×

ตีลังกากลับหัว-ก๊อกน้ํา-กบบนใบบัว ทฤษฎีที่ ‘เซ็น คอร์ปอเรชั่น’ ใช้รับมือวิกฤตโควิด-19

16.05.2020
  • LOADING...

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เชนร้านอาหารที่มีแบรนด์ในมือ 10 กว่าแบรนด์ เช่น ZEN, AKA, Tetsu, ตำมั่ว , ลาวญวน, แจ่วฮ้อน, เขียง และล่าสุด Din’s ได้รายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2563 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า จากการระบาดของโควิด-19 ทำให้มีคำสั่งปิดศูนย์การค้าชั่วคราว ซึ่งเป็นช่องทางหลักในสัดส่วน 90% ของยอดขาย จึงกระทบต่อรายได้ ส่งผลให้ยอดขายรวมอยู่ที่ 643.7 ล้านบาท ลดลง 86.8 ล้านบาท หรือ 11.9% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และขาดทุน 44.2 ล้านบาท ลดลง 76.3 ล้านบาท หรือ 237.7%

 

บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า หากมองเข้าไปในตัวเลขขาดทุน กว่าครึ่งมาจากการใช้จ่ายด้านพนักงาน ซึ่งในช่วงเวลาเหล่านี้เราเลือกที่จะรักษาพนักงานไว้ ซึ่งนี่ถือเป็นรายจ่ายกว่า 50% ของเรา สำหรับธุรกิจอาหารแล้ว พนักงานถือเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุด 

 

“สำหรับธุรกิจอาหารแล้ว พนักงานถือเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุด เราจึงเลือกที่จะเก็บพนักงานไว้ และยอมแบกภาระไว้เองทั้งหมด เพราะหากเราไม่มีพนักงานแล้วธุรกิจกลับมาได้ นี่จะเป็นปัญหาระยะยาวที่จะเกิดขึ้น”

 

ทุกธุรกิจต่างได้รับผลกระทบและต้องปรับตัวกันทั้งสิ้น สำหรับเซ็นแล้วได้แบ่งการทำงานออกเป็น 3 ทีม โดยทีมแรกเป็นการสื่อสารภายใน ทีมที่ 2 เน้นแก้ปัญหารายวันตั้งเป็นวอร์รูมขึ้นมา โดยมองเรื่องการหารายได้ระยะสั้น เช่น ช่องทางเดลิเวอรี ซึ่งตอนนี้เป็นช่องทางหลักในการหารายได้ คาดว่าปีนี้จะมียอดขาย 500 ล้านบาท 

 

“สิ่งหนึ่งที่เป็นอานิสงส์จากโควิด-19 คือการแจ้งเกิดให้กับหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ 4 หลัก เมื่อก่อนใช้เวลาโปรโมตเป็นปีไม่เกิด แต่ตอนนี้เกิดภายใน 1 เดือน เราพบว่า ผู้สูงวัยนิยมสั่ง โดยเราได้เรียนรู้ว่า การให้ AI รับสายลูกค้ากลุ่มนี้ไม่ชอบ ต้องเป็นคนเท่านั้น”

 

ส่วนกลุ่มที่ 3 เป็นทีมที่มองเรื่องระยะยาว ธุรกิจหลังโควิด-19 ต้องหาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ แต่ก่อนความทราฟฟิกในศูนย์การค้า ความหนาแน่นของลูกค้า ถือเป็นโอกาส เป็นเงินเป็นทอง แต่ตอนนี้กลายเป็นความเสี่ยงไปแล้ว ทำให้เราต้องคิดแบบตีลังกากลับหัว หาธุรกิจใหม่ๆ ที่ไม่เสี่ยง เช่น มองโมเดลร้านแบบที่ไม่มีหน้าร้าน เป็นครัวที่สามารถขายอาหารได้ 24 ชั่วโมง 

 

