลิมปิกเกมส์

 

“ผู้เล่นทุกคนใฝ่ฝันที่จะได้ไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์” เจิงจื้ออิง กล่าวกับ The Guardian

 

แต่ความทะเยอทะยานของเธอถูกดับลงในปี 1986 เธอเลิกเล่นตอนอายุ 20 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่วงการเทเบิลเทนนิสกำหนดให้ผู้เล่นใช้ไม้ปิงปอง 2 สี (ไม้ 2 ด้านมีสีที่ต่างกันอย่างในปัจจุบัน)

 

กฎนี้ทำให้ผู้เล่นสามารถสังเกตได้ว่าฝ่ายตรงข้ามกำลังใช้ไม้ด้านไหนในการเล่นด้วยกลยุทธ์แบบใด และคาดเดาความเร็วการหมุนของลูกบอลได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้มากเกินไปสำหรับเธอ และทำให้เธอตัดสินใจหันหลังให้วงการเทเบิลเทนนิสไปในที่สุด

 

“กฎนั้นทำลายเกมของฉัน ฉันรู้สึกอ่อนแอทั้งในด้านจิตใจและทางเทคนิค และหลังจากนั้นฉันแทบไม่ได้เล่นอีกเลย” เจิงจื้ออิงกล่าว

 

 

กระทั่งในปี 1989 เธอได้รับการติดต่อจากโค้ชชาวจีนในชิลี เขาเสนองานให้เธอมาเป็นโค้ชให้กับเด็กนักเรียนในชิลี และแน่นอนว่าเธอตอบรับและย้ายไปอยู่ประเทศชิลี เพื่อเป็นโค้ชสอนเทเบิลเทนนิสให้กับเด็กๆ

 

จากนั้นไม่นานเธอได้รับการแนะนำให้รู้จักกับธุรกิจนำเข้าที่กำลังเติบโต และในที่สุดก็ตัดสินใจลาออกจากการเป็นโค้ชฝึกสอน เพื่อไปประกอบอาชีพค้าขายสินค้าจีน ก่อนจะมาทำธุรกิจเป็นเจ้าของบริษัทเฟอร์นิเจอร์ในเมืองอิกิเกทางตอนเหนือของชิลีในปัจจุบัน

 

นับแต่นั้นชาวชิลีรู้จักเธอในชื่อ ‘ทาเนีย’ เธอเล่าถึงที่มาของชื่อให้ฟังว่า “ผู้คนในชิลีออกเสียงชื่อฉันไม่ได้ พวกเขามีปัญหากับตัว Z ในชื่อของฉัน เช่นเดียวกับคนจีนทุกคนที่มาที่นี่ นั่นจึงทำให้เราหันมาใช้ชื่อชิลี ดังนั้นฉันจึงเลือกชื่อทาเนีย”

 

วันเวลาผ่านไป เธอมีครอบครัว เป็นแม่คน และใช้ชีวิตตามปกติสุขในชิลี แต่ทว่าด้วยนิสัยการติดวิดีโอเกมของลูกชายที่กำลังเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ทำให้เธอกลับมาจับไม้ปิงปองอีกครั้งในปี 2002 โดยเธอชวนลูกชายมาเล่นปิงปองด้วยกันเพื่อต้องการกระตุ้นให้เขาออกกำลังกายมากขึ้น และลดการเล่นวิดีโอเกมให้น้อยลง

 

เธอจึงพาเขาไปที่สโมสรปิงปองในเมืองท้องถิ่นเพื่อให้เริ่มฝึกแบบจริงๆ จังๆ

 

ถึงแม้ความตั้งใจแรกคือการพาลูกชายไปฝึก แต่รัศมีของยอดฝีมือระดับ ‘ตัวแม่’ ที่เธอได้เล่นโชว์ผู้คนอยู่บ้าง ได้สร้างความฮือฮาให้กับคนในพื้นที่หลังได้เห็นถึงความฉกาจในฝีมือของเธออยู่ไม่น้อย และไม่นานเธอก็ได้เล่นในทัวร์นาเมนต์ระดับท้องถิ่นอีกครั้ง

 

“ฉันเอาชนะได้ทุกคน” เธอหัวเราะ

 

“หลังจากนั้นลูกชายของฉันก็เริ่มมาอยากเล่นปิงปอง และไม่เคยกลับไปเล่นวิดีโอเกมอีกเลย… บุคลิกของเขาก็เปลี่ยนไป นั่นเพราะกีฬาทำให้คุณมีความมั่นใจในการเผชิญกับปัญหา… ฉันภูมิใจมากที่ตัดสินใจเช่นนั้น”

