×

รู้จัก ‘ซีแลนเดีย’ ทวีปที่ 8 ของโลก ที่เพิ่งมีการเผยแผนที่ฉบับสมบูรณ์

โดย Mr.Vop
30.09.2023
  • LOADING...
zealandia

ตามตำราที่เราได้เรียนกันมานั้น โลกมีทวีปทั้งหมด 7 ทวีปด้วยกัน อันได้แก่ ทวีปเอเชีย, ทวีปยุโรป, ทวีปแอฟริกา, ทวีปแอนตาร์กติกา, ทวีปอเมริกาเหนือ, ทวีปอเมริกาใต้ และทวีปออสเตรเลีย แต่จากการค้นพบล่าสุดนั้น อาจถึงขั้นต้องปฏิวัติบทเรียนกันใหม่ เมื่อโลกกำลังจะมีทวีปใหม่เป็นทวีปที่ 8 นั่นคือ ‘ซีแลนเดีย’

 

พื้นที่ส่วนใหญ่หรือมากถึง 94% ของทวีปนี้จมอยู่ใต้ทะเล คงโผล่ขึ้นมาให้เห็นเฉพาะเทือกเขาและยอดเขาที่สูงที่สุดให้เรามองเห็นเป็นเกาะใหญ่ 2 เกาะ นั่นคือนิวซีแลนด์ และนิวแคลิโดเนีย ส่วนยอดเขาอื่นๆ จะโผล่พ้นน้ำทะเลขึ้นมาให้เห็นเป็นเกาะเล็กอีกหลายเกาะ เช่น เกาะนอร์ฟอล์ก เกาะลอร์ดฮาว เกาะบอลส์พีระมิด เป็นต้น

 

แผนที่ทวีปโลก

 

ตำแหน่งที่ตั้งของซีแลนเดียอยู่ทางตะวันออกของทวีปออสเตรเลีย มีขนาดประมาณ 4,900,000 ตารางกิโลเมตร ถือเป็นอนุทวีปขนาดใหญ่ที่สุดในโลก 

 

 

ที่มาที่ไปของทวีปนี้

ทวีปซีแลนเดียหรือที่มีชื่อในภาษาเมารีว่า ‘เตรีอูอามาวอี’ นั้นเคยเป็นส่วนหนึ่งของมหาทวีป (Supercontinent) โบราณที่มีชื่อเรียกว่า ‘กอนด์วานา (Gondwana) ซึ่งก่อตัวเมื่อราว 550 ล้านปีที่แล้ว เป็นมหาทวีปที่รวมแผ่นดินผืนต่างๆ ในซีกโลกใต้เข้าไว้ด้วยกัน จากนั้นเมื่อ 105 ล้านปีที่แล้ว แผ่นเปลือกโลกสมุทรทางตะวันออกของซีแลนเดียก็เริ่มมุดตัวเข้าด้านใต้แผ่นทวีปนี้ ก่อให้เกิดแรงกดดันจนแผ่นทวีปซีแลนเดียแยกตัวออกจากแผ่นทวีปออสเตรเลีย รอยแยกนี้เด่นชัดขึ้นในช่วง 80 ล้านปีก่อน กลายเป็นผืนทะเลที่เข้ามาขั้นกลาง อย่างไรก็ตาม แผ่นทวีปทั้ง 2 คือ ออสเตรเลีย และซีแลนเดียก็เคลื่อนออกห่างจากส่วนอื่นของกอนด์วานาไปในทิศทางเดียวกัน จนมาอยู่ในที่ตั้งที่ปรากฏในปัจจุบัน

 

 

การค้นพบ

มีนักสำรวจจำนวนมากตั้งข้อสังเกตของการมีอยู่ของแผ่นดินใหญ่ใต้เกาะนิวซีแลนด์มาตั้งแต่ยุคโบราณ เริ่มจากปี 1642 อาเบล ทาสแมน นักเดินเรือชาวดัตช์ ออกเดินทางล่องเรือไปสู่มหาสมุทรอันกว้างใหญ่ในซีกโลกใต้ด้วยเชื่อมั่นว่าต้องมีทวีปขนาดใหญ่ที่ยังไม่มีใครค้นพบตั้งอยู่บริเวณนั้น และก็ได้ค้นพบเกาะนิวซีแลนด์ อีกหลายร้อยปีต่อมา ในปี 1985 นักธรรมชาติวิทยาชาวสกอตแลนด์ เซอร์ เจมส์ เฮคเตอร์ ที่เข้าร่วมการเดินเรือสำรวจเกาะต่างๆ นอกชายฝั่งทางใต้ของเกาะนิวซีแลนด์เพื่อหาเบาะแสของทวีปนี้ ก็เริ่มได้ข้อสรุปว่า นิวซีแลนด์คือยอดของเทือกเขาจากทวีปใหญ่ที่จมอยู่ใต้มหาสมุทร ต่อมาในปี 1995 บรูซ ลูเยนดิค นักธรณีฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ก็ออกมาย้ำข้อสรุปของ เซอร์ เจมส์ เฮคเตอร์ ว่ามีความเป็นไปได้เป็นอย่างยิ่งที่จะมีทวีปใหม่อยู่ด้านล่างของนิวซีแลนด์ และตั้งชื่อทวีปนี้ว่าซีแลนเดียจนเป็นชื่อที่นิยมเรียกกันต่อมา

 

นิยามของคำว่าทวีปที่ใช้กับซีแลนเดีย

ก่อนทศวรรษ 1960 นิยามของคำว่าทวีปนั้นเรียบง่ายมาก โดย เอ็มมานูเอล โบเวน (นักแกะสลักแผนที่ชาวเวลส์) ให้นิยามว่า ทวีปนั้นคือ “พื้นที่แห้งขนาดใหญ่ที่ประกอบขึ้นจากหลายประเทศรวมตัวกันโดยไม่มีทะเลขั้นกลาง” นิยามนี้ค่อนข้างหยาบและขาดความชัดเจนหลายอย่าง จนต่อมานักภูมิศาสตร์และนักธรณีวิทยายุคใหม่ได้กำหนดนิยามขึ้นมาว่า ทวีปคือแผ่นเปลือกโลกชนิดหนึ่งที่แตกต่างจากเปลือกโลกภาคพื้นสมุทร โดยจะมีความหนาเฉลี่ย 30-40 กิโลเมตร ขณะที่เปลือกโลกภาคพื้นสมุทรจะบางกว่ามาก คือมีความหนาเฉลี่ยที่ 10 กิโลเมตรเท่านั้น ด้วยคำนิยามนี้ ‘ซีแลนเดีย’ ซึ่งมีความหนาเฉลี่ยประมาณ 20 กิโลเมตรจึงควรจะถูกจัดให้เป็นทวีป แต่เป็นทวีปที ‘บางที่สุด’ ยิ่งกว่าทวีปใด นอกจากนี้ ด้วยข้อมูลทางธรณีวิทยาอื่นๆ เช่นความหลากหลายของชั้นหิน ทั้งหินอัคนี หินแปร และหินตะกอน รวมทั้งข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม และแผนที่ความโน้มถ่วง ทำให้การระบุว่าซีแลนเดียคือ ‘ทวีป’ ที่จมอยู่ใต้ทะเลเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง

 

ความเคลื่อนไหวล่าสุด

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันจีเอ็นเอส ไซแอนส์ (GNS Science) ได้วาดแผนที่ทวีปซีแลนเดียในระดับความละเอียดสูง ตีพิมพ์ผลงานลงในวารสารเทคโทนิค ตามลิงก์นี้ https://agupubs.onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1029/2023TC007961 และท่านสามารถดูแผนที่เพิ่มเติมได้ทางลิงก์นี้ https://data.gns.cri.nz/mapservice/apps/tez/

 

เรื่องนี้มีความสำคัญมากกว่าแค่การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ 

จากอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลปี 1982 ที่กำหนดว่า ประเทศต่างๆ สามารถขยายพื้นที่อย่างถูกต้องตามกฎหมายไปไกลกว่าเขตเศรษฐกิจจำเพาะของตัวเองที่ระยะ 200 ไมล์ทะเลจาก ‘ไหล่ทวีป’ นั้นหมายถึงว่าหากมีการประกาศอย่างเป็นทางการถึงการมีอยู่ของทวีปซีแลนเดีย ซึ่งนิวซีแลนด์ถือเป็นประเทศหนึ่งในทวีปนั้นจะส่งผลให้นิวซีแลนด์สามารถขยายขอบเขตดินแดนของประเทศออกไปได้จากปัจจุบันถึง 6 เท่า และนั่นหมายถึงผลในด้านเศรษฐกิจที่จะทำให้ประเทศนิวซีแลนด์มีทรัพยากรทางทะเลอย่างแหล่งน้ำมัน และแร่ธาตุที่อุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

 

ภาพ: Wikipedia, joidesresolution.org

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X