หรือร้านอาหารที่ขายให้คนไทยในระดับราคากลางๆ แบรนด์เหล่านี้ต้องห้อยท้ายด้วยชื่อของเซ็น เพื่อยืนยันถึงคุณภาพของร้าน เหล่านี้ถือเป็นภูมิคุ้มกันในระยะกลางและยาวของเซ็น

 

นอกเหนือจากเดลิเวอรีที่เติบโตแล้ว สินค้าที่ขายในรีเทลก็เป็นอีกอย่างที่กำลังเติบโต เพราะมีผู้บริโภคบางส่วนหันมาทำอาหารด้วยตนเอง ปัจจุบันเซ็นมีสินค้าในกลุ่มรีเทลทั้งสิ้น 9 SKU เช่น น้ำปลาร้า น้ำจิ้มแจ่ว ฯลฯ ปีที่ผ่านมามีรายได้ 30 ล้านบาท ปีนี้คาดว่าจะทำรายได้มากกว่า 200 ล้านบาท นอกจากสินค้าที่กล่าวไปแล้ว ตอนนี้เซ็นกำลังสนใจที่จะทำอาหารพร้อมทาน หรือ Ready to Eat ด้วย

 

“สำหรับ New Normal ในธุรกิจอาหารจะเปลี่ยนไปไม่มากเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆ เพราะไม่คิดว่าคนจะสามารถกินข้าวที่บ้านได้ทุกวัน หรือสั่งอาหารแบบเดิมๆ ได้ตลอด คนไทยชอบเที่ยว ชอบมีความสุข ฉะนั้นจึงเชื่อว่า ธุรกิจร้านอาหารจะกลับมาฟื้นตัวได้ก่อนธุรกิจอื่นๆ เผลอๆ เป็น V Curve ด้วยซ้ำ สำหรับธุรกิจเดลิเวอรีจะเติบโต แต่คงไม่แซงการกินในร้าน ยกเว้นบางเมนู เต็มที่คงมีสัดส่วน 20% ซึ่งเราก็คาดหวังในสัดส่วนนี้เช่นกัน”

 

บุญยงระบุว่า วันนี้เซ็นก้าวข้ามผลประกอบการไปแล้ว โดยไตรมาส 2 น่าจะเป็นจุดที่ต่ำที่สุดของปี เพราะร้านอาหารส่วนใหญ่ต้องปิดตัวชั่วคราว ดังนั้น ในช่วงไตรมาสแรกของปีจะเน้นการรักษาพนักงานไว้ก่อน และวางแผนสำหรับครึ่งปีหลัง โดยเน้นเปลี่ยนไขมันให้เป็นกล้ามเนื้อ ครึ่งปีหลังจะได้กลับมาวิ่ง

 

สิ่งที่เซ็น คอร์ปอเรชั่นจะหยิบมาใช้คือ ‘ทฤษฎีก๊อกน้ํา’ โดยจะมองพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นหลัก และปรับเปลี่ยนตาม โดยจะค่อยๆ ทำออกมา ไม่ได้ปล่อยทีเดียวจัดเต็มทั้งหมด เพราะไม่มีใครประเมินสถานการณ์ได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เช่น เมนูปลาดิบที่เริ่มกลับมาขายบ้างแล้ว เพราะมีผู้บริโภคเรียกร้อง ก็จะเริ่มขายไม่กี่เมนู เพื่อดูทิศทางก่อน 

 

“ในสถานการณ์เช่นนี้ มีทั้งโอกาสและวิกฤต เราต้องพยายามมองหาโอกาส อย่าไปโฟกัสที่วิกฤตอย่างเดียว บทเรียนที่เราได้จากวิกฤตโควิด-19 คือเราต้องทำตัวให้เป็นเหมือนกับกบที่อยู่บนใบบัว ค่อยมองหาโอกาสใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ ไม่ใช่เป็นกบที่อยู่ในกระทะ ที่นั่งรออยู่ในกระทะร้อนๆ จนสุดท้ายกระโดดหนีไม่ทัน นี่ถือเป็นตำราราคาแพงที่ 100 ปี จะมีสักครั้ง” บุญยงกล่าว

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล 

 

 


ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X