 

เจิงจื้ออิง

 

ฮวน ลิซามา (Juan Lizama) โค้ชและเพื่อนของเธอ กล่าวว่า ศักยภาพในการแข่งขันระดับโอลิมปิกเกมส์ของเธอปรากฏชัดเจนเมื่อเขาเห็นเธอเล่นครั้งแรกในปี 1990 “เธอมีความพิเศษในระดับเดียวกับทุกวันนี้ เธอเอาชนะผู้เล่นที่มีชื่อเสียงมากมายในอเมริกาใต้ และเอาชนะพวกเขาได้อย่างง่ายดาย”

 

อย่างไรก็ตาม ในห้วงเวลานั้นเธอยังไม่คิดจะกลับมาเล่นแบบจริงจัง รวมถึงการติดทีมชาติชิลี แม้ฝีมือการเล่นจะเป็นที่พูดถึงมากก็ตาม จากนั้นเธอตัดสินใจเกษียณจากการเล่นปิงปองอีกครั้ง และมุ่งความสนใจไปที่ธุรกิจของเธอต่อไปอีก 20 ปี จนกระทั่งโรคระบาดโควิดพาเธอกลับมาเล่นกีฬาอีกครั้ง

 

ในวันที่โลกเผชิญหน้ากับการระบาดใหญ่ของโควิด เธอตัดสินใจหวนมาจับไม้พายเพื่อระงับความกระวนกระวายใจในช่วงล็อกดาวน์ที่เข้มงวดของชิลีในตอนนั้น

 

เธอจัดการถอยโต๊ะปิงปองมาเล่นคนเดียวที่บ้านเป็นเวลาหลายชั่วโมงในทุกๆ วัน จนถึงวันที่ทางการชิลียกเลิกการล็อกดาวน์ เธอตัดสินใจกำไม้พายออกไปสมัครเข้าร่วมการแข่งขันในท้องถิ่นบางรายการด้วยความคิดแค่ว่าต้องการสนุกสนานกับการแข่งขันอีกครั้งเท่านั้น

 

ถึงจะผ่านมา 20 ปี แต่ฝีมือเธอเปรียบดั่งเสือไม่ทิ้งลาย ดีกรีทีมเยาวชนในจีนและการเป็นโค้ชผู้ฝึกสอน ทำให้เธอคว้าชัยชนะทั้งหมดได้อย่างง่ายดายในทุกรายการที่ลงเล่น และภายในปี 2023 เธอกลายเป็นนักกีฬาหญิงที่มีอันดับ Ranking สูงสุดในประเทศ และผ่านเข้ารอบมาเป็นตัวแทนทีมชาติชิลีในที่สุด

 

“เมื่อคุณยังเด็ก คุณจะไม่เจ็บ แต่ตอนนี้ถ้าฉันเล่นมากเกินไป…ฉันจะปวดไหล่” เจิงจื้ออิงพูดพร้อมรอยยิ้มเกี่ยวกับการเล่นเทเบิลเทนนิสในวัย 58 ปี

 

 

ในฐานะส่วนหนึ่งของทีมหญิงชิลี เธอได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขัน Sudamericanos ปี 2023 และได้เหรียญทองแดงในการแข่งขัน Pan American Games ปี 2023 ในประเภทเดี่ยว และใช่แล้ว เธอผ่านเข้ารอบได้เป็นตัวแทนทีมชาติชิลีในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024

 

“ในวัยของฉัน คุณต้องเล่นด้วยความสุข ไม่ใช่เล่นด้วยความทรมาน ฉันรักประเทศนี้ ฉันไปไม่ถึงความฝันตอนอยู่ที่จีน และตอนนี้ฉันก็มาถึงจุดนี้แล้ว สิ่งสำคัญคือคุณต้องไม่ยอมแพ้” เจิงจื้ออิงกล่าวหลังเดินตามความฝันสำเร็จ

 

สำหรับ เจิงจื้ออิง เธอมีโปรแกรมแข่งขันเทเบิลเทนนิสประเภทหญิงเดี่ยว ในรอบ Preliminary Round พบกับ มาเรียนา ซาฮาเกียน จากเลบานอน ในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ เวลา 20.00 น. ตามเวลาประเทศไทย

.

#TheStandardSport #Paris2024 #ParisOlympics2024 #OlympicGames2024 #Olympics #โอลิมปิกเกมส์ #โอลิมปิกเกมส์ปารีส

#ปารีส2024

 

อ้างอิง:

 


 

ติดตามการแข่งขัน โอลิมปิก ปารีส 2024 – Paris 2024 Olympic Games ได้ที่

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising